แค่สะสมก็เท่ากับบาป? หลวงเจ๊ ‘Amitofo’ อาร์ตทอยที่ถูกใจวัยรุ่น แต่ขัดใจสำนักพุทธฯ

ปัจจุบันวงการอาร์ตทอยพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่เราคิด ใครจะเชื่อว่าอะไรก็กลายเป็นคาแรกเตอร์น่าสะสมได้ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘พระ’ ที่ไม่ได้หมายถึง พระพุทธรูปปางต่างๆ ตามวัด แต่เป็นพระสมัยใหม่ที่มาร์กหน้า ทาครีม เล่นกับแมวเหมือนคนทั่วๆ ไป 

พระสุดชิคเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของ ‘Amitofo’ อาร์ตทอยบุดดาแนวใหม่จากศิลปินสาวชาวจีน ‘SHUPI’ ที่แม้จะเพิ่งลงสนามในวงการนี้ได้ไม่นาน แต่กลับสร้างเสียงฮือฮาด้วยความกล้าและบ้าบิ่นแบบที่ไม่มีใครเหมือน เพราะเธอเปลี่ยนภาพลักษณ์พระพุทธรูปองค์สีทองในวัดที่เราคุ้นเคย สู่หลวงเจ๊สุดเริ่ดที่ทำกิจกรรมชิคๆ ประหนึ่งเป็นวัยรุ่น Gen Z  จึงเป็นที่มาของฉายาสุดเริ่ดที่แฟนๆ ชาวไทยตั้งให้ว่า ‘หลวงเจ๊’ แถมคอลเลกชันนี้ก็ดังระเบิดในหมู่ชาวไทยมาก จนศิลปิน SHUPI ถึงกับบินลัดฟ้ามาพบปะแฟนๆ กันถึงที่กรุงเทพฯ 

แต่ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้านเสมอ เมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วย ล่าสุดสำนักพุทธฯ ออกประกาศเตือนเรื่องความเหมาะสมของผลงานนี้ จนทำให้มีกระแสตีกลับจากฝั่งชาวพุทธบางส่วนที่มองว่า ‘นี่คือการลบหลู่ศาสนา’

แค่สะสมก็เท่ากับบาปจริงหรือ? แล้วอะไรคือขอบเขตของการลบหลู่กันแน่? ครั้งนี้เราจึงอยากชวนชาวพุทธทุกคนไปเปิดโลกของศิลปะกับศาสนา พร้อมหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ไปด้วยกัน

เมื่อศาสนาหลอมรวมกับ Pop Culture

Amitofo อ่านออกเสียงว่า ‘อะ-มิด-ตะ-โฟ’ ซึ่งพ้องเสียงกับ ‘พระอมิตาภพุทธะ’ หรือ ‘พระยูไล’ หนึ่งในพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวจีนนิกายมหายานและวัชรยาน ที่เชื่อว่าในพุทธเกษตรมีพระพุทธเจ้าหลายองค์ประทับอยู่ 

แม้จะหยิบเอาชื่อของพระพุทธเจ้ามาใช้ แต่คาแรกเตอร์ที่ออกมากลับดูเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายเกินกว่าที่หลายคนคิด โดยศิลปินตั้งใจผสาน Pop Culture เข้ากับศาสนาอย่างกลมกลืน ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนทั่วๆ ไป ในปางต่างๆ ของพระพุทธรูป ไม่ว่าจะ ปางถือทิชชูปลดทุกข์, ปาง Work from Home, ปางกินของว่าง ไปจนถึงองค์ Secret อย่าง หลวงเจ๊ปางมาร์กหน้า 

นอกจากคอลเลกชันกล่องสุ่มอาร์ตทอยแล้ว Amitofo ยังต่อยอดสู่พวงกุญแจ Good Luck Keychain หน้าพระพุทธเจ้าหลากสีสัน ให้เราได้ห้อยความโชคดีเหล่านั้นไว้ติดตัว เพื่อสร้างความอุ่นใจ นี่คือความตั้งใจที่ศิลปินให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอไม่ได้สร้างคาแรกเตอร์มาเพื่อสักการะบูชา แต่อยากให้ทุกคนที่ได้เห็นเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจจากการทำงานหนัก เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจในการใช้ชีวิตว่า ‘ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหรือเครียดไปกับทุกสิ่ง’

อาร์ตทอยที่ช่วยเตือนใจ ‘เพราะชีวิตก็แค่นี้เอง…’

เราบูชาพระพุทธรูป สวดมนต์เช้าเย็น หรือแม้แต่ถือศีลก็เพื่อ ‘ความสบายใจ’ ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจท่ามกลางโลกที่โหดร้ายในแต่ละวัน เช่นเดียวกันกับ Amitofo มองดูเผินๆ อาจจะคิดว่าปางแต่ละท่านั้น เหมือนแค่ดีไซน์เอาสนุก แต่ที่จริงแล้วพวกเขากำลังสอนให้เรารู้จักปล่อยวางกับความเครียดและเอนจอยในทุกๆ โมเมนต์ของชีวิต 

  • All right. Ok. It’s okay! : ปางทำมือรูปโอเค สื่อให้เราปล่อยวางเพราะ ทุกอย่างโอเค!
  • Eat Whatever You Want : ปางนั่งรอกินข้าว สื่อถึงการรอคอยที่มีความสุข ที่เรากำลังจะได้กินของอร่อย
  • Calm Down & Work Overtime : ปาง Work from Home สื่อถึงวิถีชีวิตออฟฟิศที่แม้จะปั่นงาน เราก็สามารถจิตใจสงบเหมือนนั่งบนดอกบัวได้
  • I Want to Lie Flat : ปางนอนเล่นมือถือ สื่อถึงการพักผ่อนชิลๆ ของคนยุคดิจิทัล 
  • Wow! So Enjoyable : ปางนั่งปลดทุกข์ สื่อว่าไม่ว่าใครก็ต้องเคยเผชิญกับเรื่องน่าอาย ดังนั้นแค่ปล่อยจอยมันซะ 
  • Retired with Money in Hand : ปางเกษียณ สื่อถึงการใช้ชีวิตที่สงบสุขและแฮปปี้ด้วยเงินเต็มกระเป๋า 

นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ปาง Secret อย่าง A Super Good Temper ปางแมวนอนตัก ไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่าการได้นั่งบนโซฟาพร้อมกับน้องเหมียว และ Beautiful Alone ปางมาร์กหน้าในตำนาน ที่ชวนให้เราหันมารักตัวเอง โดยเริ่มจากการดูแลผิวหน้าให้ดี

ไม่ใช่แค่กล่องจุ่มอาร์ตทอย แต่พวงกุญแจอย่าง Good Luck Keychain ก็มีความหมายดีๆ ซ่อนอยู่เช่นกัน เพราะแต่ละสีของบุดดาเหล่านั้น แทนความโชคดีในด้านที่ต่างกัน ทั้งเงินทอง ความโชคดี การงาน ความรัก ไปจนถึงสุขภาพ 

แม้จะมีวิธีการที่ต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายของทั้งศาสนาและอาร์ตทอย Amitofo กลับคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งสองคือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลวงเจ๊ปางต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้ต้องการให้กราบไหว้บูชา แต่อยากให้เราเคารพรักในตัวเอง และใช้ชีวิตในแต่ละวันให้มีความสุขแค่นั้นพอ 

เพราะเล่นมากเกินไป จึงถูกมองว่าลบหลู่

ดูเหมือนว่าสารแห่งความสุขที่ Amitofo ตั้งใจจะสื่อ กลับไปไม่ถึงสำนักพุทธฯ เพราะหลังจากมีการวางขายพวงกุญแจ Good Luck Keychain ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จึงออกตักเตือนการซื้อ-ขายสินค้าคอลเลกชันนี้ เพราะมองว่า ‘ไม่เหมาะสม’

“อยากให้แม่ค้าพินิจพิเคราะห์ให้ดี 
ก่อนที่จะนำสินค้าใดๆ ก็ตามที่สื่อถึงพระศาสดา มาจัดจำหน่าย” 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดประเด็นเรื่องการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 เกิดข้อถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนบนโลกโซเชียล เมื่อนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วาดรูป ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ เพราะต้องการสื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นดังฮีโร่ที่ช่วยจัดการสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ แม้จะไม่ได้มีข้อความหยาบคายหรือคำดูหมิ่น แต่รูปภาพดังกล่าวกลับเรียกทัวร์จากชาวพุทธจำนวนมาก จนเธอต้องออกมาขอโทษกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้

ท่ามกลางการประณามอันรุนแรง กลับมีเสียงของคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำเกินกว่าเหตุนี้ เพราะเชื่อว่าการจะตัดสินว่าลบหลู่หรือไม่นั้น ต้องดูกันที่ ‘เจตนา’ ของผู้สร้างผลงาน เหมือนอย่างที่พระมหาไพรวัลย์ หรือ ไพรวัลย์ วรรณบุตร คยออกมาพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า 

“อาตมาอยากได้เห็นหรือได้อ่านคำอธิบายประกอบนะ 
เวลาที่มีการนำภาพวาดพวกนี้มาเผยแพร่ 
เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดทอนความอคติ 
หรือมองเห็นเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานของเจ้าของศิลปินได้” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวพุทธโดยเฉพาะคนไทยอย่างเรา ถูกปลูกฝังเรื่องศาสนามาอย่างเคร่งครัด และความเข้มงวดนี้เอง ทำให้กลายเป็น ‘กรอบ’ กันคนเห็นต่างให้ออกไป ตัวอย่างเช่น มีกรณีนี้ที่ชาวพุทธบางส่วนเชื่อว่า ‘พระพุทธรูป’ เป็นสิ่งที่ไม่ควรแตะต้อง ใครที่อยากนำเสนอผลงานศิลปะเกี่ยวกับศาสนา ต้องปฏิบัติตามจารีตที่สืบทอดกันมาเท่านั้น 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอก อาจไม่ใช่ความตั้งใจของศาสนาพุทธอย่างแท้จริง หากย้อนดูตามประวัติศาสตร์จะพบว่า คำอธิบายพื้นฐานของพระพุทธเจ้าอย่าง ‘ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ’ นั้น เกิดมาหลังการเกิดของศาสนาพุทธ และภาพลักษณ์ต่างๆ ที่เราเห็นเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น 

สุดท้ายแล้วขอบเขตของการลบหลู่ ไม่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการ แต่มันถูกตัดสินผ่านทัศนคติของแต่ละคนที่มีกรอบประสบการณ์ที่ต่างกันเท่านั้นเอง 

ถึงเวลาหรือยังที่ ‘ศาสนา’ ต้องปรับตัว?

หลังจากที่สำนักพุทธฯ ออกมาโจมตีเรื่องความไม่เหมาะสมของ Amitofo ดูเหมือนว่านี่จะเป็นการโยนฟืนเข้ากองไฟ เกิดเป็นกระแสตีกลับจำนวนมากจากเหล่าคนรุ่นใหม่ และทำให้ช่องว่างระหว่าง ‘ศาสนา’ กับ ‘วัยรุ่น’ กว้างขึ้นเรื่อยๆ 

ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่นับถือศาสนา จากผลสำรวจของ Pew Research Center พบว่า มีคนที่ไม่มีศาสนาสูงถึง 1.19 พันล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้สังคมไทยจะถูกมองว่าเป็นเมืองพุทธมาเป็นเวลานาน แต่ด้วยกระแสข่าวเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของสงฆ์ที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน ก็เป็นส่วนที่ทำให้ความเลื่อมใสถูกลดทอนลงไปจากอดีต

ในยุคที่คนรุ่นใหม่ เลือกที่จะเข้าห้างมากกว่าเข้าวัดแบบนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ ‘ศาสนา’ ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย เปลี่ยนของที่อยู่บนหิ้งสู่ของในชีวิตประจำวันที่เราจับต้องได้ แม้จะดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ชาวไทยหลายคนฟังแล้วอาจจะเอามือทาบอก แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เริ่มกระบวนการปรับปรุงศาสนาให้ทันสมัยมาเป็นเวลานานแล้ว 

ไม่ว่าจะกาชาปองรูปพระพุทธรูปที่เห็นได้ทั่วไป ไปจนถึงการผสมผสานกับ Pop Culture สร้างชาติอย่างมังงะ ที่เล่าเรื่องราวศาสนาในมุมใหม่ที่เข้าถึงง่ายและได้ใจคนรุ่นใหม่ เช่น Saint Young Men ศาสดาลาพักร้อน เรื่องราวของพระเยซูและพระพุทธเจ้าที่ต้องจับพลัดจับผลูมาเป็นรูมเมตร่วมกันในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง Buddha บุดดา เจ้าชายที่โลกไม่รัก โดยปรมาจารย์เทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ที่ตีความพุทธประวัติในมุมใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสอนใจมากมาย 

นี่คือตัวอย่างของการปรับตัวเข้าหาวัยรุ่นอย่างกลมกลืน โดยที่ไม่ได้ลดทอนความน่าเลื่อมใสลงแต่อย่างใด Amitofo เองก็เป็นแค่ตัวอย่างของการเล่าเรื่องศาสนาในมุมใหม่ที่หยิบเอาความเข้าถึงง่ายของอาร์ตทอย มาผสมผสานจนกลายเป็นสิ่งชุบชูใจที่แม้จะไม่ได้มีทองคำเปลวเคลือบเหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ แต่ก็ให้คุณค่าแก่ผู้ที่สะสมเช่นเดียวกัน 
สุดท้ายนี้ คำถามที่ว่า ‘แค่สะสมก็เท่ากับบาป’ จริงหรือไม่นั้น คงต้องย้อนกลับไปดูที่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘บาป’ ในทางศาสนาพุทธหมายถึงการกระทำที่ผิดต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งถ้าการสะสมหลวงเจ๊ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครฉันใด เราก็ไม่ควรแปะป้ายคนอื่นว่าคือ ‘คนบาป’ ฉันนั้น

AUTHOR