นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : คอลัมนิสต์และบรรณาธิการบริหาร themomentum.co ผู้เชื่อมั่นในคำถามที่ดี

ในมุมมองเรา
เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ คือหนึ่งในคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าจับตามากของยุคนี้

อดีตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ที่หันมาหลงใหลงานเขียนคนนี้คือคอลัมนิสต์ประจำหมวด music ในส่วน global
review ของนิตยสาร a day และเจ้าของคอลัมน์ Pop
Teen ของนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กอย่าง POPEYE
และ จุลินทรีย์แห่งความสำเร็จ นอกจากนี้ เขายังเป็นพิธีกรของรายการคิดเล่น
เห็นต่าง
ในช่อง Voice TV คู่กับพิธีกรหญิงรสจัดจ้านอย่าง คำ
ผกา และล่าสุดยังโดดมารับบทบาทบรรณาธิการบริหารของเว็บสำนักข่าวใหม่เอี่ยม themomentum.co
หรือที่เรียกกันว่า The Momentum

ผลงานของเคนมักพูดถึงปรากฏการณ์ในสังคมหรือ pop culture ซึ่งเขามองสำรวจด้วยสายตาเฉียบคม
แล้วแกะรหัสลับมาเล่าต่อได้อย่างเข้าใจง่าย แสนเป็นประโยชน์ เมื่อถึงวันสัมภาษณ์ เราจึงนั่งลงแล้วชวนเคนคุยถึงเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องงานล่าสุดของชายหนุ่ม นั่นคือการเป็นบรรณาธิการบริหารของ
The Momentum สำนักข่าวออนไลน์ยุคใหม่ (ที่บอกเลยว่าคุณไม่ควรพลาดแวะไปชมด้วยประการทั้งปวง)
แล้วระหว่างบทสนทนา การพูดคุยของเราก็เลื่อนไหลไปสู่อีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือการตั้งคำถาม
ซึ่งเป็นเรื่องที่เคนให้ความสำคัญ
และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเขาทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน และชีวิต

ขอเชิญมาทำความรู้จักความคิด ตัวตนที่น่าสนใจของชายหนุ่มที่ชื่อ
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ไปพร้อมกันตั้งแต่บรรทัดถัดจากนี้ไป

ผลงานของคุณมักเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในสังคมช่วงนั้นปกติสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วหรือเปล่า
เราเหมือนคนทั่วไปที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมร่วมสมัย ฟังเพลง อ่านหนังสือ
ดูหนัง แต่เราชอบตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกว่าเรื่อง pop culture ที่ทุกคนรู้สึกว่าไร้สาระ
มันน่าสนใจ เราสนใจปรากฏการณ์ 2 แบบ หนึ่งคืออะไรที่ประสบความสำเร็จ แต่เราก็จะเลือกนะ
ถ้าเป็นคลิปที่ดังแบบไวรัลบางอันเราก็ไม่ชอบ จะชอบอันที่ดูมีอะไร เพราะเราเชื่อว่าสิ่งพวกนั้นที่โด่งดัง
คนคิดคิดมาดีแล้ว อย่าง PPAP แม้จะบังเอิญ ดูไร้สาระ
แต่เราว่ามันก็มีเอกลักษณ์หรือมีอะไรบางอย่างที่เราเรียนรู้จากมันได้ แบบนี้เราชอบ
สองคือสิ่งที่ดังแล้วน่าสนใจ คือเขาอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่น่าสนใจ เช่น คิม
คาร์เดเชียน หรือพวกเน็ตไอดอล คือเราสนใจในแง่ปรากฏการณ์ด้วย
ไม่ใช่แค่ความสำเร็จอย่างเดียว เราไม่ได้ไปตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี แค่สนใจในฐานะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เรารู้สึกว่าวัฒนธรรมป๊อปเป็นสิ่งเข้าถึงง่าย
ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ไม่มีใครหยิบมันมาเล่าอย่างลึกซึ้ง
หรือเล่าสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้จากมันได้ ทั้งที่มันใกล้ตัวมาก เหตุผลที่เราสนใจวัฒนธรรมป๊อปก็มาจากการต้องเขียนคอลัมน์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ที่เขาให้โจทย์มา ซึ่งจะมาจากงานที่เราทำ สุดท้ายก็คืองานที่สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะงานสื่อมวลชน เราก็เลยสังเกตสิ่งนี้ทั้งในเรื่องงานและในมุมมองส่วนตัวด้วย

