‘คุณเก็บความลับได้ไหม’ เมื่อ ‘ความลับ’ สัมพันธ์กับ ‘อำนาจ’ และเหตุผลว่าทำไมความลับเป็นสิ่งที่เก็บได้ยากเย็น

เบนจามิน แฟรงคลิน บุคคลสำคัญของอเมริกาเคยกล่าวไว้ว่า “สามคนสามารถเก็บความลับได้ หากสองในนั้นตายไปแล้ว” ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับท่านเบนจามิน แต่คำพูดของเขาก็สะท้อนบางเรื่องที่เป็นสากลของมนุษย์ เพราะเบื้องหลังคำพูดนั้นคือคมความคิดที่เกี่ยวกับ ‘ความลับ’

หรือวินสตัน สมิธ ตัวละครจากนิยายอันลือลั่นของ จอร์จ ออร์เวลล์ อย่าง 1984 ก็เคยกล่าวว่า “หากคุณต้องการเก็บความลับไว้ คุณจำต้องซ่อนมันจากตัวคุณเองด้วย” จาก 2 ประโยคที่อ้างไป นั่นทำให้เห็นว่า ความลับนั้นช่างเป็นสิ่งเปราะบางแค่ไหน

ความลับเป็นส่วนสำคัญในชีวิตมนุษย์ เราทุกคนล้วน ‘มี’ ความลับ (หรือคุณไม่มี ?) เราทุกคน ‘เก็บ’ ความลับของใครบางคน และ ‘แบ่งปัน’ ความลับ เฉพาะคนที่เราไว้ใจเท่านั้น

แต่ปัญหาคือ ความลับดันเป็นสิ่งที่บางครั้งช่างยากที่จะ ‘แบ่งปัน’ ให้ใครฟัง รวมถึง ‘เก็บรักษา’ ไว้ได้ยากเช่นเดียวกัน

บางครั้งเราเองต่างหากที่ไม่สามารถเก็บความลับของใครบางคนไว้ได้ แม้เราจะเคยสัญญากับใครคนนั้นรวมถึงตัวเองไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับเล่าความลับนั้นให้คนอื่นฟังต่อ โดยลืมสัญญาและผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ที่จะตามมา

แล้วอะไรกันแน่ ที่ทำให้บางคนเก็บความลับยาก และอยากเปิดเผยบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองเลย?

ความลับทำให้อีโก้ของเราดูดีขึ้น

หลายคนคงเคยมีโมเมนต์ที่ ‘รอ’ จะอวดอะไรบางอย่างให้กับเพื่อนหรือใครบางคน โดยเฉพาะตอนเด็กๆ เมื่อได้สิ่งของบางอย่าง อาจจะเป็นของเล่นก็ได้ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกพิเศษ แตกต่าง และมีบางสิ่งที่เด็กคนอื่นไม่มี แน่นอนว่าเราจะรู้สึกดีที่ได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ เพราะใครๆ ก็ต่างมารุมล้อมสิ่งของนั้นของเรา 

ในความเป็นจริงแล้ว การบอกเล่าความลับก็เป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบเดียวกัน เพราะเรารู้บางอย่างที่คนอื่นไม่รู้ และอีโก้ของเราก็ต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าเรา ‘พิเศษ’ แค่ไหน เมื่อไรก็ตามที่อีโก้และความเย่อหยิ่งเข้าครอบงำ ความคิดในการบอกความลับให้คนอื่นรู้ก็กลายเป็นสิ่งที่ยากจะต้านทานเสียแล้ว ไม่ว่านั่นจะเป็นความลับของเราเอง หรือความลับของคนอื่นที่เราเก็บไว้ 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว สำหรับบางคน การเป็นคนที่น่าเชื่อถืออาจไม่ได้ทำให้รู้สึกพึงใจมากเท่าความตื่นเต้นที่ได้รับความสนใจจากคนอื่นที่รอฟังความลับบางอย่างที่เขาเก็บไว้

จิตใจของเราต่อต้านเราเอง

ลองบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันจะไม่คิดถึงผี’ สิ่งที่เราจะพบ คือ ผีห่าซาตานทั้งหลายเข้ามาวนเวียนอยู่ในสมองเราตลอดเวลา และเป็นเรื่องยากที่จะไม่จินตนาการถึงความคิดในเรื่องผีๆ นั่นเพราะ อะมิกดาลา ส่วนของสมองที่รับผิดชอบในการจัดการการตอบสนองทางอารมณ์เข้ายึดครองส่วนอื่นของสมองเรา นั่นคือ นีโอคอร์เทกซ์ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการคิดอย่างมีเหตุผล ตรรกะ มีสติ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัส 

กล่าวโดยสรุปคือ สมองส่วนที่ไร้เหตุผล (อะมิกดาลา) ของเราเข้าควบคุมสมองส่วนที่มีเหตุผล (นีโอคอร์เทกซ์) ซึ่งหมายความว่าเราเริ่มสูญเสียมุมมองและการทำงาน และทำให้ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของเราลดลง เมื่อสมองของเราทำงานต่อต้านเราเอง ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไม่ครุ่นคิดถึงความลับที่เรามี และยิ่งคิดบ่อยเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่เราจะเผลอเล่าความลับนั้นออกไปมากขึ้นเท่านั้น

ความลับเพื่อควบคุมผู้อื่น

การเก็บความลับเป็นวิธีที่ช่วยให้เรารักษาความเป็นส่วนตัวได้ แต่ขณะเดียวกัน ความลับยังสามารถใช้ในการ ‘ควบคุม’ ผู้อื่นได้ ดังนั้น ความสามารถในการเก็บความลับจึงมักถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจ ในแง่นี้ ความลับจึงสามารถใช้เพื่อบงการและแบล็กเมลผู้อื่นได้ และยังสามารถใช้เพื่อปกป้องตนเองจากการถูกดำเนินคดีหรือการเลือกปฏิบัติได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ควรลืมว่า ในขณะที่ความสามารถในการเก็บความลับอาจถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจ การเก็บความลับก็อาจส่งผลเสียต่อเราได้เช่นกัน เช่น ความเครียด ความรู้สึกผิด และความอับอาย ดังนั้น การหาจุดสมดุลระหว่างการเก็บความลับและการแชร์ความลับจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ความลับเป็นได้ทั้งผลดีและผลเสีย อยู่ที่ว่าบริบทไหน แต่อย่าลืมว่า การที่ใครสักคนเลือกเล่าความลับให้เราฟัง นั่นหมายถึง เขากำลังให้ความไว้ใจแบบที่ไม่ได้ให้คนอื่น 

ความลับทำให้ใครบางคนสื่อถึงกันได้อย่างลึกซึ้ง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็แสนเปราะบาง และพร้อมจะพังทลายเมื่อใครอีกคนตัดสินใจแบ่งเรื่องเหล่านั้นให้กับคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

AUTHOR