ท่ามกลางแสงไฟระยิบระยับของเมืองพระนคร เขาและเธอเต้นรำกันภายใต้ชุดราตรีสุดตระการตา มวลโรแมนติกแสนหวานช่างเหมาะเจาะกับการตกหลุมรัก ในเมื่อบรรยากาศและแสงจันทร์เป็นใจ คำบอก ‘รัก’ จึงถูกเอื้อนเอ่ยออกไป
ความโรแมนติกที่งดงามทั้งบทและประณีตทั้งศิลป์เช่นนี้ คือเสน่ห์ที่หาได้จาก ‘ละครพีเรียด’ ที่เดียวเท่านั้น เชื่อว่าหลายคนคงเคยตกหลุมรักละครยุคเก่ากันมาแล้ว ไม่ว่าจะสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ดวงใจเทวพรหม และล่าสุดกับ ‘หนึ่งในร้อย’ ที่ทำหมอนขาดตลาด เพราะความฟินมือหงิก
‘หนึ่งในร้อย’ หรือ ‘My Cherie Amour’ พีเรียดไทยส่งตรงจากช่อง 3 ฝีมือการปลุกปั้นของผู้จัดอย่าง แอน ทองประสม นำแสดงโดย ญาญ่า อุรัสยา และ ต่อ ธนภพ เรื่องราวเล่าถึงการพยายามเอาชนะใจ ‘วิชัย’ ผู้พิพากษาหนุ่ม ของ ‘อนงค์’ ดอกฟ้าสุดก๋ากั่นแห่งพระนคร เพื่อคว้าโอกาส ‘หนึ่งในร้อย’ ที่เธอจะได้พ่อพระแสนดีมาครอบครอง!
นอกจากเคมีที่คลิกกันอย่างลงตัวของนักแสดงนำแล้ว อีกหนึ่งสารเร่งความฟินให้ทะลุปรอท ต้องยกให้ฉากหลังที่เป็นเรื่องราวสมัยพระนคร พาเราย้อนไประลึกความหลังในสไตล์ ‘พีเรียดไทย’ หรือ ‘ละครย้อนยุค’ จนเกิดเป็นความโรแมนติกที่หาไม่ได้ในยุคออนไลน์แบบนี้
แต่ทำไมความเก่าถึงมีมนต์ขลังทำให้คนตกหลุมรักแบบนี้ ตามไปหาคำตอบเบื้องหลังเวทมนตร์แห่งกาลเวลาไปด้วยกัน~
อาการ Nostagia ชวนหวนรำลึกถึงอดีต
เราอาจเคยชินกับตึกสูงระฟ้า อึดอัดกับควันรถที่สี่แยกไฟแดง แต่ละครพีเรียด พาเราลบภาพตึกสูงและรถติดชวนหงุดหงิดของกรุงเทพฯ และย้อนเวลาไปดื่มด่ำกับบรรยากาศสมัยกรุงเก่า เพื่อเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำในสมัยอดีตที่เก็บไว้อย่างดี
อย่างเรื่อง หนึ่งในร้อย ที่เหตุการณ์เล่าถึงช่วงยุครัชกาลที่ 6 หรือปี ค.ศ. 1910 จนถึงต้นปี 2000 ซึ่งเป็นยุคสมัยคุณพ่อคุณแม่ยังสาว ถือเป็นช่วงวัยรุ่นที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตแบบเต็มที่ จึงไม่แปลกที่ละครเรื่องนี้จะมีแฟนคลับทั้งฝั่งของคนรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่ที่อยากย้อนกลับไปโหยหาอดีต
เชื่อว่าใครที่ได้ดู ต้องมีความรู้สึกผูกพันกับองค์ประกอบหลายๆ อย่างในเรื่องอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะถนนเส้นนั้นที่เคยผ่านตอนเด็ก ถ้วยชามรามไหที่เคยใช้เมื่ออดีต วิทยุสมัยเก่าที่คุณแม่เคยฟัง หรือรถเปิดประทุนที่คุณปู่เคยขับไปส่งที่โรงเรียน องค์ประกอบอื่นๆ ในเรื่องที่ช่วยเรียงร้อยความทรงจำเก่าๆ ให้กลับมา กลายเป็นความอาลัยอาวรณ์อันแสนอบอุ่นหัวใจ ทั้งหมดนี้คืออาการที่เรียกว่า ‘Nostalgia’
เสน่ห์ของความสัมพันธ์ที่ไม่เร่งรีบ
การเติบโตของเทคโนโลยีอาจเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่กลับลดความอดทนของเราให้สั้นลงด้วยเช่นกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งความสัมพันธ์ที่โดนบังคับให้เร่งรีบ รีบทำความรู้จัก รีบคุย รีบเจอหน้า แต่สุดท้ายทุกอย่างกลับไม่พัฒนาเพราะติดอยู่ในสถานะ ‘คนคุย’
ตรงกันข้ามกับอดีต ในยุคที่การสื่อสารเดียวที่คนเข้าถึงได้ง่ายที่สุดก็คือการส่งจดหมาย การจะเรียงร้อยข้อความแต่ละบรรทัด ต้องใช้ความประณีตและคิดอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้ผู้รับสัมผัสได้ถึงความรักที่อัดแน่นให้ได้มากที่สุด
ยังไม่รวมถึงขนบธรรมเนียมที่เชื่อว่าชายหญิงไม่ควรถูกเนื้อต้องตัวกัน ทำให้การเจอหน้า หรือพูดคุยแต่ละที สร้างความปั่นป่วนมวลท้องให้คนดูได้เป็นอย่างมาก แต่ที่โรแมนติกที่สุด ต้องยกให้กิจกรรมเดตที่ไม่ใช่การหนีร้อนไปเดินห้างเหมือนอย่างสมัยนี้ แต่เป็นการชวนเต้นรำใต้แสงไฟ คลอกับจังหวะเพลงแจซเบาๆ ที่แม้ไม่มีฉากเลิฟซีนหนักๆ แต่ก็ทำให้เราเขินจนหมอนขาดเหมือนกัน!
