The Chair ซีรีส์ rom-com จิกกัดวงการการศึกษาอเมริกันที่เขียนบทโดยด็อกเตอร์ตัวจริง

The Chair เปิดเรื่องมาไม่กี่นาที เราก็ได้เห็นศาสตราจารย์ Kim Ji-Yoon (Sandra Oh) ถูกจับวางอยู่ใจกลางความวินาศสันตะโร ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วเห็นๆ และมีวี่แววว่ากำลังจะเกิดขึ้น

ในฐานะหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษคนแรกที่เป็นผู้หญิง แถมเป็นผู้หญิงผิวสีเสียด้วย (พูดง่ายๆ ก็คือ คนแรกที่ไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวน่ะนะ)​ แห่งมหาวิทยาลัย Pembroke เธอได้รับภารกิจสำคัญมาจากคณบดี

1. ไล่ศาสตราจารย์เก่าแก่วัยใกล้เกษียณ ซึ่งได้รับเงินเดือนสูงที่สุด แต่กลับมีจำนวนนักศึกษาเข้าเรียนด้วยต่ำที่สุด ออกทันที

2. เพิ่มยอดผู้สมัครเข้าเรียนภาควิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าล้าหลังและไม่มีที่ทางในโลกยุคปัจจุบัน ให้สูงขึ้น

ลำพังแค่น้ำหนักของความกดดันจากสองข้อนี้ก็มากพอจะให้เก้าอี้ของจียุนหักทันทีที่เธอหย่อนก้นลงนั่ง ยังไม่นับไฟฝันส่วนตัวที่เธออยากรังสรรค์ความเปลี่ยนแปลงในภาควิชา โดยการสนับสนุนอาจารย์รุ่นใหม่ ที่มีทั้งเทคนิคการสอนตรงใจนักศึกษา แถมยังเป็นคนผิวดำคนแรก ให้ได้รับตำแหน่งงานถาวร (tenure) เสียที

Netflix

ยัง ยังไม่จบ เพราะชีวิตส่วนตัวของจียุนก็ยุ่งเหยิงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเธอและลูกสาวบุญธรรมเชื้อสายลาตินอเมริกันที่กำลังอยู่ในวัยตั้งคำถามและต่อต้าน หรือความสัมพันธ์คลุมเครือระหว่างเธอและ Bill Dobson (Jay Duplass) เพื่อนร่วมงานที่เธอสนิทสนมและร่ำๆ จะก้าวข้ามเฟรนด์โซนไปสู่โซนอื่นมาสักพัก   

สำหรับใครที่คาดหวังว่าจะได้เห็นจียุนลุกขึ้นมาเป็น tiger mom และ working woman หญิงเหล็กผู้เอาอยู่ทุกมิติของชีวิตแล้วละก็ ขอบอกตรงๆ เลยว่าคุณจะผิดหวังอย่างมาก 

เพราะคุณจะได้ดูความฉิบหายของเธอต่างหากล่ะ

Netflix

The Chair คือซีรีส์ขนาดกะทัดรัด 6 ตอนจบที่เสียดสีวงการการศึกษาระดับสูงของอเมริกันได้อย่างแสบๆ คันๆ นำทีมสร้างโดยโชว์รันเนอร์มือใหม่ (แต่เป็นนักแสดงฝีมือเก๋า) อย่าง Amanda Peet ที่ปิ๊งไอเดียเรื่องนี้ขึ้นมาระหว่างพยายามเขียนบทซีรีส์ rom-com ร่วมกับเจย์ โดยเริ่มจากความคิดที่จะให้ตัวละครของเจย์ (ซึ่งก็คือบิล) ตกหลุมรักหัวหน้าของตัวเอง (ซึ่งก็คือจียุน) ก่อนความคิดที่ว่าตัวละครทั้งสองนั้นทำงานในแวดวงวิชาการจะตามมาทีหลัง 

