CHIANG KHAN

ในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยวเอกลักษณ์ของเมืองไทย เชียงคานคงจะเป็นเมืองที่หลายคนคุ้นเคย เป็นเพราะมันเคยบูมมากในหลายปีก่อน (ในความเห็นของผม) ทำให้คนทั่วไปรู้จักและจินตนาการตามได้ไม่ยาก

ย้อนกลับไปสมัยมัธยม ผมอ่านนิตยสารของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คอลัมน์แบ่งประเภทสาว ‘ถาปัตย์ จะมีประเภทหนึ่งที่เป็นสาวเซอร์สุดมินิมอล ผู้สวมชุดดำจรดเท้า ซาบซึ้งในงานของคุณทะดะโอะ อันโด หลงใหลเอสเพรสโซชั้นดี และเที่ยวเชียงคานทุกสุดสัปดาห์ ผมอ่านแล้วก็รู้สึกตลกดี นึกภาพเมืองเชียงคานเป็นสีไม้ๆ ประดับไปด้วยไฟส้มสลัว อากาศเย็นและเงียบสงบ

ผมได้กลับไปเยี่ยมเชียงคานอีกครั้งเมื่อมาทำงานที่จังหวัดเลย หลังจากที่เคยไปเที่ยวกับเพื่อนเมื่อ 4 – 5 ปีก่อน ว่าแล้วก็นึกคำพูดของเพื่อน ญาติ และคนในเว็บบอร์ดที่บอกว่าเชียงคานไม่สวยเหมือนแต่เก่าด้วยเหตุผลร้อยแปด เช่น คนเยอะไป หรือความสงบและอารมณ์ดั้งเดิมที่ลดลง

ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แน่นอนว่าเชียงคานเปลี่ยนไป แต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ก็ด้วย ถึงบางองค์ประกอบจะแตกต่างออกไป แต่ถนนชายโขงก็เป็นถนนเส้นเดิม บ้านไม้อายุร้อยกว่าปีและประตูบานเฟี้ยมก็ยังอยู่ ผมว่าคงเป็นการเอาแต่ใจไปหน่อยที่จะยึดติดกับความชั่วคราวของสิ่งเหล่านี้ ถ้าอยากจะอนุรักษ์จริง คงจะต้องคืนเชียงคานไปให้ลาวและเปลี่ยนกลับเป็นชื่อเมืองปากเหืองไปให้รู้แล้วรู้รอด (ฮา)

“ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสวยงามของมันอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นมัน” สาว ‘ถาปัตย์ในจินตนาการคนนั้นดูมีทรงจะชื่นชมปรัชญาท่อนนี้ของขงจื๊อ ว่ามั้ยครับ

ถึงเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ถ้าดูให้ดีแล้ว เชียงคานก็ยังสวยงาม 🙂

ใครมีเซ็ตภาพถ่ายสวยๆ อยากส่งมาลงคอลัมน์นี้บ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR