U Drink I Drive : บริการเช่าคนขับส่งนักดื่มกลับบ้าน

ใครๆ ก็รู้ดีว่าเราไม่ควรเมาแล้วขับ แต่ปัญหาที่คนมีรถส่วนใหญ่ต้องเจอคือเมื่อเมาแล้วจะทำอย่างไรให้ทั้งคนและรถกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย U Drink I drive คือธุรกิจไอเดียสดใหม่ที่บริการส่งพนักงานขับรถฝีมือคุณภาพมาหานักดื่มพร้อมขับรถไปส่งถึงบ้าน เจ้าของธุรกิจมากความคิดสร้างสรรค์นี้คือ สิรโสมย์ บริสุทธิ์สุวรรณ์ Co-Founder และ CEO ที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นจากมันสมองและสองมือของเธอตั้งแต่อายุเพียง 23 ปี


พลิกปัญหาเป็นโอกาส

“ธุรกิจนี้เริ่มต้นขึ้นตอนที่เราเรียนปริญญาโทด้าน Arts in Business and Managerial Economics ที่จุฬาฯ อาจารย์สั่งโปรเจกต์ก่อนจบให้นิสิตทุกคนลองทำธุรกิจขึ้นมาจริงๆ พอดีตอนนั้นมีข่าวว่าไทยมีจำนวนเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์เป็นปัญหาเมาแล้วขับ เราเลยอยากทำธุรกิจที่แก้ปัญหานี้ได้ เราพบว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครอยากเมาแล้วขับ ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก บางคนพอเมาแล้วก็ไม่อยากนั่งแท๊กซี่ เพราะเอารถมาด้วย และไม่อยากเสี่ยงทิ้งรถไว้หน้าร้าน เราเลยลองคิดย้อนกลับ ก็ได้ไอเดียว่าถ้าเมาแล้วขับไม่ได้ ทำไมไม่ให้คนอื่นมาขับแทน แล้วเราก็พบว่ามันมีธุรกิจบริการคนขับรถแบบนี้อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เพราะอย่างในยุโรป สังคมเขามีทัศนคติที่รุนแรงมาก การเมาแล้วขับเหมือนคุณได้ฆ่าคนตายไปแล้ว เขาเลยใช้บริการนี้กันเป็นกิจวัตรทุกครั้งที่ไปดื่ม พอรู้ว่าในประเทศอื่นมันเป็นไปได้ ในเมืองไทยก็น่าจะเป็นไปได้เหมือนกัน”

“ตอนนั้นเราอายุแค่ 23 เราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องรวยเป็นพันล้านร้อยล้านจากธุรกิจนี้ เราแค่อยากเรียนรู้ อยากทำ พอเห็นโอกาสก็ตื่นเต้น และที่สำคัญ เราคิดว่าถ้าธุรกิจได้ช่วยเหลือคนด้วยแล้วทำไมจะไม่ลองทำดูสักตั้งล่ะ”


สู้เมื่อเชื่อว่าโจทย์ใหญ่พอ

“หลังเรียนจบ เรากับหุ้นส่วนก็เริ่มตั้งบริษัท ในปีแรกมันไม่ราบรื่นและไม่มีอะไรเหมือนที่คาดไว้เลย ตามแผนธุรกิจ เราควรมีลูกค้าราว 100 คนต่อเดือน แต่ยอดเดือนแรกกลับอยู่ที่หลัก 10 (หัวเราะ) และเราก็ยังมีต้นทุนค่าเช่าออฟฟิศ ค่าเงินเดือนพนักงาน ที่แย่ที่สุดคือพอเปิดมาได้ 3 เดือนก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว จำนวนลูกค้ากลายเป็น 0 เพราะผับมันปิดหมดเลย ไม่มีใครออกไปเที่ยว ตอนนั้นเราท้อเพราะขาดทุนเยอะมาก เงิน 1 ล้านหมดภายใน 3 – 4 เดือนแรก ผู้ถือหุ้นที่ทำงานคู่กันก็ลาออก ธุรกิจเราขาดทุนอยู่เป็นปี ผลประกอบการแบบนี้จะไปกู้แบงก์ไม่ได้ ไม่มีใครอยากมาลงทุนร่วมกับเรา ไม่มีใครแน่ใจว่าธุรกิจแบบนี้จะไปรอดรึเปล่า และเราไม่อยากไปขอทุนรัฐบาล เพราะอยากเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง”

“ตอนนั้นเราสู้ต่อโดยไม่รู้เหมือนกันว่าเราไปเอาพลังความเชื่ออันแรงกล้ามาจากไหน (หัวเราะ) เราแค่รู้ว่าอยากเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย อยากลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ในเมื่อปัญหามันรุนแรงขนาดนี้ แล้วทำไมเราจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จล่ะ เราเชื่อว่ามันต้องไปได้ เลยลุยกับคนที่ยังอยู่ หาทางทำให้ธุรกิจไปรอดให้ได้”


ความเข้าใจลูกค้าคือกุญแจ

“ตอนแรกที่บริษัทเจอวิกฤตรอบด้าน เราต้องเป็น call center ด้วยตัวเองมาเป็นปีเพื่อประหยัดค่าจ้างพนักงาน ถึงจะเหนื่อย แต่มันทำให้เรายังได้คุยกับลูกค้า พอเราเปิดใจรับฟังพวกเขาเราเลยเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น เสียงส่วนใหญ่บอกว่าที่มันไม่เวิร์คเพราะไม่มีใครกล้าให้คนแปลกหน้ามาขับรถของเขาหรอก ยิ่งเป็นผู้หญิงก็ยิ่งไม่ไว้ใจคนขับผู้ชาย ตอนนั้นเราเลยรู้ว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้เราไปรอดคือการสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้า”

“เราแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เราติดกล้องสำหรับกีฬา extreme ไว้ตรงหูพนักงานเพื่อใช้บันทึกภาพและเสียงตลอดการเดินทาง และยังติด GPS ไว้ที่ตัวพนักงานเพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ไหนแล้ว ออกนอกเส้นทางรึเปล่า ถึงลูกค้าตรงเวลาไหม ขับรถเร็วว่าที่กำหนดรึเปล่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุเราก็มีประกันคุ้มครอง พอเป็นแบบนี้ลูกค้าก็อุ่นใจมากขึ้น ในที่สุดธุรกิจเราก็เริ่มถึงจุดคุ้มทุนภายใน 18 เดือน รายได้ก็กระโดดขึ้นเร็วมาก ลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันคนในเดือนเดียว”


ให้มากกว่าที่คนคาดหวัง

“ธุรกิจ start up อย่างเราไม่มีงบเยอะๆ ไปทุ่มให้โฆษณา ช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ลูกค้าแชร์ด้วยความเต็มใจ เราเลยตั้งใจว่าทุกครั้งที่ลูกค้ามาใช้บริการ เขาต้องได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด ต้องได้รับบริการมากกว่าที่เขาคาดหวังเสมอ อย่างสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือมารยาทคนขับรถ กว่าเราจะรับคนขับสักคน เขาต้องผ่านการสัมภาษณ์เชิงจิตวิทยา อบรมมารยาทเกือบ 6 ชั่วโมง และนอกจากจะต้องแม่นภาคทฤษฎี พวกเขาต้องผ่านการสอบปฎิบัติโดยการขับให้หุ้นส่วนทุกคนลองนั่ง ซึ่งต่อให้เราไม่มีลูกค้า เราก็ไม่คิดจะลดมาตรฐานเลย พนักงานของเราใส่ยูนิฟอร์มตั้งแต่วันแรก ขึ้นรถมาเรามีผ้าเย็น น้ำดื่ม พอลูกค้าพอใจมันก็เกิดการแชร์โดยอัตโนมัติ มีหลายครั้งที่ลูกค้าเป็นคนมีชื่อเสียง หรือเน็ตไอดอล มันทำให้คนรู้จักเราเยอะขึ้น พอดาราเริ่มโพสต์ สื่อก็รู้จัก เราเลยได้ช่องทางประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมาก”

“พอธุรกิจเริ่มเติบโต ปัญหาที่ตามมาคือจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เราเลยต้องรีบหาคนขับรถจำนวนมาก มีหลายครั้งที่เราเทรนไปกว่า 10 คน ในใจเราให้ผ่านแค่คนเดียว แต่ถ้าเอาแค่คนเดียว เราคงต้องปฎิเสธลูกค้าเยอะมาก ตอนนั้นอยากจะปิดตาข้างนึงเพื่อรับเขาเข้ามา แต่เราก็ทำใจไม่ได้ เพราะเราอยากให้ประสบการณ์ทุกครั้งของลูกค้ามันดีจริงๆ ถ้าเขามาใช้ครั้งแรกแล้วเจอคนขับรถที่ไม่ดี ไม่รู้ทาง ใช้รถไม่เป็น เขาคงไม่กลับมาใช้บริการอีก เราคุยกับทีมว่ายังไงเราก็ต้องยึดมั่นในบริการที่มีมาตรฐาน ถึงเราจะเสียลูกค้าไปตอนนี้ มันก็ยังดีกว่าให้เขามาใช้บริการที่ไม่มีคุณภาพ”


เติบโตสู่การตอบโจทย์หลากหลาย

“จากวันแรกมีคนขับรถคนเดียว ผ่านมาประมาณ 2 ปีครึ่ง ทุกวันนี้เรามีคนขับรถแปดสิบกว่าคน มีประมาณ 3,500 ทริปต่อเดือน และทุกเดือนยอดลูกค้าเราโตจะขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากตอนแรกที่เราตั้งใจเจาะกลุ่มลูกค้าที่เที่ยวกลางคืน ตอนนี้เราเริ่มให้บริการร่วมกับหลากหลายบริษัทอย่างเบนซ์ที่จ้างคนขับของเราไปช่วยรับ-ส่งรถของลูกค้าที่เสีย อยากเอารถไปซ่อมที่อู่แต่ไม่มีเวลา”

“เป้าหมายของเราในปีนี้คือการ rebranding โดยไม่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ดื่มอย่างเดียวแล้ว เราจะเพิ่มบริการเป็น driver on demand เปิดเป็นบริการเช่าคนขับรถแบบวันต่อวัน เช่น ขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือพาญาติไปหาหมอ ซึ่งการต่อยอดนี้ลูกค้าเป็นคนบอกเราเอง เวลาที่ต้องการคนขับรถ เขาจะนึกถึงเราเพราะเชื่อใจไว้ใจในคุณภาพและยังไม่มีบริษัทไหนที่ตอบสนองความต้องการแบบนี้ได้”

“ตอนเริ่มทำงานนี้ มีคนเตือนเยอะมากว่าถ้าเปิดธุรกิจแล้วไปทำรถแพงๆ ของลูกค้าเสียหายจนต้องจ่ายประกัน 4 – 5 แสน หรือคนขับรถของเราไปข่มขืนลูกค้า ธุรกิจก็ต้องปิดแล้วนะ เราก็รับฟังแต่เดินหน้าต่อเพราะใจอยากทำมาก มีคนบอกว่าวันนึงคนเรามีความคิดในหัวกว่า 6 หมื่นความคิด ถ้าคิดแล้วนั่งเฉยคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมีความเสี่ยง แทนที่จะกลัว ทางที่ดีคือเราควรปกป้องลูกค้าและปกป้องบริษัทให้ดีที่สุดดีกว่า ถ้าทำดีที่สุด อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ามันไม่เวิร์กดีกว่าเก็บเอาไปคิดจนวันตายว่าเรายังไม่ได้ลองทำ และถ้าสุดท้ายมีคนอื่นมาทำเหมือนกัน เราคงเสียใจที่ไม่ได้ลงมือด้วยซ้ำ”


www.udrinkidrive.co.th

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR