แพท บุญสินสุข : ชายผู้คว้าโอกาสทำสิ่งที่รักมาตลอดชีวิต เพราะกูทำอย่างอื่นไม่เป็นว่ะ

แพท บุญสินสุข คือใคร?

คุณอาจจะรู้จักแพทในบทบาทผู้ดูแลศิลปินค่ายเพลง ดีเจประจำคลื่นวิทยุชื่อดัง ผู้พากย์เสียงสปอตโฆษณาและรายการทีวีมากมาย โปรดิวเซอร์รายการเพลง หรือคุณอาจจะรู้จักแพทในฐานะชายวัย 39 ปีคนหนึ่งที่มีชีวิตโคตรสุดกับดนตรี

ไม่ว่าจะบทบาทไหน เราจะเห็นเขาอยู่ในวงการสื่อที่เกี่ยวข้องกับเพลงอยู่เสมอ

ผมรู้จักแพทในฐานะนักเขียนจากหนังสือ Live From Planet Earth หนังสือเล่มแรกของเขาที่เล่าประสบการณ์การเดินทางไปดูคอนเสิร์ตทั่วโลก สำเนียงการเขียนที่แสบสันพร้อมการเล่าเรื่องชวนติดตามทำให้ผมกลายเป็นแฟนหนังสือของเขาตั้งแต่นั้น

ในฐานะแฟนหนังสือ พอได้ยินว่าหนังสือเล่มใหม่ของแพท Life From Planet Work ที่วางขายในงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดนี้กำลังจะเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการบันเทิงตลอด 19 ปีที่ผ่านมาของเขา ผมยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ หลังติดต่อชวนเขาคุยเรื่องในวงการบันเทิงพร้อมอัพเดตผลงานชิ้นใหม่ บ่ายวันหนึ่งผมก็ได้มานั่งอยู่หน้านักเขียน (และอีกมากมายหลายบทบาท) ผู้มีชีวิตที่สุดขั้วยิ่งกว่าใคร

“พูดคำหยาบได้มั้ย?” แพทเอ่ยถามประโยคแรกหลังจากทักทายกัน ผมรู้สึกว่านี่แหละคือสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นบทสนทนาระหว่างเรา

บทสนทนาที่จะพาทุกคนย้อนกลับไปในเพลย์ลิสต์ชีวิตของ แพท บุญสินสุข

1st song : ทำสิ่งที่รักเพราะกูทำอย่างอื่นไม่เป็นว่ะ

วงการบันเทิงดูจะเป็นวงการที่หอมหวานเย้ายวนคนภายนอก ชื่อเสียงเงินทองต่างดึงดูดใครหลายคนให้เข้ามา แต่สำหรับแพท เหตุผลที่เขาเลือกงานในวงการบันเทิงนั้นไม่ใช่ปัจจัยเหล่านี้เลยสักนิด เพราะเขาบอกผมว่าข้อจำกัดในตัวเองต่างหากที่พาเขาเริ่มต้นเส้นทางที่ลอยฟุ้งไปด้วยเสียงเพลง

“เราไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ทีนี้พอเราไม่ได้เรียนแล้วอยากจะทำงาน ตัวเลือกเหมือนจะเยอะใช่ไหม แต่ของเราไม่เลยว่ะ เรากลับรู้สึกว่าต้องทำสิ่งที่กูทำเป็น ไอ้สิ่งที่ว่านั่นก็คือสิ่งที่ชอบซึ่งมันมีเรื่องเดียวเลยคือเพลง เพราะฉะนั้นเราเลยคิดตั้งแต่แรกว่าต้องทำงานสายเพลง สายบันเทิงเท่านั้น” แพทเล่าถึงความคิดเริ่มต้นอันชัดเจนในวัยเพียงแค่ 19 ถึงแม้สุดท้ายก้าวแรกของเขาจะไม่ใช่งานในวงการบันเทิงเสียทีเดียว แต่ก้าวนั้นก็เต็มไปด้วยเสียงเพลงอย่างที่เขาคิดและมันใช้เวลาไม่นานเลย

“งานแรกที่เราได้ทำเป็นงานดีเจในผับที่ข้าวสาร เราไปรู้จักกับเจ้าของร้านแล้วคุยกันถูกคอ เขาเห็นว่าเรารู้เรื่องเพลงเยอะเขาก็เลยชวนให้ไปเป็นดีเจเปิดเพลง”

“งานแรกเป็นอย่างที่คิดไหม” ผมเอ่ยถาม

“สนุกเหี้ยๆ (ตอบทันที) เราอยู่ร้านวันละ 5 ชั่วโมง ได้เปิดเพลงที่เราชอบ ได้เห็นแสงสี มันสนุกมาก ตอนที่เริ่มทำเราคิดเลยนะว่าเราทำอย่างนี้ไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ แม่งสนุกชิบหาย เวลามีคนเดินมาถามว่าเพลงเมื่อกี้เพลงอะไรมันเป็นความรู้สึกที่ฟินมากนะ” แพทเล่าให้เราฟังด้วยสายตาตื่นเต้น ฟังดูเหมือนก้าวแรกของวัยรุ่นวัย 19 ปีจะมั่นคงกว่าที่คิด

แต่ในความเป็นจริง ความมั่นคงนี้อยู่กับเขาเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น

2nd song : ก้าวกระโดดเพื่อก้าวกระโดดอีกครั้ง

“มันเริ่มเบื่อ”

แพทบอกถึงเหตุผลในการเปลี่ยนงานครั้งแรกของเขา การได้อยู่กับเพลงมาตลอดหนึ่งปีทำให้เขารู้ว่าเขาเดินมาถูกทาง แต่รายละเอียดเนื้องานและบรรยากาศที่ซ้ำเดิมในแต่ละวันบวกกับความอยากออกไปเผชิญโลกของวัยรุ่นทำให้เขารู้สึกเหมือนย่ำอยู่กับที่จนเขาเริ่มมองหาก้าวต่อไปอีกครั้ง

“วันหนึ่งเราเข้าเว็บไซต์พันทิปและไปเจอกระทู้รับสมัครงานตำแหน่งโปรดิวเซอร์ของช่องเพลง MCM คุณสมบัติคือต้องรู้เรื่องเพลงและภาษาอังกฤษ แถมไม่มีบอกว่าต้องการคนที่จบปริญญาตรี เราเลยนึกในใจว่านี่คืองานของกูเลย อยากได้โคตรๆ รีบโทรขอเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งพอเข้าไปคุยก็ถูกคอมาก สุดท้ายก็ได้เข้ามาทำงานที่นี่” แพทเล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนแรกในชีวิต

ช่อง MCM ในประเทศไทยตอนนั้นถือว่าเป็นช่องเพลงที่มีสไตล์เป็นของตัวเองชัดเจน ถึงแม้โปรดักชั่นจะไม่ได้หรูหราแต่แนวทางของช่องที่เน้นเปิดเพลงจากยุโรปทำให้โสตประสาทของแพทเปิดออก งานโปรดิวเซอร์ถึงแม้จะเป็นงานใหม่ แต่เขาก็เรียนรู้จนผ่านมาได้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการทำรายการ การทำสคริปต์ และการสร้างคอนเนกชั่นกับศิลปิน

“เรารู้สึกนะว่าตอนนั้นงานเราเจ๋งมาก การเตรียมตัวเรื่องงานของเราคือการฟังเพลง เรามีรุ่นพี่ที่คอยสอน ได้ทำงานกับคนเก่งๆ เราได้เจอศิลปินเมืองนอกทั้งๆ ที่เราเรียนไม่จบ วันที่ได้นามบัตรที่มีโลโก้ MCM แม่งรู้สึกดีมาก” แพทเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ดูเหมือนจังหวะชีวิตของแพทกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นานจากก้าวแรก หลังจากอยู่ช่อง MCM ไม่ถึงปี ทางช่องก็มีนโยบายโยกย้ายทีมงานทั้งหมดไปบุกเบิกช่องเพลงใหม่ที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย แพทเองเป็นหนึ่งในทีมงานที่จะต้องโยกย้ายไปเป็นโปรดิวเซอร์ที่ช่องใหม่นี้ด้วย ช่องที่เขาบอกกับผมว่า “แม่งเท่เหี้ยๆ” และพาเขาไปเจอกับจุดเปลี่ยนที่สองในชีวิต

ช่องนั้นคือช่องรายการเพลงซึ่งเป็นตำนานอย่าง MTV Thailand

จุดเปลี่ยนนั้นคือชายที่ชื่อวู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา

3rd song : วู้ดดี้

รายการ MTV just talk ทางช่อง MTV ในตอนนั้นเป็นรายการสดที่เชิญศิลปินมาสัมภาษณ์โดย VJ มากฝีมืออย่างวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ในแต่ละเทปของรายการมีแนวทางการนำเสนอที่แตกต่างกัน หน้าที่นี้เองที่ตกเป็นของแพทในฐานะโปรดิวเซอร์รายการ

“มันเป็นจุดเปลี่ยนมากๆ เลยนะ จากอัดเทปรายการที่ช่อง MCM มาทำรายการสดที่ MTV Thailand เราต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่ แต่ตอนนั้นสนุกมาก เราอายุ 24 – 25 เอง มันไม่ได้คิดอะไรมากหรอก เรารู้สึกว่างานที่เราทำเท่ เราก็สนุกแล้ว วู้ดดี้ก็อายุเท่าๆ กัน ทำงานด้วยกันมันเลยคุยกันรู้เรื่อง สนิทกัน”

“ทำงานกับวู้ดดี้เป็นยังไงบ้าง” ผมเอ่ยถาม

“เหนื่อยสัด (ตอบทันทีพร้อมหัวเราะ) คือวู้ดดี้น่ะเป็นคนที่ถ้าคุณทำงานไม่ดี ทำงานไม่เต็มที่ เขาจะออกอาการเลย วู้ดดี้ทำงานมาเยอะ เขาเลยรู้ว่าทำงานกับคนเก่งมันต่างกับคนที่ขอไปทียังไง อย่างตอนแรกเราคิดว่ารายการสด VJ ก็ต้องอิมโพรไวส์ได้ แต่กับวู้ดดี้เขาจะเดินมาบอกเราเลยนะว่า ‘แพท ยูจะให้ไอพูดอะไรวะ’

“สิ่งที่วู้ดดี้จะสื่อคือถ้าให้เขาอิมโพรไวส์น่ะ วู้ดดี้ทำได้นะ แต่เราก็ควรคิดว่าอยากให้คนดูได้อะไรบ้าง ไม่ใช่ให้วู้ดดี้ด้นสดอะไรไม่รู้ อันนี้โคตรได้เรียนรู้เลย ถ้าเจออะไรแบบนี้วู้ดดี้จะพูดกับเราตรงมาก ถ้ารูปแบบรายการเริ่มเดิมๆ หรือสคริปต์ไม่ละเอียด วู้ดดี้จะเดินมาแล้วบอกว่า ‘แพท ไอเบื่อ ยูทำไอเสียเวลา รายการมันควรสนุกกว่านี้นี่หว่า’

“ตอนนั้นโคตรรู้สึกผิดเลยนะ เพราะสิ่งที่วู้ดดี้พูดมันจริง เราต้องหาวิธีเลเวลอัพ เลยกลายเป็นว่าเหนื่อยฉิบหายเลยแต่ก็โตขึ้นฉิบหายเช่นกัน วู้ดดี้บอกกับเราเองว่ามึงคิดให้นอกกรอบไปเลย เราเลยได้ลองทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยคิดจะทำ หลักการง่ายๆ คือทำให้วู้ดดี้สนุกให้ได้ แล้วรายการจะสนุก เรารู้สึกว่าคนที่เก่งจริงๆ เขาขอแค่สนุกกับงานเท่านั้นเอง กลายเป็นว่าสุดท้ายเราเข้าขากับวู้ดดี้มากนะ” แพทเล่าให้เราฟังถึงหนึ่งปีกับรายการ MTV just talk ที่เป็นประสบการณ์แสนล้ำค่าที่ทำให้เขารู้ว่ารายการโทรทัศน์จริงๆ ทำกันยังไง

แต่วันหนึ่งแพทก็ต้องก้าวเดินอีกครั้งเมื่อวู้ดดี้เดินมาบอกกับเขาในประโยคเดิมแต่ความหมายต่างไปอย่างสิ้นเชิง

“แพท ไอเบื่อ”

“ทำไม รายการเทปนี้ไม่ดีเหรอ?”

“ไม่แพท ไอเบื่อที่ต้องมาจัดรายการทุกวัน ไออยากจะเลิก”

“ถ้ามึงเลิกกูอาจจะเลิกด้วยนะ”

สิ้นเสียงนั้น ชีพจรก็ลงเท้าของแพทอีกครั้ง

4th song : ความฝัน ความเหนื่อยล้า และความจริง

ท่ามกลางอากาศหนาวในเดือนพฤศจิกายนปี 2012 หลังจากที่แพทและวู้ดดี้ปรึกษากันถึงเรื่องออกจาก MTV Thailand ไม่นาน ร้านกาแฟร้านหนึ่งในสีลมก็ปรากฏภาพคน 3 คน นั่นคือตัวเขา วู้ดดี้ และ ส้ม-ณัชพร สายบัว นั่งอยู่ในโต๊ะเดียวกัน ประโยคสนทนาของพวกเขาเริ่มต้นด้วยเสียงของวู้ดดี้ ประโยคที่เป็นการเริ่มต้นบทใหม่ในชีวิตของแพท

“แพท ส้ม เราจะสร้างบริษัทผลิตรายการทีวีด้วยกัน และเราจะเริ่มกันเลย”

“ตอนนั้นที่ได้ยินคุณคิดอะไร?” ผมเอ่ยถามแทรกระหว่างเขาเล่า

“เ_ดแม่! (หัวเราะ) โคตรเจ๋ง เราคิดว่ามันโคตรเท่เลย กูจะมีบริษัทของตัวเองเชียวนะเว้ย แล้วถ้าเราจะทำบริษัทกับใคร เราก็ต้องทำกับวู้ดดี้เนี่ยแหละเพราะเรามั่นใจในตัวเขา เขามั่นใจในตัวเรา ตอนนั้นที่เริ่มต้นยังไม่มีออฟฟิศเลยนะ ประชุมกันตามร้านกาแฟแทบทุกร้านที่ปิดดึก แพลนบริษัทที่เราคิดกันไว้มันโลกสวยมาก เราจะมีชีวิตที่ดี เราจะรุ่งเรือง ยอดเยี่ยมภายในปีนี้ และเรามั่นใจในตัววู้ดดี้ว่าเขาจะทำได้” แพทกล่าวพร้อมเสียงตื่นเต้น

หลังการเริ่มต้นเล็กๆ วันนั้น บริษัทของพวกเขาก็เดินหน้าคิดรายการไปเสนอช่อง บทบาทของแพทเป็นเหมือนทั้งครีเอทีฟและโปรดิวเซอร์ สุดท้ายรายการแรกของพวกเขาก็เป็นรายการน่าสนุกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กซ์ พวกเขาระดมความคิด ความสร้างสรรค์สาดใส่กันไม่ยั้ง แต่ช่วงที่เริ่มมีรายการนี่เองที่แพทเริ่มเจอความเป็นจริงที่ว่าโลกของรายการทีวีมันช่างต่างกับโลกของเสียงเพลงที่เขารัก

“ทุกนาทีของรายการทีวีมันเป็นมูลค่าหมด เม็ดเงินมหาศาล เพราะฉะนั้นรายการต้องดี ตัวเราเองตอนแรกก็คิดไปแบบสนุกมาก แต่พอเจอความจริงแล้วมันคนละโลกเลยว่ะ เริ่มเครียด วู้ดดี้เองก็เครียด ใจเราตอนนั้นคือ ‘กูต้องเครียดแบบนี้ทุกวันจริงๆ เหรอวะ’ ชีวิตเริ่มวนลูป ตื่นมารับสายวู้ดดี้ให้แก้งาน โดนวู้ดดี้คอมเมนต์ตรงๆ ‘ไอว่าตรงนี้ไม่สนุกนะแพท’ วนไปอยู่แบบนี้

“สุดท้ายพอทำไปได้ 4 เดือนก็ขอวู้ดดี้ลาออก”

แพทอธิบายเหตุผลในครั้งนั้นว่างานที่เขาเคยสนุกมันเริ่มไม่สนุกแล้วจากความเครียดที่สะสม การตัดสินใจในครั้งนั้นอาจดูเป็นการทิ้งโอกาสที่ดีไป แต่แพทบอกผมว่าเขาตัดสินใจถูกแล้ว เพราะถ้ายังฝืนอยู่ต่อเขาอาจจะมองหน้าวู้ดดี้ไม่ติด

ถึงแม้จะเฟดตัวออกมาแต่จากวันนั้นจนถึงตอนนี้แพทยังคงกลับไปช่วยงานวู้ดดี้บ้างเป็นบางคราว ความสัมพันธ์ของแพทกับวู้ดดี้ยังคงเป็นเพื่อนที่สนิทกัน และหนังสือเล่มล่าสุดอย่าง Life From Planet Work ของแพท วู้ดดี้ก็เป็นหนึ่งในคนที่มาเขียนคำนิยมให้

บทเรียนล้ำค่าในวันนั้นทำให้เขาเริ่มรู้ว่าตำแหน่งไหนคือสิ่งที่ตัวเขาจะมีความสุขได้จริงๆ ตำแหน่งที่เขาจะได้กลับมาอยู่กับเสียงเพลงและใช้สิ่งที่เขาถนัดที่สุด

5th song : ดีเจเสียงหล่อๆ คนนั้นเป็นใคร ฉันถามหา

“ช่วงนั้นพี่ที่เรารู้จักเขาเปิดคลื่นวิทยุใหม่พอดี เราก็แอบคิดว่าเราพูดเก่งและก็ชอบเพลงอยู่แล้ว เราเลยโทรไปถามว่าพี่รับดีเจออยู่เหรอ ผมอยากลอง เขาก็เลยบอกว่ามาสิ กูคิดถึงมึงอยู่พอดี แล้วก็ได้งานเลย”

“ง่ายงั้นเลย?” ผมถามด้วยความตกใจ

“เออ ไม่ได้ลองอะไรเลย (หัวเราะ) คลื่นแรกที่เราไปทำคือคลื่น Datz 90 FM ตอนนั้นเรามีเทรนเนอร์ที่เก่งอย่างพี่อ้อย (นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล) ที่มาคอยแนะนำจังหวะการจัดวิทยุ หรือตัววู้ดดี้เองที่ยังคงเป็นห่วงและแนะนำเราเสมอ มันเป็นบทเรียนที่ดีมากนะ เรากลับมาสนุกมากอีกครั้ง ได้เปิดเพลง ได้มีคนฟัง ได้มีคนที่โทรมาประจำทุกวัน ได้ขนมจากคนฟัง เราเริ่มรับงานลงเสียง โดยรวมคือเท่เหี้ยๆ ได้เงินดีมาก ตอนนั้นใช้ชีวิตโคตรมัน” แพทเล่าให้ผมฟังถึงจังหวะชีวิตที่งานดีเจกลับมาตอบโจทย์เรื่องความรักในการทำงานของเขาอีกครั้ง และอาชีพนี้เองที่อยู่กับตัวเขานานที่สุด

หลังจากเป็นดีเจอยู่ที่ Datz 90 FM จังหวะสถานการณ์ในชีวิตก็ทำให้แพทต้องย้ายคลื่นไปจัดรายการทั้งที่ Get 102.5 และ Met 107 อาชีพดีเจสร้างชื่อเสียงให้แพทเริ่มพอเป็นที่รู้จักจากเอกลักษณ์การเปิดเพลงที่ไม่เหมือนใคร (เขาขึ้นชื่อมากๆ เรื่องการแอบเปิดเพลงของศิลปินที่เขาชื่นชอบที่สุดอย่างวง MUSE)

เผลอแป๊บเดียวแพทก็ทำหน้าที่เป็น DJ จัดรายการอยู่หลังหน้าปัดเป็นเวลากว่า 10 ปี กับคนที่ชีวิตก้าวกระโดดเร็วมาตลอดอย่างเขา เวลานานขนาดนี้เป็นเหมือนเครื่องพิสูจน์ว่าที่ตรงนี้แหละคือที่ของเขาอย่างแท้จริง แต่สุดท้ายเวลาก็พาเขามาสู่จุดอิ่มตัว วันหนึ่งเขาก็เลือกเดินออกมาจากอาชีพที่เขารักที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่ามันถึงเวลาของมันแล้ว

“ตลกดีที่เราเพิ่งมารู้ค่ารายการตัวเองหลังเลิกจัด ศิลปินหลายคนมาทักเราว่าจำเสียงเราได้จากรายการ อย่างตูน บอดี้แสลม แบงค์ วงแคลช หรือแหลม 25hours มันเหมือนบอกเรานะว่ารายการเราก็มีคนฟังนี่หว่า แต่ 10 ปีมันเป็นเวลาที่อิ่มพอแล้วล่ะที่จะยุติหน้าที่นี้ เราต้องก้าวต่อ” แพทกล่าวพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ

ผมรู้สึกว่าในใจของเขานั้นยังคงคิดถึงบทบาทหลังไมโครโฟนตัวนั้นอยู่เสมอ และเขาน่าจะกลับมาอยู่ตรงนั้นอีกครั้งแน่ๆ ถ้าโอกาสเอื้ออำนวย

6th song : งานเขียนจากการคว้าโอกาส

หลังจากแขวนไมค์ยุติบทบาทการเป็นดีเจ แพทก็ยังคงวนเวียนอยู่ในธุรกิจบันเทิง รับงานลงเสียงอย่างที่ถนัด รวมถึงการทำงานในค่ายเพลงอย่างยักษ์ใหญ่อย่างค่ายสนามหลวงในเครือตึกแกรมมี่และวอร์เนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ ปัจจุบันในวัย 39 ปี เรายังคงเห็นแพทปรากฏตัวในบทบาทเบื้องหลังในวงการบันเทิงอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งแพทก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขายังขยายผลงานมาสู่วงการหนังสือที่ทำให้ผมได้รู้จักเขาด้วย

“หนังสือกับเรามันอยู่ใกล้กันมาก ในตอนนั้นพี่ชายเรา (บิ๊ก-ภูมิชาย บุญสินสุข) เป็นบรรณาธิการอยู่สำนักพิมพ์ a book เราบอกพี่เรามานานมากแล้วว่าอยากเขียนหนังสือแต่ก็ไม่ได้เขียนสักที วันหนึ่งเราอ่านหนังสือของวิชัยเรื่องสิ่งมีชีวิตในโรงแรม เรารู้สึกเลยว่ากูก็เขียนได้นะ แนวๆ นี้ ตอนนั้นเราก็มีเรื่องที่อยากจะเขียนแล้วคือการไปดูคอนเสิร์ตเมืองนอก เราเลยลองเขียนและเอาไปให้พี่ชายอ่านเขาก็บอกว่ามันโอเค ข้อดีของเราคงเป็นการที่หนังสือมันใกล้ตัวเรามากๆ มันไม่ใช่เส้นหรอกและก็อย่าให้มันเป็นเส้นเลย เราก็ยอมรับว่าก็ได้เปรียบกว่าชาวบ้านจริงๆ แต่ถ้าเรามีข้อได้เปรียบ เราก็ใช้ข้อได้เปรียบให้เกิดประโยชน์สิ” แพทบอกเราถึงเบื้องหลังหนังสือเล่มแรกของเขา

ฟีดแบ็คที่ออกมาในทางที่ดีจากเล่มแรกทำให้แพทเริ่มหลงเสน่ห์ของงานหนังสือ หลังจากนั้นไม่นาน Love, from planet ice ผลงานเขียนชิ้นที่สองที่แพทเล่าถึงประสบการณ์การไปท่องเที่ยวที่ประเทศไอซ์แลนด์ก็ตามมา ซึ่งผลตอบรับก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม จนมาถึงหนังสือเล่มที่สาม Life from planet work หนังสือที่จะเล่าเบื้องหลังการทำงานในชีวิตของเขาอย่างละเอียด

“เราอยากเล่าเรื่องนี้เพราะคิดว่ามันมีประโยชน์ เราอยากให้คนที่อ่านหนังสือแล้วรู้ว่าเราพลาดอะไร การทำงานในวงการบันเทิงมันเป็นยังไง ฟังดูเป็นหนังสือที่เฉพาะทางมากนะแต่เราอยากเล่ามันเพราะเราคิดว่าแฟนหนังสือของ a book คงมีความอยากเข้าวงการอะไรสักอย่างแหละ เราคิดว่าสิ่งที่เราเขียนจะมีประโยชน์ให้พวกเขาได้” แพทย้ำกับเราอย่างเชื่อมั่น ฟังจากประสบการณ์คร่าวๆ ที่เขาเล่าให้เราฟังเกือบ 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา ขอบอกเลยว่าหนังสือเล่มนี้ต้องสนุกแน่ๆ

ผมมั่นใจ

7th song : 19 ปีและอีกหลายปีในวงการบันเทิงที่ (กู) รัก

“อยู่ในวงการบันเทิงมาโคตรนาน ถ้าให้แนะนำอะไรสักอย่างกับคนที่อยากจะเข้ามา คุณจะแนะนำว่าไง” ผมถามคำถามเพื่อให้แพทสรุปบทเรียนตลอด 19 ปีของเขาให้ผมฟัง

“วงการบันเทิงมันให้เรา 2 อย่าง อย่างแรกคือชื่อเสียง มึงได้แน่ ไม่ต้องห่วง สองคือเงินที่ได้กับปริมาณงานที่ทำมันดีมาก มันเย้ายวน ซึ่งสำหรับเรามันไม่ใช่ทั้ง 2 อย่างเลยที่พาเราเข้ามา เราเข้ามาเพราะทำอย่างอื่นไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คืออันนี้ ดังนั้นถ้าให้แนะนำคนที่อยากเข้าวงการน่ะเหรอ (นิ่งคิด)

“อย่างแรกคือหาคอนเนคชั่น อย่าอยู่แต่ในกรอบตัวเอง งานทุกงานที่เราได้เกิดจากคอนเนคชั่นหมดเลย ในวงการบันเทิงยิ่งรู้จักคนยิ่งเป็นประโยชน์ สองคือหาแพลนสำรองให้ชีวิต เก็บเงิน อันนี้ซีเรียส เก็บหอมรอมริบไว้ดีกว่า วงการบันเทิงมันมาเร็วไปเร็ว และสามที่สำคัญที่สุดคือนิสัยดีๆ หน่อย เผลอๆ ในวงการนี้นิสัยสำคัญกว่าฝีมืออีกนะ อย่างตอนเราอยู่แกรมมี่ พี่เบิร์ดคือครูของตึก ศิลปินคนไหนที่ไม่ซ้อมหรืองอแง เราจะบอกเลยว่ามึงดูพี่เบิร์ด พี่เบิร์ดเข้าตึกทุกอาทิตย์มาซ้อม เป็นอย่างนี้มาตลอดไม่เคยขาด เขาเป็นครูของทุกคน ถ้ามึงคิดว่าตัวเองเจ๋ง ไม่ทำอะไร มึงจงดูพี่เบิร์ด” แพทสรุปบทเรียนของเขาให้เราฟัง

19 ปีของชีวิตคนๆ หนึ่งคงทำอะไรได้มากมาย องค์ประกอบชีวิตของแต่ละคนอาจจะเทียบกันไม่ได้ แต่อย่างหนึ่งที่เรารู้และสัมผัสจากตัวแพทก็คือเขาสนุกและรักในสิ่งที่เขาทำเสมอ จากคนที่เริ่มต้นโดยความรักในเสียงเพลง วันนี้ดนตรีพาเขามาไกลมากจนมีเส้นทางชีวิตที่เท่สัดๆ (เราลองเลียนแบบสำเนียงของเขาบ้าง)

ผมเอ่ยถามคำถามสุดท้ายก่อนจะจากกัน

“ประสบการณ์ที่โลดโผนขนาดนี้ ชีวิตที่ผ่านมาของคุณถือว่าคุ้มหรือยัง”

“ขนาดนี้ก็ต้องคุ้มล่ะวะ (หัวเราะ) คือคนเรามีจุดที่เสียดาย ที่อยากกลับไปแก้อยู่แล้ว แม่งมี แต่ถ้าให้คิดรวมๆ ว่าที่ผ่านมาทั้งหมดคุ้มมั้ย เราว่าคุ้มมากว่ะ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ ถ้าเราอยู่ไปถึง 90 เราก็ไม่มั่นใจนะว่าจะยังคุ้มอยู่หรือเปล่า เพราะไม่รู้จะมีงานหรือเปล่า แต่ถ้าสมมติพรุ่งนี้โลกแตก ตอบได้เลยว่ากูใช้ชีวิตคุ้ม”

“เราพูดตลอดนะว่าถ้าเราแก่ ขอเหอะ ขอให้หูคือสิ่งสุดท้ายที่หายไป ตัดเรื่องอื่นๆ ออกไปหมดเลยก็ได้นะ แต่ขอหูกูเถอะ ขอกูฟังเพลงไปจนถึงตอนแก่ กูโอเคมากแล้ว ขอแค่นั้นเลย ชีวิตถือว่าคุ้มสัดแล้ว”

ผมหวังว่าเสียงเพลงจะอยู่กับเขาไปนานๆ

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR