ปั้นกระดาษให้เป็น ‘103paper’ แบรนด์ที่ชุบชีวิตกระดาษเหลือทิ้งให้เกิดใหม่เป็นแจกัน

Highlights

  • 103paper คือแบรนด์ที่นำกระดาษเหลือใช้ประเภทต่างๆ มารีไซเคิลเป็นดินกระดาษ แล้วนำดินกระดาษมาสร้างงานปั้นและซีรีส์แจกันที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
  • ดินกระดาษทำขึ้นจากกระดาษได้หลายประเภท ทั้งกระดาษ A4 ที่ใช้ในออฟฟิศ กระดาษลัง กระดาษโปสเตอร์ กระดาษนิตยสาร และกระดาษฝอยกันกระแทก ผสมกับส่วนผสมลับที่ทำให้ของใช้จากกระดาษมีความทนทานยิ่งขึ้น
  • แจกันทุกใบของ 103paper เป็นงานคราฟต์ที่ปั้นมือขึ้นมาทีละชิ้นโดยโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่อิงอยู่กับลักษณะที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ความโค้งมน สีสันเอิร์ทโทน หรือแม้แต่ดีไซน์ที่ดูคล้ายหินแม่น้ำก็มี

ชวนคิดเล่นๆ ถ้าคุณมีกระดาษขนาด A4 สักหนึ่งรีมที่ผ่านการใช้งานแล้วทั้งสองด้าน และต้องหาวิธีใช้ประโยชน์จากกระดาษปึกนี้ไม่ว่าจะรียูส จะรีไซเคิล หรือวิธีใดก็ตาม คุณจะทำอะไรกับมัน

‘เอากระดาษมาทำเป็นงานปั้นพร้อมฟังก์ชั่นที่ใช้งานได้’ คือสิ่งที่ วิทยา ชัยมงคล เจ้าของแบรนด์ 103paper คิด และไม่ใช่แค่คิดเล่นๆ แต่เขายังลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจัง

103paper

วิทยาเปิดประตูต้อนรับเราสู่เวิร์กช็อปหรือสถานที่สร้างงานย่านรามอินทราซึ่งเรียบง่ายและผ่อนคลายกว่าที่นึกภาพไว้  เพียงโรงทำงานที่ตีขึ้นอย่างง่ายๆ คล้ายโรงรถ นอกชายคาตั้งเครื่องไม้เครื่องมือที่ยังห่างไกลจากคำว่าอุตสาหกรรม ลานด้านหน้ามีโต๊ะม้านั่งตั้งใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่และกอไผ่สูงชะลูด เราสนทนากันตรงนั้น เบื้องหน้าคือผลงานของ 103paper ตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบัน งานปั้นเอย แจกันคละขนาดเอย หินก้อนเล็กก้อนน้อยเอย

หากมองปราด ไม่มีทางดูออกว่างานปั้นเหล่านี้ทำจากกระดาษ เพราะโครงสร้างที่ดูแข็งแรงคงทน ชิ้นสีขาวสว่างนั้นเหมือนงานปูนปั้น ชิ้นสีเทาค่อนดำนั่นคล้ายก่อรูปขึ้นจากดิน แต่ชิ้นงานเหล่านี้ทำขึ้นจากกระดาษจริงๆ แถมเป็นกระดาษที่เกือบถูกทิ้งเป็นขยะแล้วด้วยซ้ำ

 

กระดาษเหลือทิ้งกลายร่างเป็นดิน

วิทยาร่ำเรียนด้านศิลปะมาโดยตรงจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะเดียวกันก็มีความสนใจในงานปั้นหรือประติมากรรมอยู่เดิมที แต่ความสนใจเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็หลังจากจบการศึกษา แล้วเริ่มต้นอาชีพอาร์ตไดเรกเตอร์ของโฆษณาและภาพยนตร์ งานที่เจ้าตัวบอกว่าเครียดเอาเรื่อง และเรื่องก็เริ่มจากตรงนี้

“งานกองถ่ายมีลักษณะงานที่ต้องแก้ปัญหาอยู่เสมอ เช่น ต้องเอาของบางอย่างไปทำอีกอย่าง เราจึงเป็นคนที่มองเห็นความเป็นไปได้ของข้าวของทุกชิ้น ธรรมชาติอีกอย่างของงานกองถ่ายคือต้องทำงานตามใจลูกค้า ผมเลยพยายามมองหาพื้นที่ที่แสดงตัวตนได้โดยไม่ต้องสนใจคอมเมนต์ ไม่ต้องสนใจว่าต้องปรับแก้ยังไง ผมสนใจงานปั้นเลยตั้งโจทย์ว่าจะทำงานปั้น โดยต้องทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมด และไม่กดดันตัวเอง เพราะอาชีพหลักก็เครียดพอแล้ว

“ผมเข้าใจหลักการพื้นฐานของงานปั้นคือการขึ้นรูปทรง ไม่ว่าจะด้วยดิน ขี้ผึ้ง หรือวัสดุอื่นๆ จากนั้นก็ถอดพิมพ์ ทำเป็นบล็อก แล้วเอาไปหล่อด้วยวัสดุต่างๆ แต่พอลงลึกในแต่ละกระบวนการ ผมกลับไม่มีทักษะพอที่จะทำได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นว่ามันไม่ตรงโจทย์ที่ว่าต้องทำงานด้วยตัวเองได้ ถ้าฝืนทำไปก็เกิดความกดดัน หรือถ้าทำงานเซรามิก ปั้นเสร็จแล้วยังมีขั้นตอนการเคลือบและเรื่องอุณหภูมิซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ ผมเลยคิดถึงวัสดุที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการเหล่านั้น ปั้นเสร็จแล้วแห้งเองและใช้งานได้เลย ผมเลยเพิ่มโจทย์อีกข้อคือต้องใช้วัสดุที่เราทำขึ้นมาเองได้”

วัสดุที่วิทยาเอ่ยถึงคือ ‘กระดาษ’ แต่ลำพังกระดาษแผ่นบางจะเอาไปปั้นอะไรได้ เว้นเสียว่าจะทำกระดาษให้มีคุณสมบัติเดียวกับดิน 

“ผมพยายามสร้างดินของตัวเองขึ้นมาโดยเบสจากดินญี่ปุ่น และพยายามหนีห่างจากเปเปอร์มาเช่ที่เคยมีคนทำมาก่อน มันเลยกลายเป็นเนื้อดินที่มีความเป็นกระดาษอยู่

ในที่สุด วิทยาก็ทำ ‘ดินกระดาษ’ ของตัวเองขึ้นมาจากกระดาษออฟฟิศ กระดาษลัง กระดาษจากงานในกองถ่าย ที่ล้วนเป็นกระดาษเหลือทิ้งที่หาได้ใกล้มือ  

103paper

103paper

“ช่วงแรกที่ทดลองทำ ผมใช้กระดาษ A4 ในออฟฟิศที่ใช้งานทั้งสองหน้าแล้วกับกระดาษลังสีน้ำตาลที่หาได้ง่ายทั่วไป หลังๆ เราก็ได้พันธมิตรเพิ่มจากการไปออกร้าน เช่น กระดาษลังได้มาจากโรงงานที่เอาลังมาทำบ้านหมาบ้านแมว เวลาเขาเจาะหรือฉลุกระดาษก็จะเหลือกระดาษที่เป็นเศษๆ ซึ่งต้องกำจัดทิ้ง เขาก็เลยเอามาให้เราทดลอง เราก็พบว่ามันเวิร์กเพราะมันละเอียดมาแล้ว หลังจากนั้นเราก็ไปรับจากโรงงานเขาเลย เขาก็แฮปปี้

“กระดาษโปสเตอร์ก็ได้จากงานกองถ่าย กระดาษพวกนี้ใช้ได้แค่ครั้งเดียวเพราะมีรอยยับไม่ได้ ครั้งต่อไปจะใช้งานยาก ถ่ายเสร็จเราก็เก็บกระดาษพวกนั้นกลับมา ในยุคแรกๆ กระดาษโปสเตอร์ถูกเอามาใช้เยอะมาก เพราะมันใช้ต่อในงานไม่ได้แล้ว” 

