กาญจนา พันธุเตชะ แห่งเพจ ‘ป้าแบ็คแพ็ค’

“แม่ผมไปสตูลและพัทลุงประมาณ 10 วันครับ แล้วหลังจากนั้นจะไปญี่ปุ่นต่ออีกเกือบ 2 อาทิตย์” คำบอกเล่าจาก นรพิชญ์ พันธุเตชะ ลูกชายของ กาญจนา พันธุเตชะ หรือ ‘ป้าแป๋ว’ เราคุยกันพักใหญ่เพื่อหาวันหยุดพักจากตารางการเดินทางแน่นๆ ของแม่ เพื่อนัดสัมภาษณ์กับเรา

เรารู้จักเธอผ่านกระทู้พันทิปแนะนำที่ชื่อ ‘แม่ผมเกษียณไปเป็น Backpacker’ ซึ่งเขียนโดยนรพิชญ์ เนื้อหาเล่าเรื่องการไปเที่ยวแบ็กแพ็กของคุณแม่วัย 63 ปี เรื่องของคุณแม่นักเดินทางทั้งสนุกและปลุกความอยากเที่ยวของคนหนุ่มสาวชนิดที่อ่านจบแล้วอยากออกเดินทางทันที

คนอ่านสนใจว่าป้าแป๋วเตรียมตัวในการเดินทางคนเดียวยังไง ส่วนเราสงสัยว่าสำหรับหญิงสาวหลังวัยทำงานก่อร่างสร้างตัว การเดินทางทำให้เธอมีชีวิตอีกครั้งยังไง

ก่อนเกษียณ ป้าแป๋วเป็นข้าราชการที่มีอายุงานกว่า 39 ปีในกระทรวงสาธารณสุข เป้าหมายในวัยทำงานคือการเก็บเงินสร้างชีวิตและครอบครัว ในใจลึกๆ กาญจนาอยากออกไปดูโลกกว้าง แต่เธอไม่เคยได้โอกาสนั้น

เมื่อถึงวัยเกษียณ กาญจนาโชคดีที่ลูกๆ โตเป็นผู้ใหญ่ สามีก็ไม่เคยห้าม น้ำหนักที่เคยวางอยู่บนบ่าก็ลดน้อยลงจนแทบจะเดินตัวปลิว ด้วยนิสัยรักการอ่าน ชอบละลายเวลาไปกับห้องสมุด อดีตข้าราชการสาวสะดุดตากับหนังสือที่เล่าเรื่องการเดินทางที่เรียกว่าแบ็กแพ็ก เธอตัดสินใจว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการสำรวจโลกกว้างเพียงลำพัง

“เรารู้สึกว่าเราก็ยังแข็งแรง เพราะเพิ่งหยุดทำงานแต่เราเหมือนรถที่ยังวิ่งเร็วๆ อยู่ จะหยุดอยู่เฉยๆ มันก็อยู่ยาก เรายังอยากไปไหนมาไหนก็เลยเลือกที่จะเดินทาง” ป้าแป๋วพูดตาเป็นประกาย “การเดินทางคนเดียวมันเป็นความคล่องตัว อย่างเวลามีโปรโมชั่นเครื่องบินเราก็จองได้เลย ไม่ต้องถามใครว่าจะมีเวลาตรงกับเราไหม แค่นั้นเอง”

ปี 2015 แบ็กแพ็กทริปแรกของป้าแป๋วคือการไปพม่า 2 อาทิตย์ด้วยวิธีแสนอินดี้คือนั่งรถทัวร์ไปเหนือสุดของไทยแล้วหารถเข้าเมืองเมียวดีด้วยตัวเอง เธอแบ่งเงินเก็บและเงินบำนาญที่ได้ทุกเดือนเป็นเชื้อเพลิงในการเดินทาง ทุกทริปใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ระหว่างวางแผน เธอคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ Google และหนังสือนำเที่ยวสารพัดเล่มทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ระหว่างเดินทาง เธอจะโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรือไลน์หาครอบครัวว่าอยู่ที่ไหน ทุกทริปจะเลี่ยงทุกสถานการณ์เสี่ยง ถ้าลงเครื่องบินดึกดื่น เธอจะยอมนอนที่สนามบิน รอให้ฟ้าสว่างแล้วค่อยออกเดินทาง “จริงๆ เป็นคนมีอายุก็ทำให้ไม่อันตรายเหมือนกันนะ เราสามารถนอนห้องพักรวมในโฮสเทลได้เลย เพราะไม่มีใครมาสนใจเราหรอก” คุณแม่นักเดินทางเล่า

