Rethinking the Street’s Reorganization (1) : สตรีทฟู้ดที่หายไป ใครต้องจ่ายเงินเพิ่ม

การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ตกเป็นข่าวระดับโลกขึ้นมาอีกครั้งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังนโยบายนี้วนมาแตะผู้ค้าบนถนนข้าวสารอีกรอบ ก่อนในที่สุดจะจบลงที่ กทม.ตกลงเตรียมออกประกาศให้บริเวณนี้เป็นจุดผ่อนผันทำการค้าได้ และในระหว่างที่กำลังร่างประกาศอยู่นี้ก็อนุโลมให้ผู้ค้าตั้งแผงได้ภายใต้ระเบียบที่กำหนด

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไม้กวาดของแคมเปญ ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ลากผ่านมาปัดกวาดถึงถนนข้าวสาร และก็ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่ กทม.ตัดสินใจยอมมอบข้อยกเว้นให้กับสถานที่อันถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

นับแต่ กทม.เริ่มจัดระเบียบร้านค้าบนถนนและทางเท้าในปี 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทวงคืนพื้นที่สาธารณะของรัฐบาล คสช. มีผู้ค้าถูกยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วนับหมื่นรายและจุดผ่อนผันถูกยกเลิกไปแล้ว 451 จุดจากทั้งหมดราว 700 จุด ในจำนวนนี้ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะมีอำนาจต่อรองได้เหมือนกับถนนข้าวสารและเยาวราช

ท่าทีล่าสุดของ กทม.ในกรณีถนนข้าวสาร นำไปสู่คำถามที่ว่าอาหารข้างทางถูกสงวนไว้ให้แต่เพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้นหรือ

“คนที่มีรายได้น้อยเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่เสียงของพวกเขาไม่ดังเท่านักท่องเที่ยวไม่เหมือนกับถนนข้าวสารที่เป็นข่าวออก BBC, CNN ไปทั่วโลก” ชิดชนก สมานตระกูล จาก Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing (WIEGO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ศึกษาการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยมาอย่างต่อเนื่องส่งเสียงสะท้อนถึงมาตรการล่าสุด

ทุกครั้งที่การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยปรากฏขึ้นในพาดหัวข่าว หัวข้อถกเถียงที่เราได้ยินมักวนอยู่กับเรื่องที่ว่าเราควรจะหาสมดุลอย่างไรระหว่างการรักษากฎหมายกับการรักษาเสน่ห์และวิถีชีวิตของเมือง หากจะมีใครพูดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจบ้าง ก็เห็นจะมีแต่ฝั่งคนขายที่ต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน

ทว่าคนรายได้น้อยที่ชิดชนกพูดถึงไม่ใช่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า แต่คือผู้ซื้อที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าและเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงกับการหายไปของร้านค้าข้างทางเหล่านี้

ในรายงานล่าสุดของ WIEGO ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พวกเขาสนใจมุมที่ไม่ค่อยถูกหยิบมาคุยกันเท่าไหร่นัก คือผู้บริโภคในเมืองกรุงต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกเท่าไหร่หากไม่มีอาหารข้างทางแล้ว

พวกเขาลองตอบคำถามนี้ด้วยการสำรวจ 2 แบบคือ 1. สำรวจพฤติกรรมการซื้ออาหารข้างทางของผู้บริโภคเกือบ 500 คนจาก 5 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งย่านในเมืองและชานเมือง และ 2. สำรวจความแตกต่างของราคาอาหารเมนูเดียวกันจากร้านข้างทาง เปรียบเทียบกับร้านอาหารร้านห้องแถวหรือฟู้ดคอร์ตที่ใกล้ที่สุดในบริเวณเดียวกันและราคาถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ โดยสำรวจทั้งหมด 140 เมนูใน 6 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

หลังจากเอาข้อมูลทั้ง 2 ชุดมาคำนวณร่วมกัน นักวิจัยของ WIEGO พบว่าหากไม่มีร้านอาหารข้างถนนให้พึ่งพา ผู้บริโภคจะต้องควักกระเป๋าเพิ่มอีกเดือนละ 357 บาท

ฟังดูเป็นตัวเลขที่ไม่น่าสะทกสะเทือนอะไรหากกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าหากไม่มีร้านอาหารข้างทางแล้ว เพื่อนบ้านจำนวนไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันกับเราต้องทำงานเพิ่มอีกมากกว่า 1 วันเพื่อที่จะซื้อข้าวกินให้ได้เท่าเดิม

ไม่พักต้องพูดถึงว่ากลุ่มผู้มีรายได้นี้ต้องเสียโอกาสใช้เงิน 357 บาทนี้ไปใช้ทำอะไรที่ดีกว่าได้อีกหลายอย่าง

แต่การหายไปของสตรีทฟู้ดส่งผลกระทบเพียงแค่กับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเท่านั้นหรือ

คำถามนี้อาจลองตอบได้ง่ายๆ ด้วยการลองนึกสำรวจดูว่าเดือนหนึ่งๆ คุณซื้ออาหารข้างถนนสักกี่ครั้งและตัวคุณเองจัดเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือเปล่า

แต่หากอยากได้คำตอบแบบเป็นรูปธรรม WIEGO พบว่าผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเกือบ 500 คนกินอาหารจากร้านค้าข้างถนนเฉลี่ย 9.58 มื้อต่อสัปดาห์ หรือเรียกได้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารตลอดสัปดาห์ และเมื่อลองเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว กลุ่มที่ตอบว่าซื้ออาหารข้างทางบ่อยที่สุดกลายเป็นกลุ่มที่มีรายได้ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน กลุ่มที่ซื้อบ่อยรองลงมาก็คือกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน (ซึ่งเป็นเกณฑ์รายได้สูงที่สุดที่มีให้เลือกตอบในแบบสอบถาม)

ตัวเลขนี้น่าจะพอช่วยยืนยันให้เห็นว่าลูกค้าของร้านค้าข้างถนนไม่ได้มีแค่ผู้มีรายได้น้อย แต่ครอบคลุมไปยังผู้บริโภคในหลายระดับ ในหลายๆ พื้นที่ ผู้ค้าจัดตารางเวลาการตั้งร้านโดยอ้างอิงจากตารางเวลาของเหล่าพนักงานออฟฟิศด้วยซ้ำไป

เมื่อถามพวกเขาว่าถ้าไม่มีแผงลอยจะทานอาหารจากที่ไหน คำตอบยอดนิยมหนีไม่พ้นในห้างและจากร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น

ในขณะที่ กทม.ยอมผ่อนปรนเพื่อหาทางออกให้กับผู้ค้าที่ถนนข้าวสารและเยาวราช จึงต้องไม่ลืมว่าในส่วนอื่นๆ ของเมืองหลวงที่ค่าครองชีพสูงแห่งนี้ หาบเร่แผงลอยก็มีฟังก์ชั่นอื่นมากกว่าจะเป็นเพียงหนึ่งใน Best things to do in Bangkok สำหรับนักท่องเที่ยว

และในขณะที่รัฐบาลปลื้มใจกับการที่สตรีทฟู้ดไทยได้รับการติดดาวจากมิชลิน ก็อาจต้องไม่ลืมว่าไข่เจียวปูจานละ 800 บาทนั้นเป็นสตรีทฟู้ดคนละแบบกันกับที่คนกรุงเทพฯ ซื้อกินได้จริงๆในชีวิตประจำวัน

ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเพราะทางเลือกในการซื้ออาหารที่น้อยลงจึงควรเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในลำดับต้นๆ เมื่อมีการอภิปรายเรื่องนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย

ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่พ้นจะถูกวิจารณ์ในแบบที่ชิดชนกกล่าวไว้ว่า

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับหน้าตาของประเทศมากกว่าตัวคนในประเทศเอง”

อ้างอิง อ่านรายงาน ‘If Street Food Disappears — Projecting the Cost for Consumers in Bangkok’ ของ WIEGO ได้จาก wiego.org/sites/default/files/publications/files/Carrillo-Rodriguez-Reed-Bangkok-Street-Vendor-WIEGO-Resource-Document-9.pdf

ภาพ Pailin Wedel

AUTHOR