ทุกคนต่างมีความฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่พยายามเดินตามความฝันนั้นและทำมันให้เป็นจริง
หากนึกถึงช่วงเวลาที่ค้นหาตัวตน เส้นทางความฝันของตัวเองก็คงหนีไม่พ้นช่วงวัยมัธยม ทุกวันนี้เวลาเดินไปไหนมาไหนก็มักพบเจอวัยรุ่นหลากหลายช่วงวัย มาล้อมฟังดนตรีจากกลุ่มคนที่ใส่ชุดนักเรียนหรือนักศึกษาอยู่บ่อยๆ และบรรยากาศเหล่านั้นอาจจะทำให้ใครหลายๆ คนได้หวนกลับไปนึกถึงช่วงวัยเรียนอีกครั้ง
Yes Indeed คือหนึ่งในวงดนตรีมัธยมเปิดหมวก ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน เริ่มต้นจากสองพี่น้อง พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร (นักร้องนำ, มือกีตาร์) และ แพนเค้ก-อิสรีย์ อิสระวรางกูร (นักร้องนำ) จากนั้นก็เพิ่มสมาชิกในแต่ละตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น มังกร-รัชชานนท์ วรกิจไพบูลย์ (มือกลอง), ทะเล-ยศธกร ชะเอม (กีตาร์โซโล่) และคนสุดท้าย ติน-ตฤณ ฟูจิตนิรันดร์ (คีย์บอร์ด) น้องเล็กสุดในวง
วัยรุ่นหนุ่มสาวทั้ง 5 คนมีความฝัน ความมุ่งมั่น และความรักในด้านดนตรีเหมือนกัน จึงได้มาพบเจอและรวมตัวกันเล่นดนตรีเปิดหมวกตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะการแสดงที่สยามสแควร์ที่มีผู้คนมาชมกันมากมายจนแทบไม่มีที่ยืน กลายเป็นกระแสไวรัลบนโลกโซเชียล และสร้างปรากฏการณ์สยามแตก พลิกฟื้นสยามสแควร์ที่เงียบเหงาให้กลับมาคึกคักกันอีกครั้ง
จากวงดนตรีมัธยมเปิดหมวกธรรมดาๆ ที่มารวมวงกันได้ไม่ถึงปี ตอนนี้พวกเขามีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน คิวงานยาวเหยียดไปถึงสิ้นปี ได้ออกสื่อตามรายการต่างๆ รวมถึงได้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้า นอกจากนี้ยังมีค่ายเพลงติดต่อเข้ามามากมาย ปลายปีนี้ก็จะได้เล่นในงานคอนเสิร์ตเวทีใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรี OCTOPOP ที่ราชมังคลากีฬาสถาน และ Big Mountain Festival 2022 รวมไปถึงพวกเขากำลังจะมีเพลงเป็นของตัวเองเร็วๆ นี้อีกด้วย
ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดหมวกช่วงแรกๆ เราเห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของวงน้องใหม่ จนถึงวันนี้ความฝันของพวกเขาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีฝีมือที่เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงอยากชวนคุยถึงเส้นทางดนตรีของพวกเขาว่ามัน ‘ใช่’ มาตั้งแต่แรกเหมือนชื่อวงมากน้อยแค่ไหน
เส้นทางที่เคยไม่ใช่มาก่อน
หลายอย่างในชีวิตคนเราคงมีทั้งใช่และไม่ใช่ปะปนกันไป กว่าเราจะเจอสิ่งที่ใช่จริงๆ ก็ต้องใช้เวลาลองถูกลองผิดพอสมควร เช่นเดียวกับวง Yes Indeed
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น สองพี่น้อง ‘พอร์ส’ และ ‘แพนเค้ก’ ที่อยากจะมีวงเป็นของตัวเองจึงชวนกันอัดคลิปร้องเพลงลง YouTube แต่ก็แทบไม่มีคนดูเลย หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเริ่มออกไปเล่นดนตรีเปิดหมวกข้างนอกเพื่อให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเล่นครั้งแรกที่เอเชียทีค แต่เล่นไปเล่นมาก็รู้สึกว่าบรรยากาศยังไม่สนุกเพราะยังขาดคนเล่นเครื่องดนตรี พอร์สจึงไปชวน ‘มังกร’ เพื่อนสมัยประถมที่เห็นว่าตีกลองได้มาเล่นด้วยกัน ตามมาด้วย ‘ทะเล’ เพื่อนแพนเค้กที่รู้จักผ่านโซเชียล ช่วงโควิดว่างไม่มีอะไรทำก็อยากมาแจมบ้าง คนสุดท้าย ‘ติน’ น้องเล็กสุดในวงที่เคยเป็นแฟนคลับมาก่อน ในวันลอยกระทงก็ได้มาดูวงนี้เล่นที่เอเชียทีค รู้สึกมีแรงบันดาลใจเลยขอมาร่วมวงด้วย
ถึงแม้ว่า Yes Indeed จะรวมตัวกันเล่นดนตรีภายในระยะเวลาไม่ถึงปี แต่กลับเป็นที่พูดถึงในโซเชียลอย่างมาก หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ความจริงแล้วทั้งหมดล้วนมาจากความตั้งใจตั้งแต่แรก เพราะทุกคนมีความฝันและใจรักในเสียงดนตรีเหมือนกัน
“พ่อแม่หนูเป็นนักดนตรี เราเห็นแล้วก็ซึมซับมาเรื่อยๆ ตอนแรกเราก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น เพราะเราเคยลองไปเรียนครั้งสองครั้งแล้วรู้สึกกดดันตัวเอง เราก็เลยตีกรอบตัวเองว่าไม่ชอบ แต่พอได้เล่นจริงจังก็รู้สึกชอบขึ้นมา ปกติหนูก็ร้องเพลงเล่นอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยร้องเพลงประกวดที่โรงเรียน พอร์สก็เคยไปประกวดวงตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ส่วนทะเลชอบเล่นดนตรีตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เคยมีวงที่เล่นดนตรีกับเพื่อนตั้งแต่มัธยมต้นด้วย” แพนเค้กย้อนความหลังให้เราฟัง
“ผมเคยเล่นดนตรีตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเล่นแล้วไม่มีความสุข หลังจากนั้นผมก็เลยตัดทฤษฎี ตัดทุกอย่างออกหมด แล้วก็ไปเรียนดนตรีที่โรงเรียนข้างบ้าน ผมก็เล่นเท่าที่ตัวเองมีความสุข แต่พอผมได้เล่นเพลงที่รู้จักด้วยก็รู้สึกชอบ ทำให้เรารู้สึกอยากเล่นดนตรีเปิดหมวก” ตินเล่า
เล่นด้วยกันสนุกกว่าเล่นคนเดียว
ด้วยความที่วงรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจึงไม่ได้มีชื่อวงตั้งแต่แรก แต่หลังจากมีคนรู้จักมากขึ้น คนที่มาคอมเมนต์ในโซเชียลส่วนใหญ่มักจะบอกว่าวงนี้มันคลิก มันใช่เลย จึงเป็นที่มาของชื่อวง Yes Indeed
อาจจะเป็นเพราะว่าแต่ละคนมีนิสัยและคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง พออยู่รวมกันแล้วมันเกิดเสน่ห์บางอย่างที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน และด้วยความที่ออกงานเกือบทุกวัน ทำให้ทุกคนในวงสนิทกันมาก เพราะอยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลา นอกจากนี้คนในวงเองก็ช่วยซัพพอร์ตดูแลกันเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกันจริงๆ
เมื่อเราถามถึงความหมายของการรวมวง ตินอธิบายว่า “สำหรับผมการรวมวงมันเป็นเหมือนงานกลุ่มที่ต้องเล่นด้วยกันไม่ใช่แค่เล่นของเราคนเดียว มันคือการ Comunicate ร่วมกัน ผมรู้สึกว่าการมีคนเล่นด้วยกันหลายๆ คนมันก็ดูเต็มดี รู้สึกสนุกมากกว่าเล่นคนเดียวแล้วก็ไม่น่าเบื่อด้วย”
“หนูรู้สึกว่า Yes Indeed เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนครอบครัวที่พอเราอยู่ด้วยกันแล้วมันเกิดเสน่ห์ มีความเป็นหนึ่งเดียว มันเป็นสิ่งที่มาเติมเต็มพวกเรา การรวมวงสำหรับหนูมันมีความหมายมากกว่าการอยู่คนเดียว ทำให้พวกเราไม่เหงาด้วย พ่อแม่ของพวกเราก็สนิทกันหมดเลย เวลาไปงานก็จะมีครอบครัวของแต่ละคนมาอยู่ด้วยกัน มันก็เลยทำให้พวกเราอยู่กันเหมือนครอบครัว” แพนเค้กเล่าเสริม
ถูกที่ ถูกเวลา
บางเรื่องต่อให้ใช้ความพยายามมากมายขนาดไหน ถ้าจังหวะมันไม่ใช่ก็ยังไม่เกิด
กว่าที่ Yes Indeed จะกลายเป็นวงดนตรีมัธยมเปิดหมวกที่ถูกพูดถึงมากขนาดนี้ ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ก่อนหน้านี้วงเล่นที่อื่นมาหลายที่แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ว่าจะเป็น เอเชียทีค, เยาวราช, จตุจักร จนกระทั่งมาเล่นที่สยามสแควร์ ซึ่งได้การตอบรับจากคนดูดีมากจนกลายกระแสไวรัลบนโลกโซเชียล
ด้วยความที่สยามสแควร์เป็นพื้นที่แหล่งรวมวัยรุ่นอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงวัยอายุไล่เลี่ยกัน มีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน ทำให้แนวเพลงที่ชอบก็ย่อมใกล้เคียงกัน บวกกับพลังโซเชียลที่แชร์บอกต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งมีคนตามมาดูมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงประสบการณ์ของคนในวงที่ได้ลองถูกลองผิดกันมาในช่วงโควิด พอถึงเวลาช่วงที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ ความอัดอั้นของผู้คนที่ไม่ได้ออกจากบ้านและไม่ได้ไปคอนเสิร์ตมานาน เมื่อมีวงดนตรีเปิดหมวกหน้าใหม่มาเล่นดนตรีสนุกๆ ผู้คนอยากจะเดินเข้ามาฟัง ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบเหงาได้กลับมาสร้างสีสันและทำให้ผู้คนรู้สึกมีชีวิตชีวาอีกครั้ง จนทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์สยามแตกในที่สุด
“พวกเราเล่นมาตั้งแต่ช่วงที่โควิดเพิ่งเริ่มมาแรกๆ แต่เราหยุดไปสักพักแล้วก็กลับมาเล่นอีกทีตอนที่โควิดหนักๆ เลยที่เอเชียทีค คนที่มาลงเรือแถวนั้นเขาก็จะเห็นพวกเรา ก็จะมีคนดูบ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะเท่าตอนเล่นที่สยาม หนูคิดว่ามันถูกที่ถูกเวลา ตรงจังหวะพอดี เพราะก่อนหน้านี้เป็นช่วงโควิดคนก็ไม่ได้ออกจากบ้าน พอเริ่มมีคอนเสิร์ตมาเล่นหลังจากที่เขาไม่ได้ดูมานาน ก็ทำให้เขาอยากที่จะดู อยากที่จะเอนจอยกับเรา” แพนเค้กพูดถึงจุดเริ่มต้นของวง
การเปิดหมวกคือห้องซ้อม
หากใครที่อยู่ในแวดวงสายดนตรีจะรู้ว่าห้องซ้อมเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของวงวัยรุ่นมัธยมเลยก็ว่าได้
แต่สำหรับ Yes Indeed ที่เริ่มมารวมตัวกันในช่วงโควิดพอดี พวกเขาจึงได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยการเล่นเปิดหมวกในพื้นที่ outdoor ให้เป็นเหมือนห้องซ้อมของวงที่ใช้ในการพัฒนาฝึกฝนสกิลไปเรื่อยๆ
ด้วยความที่ต่างอายุ ต่างสถาบัน เวลาซ้อมอาจจะไม่ตรงกัน ทุกคนเลยตกลงร่วมกันว่าให้แยกไปซ้อมกันเองเพื่อความสะดวกของแต่ละคน เมื่อถึงเวลาแสดงจริงมักจะจัดโชว์โดยดูจากอารมณ์ของคนดูในโมเมนต์นั้นเป็นหลัก และใช้เซนส์รับส่งซึ่งกันและกัน ไม่มีรูปแบบ ไม่มีลิสต์เพลง บางครั้งก็ด้นสดสนุกสนานไปพร้อมกับคนดู จนทำให้การเล่นสดของพวกเขากลายเป็นลายเซ็นของวงที่ทำให้คนดูจดจำได้
“เวลาไปเช่าห้องอัดก็จะมีเวลาจำกัดอยู่แค่กี่ชั่วโมง ข้อดีของการต่างคนต่างซ้อมคือทุกคนสามารถซ้อมเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ ไม่จำเป็นต้องมารวมตัวกันก็ได้ เพราะทุกนาทีของเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การเปิดหมวกก็เป็นเหมือนห้องซ้อมของเราอีกห้องหนึ่ง” ตินเล่าถึงข้อดีของการเล่นเปิดหมวก
แพนเค้กเสริมต่อว่า “การแยกกันซ้อมมันทำให้เราไม่มีอีโก้ต่อกัน สมมติว่าคนนึงซ้อมแต่อีกคนไม่ได้ซ้อม คนที่ซ้อมก็อาจจะคิดว่าทำไมอีกคนถึงไม่ซ้อมให้มันเป๊ะ ซึ่งวงเรานัดกันอยู่แล้วว่าทุกคนห้ามมาซ้อมรวมกันเพราะมันจะเกิดอีโก้ การที่ต่างคนต่างซ้อมกันมาหนูรู้สึกว่าเวลาเล่นหน้างานมันสนุกมากกว่า การที่เราไม่ฟิกซ์ ไม่มีรูปแบบการโชว์ ไม่มีลิสต์เพลง มันก็ทำให้เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของวงด้วย
“ความท้าทายคือเราต้องปลุกคนดูให้เล่นกับเรา ต้องใช้พลังเยอะ เพราะมีคนเดินผ่านไปมาเยอะ ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่คนจะมาร่วมกับเราเยอะขนาดนี้ เราก็ต้องใช้เอเนอจี้พอสมควร ต้องใช้การพูด การเข้าถึงด้วยคำพูดที่มันฟังง่าย เหมือนเราต้องเจาะเป้าหมายเลย เพราะคนที่มาดูเราส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว เราก็พูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง เขาวัยเดียวกับเราก็น่าจะเข้าใจเราได้ บวกกับเพลงที่สื่อสารออกไปด้วย”
The show must go on
ถึงแม้ว่า Yes Indeed โชว์กันแบบไม่มีสคริปต์ ไม่มีลิสต์เพลงที่ตายตัว แต่ก็สามารถคุมเวทีได้ดีและดูเป็นธรรมชาติ ถึงจะมีสะดุดหรือผิดพลาดบ้างพวกเขาก็ยังร้องเล่นต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่ขัดเขิน
อย่างที่รู้กันว่า พวกเขามักจะไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ พอเริ่มมีแฟนคลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่เล่นเปิดหมวกก็มักจะเต็มไปด้วยคนดูอัดแน่นและเหล่านักร้องคนดังมาร่วมแจมเสมอ ไม่ว่าจะเป็น แพท วง Klear, เฟิร์ส Slot Machine, เอก Season Five, โป้ โยคีเพลย์บอย, บอย ตรัย, เบน ชลาทิศ, ROOFTOP และอีกมากมาย ทำให้บรรยายกาศสนุกคึกคักมากขึ้น ทุกคนในวงก็ได้นำประสบการณ์ คำแนะนำ และเทคนิคต่างๆ จากรุ่นพี่มาปรับใช้กับตัวเองอีกด้วย
แพนเค้กเล่าถึงประสบการณ์ว่า “ครั้งล่าสุดที่เราไปเล่นที่สยาม ตอนนั้นพี่มังกรไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ก็มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะเขาสายตาสั้นมาก พี่บอย ตรัย ก็แนะนำพวกเราว่าควรจะมีการพูดคุยกันในวงมากกว่านี้ เพราะมีช่วงที่ส่งจังหวะไปแต่มือกลองไม่รู้ เราก็เลยส่งข้อความบอกพี่เขาว่าวันนั้นพี่มังกรเขาไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ เวลาเราส่งสัญญาณไปเขาก็อาจจะมองไม่ชัด เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้
“ส่วนพี่เฟิร์ส Slot Machine เขามี performance ที่ดีมากๆ หนูขนลุกเลย! มันจะมีท่อนนึงที่หันไปแล้วทุกคนยกสัญลักษณ์ Slot Machine ขึ้นมาพร้อมกัน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นพี่เฟิร์สไม่ได้ร้องเพลงด้วยซ้ำ ทุกคนยกขึ้นมาเอง หนูรู้สึกว่าท่ามันสวยมากๆ เลย เหมือนเขามีมนตร์สะกดทำให้ทุกคนหยุดฟัง สามารถส่งพลังให้ทุกคนได้แบบเต็มที่มากๆ พี่เฟิร์สก็เคยส่งเสื้อมาให้แล้วบอกว่าอย่าหยุดเดินตามความฝันของตัวเอง”
สำหรับตินที่ชอบเฟิร์สอยู่แล้วก็เล่าว่า “ตอนที่พี่เฟิร์สขึ้นมาร้องกับพวกเราตอนแรกผมยังไม่รู้เลยว่าเขาจะมา พอเขาขึ้นมาก็รู้สึกว่าเขามีพลังบางอย่าง ตอนที่เขาขึ้นมาจับไมค์ แค่พูดขึ้นมาก็รู้แล้วว่าเขาไม่ธรรมดา เขาคุมเวทีได้ดีมาก เวลาเราพลาดอะไรแทนที่เขาจะร้องแค่ในส่วนเขาอย่างเดียว แต่เขากลับใช้เทคนิคดนตรีในการร้อง ในการเอื้อให้วงมันไปต่อได้ พี่เขาเก่งมาก”
ฝันที่กลายเป็นจริง
พวกเขาก็เป็นหนึ่งในวัยรุ่นมัธยมที่ใฝ่ฝันว่าอยากมีวงดนตรีและมีแฟนคลับของตัวเอง จากเด็กที่ร้องเล่นเปิดหมวกตามที่ต่างๆ แทบจะไม่มีคนสนใจ แต่ด้วยความมุ่งมั่นไม่ลดละความพยายามทำให้วันนี้พวกเขาประสบความสำเร็จจนมีหลายๆ ค่ายเข้ามาติดต่อ และกำลังจะมีเพลงเป็นของตัวเองเร็วๆ นี้ รวมไปถึงได้ขึ้นโชว์คอนเสิร์ตใหญ่ช่วงปลายปี ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลดนตรี OCTOPOP จัดขึ้นโดยค่าย 4nologue ที่ราชมังคลากีฬาสถาน และ Big Mountain Festival 2022 ซึ่งนับว่าเป็นเวทีใหญ่ในฝันของใครหลายๆ คน
“หนูดูซีรีส์ฮอร์โมนแล้วเห็นมีคนมาร้องเพลงอยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ตชุดนักเรียน เรารู้สึกเหมือนเขาเป็นไอดอล เราคาดฝันไว้ว่าอยากจะเป็นแบบนั้นบ้างก็เลยทำวงดนตรีนักเรียนขึ้นมา เราฝันอยากที่จะได้เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ตอนที่ป๋าเต็ดเขาส่งข้อความมาในเพจวงชวนไปขึ้นโชว์ที่ Big Mountain หนูตื่นเต้นมากๆ แล้วตอนนี้ก็มีงานของ 4nologue ที่ราชมังฯ ด้วย เหมือนทางเขาให้เราเป็นตัวแทนของเด็กไทย ซึ่งสองเวทีนี้เหมือนเป็นเวทีในฝันหนูเลย เพราะมันเป็นเวทีที่ใหญ่มากแล้วแบบทุกคนอยู่ในจุดศูนย์รวมเดียวกันหมดเลย” แพนเค้กเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“ผมรู้สึกช็อกมากๆ ที่ได้ขึ้นโชว์เวทีใหญ่ ด้วยความที่ผมมาเล่นเพราะแค่ความอยาก มองย้อนกลับไปคือวันนั้นเราแค่ว่างแล้วเราก็มาเล่น แต่วันนี้เราได้ก้าวขึ้นไปบนเวทีของมืออาชีพจริงๆ แล้ว ผมรู้สึกว่ามาไกลกว่าที่คิดไว้มากๆ” ตินเล่า
เมื่อเราถามถึงความท้าทายในการทำงาน ทะเลเล่าว่า “เมื่อความชอบกลายมาเป็นงานด้วย พวกเราก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องตั้งใจไม่ใช่ว่าเราเล่นไม่ได้แล้วเราปล่อย เราต้องเล่นให้ได้ตามที่เขาจ้างเรามา”
เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่
ความจริงแล้ว Yes Indeed ไม่เพียงแค่สร้างปรากฏการณ์ปลุกกระแสวงดนตรีมัธยมเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน กล้าที่จะออกจาก comfort zone ของตัวเองกันมากขึ้น
สยามสแควร์ทุกวันนี้มีกลุ่มคนต่างวัยต่างโรงเรียนมาร้องเพลง และเต้น Cover กันอย่างมากมาย พวกเขามองว่าพื้นที่สาธารณะควรเป็นอีกหนึ่งห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาแสดงความสามารถของตัวเองได้เต็มที่
“สำหรับผมการเปิดหมวกเหมือนได้เรียนอีกวิชาหนึ่งนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าทำแล้วได้ความรู้ยังไงมันก็คือการเรียนรู้ แต่ถึงยังไงเราก็ยังไม่ได้ทิ้งการเรียน เราก็ยังเรียนอยู่ แต่พื้นที่ตรงนี้มันเหมือนเป็นห้องเรียนเสริมที่ในห้องเรียนไม่ได้สอน สำหรับผมวง Yes Indeed ไม่ได้สอนแค่การเล่นดนตรีอย่างเดียว มันให้อะไรกับผมเยอะมาก ผมโตขึ้นมากจากการที่ต้องไปไหนมาไหนเอง ต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องทำงาน ไม่ได้สอนแค่ว่าเราต้องเล่นดนตรียังไง แต่มันสอนการใช้ชีวิต
“ผมรู้สึกว่าการเปิดหมวกไม่จำเป็นต้องมาเพื่อเล่นดนตรีก็ได้ เหมือนเราแค่อยากหางานอดิเรกที่มีประโยชน์ หากิจกรรมดีๆ ให้ตัวเองได้มีโอกาสฝึกฝน มันไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอยากเป็นนักดนตรีหรืออยากเป็นเด็กสายดนตรีแล้วค่อยออกมาทำ คุณอยากทำอะไรก็ออกมาทำได้ ที่สยามใครชอบเต้นก็มาเต้นได้ ผมอยากให้ทุกคนให้โอกาสตัวเอง กล้าที่จะลองออกมาทำอะไรใหม่ๆ มีเพื่อนผมที่เขาเห็นผมใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เขาก็อยากจะใช้เวลากับสิ่งที่คุ้มค่ามากขึ้น” ตินบอกเล่าด้วยท่าทีจริงจัง
พอร์สเล่าความในใจให้ฟังว่า “พวกเราอาจจะไม่ใช่วงดนตรีที่เก่งที่สุด แต่เราเป็นวงที่มีการพัฒนาตลอดเวลา เราไม่ได้อยากให้คนมองว่าเป็นวงสยามแตกที่เป็นแค่กระแสแป๊บเดียวแล้วก็หายไป แต่อยากให้ทุกคนจำว่าพวกเราคือ Yes Indeed พวกเราจะรู้สึกภูมิใจมากกว่า เราอยากให้วงสามารถไปต่อได้ในระยะยาว”
“ในวันหนึ่งพวกเราก็ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ เราไม่อยากให้มองว่าเป็นวงสยามแตก แต่อยากให้มองว่าเป็นวงดนตรีที่มีคุณภาพ” มังกรเล่าเสริม
“ไม่ว่าเส้นทางในอนาคตจะเป็นยังไงเราก็จะเล่นดนตรีต่อไป เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่เราชอบ” ทะเลพูดทิ้งทายด้วยรอยยิ้ม
จากวงดนตรีที่ไม่มีแม้กระทั่งชื่อเรียก จนวันนี้พวกเขาประสบความสำเร็จไปอีกก้าวใหญ่ และยังคงมุ่งมั่นเดินตามความฝันไปยังจุดหมายถัดไป
ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยตอนนี้เส้นทางดนตรีก็เป็นสิ่งที่ ‘ใช่’ สำหรับพวกเขาแน่นอน