สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ไม่ได้ทำเพลงมานาน 10 ปี
สิงห์ที่เรารู้จักระยะหลัง คือพิธีกรรายการ เถื่อน Travel รายการที่พาเราไปรู้จักสถานที่และเรื่องราวแปลกๆ ทั้งโหด ดิบ เถื่อน สมชื่อรายการ อีกด้านหนึ่งหลายคนรู้จักเขาในนามของนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม หรือหากจะย้อนไปไกลกว่านั้น เขาโลดแล่นในวงการสื่อหลายบทบาท ทั้งนักเขียน พิธีกร นักแสดง นายแบบโฆษณา วีเจ ไปจนถึงนักดนตรี สลับสับเปลี่ยนอยู่ตลอด
ในวัยหนุ่ม เขาเคยทำวงชื่อว่า ‘ราโชมอน’ วงดนตรีสไตล์ Jazz-Rock ที่แม้ไม่โด่งดัง แต่ก็สร้างความแปลกใหม่ให้วงการ นับแต่นั้นดนตรีก็ยังอยู่ในชีวิต เป็นอีกหนึ่งงานที่ไม่เคยทิ้งไปไหน
เร็วๆ นี้ สิงห์เพิ่งปล่อยซิงเกิลใหม่ในชื่อ Outside (ข้างนอก) เขียนเนื้อร้อง ทำนอง และทำเองทุกขั้นตอน ในสไตล์ Musical-Poetry การผสมผสานบทกวีและดนตรี ซึ่งแต่งขึ้นมาจากความรู้สึกอึดอัด ทั้งเชิงโครงสร้างและปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนมุมมองและจิตใจของคนในสังคม
นอกจากดนตรี มิวสิกวิดีโอก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เขาตั้งใจใส่รายละเอียดเข้าไปมากที่สุด มีมารีญา พูลเลิศลาภ แฟนสาวมาร่วมแสดงใน MV รวมถึงทีมงาน นักเต้นประกอบ เมกอัพอาร์ติส และผู้กำกับ จนกลายเป็นเหมือนงาน Art Performance ชิ้นหนึ่งที่รอให้ทุกคนเข้าไปรับชมและรับฟัง
โปรเจกต์ล่าสุดนี้ทำให้เขาได้บันทึกความคิดและความรู้สึกของคนในสังคม ผ่านมุมมองและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นตามวัย การกลับมาครั้งนี้เขาแตกต่างจากนักดนตรีหนุ่มในวันวาน แม้เพลงนี้ไม่ได้ฟังง่ายแต่ยังคงสไตล์ความเป็นสิงห์อยู่เช่นเคย เขาสนใจการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงโดยยังเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
อะไรที่ทำให้เขายังคงกลับมาบนเส้นทางดนตรีอีกครั้ง และการทำเพลงผ่านมุมมองที่เติบโตขึ้นของนักทำสารคดีจะเป็นอย่างไร ตามไปพูดคุยกับเขาพร้อมๆ กัน
คุณหายจากการทำเพลงไป 10 ปี ทำไมถึงกลับมาทำเพลงอีกครั้ง
ช่วงนี้เราเหนื่อยกับงานสิ่งแวดล้อมพอสมควรเพราะเราตั้งใจทำกับมันมาก แต่พอเราได้ทำงานดนตรี ตั้งแต่ก่อนเพลงจะออก เรารู้สึกมีแรงขึ้นมาทันที ได้ปล่อยของบ้าง ตอนเดินทางหรือตอนเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ตอนแรกเราทำเพราะอยากทำ แต่พอเป็นงานที่มีเดดไลน์เข้ามาก็เริ่มเหนื่อย ระหว่างที่เรามีอะไรเป็นงานหลัก เราจะมีอย่างอื่นมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เราไม่เหนื่อยมากเกินไป
ดนตรีสำคัญกับคุณขนาดไหน
ตั้งแต่ยังเด็กดนตรีเป็นเพื่อนสนิท บางทีก็บ้านอยู่ติดกัน บางทีก็ย้ายไปเมืองนอก ไม่เจอกัน 3-4 ปี แต่สุดท้ายก็ยังเป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ดี เจอกันกี่รอบก็ยังกอดกัน ความสัมพันธ์ของเรากับดนตรีเป็นแบบนั้น แต่มันไม่ได้ออกมาข้างนอกเท่าไหร่ บางคนเห็นผมเล่นดนตรีก็ตกใจว่าเล่นด้วยเหรอ เพราะสิ่งที่ทุกคนเห็นเป็นด้านอื่นมากกว่า แต่สำหรับเรา ดนตรีไม่เคยห่างจากเราเลย อย่างน้อยเราก็เล่นก่อนนอนทุกคืน วันละ 5-10 นาที เป็นที่ปล่อยอารมณ์ได้ดีมาก ทุกครั้งที่เครียด หรือเศร้า โกรธอะไรมา ผมก็จะนั่งลงหน้าเปียโนแป๊บนึง แล้วให้นิ้วมันไหลไปเอง เพลงอะไรออกมาก็เรื่องของมัน หลายๆ ครั้งก็พบว่าไม่ต้องนั่งคิดว่าเรากำลังแต่งเพลงที่เพราะหรือกำลังคิดงาน แต่อารมณ์ที่ปล่อยไปกับเพลงนั้น ประมาณซัก 10 นาที ก็กลับมานิ่งเหมือนเดิม ดนตรีก็เหมือนเพื่อนสนิท ย้ายไปย้ายมา แล้วแต่ว่าอยู่จุดไหนในชีวิต
แล้วเพลง Outside เกิดขึ้นมาได้ยังไง
ช่วงแรกเราเริ่มเขียนเพลงแล้วก็ลบทิ้งๆ เพราะรู้สึกอะไรก็ไม่เวิร์กไปหมด แต่เผอิญว่ามันไม่ใช่สิ่งที่รีบให้เสร็จมากขนาดนั้น ผมแปะไว้ตลอด 3 ปีใน google calendar ว่า musical-poetry ก็เป็นสิ่งที่ค้างมานาน แต่คิดว่าวันหนึ่งคงได้ทำแหละ จนกระทั่งได้มาเจอเพลง ‘ข้างนอก’ ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คิดว่าเข้าท่าแล้วในการทำศิลปะชนิดนี้
เมื่อก่อนเวลาเราทำเพลงในอดีตเราจะเริ่มจากเขียนดนตรีก่อน อาจจะวางคอนเซปต์เชิงดนตรีอย่างเดียว เช่น เพลงนี้อยากได้จังหวะเร็วหน่อย เพลงนี้อยากได้ความ swing หน่อยอะไรก็ว่าไป จากนั้นค่อยเอาเนื้อร้องไปใส่ในดนตรีอีกทีซึ่งเป็นการทำงานที่ไม่ได้เอาความหมายเพลงนำ แต่คิดว่าจะเอาแนวดนตรีแบบไหนนำไปก่อน
แต่เพลงนี้จุดเริ่มต้นเกิดจากความอึดอัดในช่วงโควิดก่อน เขียนไว้เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว จำได้เลยว่านั่งเขียนอยู่หน้าห้องน้ำ ช่วงนั้นไม่มีอะไรทำ ออกไปไหนก็ไม่ได้ แต่ผ่านไปสักพัก ความอึดอัดของคนมันไม่ได้จบแค่ออกไปข้างนอกไม่ได้ แต่มันมีความอึดอัดทางสังคมเยอะมาก ความอึดอัดเกี่ยวกับโครงสร้างระบบ การเมือง ความเป็นอยู่ การทำมาหากิน รวมถึงมุมมองของสังคมยุคเก่าและยุคใหม่ที่ชนกันตลอดเวลา มันสร้างความอึดอัดไปหมด
ส่วนอีกด้านก็เป็นความอึดอัดข้างใน ที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกของคน ซึ่งเป็นผลกระทบจากความอึดอัดข้างนอกอีกที แล้วทั้งข้างในและข้างนอกมันมีการตอบสนองในตัวคนคนนึง กลับไปกลับมาตลอดเวลา กลายเป็นลูปอย่างนี้ในใจคนทุกคน ไม่ว่าเป็นเรื่องสังคม การเมือง ความรัก ความสัมพันธ์
เราก็อยากสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างโลกภายนอกและจิตใจของเราว่ามันมีความเชื่อมโยงกันยังไง แล้วถ้าเราออกไปข้างนอกด้วยจิตใจอย่างนี้มันจะเป็นอย่างไร ทำให้เราดีไซน์เพลงนี้ออกมาเหมือนเป็นละครเพลงเลย เป็น musical-poetry และมีความเป็น musical จริงๆ คือละครเพลงที่มี 3 องก์
องก์ 1 คือ เป็นช่วงออกไปข้างนอก ถ้าคนฟังแค่องก์แรกเท่านั้นก็จะคิดว่านี่เป็นเพลงที่วิจารณ์สังคมล้วนๆ พอองก์ 2 เราย้อนกลับมาสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจเรา ก็จะเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงกับสิ่งที่อยู่ข้างนอกที่เราพูดออกไปในวรรคแรก แล้วในองก์ 3 เรากลับไปพูดถึงข้างนอกอีกครั้ง แต่คนฟังได้รู้แล้วว่าในใจที่พูดถึงข้างนอกมันมีอะไรอยู่ข้างในใจบ้าง วรรคที่บอกว่า ‘ออกไปข้างนอกกันมั้ย ความสุขน้อยใหญ่รอเราอยู่’ ในองก์ 3 มันน่าจะมีความหมายอะไรที่ลึกมากกว่าตอนฟังในตอนแรก เพราะว่าเราได้เข้าใจแล้วว่าข้างในมีอะไรบ้าง ดังนั้นเพลงนี้แบ่งเป็น ข้างนอก ข้างใน และข้างนอกโดยมีข้างในด้วย
ทำไมถึงเป็น musical-poetry แทนที่จะเป็นดนตรีแนวอื่น
หนึ่งคือร้องเพลงไม่ได้ (หัวเราะ) สองคืออยากจบงานคนเดียว ในเมื่อร้องเพลงไม่ได้ แร็ปก็ไม่เป็น แล้วอยากจะร้องเพลงก็ต้องมาแนวนี้ ซึ่งตอนแรกเราไม่ได้กะว่าจะเป็นกึ่งแร็ปกึ่งกลอน คิดแค่ว่าให้เป็นเหมือนบทพูดสุนทรพจน์ (speech) แล้วมีดนตรีรองรับข้างหลังเป็นซาวนด์แทร็ก แต่แต่งไปแต่งมามันเป็นจังหวะแบบนี้ของมันเอง ใส่ดนตรี ใส่จังหวะ จริงจังไปเลย ตอนแรกอยากเน้นเนื้อหาคำพูดมากกว่า แต่ด้วยธรรมชาติของการเป็นนักดนตรีเลยไม่สามารถแต่งอะไรที่หลุดจังหวะเยอะเกินไป จะหงุดหงิดตัวเอง แล้วเวลาแต่งเพลงก็ต้องพยายามใช้คำคล้องจอง เพราะรู้สึกว่าพูดคำเหล่านั้นในหัวแล้วมันน่าฟังกว่า
ได้ยินว่าช่วงที่แต่งเพลงคุณเริ่มฟังฮิปฮอป ตอนนั้นฟังใครบ้าง
ถ้าเอาฮิปฮอปจ๋าๆ ผมยังเข้าไม่ค่อยถึงเท่าไหร่ เพราะชีวิตนี้ตั้งแต่เกิดจนแก่ยังไม่เคยฟังฮิปฮอปเลย แต่ว่าถ้าเป็นของเมืองนอกชอบ Kendrick Lamar เขามีความเป็นกวีศิลป์เยอะมาก มันก็เป็นฮิปฮอปแหละ แต่เนื้อร้องเขามัน deep dark มันเจ็บปวดจริงๆ ถึงสภาพสังคมของคนผิวสีในอเมริกา
ถ้าของไทยก็ชอบ TangBadVoice คือตั้งแต่เพลง ‘เปรตป่ะ’ แล้ว เราก็ฟังไปเรื่อยๆ นี่มันเพลงอะไรวะเนี่ย แม่งจีเนียสมากในการแต่งเพลง เราว่าในฐานะคนทำ content แม่งอัจฉริยะมาก ในเพลงนั้นเหมือนเขียนละครให้ตัวเองเล่น คนนู้นพูดกับคนนี้ แต่จริงๆ พูดอยู่ 2 คน
แล้วนอกจากนั้นก็ดูว่าเด็กรุ่นใหม่เขาชอบอะไรกัน อย่างน้องมิลลิ (Milli) เราก็นั่งดูงานน้องเขา เขามีความสามารถ รู้สึกว่าเก่งกันจังเลย อายุยังไม่ถึง 20 ด้วยซ้ำ แล้วตอนอายุ 19 เราทำอะไรอยู่วะ (หัวเราะ) ตอนเราเด็กๆ แร็ปเปอร์เมืองไทยมีไม่กี่คนเอง มีฟักกลิ้งฮีโร่ ก่อนหน้านั้นก็มีพี่เจ เจตริน รุ่นแรกเลย แล้วแร็ปมันก็ค่อนข้างเริ่มจาก simple ก่อนในตอนแรก คล้องจองกันจนเป็นแร็ปแล้ว ตอนนี้พูดกันไม่มีเว้นวรรคประมาณ 45 วินาที
เราก็พยายามไปฟังคนที่เขาชอบๆ กัน อย่างน้องอัตตา (AUTTA) ก็รู้สึกเจ๋งดี แต่อาจจะฟังยากกว่าของหลายๆ คนอีก อันนี้เหมือนเป็นดนตรีโชว์สกิล ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้ว่าสกิลแร็ปจริงๆ คืออะไร เพราะก่อนหน้านี้แร็ปเราเข้าใจว่าพูดมันออกมา แต่พอได้ยินน้องอัตตาแร็ปแล้วก็ โอเค! แร็ปมันเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วก็พยายามศึกษาหลายๆ อย่าง แล้วก็เห็นว่าตัวเองไม่มีสกิลด้านฮิปฮอปเลย ก็เลยอย่าไปพยายามเลย เอาช้าๆ ชัดๆ ฟังรู้เรื่อง แล้วก็อย่าไปเรียกว่าฮิปฮอป อายเขา เรียกว่า musical-poetry ดีกว่า (หัวเราะ)
คุณทำเพลงเพื่อสะท้อนสังคมหรือเปล่า
ต้นเหตุมันไม่ได้มีอะไร ยกเว้นความอยากทางศิลปะอย่างเดียวเลยครับ เราไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงคนหรือเปลี่ยนแปลงจิตใจ แค่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของเรา และสิ่งที่หลายๆ คนก็น่าจะรู้สึก เอามันออกมาเป็นงานชิ้นนึง แต่ไม่ได้เอามาบอกว่าต้องเป็นอย่างนี้ เราแค่ปล่อยมันออกไป แล้วถ้าเขาจะสะท้อนหรือมองมันแง่ไหน ก็แล้วแต่เขาเลย
เรื่องการเปลี่ยนแปลงจิตใจคน มันไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ปัจเจกคนหนึ่งไปขวางทางได้ เราเป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ในฐานะศิลปิน ซึ่งไม่ได้ทำแค่เพลงอยู่แล้ว จริงๆ ทำหลายแขนงมาก มีโอกาสสะท้อนสิ่งที่กำลังเป็นไปในสังคมออกมา
ทั้งหมดทั้งปวงเรายังมีแก่นของความเป็นนักทำสารคดีอยู่คือ documentary สังคม การจดบันทึกประวัติศาสตร์ จดบันทึกเหตุการณ์และถ่ายทอดมันออกไป การทำเพลงก็เหมือนกัน เราพยายามจดบันทึกช่วงหนึ่งในสังคมไทย แล้วสะท้อนออกไป ว่านี่คือความรู้สึกของคนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง ถ้าคนฟังแล้วได้เห็นอะไรบางอย่างที่อยู่ในจิตใจก็อยากให้เขาได้ยอมรับความรู้สึกนั้นอย่างเต็มที่ แล้วลองดูว่าจากจุดนั้นอยากเติบโตไปต่ออย่างไร
เพราะอะไรครั้งนี้คุณถึงเลือกออกเพลงในนามศิลปินเดี่ยวไม่ใช่เป็นวงแบบในอดีต
ช่วงเวลาที่ผ่านมา 10 ปี เราเป็นคนที่ไม่ค่อยถนัดทำเป็นวง แต่ก็รู้สึกอยากกลับมาทำเพลงอีกครั้ง มีความรู้สึกว่าถ้าได้กลับมาทำงานดนตรีจริงจังคงสนุกดีนะ แต่ว่าขณะเดียวกันก็ไม่อยากทำเป็นวงแล้ว เพราะไม่อยากแชร์พื้นที่ครีเอทีฟกับคนอื่นเยอะมาก ก็เลยมีโจทย์ว่าทำยังไงให้เราสามารถทำเพลงคนเดียวได้ จึงเลือกการทำเพลงแบบ musical-poetry ซึ่งอย่าเรียกว่าแนวเพลงเลย เป็นแนวศิลปะชนิดหนึ่งมากกว่า เป็นดนตรีประกอบบทกวี เราก็ค่อยๆ หันมาสนใจมากขึ้นโดยไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน เรารู้สึกว่ามันเป็นศิลปะที่ได้ทำทั้งดนตรี ได้ทำทั้งเชิงงานเขียน และ performance ด้วย แล้วก็ทำคนเดียวได้
เมื่อก่อนเคยมีวงดนตรีและมีบริษัทที่ทำพาร์ตเนอร์กับเพื่อนๆ ซึ่งเราไม่มีความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับพวกเขาเลย ก็มีความเป็นเพื่อนถึงทุกวันนี้ แต่ปัญหาคือเวลาที่เรามี vision ที่ชัดเจนมากๆ เราไม่ค่อยอยากปรับมันตามคอมเมนต์คนอื่นเท่าไหร่ รู้สึกว่ายิ่งปรับมันยิ่งไม่ชัด ลองคิดภาพถ้าเราทำ เถื่อน Travel แล้วบอกคนอื่นว่าไปอัฟกานิสถานดีไหม ร้อยทั้งร้อยต้องบอกว่า อย่าไป พอไม่ต้องแชร์อะไรกับใครพบว่าเราคล่องตัวตรงนั้นมากกว่า แต่เรายังต้องการคนอื่นในเชิงเป็นทีมงานซัพพอร์ต ผมค้นพบสิ่งนี้เกี่ยวกับตัวเองมาตั้งแต่ 30 ต้นๆ
MV สำคัญกับโปรเจกต์นี้อย่างไร ทำไมถึงต้องลงทุนทำขนาดนั้น
นอกจากเนื้อร้องแล้ว เราก็สื่อสารมันออกมาในเชิง production ของ MV รวมถึงการแต่งหน้าด้วย ซึ่งเราอยากให้ทุกอย่างเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับจิตใจคน แต่เราคงไม่มานั่งบอกความหมายว่าอันนี้แปลว่าอะไร เราอยากให้คนดูไปเห็นกันเอง ไปคิดกันเองต่อ แล้วก็ไป discuss กันเองต่อว่าเห็นอย่างนี้หรือเปล่า
ใน MV เราจะเห็นเมกอัพของ MV นี้พรีเซนต์ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ ในช่วงแรกเป็นหน้าเลอะๆ เหมือนแสดงเสร็จแล้ว เรากำลังอยู่หลังเวที เปรียบได้กับหลังจากออกไปข้างนอกแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน เราหมดแรง แต่ก็ต้องออกไปอีกครั้งนึง สเตจที่ 2 คือออกไปข้างนอกเต็มที่ หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าเนียนขาวจั๊วะ นี่คือโหมดแสดงแบบสุดๆ แล้ว เพื่อไปอยู่ในสปอร์ตไลต์ สเตจที่ 3 คือหน้าเปลือย ลบเมกอัพ คือสิ่งที่อยู่ข้างในจริงๆ สเตจ 4 คือหน้าขาวแบบแตกร้าว อันนี้เหมือนซอมบี้มากกว่า เรากลับไปใส่เมกอัพเพื่อเพอร์ฟอร์มอีกครั้ง แต่สิ่งที่อยู่ข้างในมันแตกร้าวมาบนหน้าของเรา ซึ่งมันสะท้อนอยู่ในเนื้อเพลง อยู่ในองค์ประกอบของ MV และเมกอัพเหล่านี้
