ถอดรหัสเลขสายรถเมล์ จำยาก จำง่าย หรือไม่จำเป็นต้องจำ!?

หลายคนน่าจะยังจำเรื่องการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งระบบเป็น 269 เส้นทาง ที่เป็นประเด็นใหญ่กันไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (พ.ศ. 2560) เมื่อกรมการขนส่งทางบกเสนอแผนให้เพิ่มตัวอักษร G R B Y เข้ามาในเลขสายรถเมล์ ด้วยเหตุผลที่ว่าให้ชาวต่างชาติใช้งานได้ง่ายขึ้น จากแต่เดิมที่เราใช้ตัวอักษรไทยอย่าง 73ก 36ก มาตลอด

เสียงวิพากษ์วิจารณ์การพยายามเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แตกออกเป็นทั้งเห็นด้วยกับการพารถเมล์ไทยก้าวเข้าสู่สากล และไม่เห็นด้วยที่เลขเยอะเกินไป ไม่แคร์คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้หนังสือ หรือแม้แต่เซนส์ของความไม่เป็นไทย! เหตุผลที่เลขสายรถเมล์ในบ้านเราถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเป็นเพราะมันคลุกคลีกับคนนับล้านที่ใช้งานกันอยู่ทุกวัน รวมถึงคนอีกหลายล้านที่แม้ไม่ได้ใช้งานหรือเลิกใช้งานแล้วแต่ก็ยังต้องร่วมถนนกันอยู่

แม้การทดลองวิ่ง 8 เส้นทางจะจบลงไปแล้ว แต่โครงการนี้ก็ยังไม่ถูกล้มไปเสียทีเดียว ต้น พ.ศ. 2561 นี้ คาดกันว่าจะมีรถเมล์ 2 สายใหม่เอี่ยมออกมาให้บริการในชื่อว่า Y70E (สวนจตุจักร-ศาลายา) และ R26E (สถาบันการแพทย์บางพลี-โรงพยาบาลรามาธิบดี)เราไม่อยากให้ทุกคนยอมจำนนว่าในเมื่อหน่วยงานของรัฐคิดมาแล้วก็ต้องจำใจทนยอมใช้ไปตามเขา แต่อยากชวนทุกคนมาค้นหาความหมายในเลขสายรถเมล์ของประเทศต่างๆ แล้วคิดไปพร้อมกันว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่เราต้องการจากตัวเลขเหล่านี้ เผื่อจะมีวิธีการทำให้ระบบเลขสายในบ้านเราเข้าใจง่าย เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประเภทของชื่อสายกันก่อน เราหยิบตำราของคุณลุงชาวพอร์ตแลนด์ Jarrett Walker ผู้ฝักใฝ่ในเรื่องขนส่งมวลชนจนเรียกได้ว่าเป็นหนุ่มเนิร์ดจากการศึกษาและทำงานด้านขนส่งมวลชนมานักต่อนัก ลุงแกได้จัดหมวดหมู่ของเลขสายออกมาเป็นดังนี้

01 สายรู้เช่นเห็นภาพ (Big-picture Visionaries)

การแบ่งสายแบบนี้ทำให้ผู้ใช้งานจินตนาการภาพได้ชัดเจนว่าสายนี้ให้บริการในย่านใด สายนี้ทำหน้าที่ให้บริการสายหลักหรือสายรอง วิ่งจากทิศไหนไปทิศไหน มุ่งหวังให้ผู้ใช้สามารถรู้ได้ทันทีว่าตัวเองต้องเลือกขึ้นลงสายอะไร ข้อดีคือทำให้เรารู้ว่าการเดินทางของเมืองนี้ในภาพรวมเป็นอย่างไร เช่น ในกรุงโซล เกาหลีใต้ ใช้วิธีการแบ่งเมืองออกเป็น 8 โซน มีรถเมล์ 4 สีซึ่งรูปแบบการวิ่งต่างกัน ‘สายสีน้ำเงิน’ ซึ่งวิ่งจากเมืองรอบนอกเข้ามาในโซลจะใช้เลข 3 หลัก กำหนดให้เลขลำดับแรกบอกโซนต้นทางของรถ ลำดับต่อมาบอกโซนปลายทาง ส่วนลำดับสุดท้ายบอกลำดับของเส้นทางเดินรถ ส่วน ‘สายสีเหลือง’ ที่วิ่งในเมืองเป็นระยะสั้นๆ ก็จะมีเลขเพียง 2 หลัก ลำดับแรกบอกโซนที่รถวิ่ง ลำดับที่สองบอกลำดับของเส้นทางเดินรถ ทั้งสีและหมายเลขจึงบอกให้เรารู้ได้ทันทีว่ารถวิ่งอย่างไร จากที่ไหนไปไหนได้บ้าง