“ฉันชอบไอเดียของการเอาเด็กๆ ที่มีอุดมการณ์แรงกล้า และผู้ใหญ่ที่อาจไม่ยึดถืออุดมการณ์มากเท่าเดิมแล้ว และคนแก่ที่เคยคิดว่าตัวเองหัวก้าวหน้ามาก แต่ตอนนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบชายผิวขาวเป็นใหญ่มาอยู่รวมกัน ฉันว่ามันเป็นอาณาเขตที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการสร้างคอเมดี้ในที่ทำงาน” อแมนด้าอธิบาย

‘คอมเมดี้ในที่ทำงาน’ ถือเป็นคำนิยาม The Chair ที่ทั้งถูกและผิดในเวลาเดียวกัน ที่ว่าถูกเพราะมันเป็นคอเมดี้แน่ๆ ส่วนตัวเราขำเงียบๆ หึๆ (อยากจะเขียนว่าขำจนเกือบตกเก้าอี้ แต่มันก็ไม่ขนาดนั้น) ไปกับมุกเล็กๆ ที่ซีรีส์ขยันแทรกเข้ามา เช่นตอนที่จียุนเลือกนั่งเก้าอี้ตรงกลางโต๊ะประชุม แต่กลับโดนอาจารย์ชายสูงวัย ‘แซะ’ ให้ลุกย้ายไปนั่งเก้าอี้หัวโต๊ะแบบงงๆ (ฟีลน้องตะเร้ก ขี้เกียจเถียงคนแก่) หรือตอนที่ลูกสาวตัวแสบถามจียุน (ด้วยความสงสัยจริงๆ หรือด้วยความกวนตีนก็สุดจะรู้) ว่า “ทำไมแม่ถึงเป็น ‘ด็อกเตอร์’ ล่ะ แม่ไม่เห็นจะช่วยใครเลย”

ส่วนที่ว่าผิดก็เพราะเราคิดว่า The Chair ไปไกลกว่า ‘คอเมดี้ในที่ทำงาน’​ มาก ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้คนเขียนบทอย่าง Annie Julia Wyman แม้จะเป็นมือใหม่ในวงการเขียนบท แต่เธอคร่ำหวอดในแวดวงวิชาการอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง ยืนยันได้ด้วยดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพ่วงด้วยดีกรีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

เพราะอย่างนี้ ภายใต้ทีท่าตลกโปกฮาของซีรีส์ เราจึงได้เห็นประเด็นปัญหามากมายที่ซุกอยู่ใต้พรมของสถานศึกษาเก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดผิวและระบอบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึก จุดบอดในระบบการจ้างงานศาสตราจารย์ การเอารัดเอาเปรียบผู้ช่วยสอน ทุนนิยมที่ผงาดง้ำเหนือทุกปัญหาอีกทีหนึ่ง และอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งหากลองมองดีๆ ประเด็นที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นการคัดง้างกันของ ‘อำนาจ’ ทั้งสิ้น

The Chair
Netflix

อำนาจที่มากับตำแหน่งหน้าที่

แม้จียุนจะได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษ แต่ตลอดทั้งซีรีส์เธอแทบไม่ได้ใช้อำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่งงานเลย (หรือถ้าเรียกให้ถูกคือ เธอพยายามใช้แล้ว แต่ไม่ค่อยสำเร็จ) เพราะเหนือหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษยังมีคณบดีและบรรดาศาสตราจารย์อาวุโสที่ทำงานมานานกว่า และเหนือคณบดียังมีผู้บริจาคเงินให้คณะและผู้บริหารมหาวิทยาลัย 

ดูอย่างกรณีที่จียุนพยายามล็อบบี้ให้อาจารย์รุ่นใหม่ขวัญใจเด็กอย่าง Yasmin McKay (Nana Mensah) ได้รับตำแหน่งงานถาวรพร้อมรับตำแหน่งผู้สอนยอดเยี่ยม แต่กลับถูกคัดค้านโดยคณบดีที่อยากเลิกจ้างคนมากกว่าจะรับคนเพิ่ม พอเธอคิดว่าจะกลับไปหว่านล้อมคณบดีอีกที กลับกลายเป็นว่าคณบดีเองก็ตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะผู้บริจาคเงินให้คณะไปทาบทามเซเล็บโด่งดังมาแทนแล้ว ลำบากจียุนต้องไป ‘ใช้อำนาจในทางที่ผิด’ เพื่อพลิกให้ตัวเองเป็นผู้ชนะในเกมนี้ 

The Chair
Netflix

อำนาจที่มากับอวัยวะเพศ

ในกลุ่มศาสตราจารย์สูงวัย-เงินเดือนสูง-ยอดนักศึกษาต่ำ Joan Hambling (Holland Taylor) ศาสตราจารย์หญิงผู้สอนวรรณคดีเก่าแก่จากคริสต์ศตวรรษที่ 14 อย่าง The Canterbury Tales กลับเป็นคนเดียวที่ถูกกดดันทางอ้อมให้เกษียณอายุผ่านการบังคับย้ายห้องทำงาน เธอถูกไล่ให้ไปอยู่ในห้องเล็กๆ ใต้โรงยิม ซึ่งทั้งเสียงดังและปราศจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ศาสตราจารย์ชายรุ่นราวคราวเดียวกันยังได้นั่งสบายๆ อยู่ในห้องทำงานเดิม

ยิ่งไปกว่านั้นซีรีส์ยังเผยให้เห็นว่า ที่ผ่านมาโจนเป็นคนที่ถูกยัดเยียดบทบาท ‘ผู้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์’ ประจำภาควิชาให้เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง รวมทั้งซีรีส์ยังเฉลยให้เราและโจนรู้ด้วยว่า แม้ว่าเธอจะเริ่มงานปีเดียวกับศาสตราจารย์ผู้ชายอีกคน เธอกลับได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเขามาโดยตลอด

ประเด็น gender pay gap ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกการทำงานอเมริกัน ซึ่งโลกวิชาการที่ควรจะมีความคิดก้าวหน้ากว่าใครก็หนีไม่พ้น ข้อมูลเมื่อปี 2018 จาก American Association of University Professors ระบุว่า อาจารย์หญิงได้รับค่าตอบแทนเพียง 81.2% ของอาจารย์ชายเท่านั้น คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยปีละ 79,368 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 97,738 ดอลลาร์สหรัฐของฝ่ายชาย

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าจียุนเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษคนแรก (ในรอบกี่ร้อยปีก็ไม่รู้ของมหาวิทยาลัยเพมโบรก) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นโอกาสทางหน้าที่การงานที่ไม่เท่าเทียมระหว่างอาจารย์หญิงและชาย ข้อมูลชุดเดียวกันจาก AAUP ชี้ว่า ในหมู่อาจารย์ถาวร (tenure track) ยิ่งตำแหน่งสูงขึ้น ก็ยิ่งมีผู้หญิงน้อยลง จากจุดเริ่มต้นที่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์มีผู้หญิงอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อขยับขึ้นเป็นตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ผู้หญิงลดลงเหลือเพียง 45 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด และจากนั้นเมื่อขยับขึ้นเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ เหลือผู้หญิงเพียง 32.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ในฉากหนึ่งที่สั้นแต่เปี่ยมความหมาย เราได้รู้ว่าภรรยาของศาสตราจารย์ Elliot Rentz (Bob Balaban) เองก็เคยเป็นอาจารย์เหมือนกัน ในขณะที่อีเลียตตั้งใจว่าจะเป็นศาสตราจารย์ให้นานที่สุด เธอกลับลาออกเป็นแม่บ้านเต็มเวลาตั้งนานแล้ว

The Chair
Netflix

อำนาจกลับขั้วระหว่างอาจารย์และนักศึกษา 

แม้คนไทยเราจะคุ้นชินว่าอาจารย์มีอำนาจเหนือนักศึกษา ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากความอาวุโสกว่าบ้างล่ะ อำนาจในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาบ้างล่ะ แต่หากลองมองให้ชัดๆ (ในบริบทของการศึกษาอเมริกันแบบในซีรีส์จะชัดหน่อย)​ เราจะเห็นว่าแท้จริงแล้วอาจารย์แทบไม่มีอำนาจใดๆ เพราะเป็นเพียงลูกจ้างของมหาวิทยาลัยที่ต้องตอบสนองความต้องการของนักศึกษาที่เป็นลูกค้าของมหาวิทยาลัยต่างหาก

ประเด็นแรกแสนคลาสสิกที่ซีรีส์ชวนคุยตรงๆ เลยก็คือ หากอาจารย์คนไหนคิดจะสอนเนื้อหาที่ไม่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ (หรือไม่อยู่ในความสนใจของโลกปัจจุบันนั่นเอง) อาจารย์คนนั้นก็มีสิทธิจะโดนเด้งได้ง่ายๆ หรือกระทั่งว่าสาขาอักษรศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ (liberal arts) ที่มีการสอนวรรณคดีอายุเก่าแก่เป็นร้อยเป็นพันปียังสำคัญจำเป็นอยู่ไหมในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสอนให้ศึกษาแต่ตัวบท แต่ไม่สอนให้ปรับใช้กับมนุษย์ที่นั่งข้างๆ กันเลย

ประเด็นที่สองที่ซีรีส์ชวนคุยคือประเด็นร้อนแรงในยุคปัจจุบัน นั่นคือ cancel culture จากกรณีที่บิลทำท่าคารวะแบบนาซีขณะที่สอนในห้องเรียน แล้วถูกนักศึกษาถ่ายคลิปวิดีโอไปเผยแพร่จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โต มีนักศึกษาจำนวนมากรวมตัวกันเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยไล่บิลออกทันที เดือดร้อนให้จียุนซึ่งรู้จักบิลมานานและมั่นใจว่าเขาไม่ใช่ผู้ฝักใฝ่ในนาซีต้องวิ่งวุ่น พยายามช่วยแก้ปมปัญหาที่ขมวดแน่นขึ้นๆ ทุกที แม้เดิมทีบิลจะเป็นศาสตราจารย์โด่งดัง นักศึกษาแย่งที่นั่งในคลาสเขาทุกๆ ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น คุณความดีใดๆ ที่ผ่านมาก็ช่วยเขาไม่ได้ แม้กระทั่งอำนาจในการลอยตัวเหนือปัญหาที่เขามักใช้ได้เสมอจากการเป็นผู้ชายผิวขาวก็ช่วยเขาไม่ได้เช่นกัน 

The Chair
Netflix

นอกจากอำนาจ 3 แบบที่เรายกตัวอย่างมาแล้วนั้น ใน The Chair ยังมีการยื้อยุดของอำนาจอื่นๆ ที่น่าสังเกตอีกมาก เช่น อำนาจที่มากับเชื้อชาติและสีผิว อำนาจที่โอนถ่ายกันไปมาระหว่างสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่เราไม่ได้แตะถึง อย่างเรื่องการรับมือกับความตายของคนรัก เรื่องของครอบครัวหลากหลายเชื้อชาติอันแสนอบอุ่นหัวใจ หรือเรื่องความรักของวัยกลางคนที่รู้ตับไตไส้พุงกันดี (เคมีระห่างแซนดร้าและเจย์ปุ๊งปั๊งมาก!) ซึ่งเมื่ออยู่รวมกันแล้วทำให้ซีรีส์เรื่องนี้จัดจ้านและเต็มอิ่มแม้จะมีความยาวรวมๆ แล้วเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น 

สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่คาดหวังว่าจะได้เห็นความฉิบหายวายป่วงของตัวละคร ขอบอกเลยว่าคุณจะชอบ The Chair อย่างมากเลยล่ะ!


อ้างอิง

aaup.org 

diverseeducation.com

heringer.com

AUTHOR