เพราะฉะนั้นเราก็จะให้คาแรกเตอร์ที่เป็นศิลปินของเราเป็นอีกคน ที่ไม่ใช่วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แต่เป็นชื่อ ‘WANNA XINGH’ ตอนแรกคิดชื่ออยู่นาน อยากมี rapper name กับเขา แต่คิดไปคิดมาก็อย่าเลย เป็นวรรณซิงนี่แหละ แต่เปลี่ยนจาก S เป็น X ให้มีความแตกต่างจากชื่อปกติ
แรงบันดาลใจหลักๆ ของ MV มาจากเพลงของอเมริกาชื่อ This is America ของ Childish Gambino ซึ่งในนั้นก็ใส่สัญลักษณ์ของสังคมอเมริกาและคนดูเยอะมาก เพราะมันมีอะไรให้ตีความเยอะจริงๆ เราก็เลยอยากทำงานอย่างนี้ สามารถตีความได้ ทั้งเชิงคำพูด ดนตรี สัญลักษณ์ใน MV พร็อพประกอบ การวางแสง เมกอัพ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะออกมา MV ใช้เวลานานกว่าเพลงอีก จริงๆ ควรใช้เวลา 3 เดือนจบ แต่ว่า 1 วันก่อนที่จะถ่าย MV นี้รอบแรก ผมเป็นโควิดพอดี ก็เลยยกกอง เลื่อนไปอีกเดือนนึง เป็น 4 เดือนกว่าจะออกมาเป็นงานได้
และเนื่องจากทีมงานของผมเป็นงานสารคดี โดยงานสารคดีมันถ่ายทีละเป็นเดือน แต่มันไม่ต้องเซ็ตอะไรเลย แล้วเอา 1 เดือนนั้นมาย่อยให้เหลือ 1 ชั่วโมงให้ได้ เป็นความยากคนละแบบ งาน production คือเตรียมงานเป็นเดือนๆ แต่ถ่ายจริงแค่ 1 วัน ก็เป็นการเรียนรู้งานแบบใหม่ ที่ทีมงานของเราไม่ค่อยชิน แต่มันมีความใหม่และสด พวกเราก็สนุกกับมันมาก เพราะมันได้ทำอะไรที่ไม่ค่อยได้ทำ
นอกจากทีมงานจาก เถื่อน Travel บางส่วนแล้ว ก็มีข้างนอกมาช่วยด้วย เป็นทีมของนักเปียโนและตากล้องที่เก่งมากชื่อ คริสโตเฟอร์ มัคคีแกน ก็มาช่วยเรา
หลังจากปล่อยเพลงคราวนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
เหมือนได้ปล่อยอะไรที่อั้นมานาน คล้ายๆ ท้องผูก จริงๆ เรื่องนี้มันเป็นวิวัฒนาการตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ที่ทำวงราโชมอน ถ้าไม่อินดี้ก็จะไม่รู้จักวงนี้ หลังจากทำวงนั้นก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมาย มันมีวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ของเราและดนตรีมาเรื่อยๆ หลังจากเพื่อนในวงแยกย้ายไปทำนู่นทำนี่ เราก็มีช่วงที่เราไม่อยากเล่นดนตรีเลย เพราะเซ็งกับความล้มเหลวตรงนั้น แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง และพบความสุขจากการเล่นดนตรีที่บ้านคนเดียว ไม่ได้คิดว่าต้องออกมาทำวง เล่นให้หมาฟังอยู่ที่บ้านก็แฮปปี้แล้ว ขณะเดียวกันมันมีความรู้สึกโล่งอย่างประหลาดคือตอนเด็กๆ เราปล่อยเพลงแล้วเรารู้สึกเครียด มันจะขึ้นชาร์ตไหม คนจะฟังไหม ตอนนี้ เออ ดีใจได้ปล่อยมันไปแล้ว
