“ฮิปสเตอร์ว่ะมึง” – ไม่รู้หรอกว่าคุณพูดด้วยอารมณ์ไหนหากไม่ได้ยินน้ำเสียง แต่ก็เป็นไปได้มากว่าคุณกำลังด่าใครสักคนอยู่ อาจเป็นอารมณ์ด่าว่าเขาล้ำหน้าด้านสไตล์เกินหน้าเกินตาประชาชีไปสักหน่อย หรืออาจเป็นอารมณ์ด่าว่าเขาช่างไม่รู้จักพออกพอใจอะไรเลย – ไอ้นั่นก็เห็นแล้ว ไอ้นี่ก็เลิกคูลไปแล้ว ฮิปสเตอร์ชะมัด!
ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คำว่าฮิปสเตอร์กลายมาเป็นคำปรามาส? (เรื่องนี้น่าสืบเสาะพอๆ กับกรณีของคำว่า ‘คนดี’) เราอาจเดาได้ว่าฮิปสเตอร์เริ่มเปลี่ยนสถานะจากคำที่ใช้เรียกคนทันสมัย คนหัวขบถที่แหกธรรมเนียมสังคมมาเป็นคำด่าก็ตอนที่เรามี ‘ภาพจำ’ เกี่ยวกับฮิปสเตอร์ว่าพวกเขา, ถ้าเป็นผู้ชายจะต้องมีหนวดเฟิ้มๆ, หรือไม่ก็มัดกระจุกผมไว้เป็นแมนบัน, ใส่แว่น ใส่หมวก เป็นไปได้ว่าจะใส่เสื้อเชิ้ตลายตารางแดง-ดำ ชอบฟังเพลงที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ดื่มกาแฟคราฟต์ อ่านหนังสือปรัชญายากๆ ต้องไปสักการะพอร์ตแลนด์-โอเรกอน (เอาเข้าจริงซีรีส์อย่าง Portlandia ของ Fred Armisen ก็กัดเรื่องนี้เสียจนเยินเลยแหละครับ)
แล้วภาพจำแบบนั้นมันมาตั้งแต่ตอนไหน?
เอาเข้าจริงแล้วการที่ฮิปสเตอร์มีภาพจำนั้นเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งอย่างยิ่ง ฮิปสเตอร์ควรเป็นคนที่หลุดออกไปจากธรรมเนียมใดๆ และกระโดดหนีกระแสต่างๆ เมื่อมันเริ่ม ‘เมนสตรีม’ แล้วสิ การที่ฮิปสเตอร์จะมี ‘ขนบหลัก’ มีภาพจำว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่ขัดกันไปขัดกันมาในตัวเองพอดู (ให้ตายสิ – ตอนที่ผมค้นข้อมูลเรื่องนี้ มีฮาวทูใน wikihow ที่บอกวิธีการเป็นฮิปสเตอร์เกิร์ลแล้วด้วยซ้ำ – ไม่ฮิปเลย!)
แต่อาจด้วยความพยายามหลุดขนบนี่แหละที่ทำให้ฮิปสเตอร์ดูเหมือนๆ กันไปหมด
อย่างน้อยนี่ก็เป็นคำตอบจากงานวิจัยชื่อ ‘The Hipster Effect: When Anti-Conformist All Look the Same’ ของคุณ Jonathan Touboul จากมหาวิทยาลัยแบรนเดส์ในแมสซาชูเซตส์ ที่สนุกคือคุณโจนาธานคนนี้ไม่ได้หาคำตอบด้วยวิธีทางสังคมวิทยานะครับ แต่เขาหาคำตอบจากคณิตศาสตร์!
โจนาธานออกแบบโมเดลโดยจินตนาการโลกที่มีคนแค่สองประเภท คนประเภทแรกสมมติว่าเป็นพังก์ คนประเภทที่สองเป็นพวกนอร์มคอร์ (normcore) ซึ่งแทนคนบนโลกจริง มีคนแบบที่ตามกระแสกับคนที่สวนกระแส แต่การที่จะตามหรือสวนกระแสได้นั้น เราต้องรู้กระแสเสียก่อน เราอาจจับกระแสได้จากคนรอบๆ ตัว หากคนส่วนใหญ่รอบตัวเราทำแบบหนึ่ง (เช่น ไว้หนวด) และเราเป็นพวกตามกระแส เราก็อาจไว้หนวดตาม แต่หากเราเป็นพวกสวนกระแสเราก็อาจโกนหนวดและเลิกไว้
โจนาธานบอกว่าเมื่อรันแบบจำลองผู้คนในสังคมแบบนี้แล้ว เขาก็พบว่าดีเลย์ระหว่างกระแสกับการรู้กระแส (ด้วยการสังเกตคนรอบตัว) นั้นทำให้บางครั้งเกิดลูปขึ้นมาและทำให้ฮิปสเตอร์ดูเหมือนๆ กันไปหมด (ด้วยความอยากเป็นส่วนน้อย) ยิ่งดีเลย์ตรงนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การ ‘สวนกระแส’ สวนไปในทางเดียวกันมากเท่านั้น โจนาธานยอมรับว่าโมเดลที่จำลองโลกมาให้เหลือเพียงคนสองแบบนั้นอาจง่ายเกินไป มีหลากหลายวิธีที่เราจะสวนกระแสได้ หากเราไม่อยาก ‘ธรรมดา’ เราอาจเป็นฮิปสเตอร์ เป็นพังก์ เป็นกอธ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่โจนาธานพยายามตั้งสมมติฐานขึ้นมาก็คือ เขาคิดว่าในหมู่ผู้สวนกระแส นั้นมีการ ‘ซิงโครไนซ์’ กันอยู่ และการซิงโครไนซ์นี้เองที่ทำให้พวกเขาดูเหมือนๆ กัน
แปลกดี – ซีรีส์จิกกัดฮิปสเตอร์อย่าง Portlandia ที่ผมพูดถึงตอนต้นก็มีตอนหนึ่งที่เข้ากันได้กับสมมติฐานของโจนาธานเป๊ะ ตัวละครฮิปสเตอร์ตัวหนึ่งพบว่าเพื่อนดื่มกาแฟร้านยอดฮิต (สมมติเป็นสตาร์บักส์ละกันนะครับ) เขากระหยิ่มว่าตัวเองรู้จักเลือก ดื่มร้านกาแฟที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร้านกาแฟโปรดของเขามีคนรู้จักมากขึ้นๆ และกลายเป็นกระแสหลักในที่สุด ในขณะที่คนดื่มสตาร์บักส์กลายเป็นคนส่วนน้อย ฮิปสเตอร์คนนี้ด้วยความที่ต้องหนีกระแสจึงต้องหนีไปกินสตาร์บักส์แทนเพื่อคงความฮิปของตัวเอง
ผมไม่คิดว่าโมเดลของโจนาธานพิสูจน์อะไรได้ทั้งหมด และก็อย่างที่เขายอมรับ – มันอาจง่ายกว่าความเป็นจริงบนโลกไปหลายขุม – แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจเรียนรู้ได้จากสมมติฐานของเขาก็คือการแหกขนบโดยไม่มีแนวคิดที่มั่นคงภายใน เป็นการ ‘แหกเพื่อให้ตัวเองเป็นส่วนน้อย’ ‘ขอให้ได้คิดต่างก็พอใจแล้ว’ โดยที่ไม่รู้ว่าคิดต่างไปทำไมนั้นอาจทำให้เราไม่ต่างอะไรไปจากแบบทำลองคนในโมเดลทดลองง่ายๆ ของโจนาธานเลย!