ตามไปดูเวิร์กช็อปจัดสวนขวด พร้อม 5 แนวคิดเบื้องหลังสวนขวดฝีมือผู้อ่าน a day

ตามไปดูเวิร์กช็อปจัดสวนขวด พร้อม 5 แนวคิดเบื้องหลังสวนขวดฝีมือผู้อ่าน a day

ในช่วงบ่ายแก่ๆ วันเสาร์ หลังจากที่ชวนผู้อ่านมาร่วมสนุกเล่าเรื่อง ‘ต้นไม้ของฉัน’ ในแบบฉบับของตัวเองผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ a day magazine เราก็ได้เจ้าของเรื่องราวโดนใจจำนวน 5 คน มานั่งล้อมวงจัดสวนขวดไปพร้อมๆ กันที่ร้าน Tiny Tree Garden สาขาเซนทรัลเวิลด์

ถ้าพร้อมแล้ว ก็มาติดตามการทำสวนขวดของทั้ง 5 คนไปด้วยกันได้เลย

ขั้นแรก น้ำค้าง–ณัฐจรินทร์ พฤกษถานนท์กุล นักจัดสวนขวด และเจ้าของร้าน Tiny Tree Garden ที่เป็นผู้ดูแลการเวิร์กช็อปในครั้งนี้ก็แจกขวดขนาดน่ารักให้กับทุกคน ก่อนจะอธิบายขั้นตอนการทำสวนขวดให้ทุกคนเข้าใจภาพรวม ก่อนจะเริ่มลงมือทำ

เริ่มจากการใส่หินพัมมัสที่มีรูพรุนเพื่อเป็นฐานชั้นล่างสุด ตามด้วยสแฟกนัมมอสอัดแน่นเพื่อรองรับไม่ให้ดินหล่นไปในชั้นหิน แล้วจึงเติมดิน โดยมีผู้รู้อย่างน้ำค้างคอยเช็กความสูงของแต่ละชั้นให้เหมาะสม

เมื่อฐานสวนขวดพร้อม ก็ได้เวลาสนุก ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 5 คนต่างก็ใช้เวลาค่อยๆ สร้างสรรค์ภูมิประเทศ ปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ และเลือกตุ๊กตาสัตว์มาตกแต่งสวนในรูปแบบที่แตกต่างกัน

เราขอให้ทุกคนเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังสวนขวดของแต่ละคน และความรู้สึกในการมาทำสวนขวดในวันนี้

ฝ้าย–พิชญาภรณ์ อภิสิทธิเนตร
ชื่อสวน : Friendship in the Garden
“อยากให้มีความน่ารัก เป็นสวนเล็กๆ ในฝัน มีกระรอกและกระต่าย ซึ่งเราอยากให้พวกเขาเป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกัน”

“เป็นครั้งแรกที่จัดสวนในขวด เป็นประสบการณ์ที่ดี สนุกมาก ปกติเลี้ยงแต่ไม้ทะเลทราย พอมาทำสวนชื้นก็จะรู้สึกเย็น ละมุนดี”

แจน–พรรณ์ษาท์ กฤตย์มั่งคั่ง
ชื่อสวน : กันและกัน
“ตัวสวนจัดเรียงไปตามความรู้สึก เราชอบไก่ เลยเลือกให้ไก่มาอยู่ด้วยกัน มาคุยกัน แล้วก็ตั้งใจจะเอาสวนขวดนี้ไปให้เพื่อน เพราะเพื่อนก็ชอบไก่เหมือนกัน”

“เป็นครั้งที่สองที่ได้ทำสวนขวด เคยทำครั้งแรกเมื่อสามปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้สวนนั้นก็ยังอยู่ เลยอยากมาทำให้เพื่อนเป็นของขวัญ สนุกดี ได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ เพราะเราชอบต้นไม้อยู่แล้ว”

อัฐ–อรรวินท์ เหมธานินทร์
ชื่อสวน : The Fox
“ตอนนี้เรากำลังไล่ตามความฝันนึง เป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกที่มองนก เพราะชอบตัวละครจิ้งจอกใน เจ้าชายน้อย ส่วนนกคือสิ่งที่เราอยากเป็น”

“ดีใจที่ได้มาร่วมกิจกรรม เราปลูกต้นไม้ก็จริง แต่ไม่เคยจัดสวนขวดมาก่อน พอได้ลองทำก็ชอบ แต่จะมีความยาก เพราะไม่เคยปลูกต้นไม้ในที่ที่เล็กๆ อย่างนี้มาก่อน กลัวทำมันตาย”

นฬ–ชิตะ จิรานันตรัตน์
ชื่อสวน : Dream of Flight
“หินตรงนี้เป็นเหมือนชะง่อนผา มีเพกาซัสที่กำลังจะโบยบินออกไป ส่วนลูกหมูเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเอง เพราะผมเกิดปีหมู ลูกหมูกำลังมองเพกาซัสแล้วก็อยากจะโบยบินออกไปด้วย ต้นไม้รกๆ ข้างบนสื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปถึงชะง่อนผาตรงนั้น ต้องรอดูว่าต่อไปลูกหมูจะบินออกไปได้ไหม”

“การมาทำสวนขวดให้ความรู้สึกเซนดี สัมผัสถึงความเป็นตัวเองว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน และได้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ กลับบ้าน”

จุ๊บแจง–พิมพ์พญา เจริญศิริพันธ์
ชื่อสวน : แด่กระต่ายลูกกระจ๊อกของฉันที่จากไป
“คอนเซปต์ของสวนมาจากกระต่ายที่เราเคยเลี้ยงตอนเด็กๆ แล้วตาย ชื่อน้องอวบและน้องส้ม เลยเป็นการกักขังวิญญาณกระต่ายที่รักไว้ในขวด เหมือนหม้อยาของแม่นาคพระโขนง เก็บความทรงจำและความรักเอาไว้ เพราะครั้งนึงเราเคยเล่นกับมันเป็นปีๆ”

“สนุกดี เปิดโลกมาก เคยเห็นสวนขวดแต่ไม่นึกว่าวิธีทำจะมีดีเทลเยอะขนาดนี้ว่าแต่ละชั้นมีฟังก์ชันอะไร ทำไมต้องใช้หินพรุนก่อน ทำไมต้องมีเฟิร์นมารอง ก็สลายม่านหมอกความสงสัย”

ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้าย น้ำค้างก็ได้แนะนำวิธีดูแลสวนขวด และข้อควรระวังดังนี้

วิธีดูแลสวนขวด

  • วางไว้ในที่อากาศเย็น ไม่ร้อนอบอ้าว
  • ให้สวนได้รับแสงจากหลอดไฟก็เพียงพอ
  • คอยเช็กว่ามีน้ำหล่อเลี้ยงในชั้นหินด้านล่าง ถ้าเห็นว่าแห้งค่อยเติม โดยเฉลี่ยแล้วจะเติมประมาณเดือนละครั้ง และควรปิดฝาไว้ตลอดเพื่อเก็บความชุ่มชื่น
  • ต้นไม้จะมีการโตขึ้นอย่างช้าๆ ใช้กรรไกรตัดเล็มเพิ่มเติมได้
  • ไอน้ำที่ขวดถือเป็นเรื่องปกติ เพราะน้ำจะระเหยขึ้นมาเป็นไอน้ำ แต่เมื่อไหร่ที่อยากเห็นชัดๆ หรือถ่ายรูป ก็เปิดขวดแล้วใช้คอตต้อนบัดเช็ดออกเบาๆ

ข้อควรระวัง

  • ตอนถือไม่ควรตะแคงหรือเอียงสวน อาจจะทำให้สวนคว่ำได้ และคอยระวังคนอื่นจะมาหยิบสวนขวดเอียงดูด้วยความสงสัยด้วยนะ
  • ไม่ควรเอาไว้ในที่ร้อนเกินไปหรือให้สวนโดนแดด
  • ถ้าจะไม่อยู่บ้านเป็นเวลานาน เช่น 1 สัปดาห์ อุณหภูมิห้องอาจจะอบอ้าว จะทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนและทำให้ต้นไม้ป่วยได้ ต้องหามุมในบ้านที่ไม่ร้อนเกินไปเพื่อให้สวนขวดอยู่ได้
  • ไม่ควรเปิดขวดบ่อย เพราะจะทำให้ความชื้นลดลง เป็นการรบกวนระบบนิเวศข้างใน เปิดเมื่อให้น้ำหรือเช็ดไอน้ำเพื่อถ่ายรูปเท่านั้น
  • ถ้าอยากใส่ของประดับสวนเพิ่ม ควรเป็นของที่ทนความชื้นได้ เช่นพลาสติก เซรามิก อะคริลิก เป็นต้น ไม่ควรใส่ของที่ทำจากไม้นะ

ถ้าชอบทำอะไรสนุกๆ แบบนี้ ติดตามกิจกรรมสำหรับผู้อ่านจาก a day ในโอกาสต่อๆ ไปได้ทางหน้าเพจเลยนะ

AUTHOR