02 สายใส่ไม่ยั้ง (Perfectionists)

นี่คือร่างพัฒนาของสายข้างบน คือยัดความหมายทุกอย่างลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชื่อว่าเลขสายรถเมล์คือรหัสลับดาวินชีที่มีประสิทธิภาพมากพอจะนำเสนอข้อมูลทั้งรูปแบบการบริการ ย่านที่รถวิ่ง นั่งสบายมั้ย จะไปทางไหน รถสีอะไร รถมาบ่อยแค่ไหน วิ่งเฉพาะวันหรือเปล่า ฯลฯ เพื่อให้ผู้โดยสารรับรู้ข้อมูลของรถแต่ละสายให้ได้มากที่สุด ข้อดีคือหากเนิร์ดพอจะเข้าใจก็เหมือนล่วงรู้ความลับของสรวงสวรรค์ แต่หากเป็นผู้โดยสารหน้าใหม่ก็อาจจะสับสนงงงวยกับข้อมูลที่มากเกินจำเป็น

03 สายอะไรก็ได้ (Anarchists)

วิธีการนี้ง่ายมาก อยากให้เป็นเลขอะไรก็ได้เลย ไม่ต้องแคร์อะไรทั้งนั้น เลขมงคล หรือเลขถูกใจก็เอามาตั้งได้ตามใจคนให้บริการ ซึ่งอาจจะเหมาะสมหากในเมืองนั้น มีจำนวนสายไม่มากนัก หรือมีชื่อสถานที่กำกับอยู่ด้วย เหมือนรถเมล์ในกรุงเทพฯ ที่เรามักจำว่าสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ไงล่ะ

04 สายสงวน (Conservatives)

วิธีการนี้เลขสายใดที่ถูกตั้งขึ้นแล้วจะไม่มีวันเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงของการตั้งชื่อสายแบบอะไรก็ได้อย่างสุดตัวเป็นเวลานานจนคนในเมืองคุ้นเคยและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อเสียไปทั้งหมด เพราะเลขสายแบบนี้ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาร่องรอยการเดินทางของคนอดีตได้ อย่างในลอนดอน สาย 55 ซึ่งเคยเป็นชื่อสายของรถราง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรถสองชั้น สาย 555 ในเวลาต่อมา สังเกตได้ว่าเลขสายรถเมล์ในเมืองต่างๆ มักนำเลขสายเดิมของรถรางมาใช้ แม้แต่กรุงเทพฯ เองก็มีสาย 1 ซึ่งวิ่งตามรอยรถรางสายบางคอแหลมด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของพาหนะในการเดินทางแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

ย้อนไปดูประวัติศาสตร์เลขสายรถเมล์ของเมืองใหญ่ทั่วโลก

ลอนดอน สหราชอาณาจักร

ก่อนที่รถเมล์ลอนดอนจะเริ่มใช้ตัวเลขเป็นชื่อสายในปี 1906 ย้อนกลับไปในยุควิกตอเรียน ชาวลอนดอนใช้วิธีจดจำชื่อสายและสีชุดของพนักงานเป็นหลัก จนกระทั่ง George Samuel Dicks จากบริษัท London Motor Omnibus สังเกตเห็นว่า Vanguard เป็นจุดหมายยอดฮิตในยุคนั้น จึงตั้งชื่อสายรถเมล์ทั้งหมดเป็น Vanguard ตามด้วยเลข 1 – 5 บริษัทอื่นๆ เห็นว่าดีงามและจำง่ายขึ้น วิธีการนี้จึงแพร่หลายในเวลาต่อมา เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผู้ให้บริการต่างก็ตั้งชื่อสายกันเองตามใจชอบ จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติการจราจรในลอนดอนขึ้นมาในปี 1924 Bassom Scheme (ตั้งชื่อตามหัวหน้าตำรวจนครบาล AE Bassom ในเวลานั้น) จึงถูกนำมาบังคับใช้ โดยให้รถที่มีสองชั้นหมายเลข 1 – 199 รถชั้นเดียวเลข 200 เป็นต้นไป และรถ trolleybuses เริ่มต้นจาก 500 เป็นต้นไป

จนถึงในปี 1930s ที่มีการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ลอนดอนให้เป็นระบบสมัยใหม่ ให้เลข 1 – 200 ใช้เรียกเฉพาะสายที่อยู่ใจกลางเมือง เลขอื่น ๆ ที่มากขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเส้นทางที่ห่างไกลเมืองออกไปเรื่อยๆ ส่วนระบบในปัจจุบันยกให้ 1 – 599 เป็นเลขสายสำหรับรถเมล์ที่ให้บริการในเวลาปกติตอนกลางวัน ส่วนรถเมล์กลางคืนจะใช้ตัวอักษร N นำหน้าเพื่อบอกให้รู้ว่าบางสายมีการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางที่วิ่งในตอนกลางวัน แต่ระบบนี้ก็มีข้อยกเว้นไม่ต่างจากหลักเกณฑ์ในภาษาอังกฤษ บางสายที่วิ่งทับรอยเส้นทางในอดีต จึงใช้เลขท้ายเป็นตัวบ่งบอกว่ารถเมล์สายนี้แยกออกมาจากตระกูลใด เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องกันของสายรถเมล์ใหม่ๆ เป็นการบอกเล่าการเติบโตของเมืองที่มีมาต่อเนื่องหลายร้อยปี

ตัวอย่างเช่นรถเมล์สาย 414 ก็เป็นรถเมล์สายใหม่ที่ตั้งใจให้เส้นทางวิ่งเหมือนกับสาย 14 ในอดีต หรือสาย 53 ที่แบ่งออกเป็น 2 สาย สายที่แยกออกไปก็ใช้หมายเลข 453 เพื่อให้รู้ว่าแยกมาจากสายไหน คล้ายคลึงกับวิธีการตั้งชื่อสายรถเมล์ใหม่ในบ้านเราที่หากขยายเส้นทางให้วิ่งไกลขึ้นก็จะยังมีเลขสายเดิมคงไว้อยู่ด้วย เช่นสาย 73ก ที่ขยายออกมาจากสาย 73 จึงใช้ตัวอักษรเติมข้างหลังแทน

เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

เมลเบิร์นเป็นเมืองที่มีระบบรถรางใหญ่โตที่สุดในโลก เลือกใช้วิธีการผสมรวมกันทั้งระบบ เส้นทางใดที่ไม่เหมาะกับการใช้รถรางอีกต่อไป ก็ปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นเส้นทางรถเมล์แทน โดยการผสมรวมกันทั้งระบบ หมายถึง เลข 1 – 150 จะเป็นหมายเลขสายของรถราง ส่วนเลขที่มากขึ้นไปกว่านั้นจะเป็นเลขสำหรับสายรถเมล์ ซึ่งเลขหลักแรกจะบอกว่ารถสายนั้นวิ่งอยู่ในย่านใด หากตามหลังด้วย 01 หมายความว่าเป็นรถเมล์ด่วน แต่ก็ยังเกิดความสับสนอยู่บ่อยๆ เพราะบางสายอย่าง 201 กับ 601 ก็ดันไม่ใช่รถเมล์ด่วนอีก สร้างความยุ่งยากให้คนใช้งานต้องจำข้อยกเว้นเหล่านี้เพิ่มขึ้นไปอีก

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า การมีเลขสายผสมกันระหว่างระบบแบบนี้ในกรุงเทพฯ ก็มีเหมือนกันนะ นั่นคือ รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) มีการกำหนดไว้ว่าให้ใช้หมายเลขตั้งแต่ 401-499 โดยสายสาทร-ราชพฤกษ์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันใช้เลข 402

พอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกาหลายเมืองมักนำเลขสายมาใช้เป็นสัญลักษณ์บอกความถี่ของรถเมล์ด้วย เช่น พอร์ตแลนด์ที่ตัวเลขเป็นตัวบ่งบอกปริมาณของรถ เลขน้อยมาถี่ เลขมากยิ่งมาช้า เป็นเหตุให้บริษัทที่ให้บริการรถเหล่านี้ไม่ค่อยพอใจนัก เพราะหากใครได้สายที่กำหนดให้รถทิ้งช่วงห่างกันมากๆ ก็ยิ่งทำให้เสียชื่อแบรนด์ แถมคนก็ไม่ค่อยรู้จัก เพราะไม่ค่อยได้เห็นหน้าค่าตารถ ก็ยิ่งทำให้รายได้หดหายไปด้วย จึงมีคนตั้งคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาว่า ทำไมไม่ยกมาตรฐานของสายที่มาช้าให้มาถี่เทียบเท่ากับรถพิเศษ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีรถพิเศษเพิ่มขึ้นมาให้คนใช้งานต้องนั่งจำกันจนปวดหัว

จากการที่เราได้ลองศึกษาระบบชื่อสายของระบบขนส่งสาธารณะแต่ละประเทศก็ทำให้พบว่า แม้จะเป็นระบบที่เก่าแก่หรือใหญ่โตแค่ไหน ในรายละเอียดเล็กๆ ระดับผู้ใช้งาน ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับ ต้องพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ นอกจากนี้ยังทำให้เราได้ตั้งข้อสังเกตว่า หรือแท้จริงแล้วปัญหาของระบบเลขสาย คือการที่เราคิดระบบกันไม่ครอบคลุมมากพอสำหรับการใช้งาน หรือในทางกลับกัน คนสร้างกฎขึ้นมาก็ทำตามที่ตั้งไว้ไม่ได้กันแน่

เราเข้าไปอ่านกระทู้ถกเถียงกันเรื่องจัดระบบเลขสายของมนุษย์เนิร์ดขนส่งมวลชนแล้วเหมือนได้เปิดโลกจากความคิดเห็นสั้นๆ ของ Paul Jewel ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านการวางแผนขนส่งมวลชนกว่า 20 ปี เขามองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการคิดเลขสายให้แก้ได้ทุกปัญหา ก็คือการทำแผนที่ที่อ่านง่าย เข้าใจได้ทันที ไม่ต้องมานั่งถอดรหัสกันทุกครั้งที่จะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพราะระบบเลขที่เรียบง่ายจะช่วยให้คนใช้งานได้ง่ายกว่าระบบเลขที่ซับซ้อนอันพยายามจะจัดระเบียบให้เรียบร้อยสวยงามเกินจำเป็น

จากที่หมกมุ่นอยู่กับการค้นหาระบบเลขสายที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุดอยู่หลายเดือน คำพูดนี้ทำให้เราได้กลับมาคิดว่าการปรับเปลี่ยนเลขสายเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ขนส่งสาธารณะในบ้านเราดีขึ้นในพริบตา แต่ทุกส่วนประกอบต้องคิดร่วมกันเพื่อเสริมส่งซึ่งกันและกันต่างหาก

สุดท้ายแล้วเราอาจจะต้องการเพียง ‘ความพอเหมาะพอดี’ ที่ไม่ทำให้ผู้โดยสารหน้าใหม่สับสนและให้ข้อมูลที่เข้ากันกับพฤติกรรมการใช้งานของคนในเมือง

แล้วคุณล่ะ คิดว่าชื่อสายที่ดีและเหมาะสมกับเมืองไทยควรเป็นอย่างไร มาแลกเปลี่ยนกับเราได้นะ

อ้างอิง humantransit.org, londonist.com, bus-routes-in-london.wikia.com, washingtoncitypaper.com

ภาพประกอบ มงคล ศรีธนาวิโรจน์

AUTHOR