ส่วนความคาดหวังและความกลัว เป็นสิ่งที่หวังอยู่ลึกๆ มากกว่า ถามว่ามันเป็นความคาดหวังหลักไหม ไม่ใช่เลย แต่จะเป็นความคิดว่า ‘ถ้าดังก็ดี ถ้าไม่ดังก็ช่างแม่ง’ แล้วเราก็ชอบความรู้สึกการทำโดยไม่มีความคาดหวัง แล้วเราก็พบว่านี่คือพื้นที่ที่ดีที่สุดในการทำงานศิลปะ
เราทำเพื่อตอบสนองความต้องการทางศิลปะ ซึ่งกระบวนการของการมีความสุขกับมัน อยู่ที่การคิดและลงมือทำจนมันเสร็จออกมาก็อยู่ที่ 80% แล้ว ส่วนอีก 20% ที่เหลือถ้าได้ฟีดแบ็กจากคนดูก็ดีใจ คนดูไม่ต้องเยอะมาก แล้วเขาดูแล้วเขารู้สึกเห็นคุณค่า เราก็แฮปปี้กับมัน แต่เรื่องการแข่งขันในวงการเพลงหรือเป็นนักดนตรีมืออาชีพไม่ได้อยู่ในหัวเลย อันนี้เป็นแค่หนึ่งในโปรเจกต์ของเรา จริงๆ แล้วงานหลักของเราคือเรื่องการจัดการขยะมากกว่า ก็เรียนโทด้านนี้จริงจัง ถ้าถามเรื่องอาชีพที่อยากพัฒนาไปจริงจัง ก็คงเป็นเรื่องการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
จากการทำงานมาหลายด้าน งานด้านไหนที่เป็นตัวตนของคุณมากที่สุด
มันแล้วแต่วัย บางวัยก็เพลง บางวัยก็เดินทาง แต่ถ้าในวัย 37 ก็คือด้านสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เป็นมาตลอดคือ ไม่มีช่วงไหนที่รู้สึกอยากทำอย่างเดียว มันต้องมีหลายอย่างทำไปพร้อมๆ กันถึงจะ function ได้ สำหรับผมนะ ไม่งั้นเราจะเบื่อจากสิ่งที่เป็นตัวหลักอยู่ เพราะเราไม่มีอย่างอื่นที่เราทำเล่นๆ มาหล่อเลี้ยงเลย
คุณเดินทางเห็นโลกมามากมาย พอกลับมาทำเพลงอีกครั้ง มันเปลี่ยนมุมมองในการทำเพลงของคุณไปไหม
แต่ก่อนเรามีความคาดหวังเยอะ มันจะมีระเบิดเวลาอยู่ลูกหนึ่ง อายุจะ 30 แล้ว ฉันต้องทำนู่นทำนี่ ช่วงก่อนอายุ 30 เราต้องประสบความสำเร็จในเชิงตัวเลขค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นอัตตาของตัวเองคือ ฉันจะไม่ตอบโจทย์ตลาด ฉันจะไม่แมส อินดี้ มันเป็นความต้องการที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน คือ อยากเป็นตัวของตัวเอง 100% แต่ในขณะเดียวกันก็อยากดังด้วย แล้วพอมันไม่ได้ก็กลายเป็นโมโห โกรธ เสียใจ
ตอนนี้แก่กว่าเดิมเยอะก็ได้เรียนรู้อย่างนึงว่า ต้นเหตุของความทุกข์คนเรามีไม่กี่อย่าง อย่างนึงที่ชัดเจนคือ อยากได้สิ่งที่ตรงข้ามกัน เมื่อขัดแย้งในตัวเอง ความทุกข์จะบังเกิดทันที เพราะฉะนั้นถ้าผมอยากทำงานศิลปะเฉยๆ ผมก็ต้องเลิกคิดมากเรื่องตัวเลขไปเลย แล้วความสุขจะบังเกิด
แต่ว่าสิ่งที่ตามมาพร้อมกับความเป็นผู้ใหญ่คืองานศิลปะเป็นแค่ด้านหนึ่งของชีวิต ทำไว้โดยไม่หวังอะไรเลย ยกเว้นความสุขส่วนตัว การเรียนรู้ที่จะอยู่ตรงสเปซนี้ของการทำงานศิลปะมันใช้เวลาเติบโตตั้งแต่เด็กจนถึงวัย 37 พอสมควร เพราะว่าตอนเด็กเราจะเชื่อมโยงการทำงานศิลปะกับความสำเร็จภายนอกค่อนข้างเยอะ แต่มาตอนนี้เราแค่อยากให้ชิ้นงานมันออกมาดี ก็ถือว่าโอเคแล้ว แล้วก็เอนจอยทุก process ในการทำงานของมัน เราก็คิดว่าได้สำเร็จลุล่วงของตรงนั้นไปแล้ว
Outside ที่คุณอยากเห็นในประเทศไทย
แน่นอนว่าอันนี้พูดเรื่องสังคมการเมืองไปเลย อาจไม่ได้พูดเรื่องตัวเพลงแล้ว ประเด็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ผมว่ามีคนพูดกันเยอะแล้ว แล้วก็เป็นเรื่องที่ตื่นตัวกันเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ในกระบวนการเติบโตของสังคมก็อยากให้ด้านของจิตใจและจิตวิญญาณมันไม่ได้สูญหายไประหว่างทาง เราไม่อยากให้ในนามของการพัฒนาสังคม ทำให้สังคมเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยไม่เหลือเยื่อใยความเป็นมนุษย์ต่อกัน นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นข้างนอก หรือการมีพื้นที่โลกออนไลน์ นอกจากเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่แล้ว เรายังสามารถตัดสินและพิพากษาคนได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลทั้งหมดก็ได้ เราไม่อยากเห็นสังคมอย่างนั้น แต่เข้าใจว่ามันเป็นยุคสมัยที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องที่นอกเหนือไปจากเรื่องนี้ สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรองมากๆ เพราะสิ่งแวดล้อมมันอยู่นอกเหนือชีวิตคนโดยปกติในสังคม มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปรักษาธรรมชาติ รักษาโลกกันนะ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องการมากๆ คือการคิดเชิงระบบ การเมือง หรือระบบเศรษฐกิจ ในการดูแลรักษาระบบนิเวศในทุกๆ กิจกรรมของมนุษย์ ถ้าสังคมไทยและสังคมทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้มากพอ ผมเชื่อว่ามันจะเกิดแรงผลักดัน ในเชิงธุรกิจและการเมืองให้มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
นี่เป็นสิ่งที่ผมพูดมาตลอดคือเรื่องงานสิ่งแวดล้อม พอมาทำเพลง Outside เราก็หันกลับมาพูดถึงเรื่องสังคมการเมืองไทยด้วย แต่เราก็ยังมองอยู่ดีว่าโจทย์ใหญ่สุดของโลกใบนี้คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ในงานเพลงชิ้นนี้เราก็แค่อยากเปลี่ยนรสชาติของสิ่งที่เราทำบ้าง ก็เลยทำ แต่ถึงจุดหนึ่ง ถ้าถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ผมว่าเป็นเรื่องนี้อยู่ดี