นอกจากกระดาษที่ว่ามา วิทยายังแปรรูปกระดาษที่เกือบกลายเป็นขยะอีกหลายชนิดให้กลายเป็นดิน ไหนจะกระดาษนิตยสารโละทิ้ง​ อีกทั้งกระดาษฝอยกันกระแทกที่สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นขยะในระบบจัดส่งสินค้า 

“เบสหลักของเราคือกระดาษ 70-80% แต่เนื่องจากเราเอากระดาษมาแปรเป็นวัสดุเพื่อทำของใช้ จึงมีเรื่องอายุการใช้งานเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเลยต้องใส่ส่วนผสมบางอย่างลงไป ตอนแรกผมก็ทดลองหาส่วนผสมดู เอากระดาษมาขยำ มาปั่น มาบวกกับวัสดุอื่น หาสูตรอยู่นานกว่าจะเจอสัดส่วนที่เหมาะกับการใช้

หลังจากกระดาษแบบบางผ่านขั้นตอนการสร้างให้เกิดมวลเช่นเดียวกับดิน ลักษณะของมันจึงจับตัวเป็นก้อน มีน้ำหนักพอตัว หมาดชื้นแต่ไม่ชุ่ม เนื้อนุ่มสัมผัสนิ่มให้บิแบ่งและจับปั้นเป็นทรงได้ 

“ผมเรียกสิ่งที่ผมทำว่า paper sculpture ไม่ใช่เปเปอร์มาเช่ แต่คนทั่วไปมักเอามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งเราก็ไม่ได้ติดอะไร เพราะหลักการคล้ายๆ กัน แต่เราพัฒนากระบวนการบางอย่างที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะตัวที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งกระบวนการทำ ทั้งพื้นผิวภายนอก”

 

กระดาษต่างมีคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเอง

ดินกระดาษทำจากกระดาษที่ผ่านการใช้งานแล้วเหมือนกันก็จริง ผ่านการสร้างเป็นดินด้วยกรรมวิธีเดียวกันก็จริง แต่กระดาษต่างประเภทก็ต่างคาแร็กเตอร์ ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันไป

“พอทำมาเรื่อยๆ เราก็ค้นพบว่ากระดาษแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัว กระดาษที่เราใช้บ่อยและมากที่สุดคือกระดาษ A4 ที่ให้เนื้อละเอียด กระดาษโปสเตอร์มีความหยาบขึ้นมานิดหนึ่ง ส่วนกระดาษลังมีความแน่น ดูดน้ำ อิ่มน้ำ แต่ละชนิดเมื่อนำมาทำเป็นดินให้สัมผัสที่แตกต่างและยังให้สีที่ต่างกันด้วย” 

ไม่นานมานี้ วิทยาทดลองนำกระดาษฉลากเครื่องดื่มมาทำเป็นดิน ได้ผลลัพธ์เป็นสีเขียวไข่กาหรือเขียวปนครามอ่อน ซึ่งเป็นสีที่สวยคลาสสิกเช่นเดียวกับสีเครื่องเคลือบโบราณ 

103paper

“เราพยายามคงสีเดิมของกระดาษเพื่อสร้างความแตกต่าง ยิ่งมีการเปรียบเทียบว่างานของ 103Paper คืองานเปเปอร์มาเช่ ซึ่งมีขั้นตอนสุดท้ายคือการเพนต์หรือการเคลือบ เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราไม่เพนต์หรือเคลือบดีกว่า แต่โชว์คาแร็กเตอร์ของกระดาษเลย นี่เป็นการค้นพบโดยบังเอิญด้วยว่า พอกระดาษแห้งแล้วสีของมันก็เข้าท่าดีเหมือนกัน อาจเพราะกลุ่มกระดาษที่เราใช้เป็นสีเอิร์ทโทนด้วย”