นอกจากความปลอดภัย สุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ เธอดูแลตัวเองอย่างดีเพราะเชื่อว่าร่างกายคือแหล่งพลังงานสำคัญในการเดินทาง “เราไม่อยากกินยาตลอดชีวิต เราจึงตรวจสุขภาพทุกปี ออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารแบบไม่ตามใจปากมากนัก แม้คนเราจะหลีกเลี่ยงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ในท้ายที่สุด แต่มันไม่ควรจะมาเร็วเกินไป ควรมีเวลาให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตบ้าง”

ป้าแป๋วเล่าประสบการณ์เดินทางให้คนในครอบครัวฟัง ลูกชายอ่านแล้วก็ยุให้เธอเปิดเพจเฟซบุ๊กเล่าเรื่องให้คนอื่นอ่าน เธอบอกว่าสนใจประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศเป็นพิเศษ สถานที่ห้ามพลาดทุกทริปคือพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่

แท้จริงแล้วความสุขของนักเดินทางวัยเกษียณ ไม่ใช่สถิติจำนวนประเทศที่ไปเยือน แต่เป็นการสำรวจเรื่องราวของบ้านเมืองด้วยสายตาตัวเอง

“การศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศก็เหมือนเราได้รู้จักพ่อและแม่ของคนในประเทศนั้น เราจะรู้ว่าทำไมคนชาตินี้ถึงมีนิสัยแบบนี้ แล้วการเดินทางไปเห็นด้วยตาก็ช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ที่เรารู้ว่ามันเป็นจริง มันเป็นความสุขเล็กๆ ในบั้นปลายชีวิตของเรา”

เธอหัวเราะและส่ายหัวเมื่อเราถามถึงจุดมุ่งหมายของการเดินทางของคนอายุหลัก 6 ป้าแป๋วไม่สนใจ “อายุปูนนี้แล้วอย่าถามถึงจุดมุ่งหมายเลย เราแค่อยากใช้เวลาที่เหลือทำสิ่งที่เรามีความสุข การเดินทางทำให้เราเพลิดเพลิน สนุกกับชีวิต และเติมเต็มในสิ่งที่ขาดไป ตราบใดที่ยังมีแรงแบบนี้ ก็ยังอยากจะเดินทางต่อไป จนกว่าจะไปไม่ไหว”

ดูจากโปรแกรมเที่ยวยาวเหยียดทั้งปี เราเห็นแล้วว่าเธอยังสนุกกับการใช้ชีวิต 65 คือตัวเลขอายุที่เธอกำหนดว่าจะหยุดพักเพื่อประเมินตัวเอง ถ้าร่างกายร้องหาที่พักเธอจะไม่ปฏิเสธ บ้านแสนสงบและหนังสือนับร้อยพร้อมให้ความสุขในบั้นปลาย

แต่ถ้ายังไหว เราคงได้เห็นการเดินทางของป้าแป๋วในวัยขึ้นเลข 7 เพราะเธอเชื่อว่าการเดินทางไม่ใช่การทำสถิติ แต่เป็นการออกกำลังกายที่ทำให้เธอแข็งแรง มีเรี่ยวแรงไปต่อทั้งกายและใจ

Facebook | ป้าแบ็คแพ็ค

(จากคอลัมน์ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า – a day 189 พฤษภาคม 2559)

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

AUTHOR