แล้วถ้าพูดถึงวิธีการเขียน วิธีการมองสิ่งนี้ เราก็จะมีกรอบของเรา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีไม่เหมือนกัน
เรามีจุลินทรีย์แห่งความสำเร็จเป็นมุมหนึ่งในการมอง แต่บางทีเราอาจคิดว่าเรื่องนี้มันไม่มีอะไรจริงๆ
ไม่มีคีย์ความสำเร็จ หรือเราไม่ได้สนใจ คนเขียนเยอะแล้ว
เราก็จะเปลี่ยนแว่นไปมองอีกแบบ คือเขียนในเชิงตั้งคำถามว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไรและนำพาไปสู่อะไร
ซึ่งบางอันมันก็รวมกันได้ด้วย แล้วแต่เรื่อง ส่วนใหญ่จะใช้แว่นสองอันนี้

ปรากฏการณ์น่าสนใจมีอยู่เยอะแยะ คุณเลือกยังไงว่าจะหยิบปรากฏการณ์นี้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตงาน
หนึ่งคือเป็นเรื่องที่เราอาจไม่ได้สนใจมาก
แต่คนสนใจอยู่ ถ้าเขียนแล้วคนอ่านเยอะชัวร์ เราก็จะเลือกมา อีกแบบคือเป็นเรื่องที่คนไม่ได้สนใจหรอก
แต่เราอยากให้คนสนใจเรื่องนี้ เราว่ามันมีอะไร และคิดว่าถ้าพูดออกไป
คนก็น่าจะหันมาสนใจ เราก็จะเขียน เช่น เรื่องแอพพลิเคชันสแนปแชต
เรารู้ว่าคนไม่ได้สนใจมาก ไม่ค่อยเล่น แต่เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก คนอาจเห็นแค่สติกเกอร์แลบลิ้นเป็นหมา
แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว นี่คือเทรนด์ใหม่ในอเมริกา เราว่าเขียนแค่สองอย่างนี้ได้
ก็เขียนได้ยาวๆ แล้ว ส่วนอะไรที่คนไม่สนใจ เรื่องไม่น่าสนใจ หรือเราสนใจคนเดียว
เราก็ไม่เขียน เรามองว่าโยนหินลงไปแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น
โยนทำไม เสียเวลาเปล่า แต่ถามว่ารู้ได้ยังไงว่าคนสนใจ หรือเรื่องนี้น่าสนใจจริงๆ
มันตอบไม่ได้ เป็นเซนส์นะ
ซึ่งสำคัญมากสำหรับคนเป็นนักเขียนหรือสื่อสารมวลชน
มันต้องคาดการณ์ได้ว่าเรื่องนี้จะมา

เราจะได้อะไรจากการสนใจปรากฏการณ์รอบตัวในเชิงลึก
เอาจริงๆ เราไม่ค่อยสนใจคำตอบเท่าไหร่
เวลาจะทำอะไร เราสนใจว่าคำถามมันดีหรือเปล่า เพราะชีวิตมันคือการตั้งคำถาม ไม่ได้หมายถึงคำถามว่าเกิดมาทำไม
อะไรแบบนั้นนะ แต่ถ้าชีวิตไม่ตั้งคำถาม ก็จะไม่เดินไปข้างหน้า จะอยู่กับที่
ไม่ได้มีอะไรใหม่ เรารู้สึกว่าการสนใจวัฒนธรรมป๊อปทำให้เราได้หัดตั้งคำถามให้ถูกต้อง
ให้ถูกทาง เช่น เรื่องกูเกิล เราเคยเขียนถึงกูเกิลว่าทำไมบริษัทนี้ถึงคิดนวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
มันไม่ใช่คำถามที่ถูกนะ แต่เป็นคำถามที่ดี ที่จะนำพาไปสู่คำตอบที่ดี
คนอาจตั้งคำถามว่าทำไมกูเกิลรวย แต่เราไม่ได้สนใจแค่ว่ามันคิดนวัตกรรม
แต่สนใจว่าทำไมถึงต้องคิดนวัตกรรม และคิดได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมมันไปข้างหน้าตลอด
นี่คือสิ่งที่เราสนใจ ซึ่งแค่นี้ก็จะนำไปสู่คำตอบแล้ว
จะนำไปสู่วิธีการในการหาคำตอบ แล้วรู้เลยว่าคำตอบนี้มีประโยชน์แน่นอน
ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อยเราจะรู้ว่ากูเกิลมันคิดได้ยังไง แล้วถ้าเปลี่ยน
ไม่ถามเรื่องกูเกิล ถามตัวเอง หรือเอาคำตอบมาใช้กับตัวเอง มันได้ประโยชน์ ชัวร์

แสดงว่าเราจะได้อะไรจากการสนใจปรากฏการณ์เป็นเรื่องรอง
สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราควรสนใจ ควรตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ใช่ เราว่าสำคัญมาก แล้วคำตอบนี่ อยู่ที่ว่าเราได้จากใครหรือจากอะไร
แล้วเอามาใช้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า ซึ่งเราไปบอกสรุปไม่ได้ แต่ถ้าไม่ตั้งคำถาม
เราจะไม่รู้อะไรเลย จะอยู่ไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราเสพวัฒนธรรมป๊อป
เสพดราม่าโซเชียลไปเรื่อยๆ

นอกจากต้องตั้งคำถามแล้ว
ต้องถามให้ดีด้วย
ตั้งคำถามเชิงบวก ไม่ใช่โลกสวยนะ
แต่คือตั้งคำถามที่มันนำพาเราไปสู่อะไรที่ดีขึ้น ดีนี่คือไม่ใช่ความดี
แต่หมายถึงว่าพัฒนาขึ้น เช่น คนชอบตั้งคำถามว่า ทำไมคนนี้รวยวะ คือมองโลกในแง่ลบ
แต่บางคนจะตั้งคำถามเชิงบวกที่พัฒนาตัวเองได้

ถ้าไม่ถามว่าทำไมเขารวยต้องถามว่าอะไร
อาจจะถามว่าเขาสร้างตัวเองมาได้ยังไง
จากคนไม่มีอะไรทำไมเขาสร้างตัวเองขึ้นมาได้ เราไม่รู้นะว่าเขาโกงหรือเปล่า
แต่ถ้าเราถามแล้วไปดูวิธีการในการสร้างตัวเอง อาจได้อะไรบางอย่างกลับมา
ซึ่งเราว่ามันมีคำถามดีๆ อีกมากมายที่จะนำพาเราไป ก็เหมือนชีวิตคนเราทุกวันนี้ มันต้องตั้งคำถามให้ถูก
คำถามสำคัญกว่าคำตอบจริงๆ สำคัญมาก สำหรับเรานะ เช่น แค่วันนี้เรามาทำงาน
เราถามตัวเองหน้ากระจกว่าวันนี้เราจะดีขึ้นได้ยังไง หรือกลับบ้านไป
เราถามตัวเองว่าวันนี้เราดีพอหรือยัง แล้วพรุ่งนี้จะทำอะไรให้ดีขึ้นอีก
คำถามดูง่ายมาก แต่ว่าเราเคยถามหรือเปล่า

เราจะตั้งคำถามที่ดีได้ยังไง
อันนี้ยาก ต้องฝึก
เราว่ามันอยู่ที่การฝึก

แล้วตั้งเสร็จจะรู้มั้ยว่ามันดี
สำหรับเรา คำถามที่ดีคือคำถามที่นำพามาซึ่งวิธีการค้นหาคำตอบที่ดี
เราจะเห็นภาพเลยว่ากระบวนการไปหาคำตอบของคำถามนี้จะนำพาเราไปสู่อะไร
แต่ไม่รู้คำตอบนะ สมมติถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เรารู้เลยว่า
เราไม่รู้คำตอบ แต่รู้เลยว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่คำตอบแม่งน่าสนใจมาก หนึ่ง ต้องไปหาประวัติพระพุทธเจ้า
สอง ต้องดูว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร สาม มารวมกัน แล้วเราอยากรู้คำตอบว่าพระไพศาล
วิสาโล จะตอบว่าอะไร พระพยอมจะตอบว่าอะไร ตอบไม่เหมือนกันแน่
คือรู้สึกว่าคำถามมันเป็นปลายเปิด แต่เป็นคำถามชวนคิด
ที่นำไปสู่คำตอบที่น่าสนใจและได้ประโยชน์ เรารู้เลยว่าคำตอบต้องได้ประโยชน์แน่ๆ

แปลว่าคำถามที่ดีก็จะนำไปสู่คำตอบที่ได้ประโยชน์
ใช่ คำถามสูตรอันนึงคือเราควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้
เราว่ามันเป็นการดึงเรื่องที่ดูไกลตัวมากให้ใกล้ตัวได้ทันที อย่างวันก่อนน้ำท่วม
มันตอบได้หลายอย่างมาก เช่น เรียนรู้ว่าชนชั้นกลางในเมืองมีอารมณ์ขึ้นอยู่กับสภาวะรถติด
สมมตินะ มันจะนำพาไปสู่สิ่งที่เราเรียนรู้ ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นหนึ่งในคำถามที่ดี

กลับมาที่เรื่องงาน ทำไมคุณถึงโดดไปทำงานที่หลากหลายกว่าการเขียนหนังสือที่ชอบล่ะ
เราว่ามันแล้วแต่คน
บางคนเป็นนักเขียนอย่างเดียวก็ได้ ไม่ซีเรียส แต่ถ้าถามว่าทำไมเราถึงทำหลายอย่าง
ตอบง่ายๆ คือมีคนชวนไปทำ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันท้าทาย ได้พัฒนาตัวเอง อยากลองทำ ซึ่งปรากฏว่าทำแล้วก็ชอบทุกอย่าง
เลยนำไปสู่คำตอบที่สองคือ เราทำเพราะรู้สึกว่าแค่ชอบการเล่าเรื่อง
แสดงว่าเราไม่สนใจแพลตฟอร์มอะไรเลย อาชีพของเราจริงๆ คือนักเล่าเรื่อง เป็นสื่อสารมวลชน
คำว่าสื่อสารมวลชนคือ เราเป็นสื่อที่สื่อสารไปสู่มวลชน เราชอบ เรารู้สึกว่าตัวเองทำอะไรก็ได้ที่คนจะได้รับสิ่งดีๆ
นี่ไม่ได้พูดแบบทำเพื่อสังคมนะ แต่คิดอย่างนี้จริงๆ ตอนนี้สิ่งที่เราอยากทำที่สุดคือสื่อสารสิ่งดีๆ
ให้สังคมรู้ ซึ่งไม่ใช่ความดีนะ คือสื่อสิ่งที่สร้างสรรค์ออกไป นั่นเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจทำเว็บไซต์
themomentum.co ไม่ใช่ว่าเราไม่เชื่อในกระดาษแล้ว
แต่เราสนใจทำเพราะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์ โลกของคนยุคนี้อยู่ในโลกออนไลน์อยู่แล้ว
เป็นสิ่งที่มีพลังที่สุด แล้วถ้าเราอยากสื่อสารสิ่งสร้างสรรค์ ทำไมต้องยึดติดกับแพลตฟอร์มด้วย
ก็ปรับตัว ทำความเข้าใจกับมัน อีกอย่างคือเรารู้สึกว่านี่เป็นโอกาสดี เราอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ
ให้เกิดขึ้น อยากตั้งคำถามดีๆ กับสังคม เราไม่ได้สนใจอีกเลยว่าจะได้เขียนหรือไม่ได้เขียน
ตอนนี้คือเขียนหนังสือน้อยมาก

อีกเหตุผลที่เราเลือกทำงานหลากหลายคือ
เรารู้สึกว่ามันหมดยุคไปแล้วกับโลกที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ทุกวันนี้การเอาตัวรอดคือการบูรณาการ
มันหมดยุคไปแล้วกับการที่คุณพูดว่าคุณเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เราว่าเด็กรุ่นใหม่ถ้าใครโตมาบอกว่าเป็นกราฟิกดีไซเนอร์
เตรียมตกงานเลย ไม่มีอีกแล้ว เพราะโลกมันบูรณาการกันหมด คุณต้องบอกว่าคุณเป็น communication designer แล้วทำได้ทุกอย่าง เรื่องความรู้เฉพาะทาง
หุ่นยนต์แย่งงานได้แล้ว ตอนนี้หุ่นยนต์เขียนหนังสือได้แล้ว แต่ไม่มีทางบูรณาการความรู้ได้
เราเลยมองว่าทุกวันนี้ ความรู้บูรณาการสำคัญที่สุด เราเป็นนักเขียน
ไม่มีทางแล้วที่จะเขียนหนังสืออย่างเดียว เราอาจเก่งมาก ใช้คำสุดยอด
แต่คนไม่ได้อยู่ตรงนี้ เราต้องพลิกวิธี ต้องพูดได้ ทำคลิปได้
ถึงจะเป็นนักเล่าเรื่องที่แท้จริง

เมื่อกี้คุณพูดถึงเว็บไซต์ที่คุณเป็นบรรณาธิการบริหารอยู่
อธิบายหน่อยว่า
The Momentum คืออะไร
The Momentum คือสำนักข่าวออนไลน์ที่นำเสนอคอนเทนต์สดใหม่
รายวัน ทันสถานการณ์ ในรูปแบบมัลติมีเดีย 360 องศา คอนเทนต์มีตั้งแต่ตัวหนังสือ
รูปภาพ อินโฟกราฟิก คลิปวิดีโอ พอดแคสต์ Facebook Live ไปจนถึงอะไรก็ได้
ยืดหยุ่นตามพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลง เราแค่อยากเข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด
และมันเป็นสำนักข่าวที่เกิดมาเพื่อยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
คิดว่าในประเทศไทยน่าจะยังไม่มีสำนักข่าวแบบนี้
ไม่มีสำนักข่าวไหนที่ดูพฤติกรรมคนว่าเขาสนใจอะไรอยู่แล้วทำแบบนั้น
คือยืดหยุ่นตามพฤติกรรมคน เป็นเว็บไซต์ที่คุณอยู่ด้วยได้ทั้งวัน 24 ชั่วโมง

ส่วนเนื้อหามี
3 อย่างหลักๆ ต้องเล่าก่อนว่าชื่อของเว็บคือ
The Momentum ที่พี่โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นคนตั้ง
มันหมายถึงการสร้างแรงกระเพื่อมหรือผลกระทบ เราอยากเป็นคนสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม
มองว่าตัวเองได้ประโยชน์จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีทุกวันนี้ได้เพราะสิ่งเหล่านี้
ก็เลยรู้สึกว่าควรทำสิ่งที่คนอื่นจะได้ประโยชน์ แล้วคนอยากได้อะไรมากที่สุด ก็คิดมาว่า
จริงๆ แล้ว แก่นชีวิตของคนมีแค่ 3 อย่างเท่านั้น หนึ่งคือคนอยากประสบความสำเร็จในการงาน
แล้วก็ต้องมี work-life balance ที่ดี ชีวิตต้องสนุก ต้องมีครอบครัว มีความสัมพันธ์ที่ดี
แล้วสุดท้ายถ้า 2 วงนี้มันดี จะนำไปสู่วงที่สามคือวงของการขับเคลื่อนสังคม
ขับเคลื่อนโลก เพราะฉะนั้น เนื้อหาของเราหลักๆ ก็จะมีแค่ 3 อย่างนี้ อย่างแรกคือ Momentum เป็นเนื้อหาข่าว สังคมเมือง
ข่าวร้อนที่คุณต้องรู้ เช่น เรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ซึ่งก็จะเน้นไปที่คนเมือง อ่านแล้วได้รู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก
อย่างที่สองคือ Successful คือเรื่องการงาน แนวธุรกิจสร้างสรรค์
เพราะคนยุคใหม่สนใจเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จ อย่างที่สามคือ Happy สิ่งที่ทำให้คนมีความสุข ซึ่งเราไม่ได้บอกแค่ว่าให้คนควรไปกิน
ดื่ม เที่ยว ที่ไหน แต่บอกด้วยว่าคุณควรกิน ดื่ม เที่ยว อย่างไร เช่น
รู้มั้ยครัวซองต์มีกี่ประเภท แล้วก็มีเรื่อง self-help
เรื่องความสัมพันธ์
สุขภาพก็มี ซึ่งก็จะมีคอลัมนิสต์เช่น โตมร ศุขปรีชา ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ มาแทรกอยู่ตามแต่ละวงเนื้อหานี่แหละ

เรามองว่าเรื่องที่เราหรือทีมอยากทำเป็นเรื่องดี
ไม่เสียเวลาอ่านแน่นอน ได้ประโยชน์หรือไม่ก็ได้ความคิดเห็น แรงบันดาลใจ คำถามใหม่ๆ
กลับไป เราอยากมีทางเลือกที่มันเป็นสาระบ้าง แต่เป็นสาระที่สนุก ก็พยายามเคลือบน้ำตาลให้มากที่สุด
คือเราเป็นคนค่อนข้างประนีประนอมกับเรื่องนี้ เราเขียนความเข้มข้นสิบแล้วคนอ่านสิบคน
กับเขียนความเข้มข้นห้า แต่คนอ่านพันคน เราเลือกอย่างหลังนะ

 

จุดเด่นของสำนักข่าวที่คุณทำคืออะไร
จุดเด่นของเว็บเรา
ถ้าถามเชิงมาร์เก็ตติ้ง มีสองอย่างที่เด่นมาก หนึ่งคือแพลตฟอร์มที่เราไม่ยึดติดแค่ตัวหนังสือ
และมีพวกผู้นำทางความคิดมาเป็นคอลัมนิสต์เยอะ ส่วนเชิงเนื้อหา อย่างแรกคือ ปกติคนจะรู้สึกว่าข่าวเป็นเรื่องไกลตัว
คือทำไมต้องรู้ข่าวนี้วะ รู้ไปทำไม ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย
แต่เราจะดึงให้ข่าวเหล่านี้ใกล้ตัวให้ได้มากที่สุด เช่น I HATE YOU I LOVE YOU ประสบความสำเร็จเพราะอะไร
พี่ย้งคิดอะไรอยู่ อีกอย่างคือ
เราเคยนั่งสไลด์เฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ว่า
เนื้อหาแบบไหน คอนเทนต์ข่าวแบบไหนที่ป๊อปปูลาร์สุดของสำนักข่าว แล้วก็พบว่ามันมีจุดร่วมกันอยู่ คือคนไม่ได้กดไลก์ ไม่ได้กดแชร์เพราะข่าว คนกดเพราะเรื่องของข่าวนั้น แล้วเราก็ไปดูว่าแล้วเรื่องแบบไหนที่คนชอบ
ก็วิเคราะห์ออกมาได้ประมาณ 5 แบบ หนึ่งคือเป็นเรื่องร้อนสุดๆ สองคือเรื่องตลก เรื่องแปลก
สามคือเรื่องดราม่า จิกกัด สี่คือ ข่าวที่ให้ความหวัง อ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ เช่น
ข่าวนักกีฬาโอลิมปิกชนะ และห้าคือ ข่าวที่ว้าว มีอย่างนี้ด้วยเหรอ เจ๋งว่ะ
ในห้าประเภทนี้ สามอย่างแรกคนทำเยอะมาก เราก็เลยจะฉีกออกมา
เน้นสองอย่างหลังมากหน่อย หรือไม่ได้เน้นสองอย่างนั้นมาก
แต่เน้นมุมมองแบบนั้น
หามุมมองที่เป็นประโยชน์

คุณตั้งใจอยากให้คนอ่านได้อะไร
อย่างแรกคือ เราตั้งใจอยากให้คนได้สิ่งที่เขาไม่เคยได้มาก่อน
สองคือเขาจะได้โมเมนตั้มของตัวเองกลับไป ได้สิ่งที่จะไปขับเคลื่อนชีวิตเขาต่อ
เราว่าเว็บนี้น่าจะเป็นอย่างนั้น คือไม่ใช่แค่อ่านแล้วได้ความรู้อย่างเดียว แต่ได้โมเมนตั้มของตัวในการไปทำอะไรดีๆ ต่อ เช่น
ไปทำให้ครอบครัวดีขึ้น รักษาสุขภาพมากขึ้น

 

สุดท้ายแล้ว คำถามสำคัญล่าสุดที่คุณตั้งขึ้นมาคืออะไร
จะทำยังไงให้เว็บไซต์
themomentum.co ใช้งานได้ดีขึ้นและง่ายขึ้นกว่านี้ปวดหัวนะ เว็บนี่ปัญหาเยอะจริง (หัวเราะ)

ติดตามผลงานเขียนของเคนได้ทุกเดือนในนิตยสาร
a day และติดตามผลงานการเป็นบรรณาธิการบริหารของเขาได้ที่ themomentum.co

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

 

AUTHOR