อาโป วังออด ช่างสักโบราณอายุ 105 ปี ที่อาจเป็นคนสุดท้ายของชนเผ่าคาลิงกาในฟิลิปปินส์

อาโป วังออด ช่างสักโบราณอายุ 105 ปี ที่อาจเป็นคนสุดท้ายของชนเผ่าคาลิงกาในฟิลิปปินส์

คนอายุยืนถึงร้อยปี ไม่ใช่จะหากันได้ง่ายๆ

ยิ่งเป็นหญิงชราอายุ 105 ปีมาขึ้นปกนิตยสารผู้หญิงสายแฟชั่นยิ่งหายาก ปกติๆ เป็นปกนิตยสารแฟชั่นคือเนื้อที่สำหรับดารา นางแบบ หรือคนดังระดับโลก แต่นิตยสารโว้กเดือนเมษายน ปี 2013 ฉบับฟิลิปปินส์มอบพื้นที่ปกให้แก่หญิงชราตัวเล็กๆ ในหมู่บ้านหลังเขา เธอผ่านการกรูมมาอย่างดี ทาปากแดง ยิ้มนิ่งๆ รอยสักเต็มตัว เครื่องประดับและภาษาท่าทางบอกเราว่าเธอน่าจะเป็นชนเผ่า ตาเธอมีม่านของความฝ้าฟาง แววตานั้นเด็ดเดี่ยวอารมณ์ดี

ชื่อ: อาโป วังออด หรือ มาเรีย อกเกย์
เกิด: ค.ศ. 1918
อายุ: 105 ปี
อาชีพ: ช่างสักตามแบบแผนโบราณของชนเผ่าคาลิงกา ในฟิลิปปินส์
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: นอกเหนือจากการเป็นผู้หญิงอายุมากที่สุดในโลกที่ขึ้นปกนิตยสารโว้ก (กรณีนี้คือฉบับฟิลิปปินส์) เธอเป็นแรงบันดาลให้นิตยสารแฟชั่นฉบับนี้ตีความใหม่ในเรื่องของความงามและความเป็นคน

จะว่าไปเธอไม่ใช่คุณยายคนแรกที่ขึ้นปกโว้ก เมื่อเร็วๆ นี้ ปี 2020 เดม จูดี เดนช์ นักแสดงตัวแม่วัย 85 ขึ้นปกโว้กฉบับสหราชอาณาจักร และเดือนเมษายนปีนี้ทางยุโรป คาร์เมน เดลลอเรฟิเช วัย 91 ก็ขึ้นปกฉบับเช็ก คุณคาร์เมนคือนางแบบอายุมากที่สุดในโลกซึ่งยังทำงานอยู่ 

ที่บอกว่าแม่เฒ่าวังออดบ้านอยู่หลังเขา ไม่ได้พูดเกินความจริงแต่อย่างใด จะไปถึงหมู่บ้านบัสคาลาน บ้านของเธอนั้น จะต้องนั่งรถจากกรุงมะนิลาไปสิบสองชั่วโมง (ทั้งที่ระยะทางไม่ได้ไกล เข้าใจว่าถนนหนทางคงกันดาร) พอไปถึง “ที่นี่ไม่มีนะคะ สัญญาณมือถือ” คุณ บี วาลเดส บรรณาธิการโว้กฟิลิปปินส์กล่าวไว้ในฟีเจอร์เรื่องจากปกฉบับเมษายน

ด้วยความที่เป็นชุมชนหลังเขาห่างไกล ชาวบ้านบัสคาลานจึงดำเนินชีวิตแบบโบราณตามหนทางของบรรพบุรุษได้นานเป็นพันๆ ปี แต่พอคณะมิชชันนารีเดินทางไปถึง สร้างโรงเรียน และนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชาวบ้าน หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือ ให้ยกเลิกการสักซึ่งเป็นขนบโบราณ ผู้หญิงที่มีรอยสักก็จัดแจงให้ใส่เสื้อปิด รอยสักกลายเป็นเรื่องน่าอับอาย ตามสายตาของชาวตะวันตกหัวโบราณ

ถึงตอนนั้น แม่เฒ่าวังออด ซึ่งเป็นช่างสักหญิงคนสุดท้ายของหมู่บ้านก็จำต้องวางมือ

รอยสักมีความหมายอย่างไรต่อชีวิตชาวคาลิงกา

สำหรับผู้ชาย รอยสักคือสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ และความสามารถในการสู้รบ (ซึ่งเป็นสกิลสำคัญสำหรับชนเผ่าซึ่งต้องสู้รบกับเผ่าอื่นเกือบตลอดเวลา แถมยังมีธรรมเนียมของการล่าหัวมนุษย์อีกด้วย) ในหนังสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับแม่เฒ่า ชายหนุ่มมาจากในเมือง เขาหลงใหลความงามของรอยสักแบบคาลิงกา ไปขอให้แม่เฒ่าสักให้ในช่วงแรกๆ ที่เปิดหมู่บ้าน และข้อห้ามเรื่องการสักยกเลิกไปแล้ว แม่เฒ่าตอบขำๆ ว่า “ถ้าเป็นสมัยก่อน เธอต้องไปฆ่าใครก่อนนะ แล้วฉันจึงจะยอมสักให้ สำหรับนักรบเมื่อก่อนนี้ รอยสักคือเครื่องหมายของเกียรติยศ ต้องสังหารศัตรูก่อนจึงได้รอยสัก แล้วเธอล่ะ ทำอะไรมาบ้าง” 

แม่เฒ่าพูดจบ ตามด้วยเสียงหัวเราะ แล้วสักให้ชายหนุ่ม (ซึ่งคงไม่เคยเอาชีวิตใครมาก่อน) โดยดี

ไม่ได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่มีรอยสัก ผู้หญิงคาลิงกาก็มีรอยสักด้วย

สำหรับผู้หญิงนั้นการมีรอยสักคือมาตรฐานความงาม สมัยก่อนผู้หญิงคาลิงกาคนไหนไร้รอยสัก ประมาณว่าจะผัวลำบากหน่อย 

พ่อของแม่เฒ่าวังออดก็เป็นช่างสัก หรือที่ชนเผ่านี้เรียกว่า มัมบาบาต๊อก ช่างสักไม่ใช่งานของผู้หญิง แต่แม่เฒ่าดูจะสนใจงานช่างนี้ตั้งแต่เด็ก เฝ้าดูพ่อตอนสัก จนในที่สุดพ่อก็สอนวิชาให้ ใช้เวลานับสิบปีกว่าวังออดจะมาเป็นช่างสักเต็มตัว

ช่างมัมบาบาต๊อกใช้หนามส้มมะปี๊ดเป็นเข็มสัก (ไม่ใช่เข็มโลหะ หรือปืนสักอย่างที่เรารู้จักกัน) หมึกขูดจากเขม่าข้างหม้อในครัวเตาฟืน ผสมเขม่ากับสีและน้ำ วิธีสักคือใช้ไม้อีกท่อนเคาะไม้ซึ่งมีหนามส้มมะปี๊ดตรึงอยู่ แรงเคาะจะส่งหนามลงเนื้อ โป๊ก โป๊ก จึก จึก เป็นจังหวะเหมือนนกจิก ลวดลายสักเป็นลายเรขาคณิตตามดีไซน์ชนเผ่า ลงมือสักเลยโดยไม่มีแบบร่าง ความที่เป็นงานช่างซึ่งต้องอาศัยความชำนาญสูง กว่าช่างสักมันบาบาต๊อกแต่ละคนจะฉายเดี่ยวได้ต้องฝึกฝนกันนานเป็นสิบๆ ปี (อย่าลืมว่าคนในหมู่บ้านยังต้องทำไร่ไถนา แม้แต่ช่างสักเองก็ต้องปลูกข้าวทำสวน ในหมู่บ้านที่ยังนิยมกินข้าวที่ตนปลูกเอง ดังนั้นการที่บอกว่าฝึกฝนกันนับสิบปีนั้นมันอาจจะไม่เข้มข้นเหมือนการเรียนในโรงเรียน หรือในเมือง เพราะช่างสักสมัยก่อนจะสักให้ก็ต่อเมื่อมีเวลาว่างเท่านั้น)

และช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม่เฒ่าฝึกฝนเหลนสาวไว้สองคน ตามประเพณีแล้วฝีมือช่างจะสอนกันได้แต่เฉพาะลูกเท่านั้น แต่แม่เฒ่าวังออดไม่มีลูก มีแต่ญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนทั้งสองมาเป็นตัวตายตัวแทน ฝึกกันตั้งแต่อายุสิบหก เป็นอายุไล่เลี่ยกับตัวแม่เฒ่าเองเมื่อเรียนวิชา

ทุกวันนี้ การสักไม่ใช่ของต้องห้ามอีกต่อไป หน้ากระท่อมแม่เฒ่ามีป้ายไวนิลโฆษณาอย่างโก้ว่า บ้านของช่างสักมัมบาบาต๊อกอายุมากที่สุดในโลกอยู่นี่ มีนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลรอยสักจากทุกมุมโลกเดินทางมาหมู่บ้านทุกวัน ทุกวันนี้แม่เฒ่าวัยเกินร้อยเป็นช่างสักกิตติมศักดิ์ คือรอยสักหลักซึ่งต้องสักให้ลูกค้ากันอย่างน้อยครึ่งวันจึงจะเสร็จเป็นฝีมือเหลนทั้งสอง พอสักเสร็จแม่เฒ่าจะมาลง “ลายเซ็น” เป็นจุดสามจุด ซึ่งหมายถึงช่างสักหญิงมัมบาบาต๊อกร่วมสายเลือดสามคน

“ลูกค้าชอบเม้าว่า เราสองคนมือเบาสักไม่เจ็บเท่าไหร่ เสียงเคาะก็แทบไม่ได้ยิน แต่พอถึงมือแม่เฒ่านะ แกเคาะโป๊ก โป๊ก โป๊ก เจ็บมาก” หนึ่งในเหลนสาวกล่าวยิ้มๆ เมื่อพูดถึงแม่เฒ่ามือหนัก ผู้เป็นทวด

ส่วนแม่เฒ่าเองบอกว่า “ฉันจะสักไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ที่ตาฝ้าฟาง มองอะไรไม่เห็น วันนั้นก็คงเลิก” 

นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของความกล้าหาญในการสู้รบและความงาม รอยสักยังมีความหมายอะไรอื่นอีกสำหรับชาวคาลิงกา “พอเราตายไป เราเอาลูกปัดติดตัวไปไม่ได้ เอาทองคำติดตัวไปไม่ได้ แต่เรายังมีรอยสักบนตัวเรา ตายไปเจอบรรพบุรุษ ท่านก็จำรอยสักเราได้” แม่เฒ่าบอก ดังนั้นรอยสักก็คือตัวตนของชาวคาลิงกานั้นเอง

“เราเชื่อว่าแม่เฒ่าวังออดคือตัวแทนของอุดมคติของเรา คือความงามในวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ เราเชื่อว่าแนวคิดเกี่ยวกับความงามนั้นมันต้องวิวัฒน์ และจะต้องน้อมรับรูปร่างใบหน้าที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาเป็นความงามได้แล้ว คือเรากำลังพูดถึงความงามของมนุษยชาตินั่นเอง” บรรณาธิการ บี วัลเดส สรุป

คงไม่มีใครเหมาะจะใช้ขึ้นปกเพื่อเอาความสวยไร้กาลเวลา มาทลายข้อจำกัดในความหมายของความงามเท่าแม่เฒ่าวังออด ช่างสักในตำนานแห่งหมู่บ้านบัสคาลานอีกแล้ว


เรื่อง: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

AUTHOR