ทำยังไงเมื่ออ่านหนังสือแล้วไม่จำ หรือหนังสือจะไม่ใช่สื่อที่มี ‘ประสิทธิภาพ’

Highlights

  • ถึงจะรักหนังสือแค่ไหน แต่เราก็รู้ว่ามันมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะหนังสือน็อนฟิกชั่น (หรือหนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง–ไม่ได้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น) ทั้งหลาย ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พออ่านจบแล้ว บางทีเราจำสิ่งที่ผู้เขียนเขียนได้เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
  • Andy Matuschak นักออกแบบ วิจัย และพัฒนาซอฟต์แวร์ เขียนหนังสือที่ชื่อว่า Why Books Don’t Work โดยเขาตั้งคำถามว่า ทำไมหนังสือจึงเป็นสื่อที่ ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ และมีวิธีใดไหมที่จะทำให้หนังสือเป็นสื่อที่ดีกว่านี้ และแทนที่เราจะคิดว่าทำอย่างไรให้หนังสือมีประสิทธิภาพ ทำไมเราไม่ประดิษฐ์สื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมาเสียเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะละทิ้งวิธีการเล่าแบบหนังสือหรือทิ้งกระดาษไป แต่เป็นการขอให้เราละทิ้งความคิดดั้งเดิมที่ว่าหนังสือควรเป็นอย่างไรไปเท่านั้นเอง

หนังสือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มันเป็นเพียงวัตถุแบนๆ ทำจากต้นไม้ มีส่วนยืดหยุ่น บนนั้นมีรอยหยึกหยักสีดำๆ ที่ดูน่าขันพิมพ์ไว้ แต่เมื่อใดก็ตามที่สายตาของคุณไล่ผ่านมัน ก็เปรียบเสมือนว่าคุณได้เข้าไปอยู่ในใจของใครอีกคน อาจเป็นคนที่ตายไปแล้วเป็นพันๆ ปี ผู้เขียนพูดกับคุณด้วยความแจ่มชัดแม้เงียบงันข้ามผ่านกาลเวลา การเขียนอาจเป็นนวัตกรรมล้ำเลิศที่สุดของมนุษย์ มันเป็นการผูกคนที่ไม่เคยพบพาน คนต่างยุคต่างสมัยเข้าไว้ด้วยกัน หนังสือเป็นวัตถุที่ไม่ยึดติดกับเวลา เป็นสัญลักษณ์ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์นั้นมีเวทมนตร์

– คอสมอส, คาร์ล เซแกน

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่าผมชอบหนังสือ อยู่กับมันมาตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่หนังสือการ์ตูนอย่าง โดราเอมอน หนังสือนิยายสืบสวนสอบสวนของอกาธา คริสตี้ หนังสือที่พาให้เราเข้าไปอยู่ในโลกแห่งเวทมนตร์อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ จนถึงหนังสือที่มอบความรู้ให้กับเราในแขนงต่างๆ ตั้งแต่จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ หากไม่ได้อ่านหนังสือพวกนั้น วันนี้ผมคงไม่มีโอกาสได้ทำงานอย่างที่ได้ทำหรือเขียนอย่างที่อยากเขียน

แต่นั่นเอง ถึงจะรักหนังสือแค่ไหน ผมก็รู้ว่ามันมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะหนังสือน็อนฟิกชั่น (หรือหนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง–ไม่ได้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น) ทั้งหลาย

ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘พออ่านจบแล้ว บางทีก็จำสิ่งที่ผู้เขียนเขียนได้เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น’ นั่นคือในวินาทีที่อ่านจบนะครับ หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน เมื่อถูกถามเราก็อาจจำได้ว่าเคยอ่านหนังสือที่ว่ามาแน่ๆ และพอจับใจความหลักออกมาได้สักหนึ่งหรือสองประโยค แต่ถ้าให้อธิบายโดยละเอียดก็อาจทำไม่ได้–จำไม่ได้เสียแล้ว

น่าเสียดายที่เวลาเกือบสิบชั่วโมงถูกใช้ไปกับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่สิ่งที่เราในฐานะผู้อ่านได้รับกลับเป็นเพียงความรางเลือน

ลองถามตัวเอง คุณเป็นเหมือนกันไหม? คุณหยิบหนังสือมาสักเล่ม ด้วยความตั้งใจว่าจะซึมซับข้อเขียนที่ถูกเรียบเรียงมาอย่างดี คุณพลิกอ่านมันวันแล้ววันเล่า จบวันหนึ่งคุณก็ปิด วางหนังสือเล่มนั้นลง เพียงเพื่อพบว่าแท้จริงสิ่งที่คุณจดจำนั้นสาธยายออกมาได้ไม่เกินหนึ่งหรือสองย่อหน้า​?

ทำไมหนังสือจึงเป็นสื่อที่ ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ และมีวิธีใดไหมที่จะทำให้หนังสือเป็นสื่อที่ดีกว่านี้คือคำถามใจกลางของข้อเขียนของ Andy Matuschak นักออกแบบ วิจัย และพัฒนาซอฟต์แวร์ ชื่อ Why Books Don’t Work

Matuschak เทียบหนังสือกับการฟังเลกเชอร์ เขาคิดว่าเลกเชอร์ส่วนมากก็ไร้ประสิทธิภาพเช่นกัน ด้วยความที่มันตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดๆ เรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ว่า ‘ผู้บรรยายบรรยายความคิดหนึ่ง นักเรียนได้ยินคำบรรยายเหล่านั้นแล้วนักเรียนก็จะเข้าใจ’ นี่คือแนวความคิดเรื่องความเข้าใจที่เรียกว่า transmissionism–Matuschak ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อใดก็ตามที่การเลกเชอร์ได้ผล นั่นก็เป็นเพราะผู้สอนไม่เพียงพึ่งพาการเลกเชอร์เท่านั้น แต่ยังใช้สื่อหรือวิธีการอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อย่างเช่นการให้ทำโครงงานหรือการชวนแก้ไขปัญหา

หนังสือก็ใช้โมเดลความเข้าใจแบบ transmissionism เช่นกัน Matuschak บอกว่าหนังสือนั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยความคิดเดียวที่ว่า ‘ผู้คนจะซึมซับปัญญาจากการอ่านประโยค’ เมื่อผู้เขียนเขียนหนังสือ พวกเขาไม่คาดหวังให้ผู้อ่านอ่านเพียงประโยคบนหน้ากระดาษเท่านั้น พวกเขาคาดหวังให้ผู้อ่านค่อยๆ ไตร่ตรองถึงสิ่งที่อ่านอย่างถี่ถ้วน ตั้งคำถามกลับ หรือพกพาสิ่งที่สงสัยไปเป็นบทสนทนากับคนอื่นๆ ผู้อ่านที่อ่านหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมักสะท้อนสิ่งที่ได้อ่านในสมองด้วยประโยคอย่าง ‘ประโยคนี้ทำให้ฉันนึกถึง…’ ‘ประเด็นนี้ขัดแย้งกับ…’ ‘ฉันไม่เข้าใจที่….’ หรือจดสรุปสิ่งที่ได้อ่านด้วยภาษาของตนเอง ไม่เพียงลอกเลียนสิ่งที่เพิ่งได้อ่านมาเท่านั้น

แต่ Matuschak ก็บอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้อ่านทุกคนและการคาดหวังให้ผู้อ่านเป็นผู้แบกรับภาระทั้งหมดก็อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก คำถามต่อมาที่เขาตั้งจึงเป็น ‘จะมีวิธีใดไหมที่หนังสือจะช่วยให้ผู้อ่านทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามหนักหน่วง’

เขายกตัวอย่างบางความพยายามที่เกิดกับหนังสืออย่างตำราหรือเทกซ์บุ๊กขึ้นมา ตำราส่วนมากมักสอดแทรกคำถามให้ผู้อ่านตอบหรือระลึกก่อนเดินหน้าไปยังไอเดียใหม่ๆ ซึ่งก็ดูสอดคล้องดีกับวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง แต่ Matuschak คิดว่านั่นอาจไม่เพียงพอ เพราะผู้คนจำนวนมากยังคงพึ่งพาการสมัครเข้าคอร์สรายวิชาเพื่อเรียนรู้มากกว่าที่จะอ่านตำราด้วยตนเองอยู่ เพราะเมื่อเราลงเรียนรายวิชาใดรายวิชาหนึ่ง ภาระในการตัดสินใจว่าเราควรตั้งคำถามอะไรและตอนไหนนั้นจะไม่ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขึ้นอยู่กับผู้สอนมากกว่า และหากนักเรียนติดขัดช่วงใด ผู้สอนก็สามารถประเมินและลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นได้ มีวิธีใดไหมที่จะทำให้หนังสือแบกรับภาระพวกนี้ไว้

Matuschak เสนอคำถามที่ไกลไปกว่านั้น เขาเสนอว่า ‘แทนที่เราจะคิดว่าทำอย่างไรให้หนังสือมีประสิทธิภาพ ทำไมเราไม่ประดิษฐ์สื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมาเสียเลย นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละทิ้งวิธีการเล่าแบบหนังสือหรือทิ้งกระดาษไป แต่เป็นการขอให้เราละทิ้งความคิดดั้งเดิมที่ว่าหนังสือควรเป็นอย่างไรไปเท่านั้น’ เขาพยายามออกแบบ ‘สื่อ’ ชนิดใหม่ขึ้นมา โดยทดลองผ่าน ‘หนังสือ’ ชื่อ Quantum Country ที่อธิบายเรื่องการประมวลผลเชิงควอนตัม โดยใน ‘หนังสือ’ เล่มนี้จะมีแบบทดสอบอินเตอร์แอ็กทีฟสอดแทรกเป็นช่วงๆ ในบทเรียนและยังมีการส่งแบบทดสอบมาเพื่อย้ำให้ผู้เรียนจดจำภายหลังอ่านจบแล้วด้วย (ตามหลักเส้นโค้งการลืม (Forgetting Curve) ที่บอกว่าเราควรทบทวนด้วยความถี่ที่มากในช่วงแรกและลดลงในช่วงหลังเพื่อประสิทธิภาพในการจำหรือการเรียนรู้สูงสุด)

Matuschak ยอมรับว่า Quantum Country นั้นเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ของการพัฒนาสื่อใหม่ เป็นเพียงก้าวแรกเริ่มของวิวัฒนาการ ‘หนังสือ’ แต่เขาก็หวังว่ามันจะทำให้เราพอเห็นความแตกต่างระหว่าง ‘การอ่าน’ กับ ‘การเข้าใจ’ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการถ่ายทอดความรู้ของมนุษยชาติในอนาคต

 

อ้างอิง

Matuschak, Andy. 2019. “Why Books Don’t Work.” San Francisco. Retrieve from: andymatuschak.org/books.

AUTHOR

ILLUSTRATOR

น้ำใส ศุภวงศ์

Graphic Designer / Data ชาวบ้าน Collector