เสพศิลป์ผ่านชุดสุดตระการตา
เรื่องความเวอร์วังอลังการของเสื้อผ้าหน้าผม คือจุดขายหลักของละครพีเรียดที่ต้องทำให้ถึงใจ ถึงจะได้ใจจากคนดูกลับมา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเหตุผลที่คนติดละครย้อนยุคกันงอมแงม ก็คือแฟชั่นที่หาดูได้ยากในยุคนี้นั่นเอง
ยิ่งเป็นพีเรียดที่ย้อนไปในยุคพระนครอย่าง หนึ่งในร้อย ที่หยิบเอาแฟชั่นของฝรั่งตะวันตกในสมัยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนเริ่มหันกลับมาดูแลตัวเองและสนใจในแฟชั่น เสื้อผ้าผู้หญิงส่วนใหญ่จะเน้นช่วงเอว และกระโปรงบานเพิ่มความอ่อนหวาน
นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของชุดตัวเอกอย่าง ‘อนงค์’ ได้มาจากดาราฮอลลีวูดอย่าง Audrey Hepburn ที่อยู่ในยุค 1950 เป็นต้นไป ซึ่งชุดส่วนใหญ่ของเธอจะเน้นความคลาสสิกเรียบหรู แต่ก็แฝงความเฟมินีนของผู้หญิง กลายเป็นชุดกระโปรงบานหวานร้อยที่แฝงความเซ็กซี่เบาๆ แต่พองาม ยังไม่รวมถึงเครื่องหัว เครื่องประดับที่เล่นใหญ่ใส่เต็ม ไม่มีชุดอยู่บ้านเสื้อยืดกางเกงยีนส์ มีแต่ชุดเดรสสั่งตัดที่สาวๆ ดูแล้วก็อยากใส่ตามกันถ้วนหน้า
แถมไม่ใช่แค่นักแสดงหลักเท่านั้น แต่นักแสดงรองไปจนถึงตัวประกอบก็เล่นใหญ่ใส่เต็มไม่มีน้อยหน้า ใครที่ชอบเสพแฟชั่น พีเรียดไทยถือว่าตอบโจทย์สุดๆ
สัมผัสเรื่องราวชนชั้นสูงที่ไม่อาจเอื้อม
‘เล่นเทนนิส ขี่ม้า จิบน้ำชา เต้นรำเวลาว่าง’ นี่คือวิถีชีวิตสุดโก้เก๋ของอนงค์ ลูกสาวเพียงคนเดียวของพระยานิติธรรมสุนทร นายธนาคารใหญ่ที่แม้จะล่วงลับไปแล้ว แต่กลับทิ้งมรดกมหาศาลเอาไว้เป็นของต่างหน้า
แม้จะไม่ได้มีคำนำหน้าว่าเจ้าหญิง แต่ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าเหล่านี้คือเครื่องยืนยันสถานะทางสังคมชั้นดี จะเห็นว่ากิจกรรมของชนชั้นสูงในสมัยนั้น ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกแทบทั้งสิ้น เพราะนี่คือยุคหลังการเลิกทาส และมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศอังกฤษ ทำให้มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับโลกตะวันตก รวมถึงนโยบายปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยเหมือนเช่นประเทศพัฒนาแล้ว
ความหรูหราที่จับต้องไม่ได้แบบนี้ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนดูอย่างเราติดงอมแงม เพราะนี่คือชีวิตประจำวันของสังคมชนชั้นสูงที่แม้จะมีการเลิกทาสเกิดขึ้นแล้วในยุคนั้น แต่การแบ่งชนชั้นยังคงไม่หายไปง่ายๆ
พฤติกรรมเสพความหรูหราไฮโซในละครพีเรียดนี้ เกิดขึ้นเช่นเดียวกับเวลาเราดูรีวิวบ้าน 100 ล้าน หรือพาทัวร์เครื่องบิน First Class ที่แม้จะรู้ว่าชาตินี้คงไม่มีวันเอื้อมถึง แต่กลับเลือกที่จะกดดูซ้ำๆ แล้วจินตนาการภาพในฝันว่า ‘สักวันคงเป็นของเรา’
‘หนึ่งในร้อย’ ไม่ใช่ครั้งแรกของละครย้อนยุคที่สร้างปรากฏการณ์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เราเคยโดนหนุ่มๆ จุฑาเทพตกจนอยากถวายตัวไปเป็นสะใภ้ รวมถึงการห่มสไบใส่ชุดไทยตามรอยบุพเพสันนิวาส ทั้งหมดคือข้อพิสูจน์ถึงความขลังของเวทมนตร์แห่งกาลเวลาที่มีชื่อว่า ‘พีเรียดไทย’