การใช้สีธรรมชาติของกระดาษโยงไปสู่เทคนิคการเล่นสีบนชิ้นงาน หากต้องการให้เกิดสีที่คละกันต้องใช้กระดาษต่างประเภท เขายกตัวอย่างงานประติมากรรมในยุคแรกๆ ที่เป็นต้นแบบของงานดีไซน์ชิ้นต่อๆ มา คือประติมากรรมรูปทรงผู้หญิงอุ้มท้องที่ใช้กระดาษถึงสามประเภท คือกระดาษ A4 กระดาษลัง และกระดาษโปสเตอร์

“เพราะฉะนั้น การเลือกว่าจะใช้กระดาษแบบไหนจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของความต้องการใช้สี” วิทยาสรุปให้เข้าใจง่าย

 

แจกันปั้นมือที่ดีไซน์ให้คล้ายคลึงธรรมชาติ

วิทยาเล่าว่าในช่วงแรกเริ่มของการสร้างสรรค์งาน เขามุ่งไปที่การค้นหาสัดส่วนของเนื้อวัสดุ จึงยังไม่ลงลึกในการออกแบบเท่าไหร่นัก กระทั่งได้ดินกระดาษที่ลงตัวจึงมองไปถึงเรื่องดีไซน์ จากไอเดียตั้งต้นคือทำประติมากรรมที่มาพร้อมฟังก์ชั่นได้แตกยอดต่อขยายออกมาเป็นซีรีส์แจกันสร้างชื่อและมีพัฒนาการของรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

“แจกันมีความย้อนแย้งกับกระดาษเพราะกระดาษกับน้ำไม่ใช่ของคู่กัน แต่มันก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ ซึ่งพอทำจริงผมพบว่าถ้าต้องการให้กระดาษป้องกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คาแร็กเตอร์ของความเป็นกระดาษจะหายไป เลยเลือกรักษาความเป็นเนื้อกระดาษไว้ และสามารถโดนน้ำได้ประมาณหนึ่ง แจกันของเราเลยเหมาะสำหรับดอกไม้แห้งมากกว่า แต่มีบางชิ้นที่เราทำแล้วสามารถใส่ดอกไม้สดได้คือมีหลอดแก้วอยู่ข้างในแล้วใช้ดินกระดาษปั้นทับเพราะหลอดแก้วมีลักษณะของความเป็นแจกันในตัว

“อีกอย่างคือสิ่งที่เราทำเป็นงานคราฟต์ งานแฮนด์เมด การจะทำให้ป้องกันน้ำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องใช้เคมี เรารู้สึกว่ามันเป็นอุตสาหกรรมเกินไป ของเราเอาแค่ประมาณนี้น่าจะดีกว่า คือกันน้ำได้ ทำความสะอาดได้ แต่ไม่ถึงกับเอาไปแช่ในน้ำ”

เจาะจงเฉพาะหมวดแจกันของ 103paper วิทยาแบ่งกลุ่มง่ายๆ ด้วยขนาด ขนาดใหญ่ชัดเจนในความเป็นประติมากรรม ส่วนขนาดเล็ก มีเล็กไปจนถึงขั้นเรียกว่าแจกันจิ๋ว เป็นเรื่องของจำนวนผลิตและความคล่องในการขาย ทั้งสองกลุ่มมีจุดร่วมเดียวกันคือดีไซน์ที่อิงกับลักษณะที่มีอยู่ในธรรมชาติ ความกลมเกลี้ยง ความโค้งมน ความลื่นไหล ความบิดเบี้ยว ความแหว่งเว้า หรือลวดลายที่เป็นริ้วระลอก

ในแจกันดีไซน์หนึ่ง เขานำดินกระดาษมาปั้นเลียนก้อนหินที่เห็นได้ตามสายน้ำลำธาร เจาะรูตรงกลาง แล้วเอามาครอบหลอดแก้วซ้อนเรียงขึ้นเป็นแจกัน หินทุกชิ้นมีรูปร่างและลวดลายที่เหมือนจริงเอามาก หากเพียงสายตามอง เชื่อได้เลยว่าต้องหลงคิดว่าเป็นหินจริง และผลงานนี้ก็พาให้แบรนด์คว้ารางวัล Design Excellence Award ในเวที DEmark2019 มาได้

“งานก้อนหินเป็นงานที่เราไม่ได้ตั้งใจทำตั้งแต่แรก เรียกว่าเป็นของเหลือจากการทำงานชิ้นใหญ่อีกที จะทิ้งก็เสียดายเลยปั้นๆ ไว้ เอาไปตกแต่งตอนออกบูท ทีนี้มีคนสนใจผมเลยพัฒนามาเป็นแจกันพวกนี้ มีคนบอกว่าเราทำก้อนหินแต่เราไม่ได้ทำก้อนหิน เราเอาคาแร็กเตอร์ของก้อนหินมาอยู่ในงาน ก็คือลวดลาย มีความเป็นเม็ด มีความพรุน” 

แจกันทุกใบของ 103paper เป็นงานที่ปั้นมือขึ้นมาทีละชิ้น เพราะฉะนั้น แม้ตั้งใจทำรูปทรงเดียวกัน หน้าตาพิมพ์เดียวกัน ก็ไม่มีทางเหมือนได้ในทุกกระเบียด โดยเฉพาะริ้วลายกระดาษที่ไม่มีทางทำให้เหมือนซ้ำ และนี่คืออีกคุณสมบัติของความเป็นธรรมชาติ ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ลงตัว

วิทยายังพัฒนารูปทรงแจกันมาสู่การเล่นเป็นชั้นและปั๊มลวดลาย การทำแจกันในลักษณะเลเยอร์ต้องอาศัยการปั้นทีละชั้น เมื่อรอให้ชั้นแรกแห้งดีแล้ว จึงค่อยเริ่มปั้นชั้นต่อๆ มาทับซ้อนเข้าไป นอกจากเป็นการออกแบบที่ก้าวหน้าขึ้น ยังช่วยเสริมในแง่ความทนทาน

ขณะที่การทำลวดลายนูนต่ำเป็นการต่อยอดมาจากความชอบส่วนตัวของเขาที่มีต่องานกระเบื้องโบราณ เขาหยิบแพตเทิร์นลายกระเบื้องตามวัดวามาลดทอนให้ร่วมสมัย เพิ่มความเป็นกราฟิกเข้าไป และใช้วิธีปั๊มลงบนดินกระดาษที่ขึ้นรูปแล้วทีละดอกทีละดวงเพื่อสร้างมิติและแสงเงาบนชิ้นงาน ตัวอย่างก็เช่นแจกันสีเขียวไข่กาที่ทำลวดลายต่างระดับเป็นกราฟิกกระเบื้องโบราณ ซึ่งเผยโฉมในงาน Bangkok Design Week 2020 

อีกหนึ่งพัฒนาการหนึ่งของ 103paper คือการนำวัสดุเหลือทิ้งอื่นๆ มาร่วมใช้ ทั้งกากกาแฟ กากใบชา และฝุ่นหนังจากโรงงาน ซึ่งมีบุคลิกและโทนสีที่กลมกลืนกับวัสดุหลักคือกระดาษ วัสดุเสริมเหล่านี้ล้วนเป็นของที่หมดประโยชน์ แต่กลับมีประโยชน์อีกครั้งเมื่อผ่านการใช้งานในรูปแบบใหม่ ชิ้นงานจึงมีความน่าสนใจขึ้นและมีผิวสัมผัสใหม่ๆ ให้เล่นมากขึ้น

 

มอบชีวิตใหม่ให้กระดาษ สู่ความอยู่รอดคนทำ

หากจะนิยามในงานทั้งหมดทั้งมวลที่เขาทำ วิทยาเอ่ยถึงคำว่า ‘a Next Life’

“next life เป็นคำที่ผมคิดขึ้นมาเพื่อให้แบรนด์ชัดเจนขึ้น โดยหลักการแล้ว เรานำต้นไม้มาผลิตเป็นกระดาษ แล้วนำกระดาษมาใช้งาน พอเราใช้งานกระดาษจนมันหมดหน้าที่แล้ว เราก็เหมือนทำให้เขาได้เกิดใหม่โดยการใช้งานเขาในอีกรูปแบบซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เหมือนเดิม แต่เราเปลี่ยนให้เขามีชีวิตใหม่ในอีกรูปแบบที่ต่างออกไป

“ตอนแรกที่ทำแบรนด์ เราไม่ได้มีความรู้สึกว่า เฮ้ย เรามาทำสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมกันดีกว่า แต่หลังจากนั้น เราก็ถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเราก็รู้สึกดีใจ เพราะแม้เล็กน้อยแต่เราก็มีส่วนในแง่ของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ยกระดับวัสดุให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

นับตั้งแต่ปี 2011 ที่แบรนด์ 103paper ถือกำเนิด วิทยาและหญิงสาวข้างกาย อัจฉรา ตันนี ผู้เป็นกำลังเสริมคนสำคัญ ช่วยกันพาผลงานออกสู่สาธารณะจนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งร่วมจัดแสดงในงานนวัตกรรมและดีไซน์ในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเคยพาผลงานไปคว้ารางวัลบนเวทีประกวด เช่น รางวัลชนะเลิศ Thailand Green Design Award ปี 2018 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (resource efficiency)

อีกสิ่งที่นับเป็นรางวัลแก่ผู้สร้างงานคือสิ่งตอบรับจากลูกค้าที่เข้าใจว่า 103paper คือใคร และกำลังทำอะไร

“ในช่วงแรกมีคนตั้งคำถามว่าจะผลิตในจำนวนมากได้ยังไง เพราะของแบบนี้ ถ้าจะรอด ต้องรอดด้วยจำนวน แต่งานของเราเป็นงานแฮนด์เมด เราจะรอดด้วยวิธีนั้นไม่ได้แน่นอน ผมจึงต้องหาวิธีอยู่ให้ได้ด้วยการทำให้คนรู้จักเรา โดยยังคงจุดยืนชัดเจน นั่นคือเราต้องใช้เวลาในการผลิต และเราจะไม่ผลิตออกมาทีละมากๆ 

“ผลคือมีกลุ่มลูกค้าที่เข้าใจ ชอบ และเห็นคุณค่าในงาน ลูกค้าบางคนถามว่า คุณใช้เวลาทำชิ้นงานแต่ละชิ้นนานเท่าไหร่ หนึ่งเดือนใช้ไหม ถ้าอย่างนั้นเขาก็จะรอหนึ่งเดือน และจะไม่แตะต้องเรื่องดีไซน์ของเราด้วย เราโชคดีที่เจอลูกค้ากลุ่มนี้

“อย่างนี้ผมเลยชอบงานทุกชิ้นที่ทำ เพราะมันผ่านมือผมทุกชิ้น ผมไปขายงานชิ้นแรกได้ที่ตลาดนัด แพ็กไปน้ำตาไหลไป ดีใจก็ดีใจที่ขายได้ แต่ก็ใจหาย เราอยู่ด้วยกันมานาน นี่จะไปอยู่บ้านคนอื่นแล้ว และเราเชื่ออีกอย่างว่าเวลาเราหยิบจับอะไรจะมีพลังงานบางอย่างจากตัวเราถ่ายทอดลงไป จะเป็นความผูกพันหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่มันจะซึมซับเข้าไป ผมเชื่ออย่างนั้น” 

ความหมายของ 103paper ถูกหยิบมาวางเป็นคำถามสุดท้าย วิทยาออกตัวว่าอาจเป็นเหตุผลที่ซื่อๆ ตรงๆ อยู่สักหน่อย “ช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผมคือการได้เรียนที่ศิลปากร ผมรหัส 103 เลยมีความตั้งใจไว้ว่าถ้ามีกิจการของตัวเอง มีแบรนด์ หรือมีออฟฟิศก็จะเอาเลขนี้มาตั้ง เหมือนบันทึกความประทับใจของเราให้เป็นรูปธรรม จริงๆ ก็ไม่ได้ซ้ำซ้อนอะไร paper ก็คืองานที่เราทำนี่ล่ะ”

 

103paper

facebook : 103paper
instagram : 103paper
website : 103paper.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน