เดือนเมษายนเวียนมาถึงทีไร พาอากาศร้อนแทบไหม้มาด้วยทุกครา พี่น้องชาวไทยจำนวนหนึ่งคงสนุกสนานบานฉ่ำอย่างชุ่มชื่นกับการสาดน้ำช่วงสงกรานต์กันไปแล้ว แว่วว่าปีนี้ก็มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากขอสลัดผ้า (ไหมพรม) ท้าหน้าร้อน บุกมาเล่นสงกรานต์ที่เมืองไทยกันเพียบ ทั้งที่ญี่ปุ่นเองก็มีเทศกาลที่คนสาดน้ำใส่กันนะ แต่ออกแนวเป็นพิธีกรรมทางศาสนามากกว่าการสาดเพื่อความบันเทิง ที่สำคัญชอบจัดกันตอนฤดูหนาว จะหาคนสั่นสู้ได้สักเท่าไหร่กันเชียว!
จำได้ว่าเคยเขียนถึงเทศกาลวิ่งสาดน้ำที่จังหวัดอิวะเตะ ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี (บอกเลยว่าหนาวมากในแถบโทโฮคุ) งานนี้มีชายฉกรรจ์ใจสู้จากทั่วประเทศสมัครเข้ามานุ่งผ้าเตี่ยววิ่งตามเส้นทางที่กำหนด โดยมีกองเชียร์สองข้างทางคอยสาดน้ำใส่เพื่อความสิริมงคล อีกทั้งยังเป็นการแก้ชงและสะเดาะเคราะห์แทนผู้หญิงและคนชราที่ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีวิ่งนี้ได้ ถือเป็นการสาดน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เวรี่เจแปนนีส
แต่ยังมีเทศกาลสาดน้ำอีกอันที่ดูใกล้เคียงกับเทศกาลสงกรานต์ของเราอีกนิด เพราะจัดช่วงปีใหม่ แถมแลดูมีความบันเทิงผสมผสานอยู่ไม่น้อยเชียว เทศกาลที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘ทะมะเซะเซะริ (Tamaseseri Festival) ทะมะ แปลว่า ลูกบอล วัตถุทรงกลม ส่วนเซะเซะริ แปลว่า สัมผัส แข่งขัน
อธิบายแบบบ้านๆ เทศกาลนี้กึ่งๆ เป็นการแข่งขันแฮนด์บอลผสมโปโลน้ำที่มีการทำพิธีไหว้ครูก่อนเริ่มแข่ง แถมเป็นหนึ่งในสามเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของคิวชู ว่ากันว่าทำสืบต่อกันมา 500 ปีแล้ว
เมื่อถึงเวลาบ่ายโมงของวันที่ 3 มกราคมของทุกปี ที่ศาลเจ้าฮะโคะสะกิงู จังหวัดฟุกุโอกะ ลูกบอลไม้ 2 ลูก หนัก 8 กิโลกรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 30 เซนติเมตรซึ่งเป็นตัวแทนหยินและหยางจะถูกชำระล้างให้บริสุทธิ์ด้วยเหล้าศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้น บอลหยินจะถูกย้ายไปไว้ที่ศาลเจ้าอีกแห่งซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 250 เมตร ส่วนบอลหยางนั้นค่อยตามไปทีหลัง
ความสนุกที่เรามีส่วนร่วมได้อยู่ตรงนี้! ภารกิจของชายฉกรรจ์ในชุดผ้าเตี่ยวบางเบาทั้งหลายคือ การขนบอลหยางไปอยู่คู่กัน
ชายผู้กล้าจะถูกแบ่งเป็น 2 ทีม คือทีมบกกับทีมน้ำ พวกเขาจะต้องให้เพื่อนผู้มีทักษะในการยื้อแย่งและครองบอลขี่คอ ในขณะที่ชายชั้นบนแย่งลูกบอลหนักอึ้งไปมาท่ามกลางเสียงเชียร์ที่เร่าร้อนไม่แพ้การเชียร์มวยและความเย็นซ่านเป็นระยะจากน้ำที่ผู้ชมสาดมาจากสองข้างทาง ชายชั้นล่างต้องค่อยๆ ประคองเพื่อนเคลื่อนขบวนไปยังจุดหมาย เมื่อเดินมาถึงโทริอิ (ประตูบอกอาณาเขตของเทพเจ้า) หลักของศาลเจ้าอีกแห่ง บอลไม้อยู่ในมือทีมไหน ถือว่าทีมนั้นเป็นฝ่ายชนะ! เมื่อบอลหยินหยางกลับมาอยู่คู่กันในอาคารหลักก็ถือว่าจบพิธี
ชัยชนะของทีมบกหรือทีมน้ำยังมีนัยยะสำคัญเหนือความภูมิใจของสมาชิกหรือความสะใจของกองเชียร์ มันเป็นการทำนายอนาคตทางการเกษตรและการประมงในท้องถิ่นด้วย ถ้าทีมบกชนะ ว่ากันว่าปีนั้นผลผลิตจากไร่นาจะรุ่ง ส่วนถ้าปีไหนทีมน้ำชนะ ชาวบ้านคงจับกุ้งหอยปูปลากันได้เพียบ
น่าเสียดายที่เราหาไม่เจอว่าทำไมต้องสาดน้ำกันในเทศกาลนี้ด้วย คิดว่าคงเป็นการสะเดาะเคราะห์เหมือนการสาดน้ำที่อิวะเตะ แต่จริงๆ แล้วกิมมิกหลักในงานนี้คือการได้แตะบอล ซึ่งช่วยนำโชคและขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรืออาจจะเน้นสาดเสริมสิริมงคลให้คนที่ให้เพื่อนขี่คอ เพราะไม่มีโอกาสได้แตะบอลมงคลเหมือนเพื่อน หรือสาดเพื่อส่งเสริมบารมีของลูกบอล
ที่แน่ๆ ดูเหมือนว่า การสาด-สั่น จะเป็นของคู่กันสำหรับเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อปัดเป่าความโชคร้ายในญี่ปุ่น