U-mkt โปรเจกต์ฟื้นชีวิตตลาด 80 ปีใจกลางไทเปที่เริ่มคิดจากย่านและประวัติศาสตร์ของอาคารเก่า

เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจนึกถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ห้องสมุดชุมชน หรือการปรับปรุงลานอเนกประสงค์ที่เป็นศูนย์กลางของย่านที่รัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นในเมืองนั้นๆ จัดไว้ให้ประชาชน แต่ในหลายเมืองหลากประเทศ ภาคเอกชนเองก็เป็นหน่วยงานสำคัญและมีกำลัง (เงินทุน) มากที่จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูพื้นที่รกร้างให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชนได้เช่นกัน และหลายโปรเจกต์เองก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อย่านและคนไม่แพ้โครงการจากรัฐบาลเลย

เมืองไทเป ไต้หวัน เป็นเมืองหนึ่งที่ภาครัฐจัดสรรพื้นที่สาธารณะมากมายให้คนเมืองได้ออกไปใช้เวลาว่างตามใจชอบ จะปั่นจักรยานริมทางเลียบแม่น้ำ ปิกนิกกันในสวนสาธารณะ หรือเดินชมงานศิลป์ในพิพิธภัณฑ์ แต่อีกหนึ่งโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะที่ได้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดการซึ่งเราอยากชวนให้รู้จักคือ U-mkt (新富有樂市) ที่เกิดจากการฟื้นฟูตลาดเก่าซินฟู่ (Xinfu Market) ในเขตว่านหัว (Wanhua) ย่านชุมชนเก่าใจกลางไทเปที่คนไทยชอบไปไหว้ขอเนื้อคู่ที่วัดหลงชานนั่นแหละ U-mkt ยังถือเป็นงานแปลงโฉมพื้นที่เก่าในเมืองให้มีหน้าตาและฟังก์ชั่นใหม่ (Urban Regeneration) แบบที่ชาวไต้หวันถนัดดี

เกริ่นสั้นถึงตลาดซินฟู่สักนิด ชื่อเต็มของตลาดนี้คือ Xintomicho Foodstuff Market สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1935 ช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ย้อนไปสมัยนั้น ตลาดซินฟู่ถือว่าทันสมัยสุดๆ มีทั้งร้านรวงของทั้งชาวไต้หวันและชาวญี่ปุ่นที่ขายอาหารสด ของชำ และข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องการครบครัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประชากรในไต้หวันพุ่งสูงขึ้นรวมถึงผู้คนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในไทเป ถือเป็นช่วงที่ตลาดซินฟู่รุ่งเรืองสุดๆ และไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ตลาด แต่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนที่ชาวบ้านมารวมตัวกัน และยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมในย่านหรือการแสดงต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองก็ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ช่วงปี 1970-1990 มีตลาดค้าปลีกใหม่ๆ ผุดขึ้นทั่วไทเป ไม่เว้นในย่านรอบตลาดซินฟู่ รวมถึงการเข้ามาของซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า แม้เทศบาลไทเป (Taipei City Government) จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยการปรับหน้าที่ของตลาดซินฟู่ให้เป็นศูนย์โปรโมตสินค้าเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรท้องถิ่นในช่วงปี 1988 แต่ก็ดูไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ 

โชคดีที่ทางเทศบาลไทเปไม่ได้มองว่าตลาดเก่านี้ไร้คุณค่า เพราะเดิมที ตัวอาคารที่เป็นตลาดมาตลอด 80 ปีนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมในไทเปที่สร้างขึ้นสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน และยังออกแบบให้เป็นไปตามหลักการก่อสร้างตลาด (Rules of Foodstuff Market) ที่เทศบาลจังหวัดไทโฮคุ (Taihoku Prefecture Government หรือเทียบได้กับเทศบาลไทเปในปัจจุบัน) กำหนดไว้ชัดเจน ที่ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยและมาตรฐานตามแบบญี่ปุ่นเป๊ะๆ เช่น ตัวอาคารที่ออกแบบเป็นรูปตัว U มีลานโล่งตรงกลางช่วยเรื่องการระบายอากาศและปล่อยให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึง แถมยังมีอาคารบ้านไม้แบบญี่ปุ่นที่ให้กลิ่นอายเก่าๆ ได้อย่างดี ในปี 2006 เทศบาลไทเปจึงได้ยกให้ตลาดซินฟู่เป็นสถานที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ (Historical Site) ในฐานะสถาปัตยกรรมที่ได้อิทธิพลจากยุคอาณานิคมญี่ปุ่น

ตลาดซินฟู่หมดหน้าที่ลงในปี 2012 เมื่อพ่อค้าแม่ขายทยอยย้ายออกไปที่อื่นจนเหลือแต่เพียงตัวอาคารเก่าถูกปล่อยร้างไว้ จนเมื่อปี 2014 เทศบาลเมืองไทเปได้ริเริ่มโปรเจกต์ฟื้นฟูตลาดและเปิดให้บริษัทเอกชนประมูลราคาเพื่อเข้ามารับผิดชอบ โปรเจกต์นี้ตกไปอยู่ในมือของ JUT Foundation for Art and Architecture (JFAA) ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในไต้หวัน JUT Land Development Group ที่ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะและสถาปัตยกรรมเพื่อศิลปะหลายๆ แห่งในไทเป

หนึ่งในโปรเจกต์ฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะของ JFAA คือ Project UrbanCore ที่แปลงโฉมอาคารเก่าของบริษัทยาสูบและสุราแห่งไต้หวัน (Taiwan Tobacco and Liquor Cooperation) ให้เป็นสวนศิลปวัฒนธรรม Chung Shan Creative Hubs ในปี 2011 ถึงงานนี้จะเป็นแค่โปรเจกต์ระยะสั้นแค่ 3 ปี แต่ก็ทำให้ JFAA ถูกจับตามองในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทในการฟื้นฟูพื้นที่เก่าในเมืองให้สวยงามและใช้งานได้ในบริบทใหม่โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม

JFAA ได้สิทธิ์จัดการพื้นที่และฟื้นฟูตลาดซินฟู่ในชื่อใหม่ว่า U-mkt ยาวถึง 9 ปี โดยตั้งเป้าหมายว่า U-mkt จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมด้านอาหารในฐานะที่เคยเป็นตลาดศูนย์กลางของชุมชน มีห้องครัวให้คนทั่วไปได้เข้ามาใช้บริการหรือเปิดเวิร์กช็อปสอนทำอาหาร ห้องเก็บเอกสารประวัติศาสตร์ของย่านว่านหัว พื้นที่ส่วนที่ปรับปรุงเพิ่มเติมขึ้นมาก็เปิดให้บริษัทสตาร์ทอัพหรือสตูดิโอที่ทำงานสร้างสรรค์เช่าเป็นออฟฟิศในรูปแบบ Co-working Space ในเชิงพักผ่อนหย่อนใจ ที่นี่มีคาเฟ่และโซนจัดนิทรรศการที่หมุนเวียนให้กลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคมเข้ามาแสดงผลงานเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ส่วนบ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์เดิมของตลาดเก่าก็ถูกใช้เป็นสำนักงาน Farmer Market และเป็นหน้าร้านของแบรนด์จักรยาน Tokyo Bike จากญี่ปุ่นด้วย

กระบวนการออกแบบและฟื้นฟูได้ Yu-Han Michael Lin สถาปนิกชาวไต้หวันจากบริษัทสถาปนิกสัญชาติเยอรมัน Behet Bondzio Lin Architekten มาช่วยดูแล โจทย์ของทีมคือทำยังไงให้เพิ่มเติมฟังก์ชั่นใหม่ๆ โดยที่ยังต้องรักษาอาคารตลาดรูปตัว U ซึ่งเป็นอาคารในยุคอาณานิคมญี่ปุ่นหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านเก่านี้ไว้ได้ สิ่งที่ทีมทำคือการออกแบบโครงสร้างชั้นลอยใหม่ด้วยการใช้วัสดุโครงสร้างเบาอย่างแผ่นไม้ญี่ปุ่นและผนังกึ่งโปร่งแสง (semi-transparent thick walls) ติดตั้งไว้โดยไม่กระทบกับโครงสร้างเดิมและยังเคลื่อนย้ายออกได้ง่าย ขณะเดียวกัน พื้นที่อาคารใหม่ที่สร้างไว้ด้านหลังของอาคารรูปตัว U ก็ใช้โครงสร้างคอนกรีตมวลเบา (semi-cylindrical fair-faced concrete) ให้กลมกลืนกับอาคารเดิม U-mkt ได้รางวัล ทั้งหมดนี้ถือเป็นกรณีศึกษาการปรับปรุงพื้นที่ที่เคารพโครงสร้างเก่าไว้อย่างดี การันตีด้วยรางวัล Gold Award จากเวที 2019 Good Design Gold Award จากกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน

ดูคลิปวิดีโอกระบวนการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ได้ที่นี่ https://youtu.be/SQcYDmlSN1Q

บทบาทที่น่าสนใจของ U-mkt คือการดึงการพัฒนาเมืองกลับมาสู่ฝั่งตะวันตกของไทเป ย่านประวัติศาสตร์เดิมที่คนเก่าแก่อาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคที่เพิ่งเริ่มสร้างเมืองใหม่ๆ เพราะปัจจุบัน ไทเปเริ่มพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่และย่านออฟฟิศไปยังทิศตะวันออกของเมือง เช่นในย่านหนางกัง (Nangang) หรือเน่ยหู (Neihu) ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ย้ายออกไปอยู่ในฝั่งตะวันออกมากขึ้น ทำให้ว่านหัวถูกมองว่าเป็นย่านของผู้สูงอายุหรือคนรายได้น้อย รวมถึงเหล่าคนไร้บ้านที่หากใครได้ไปวัดหลงชานน่าจะเคยเห็นอยู่บ้าง การมีแลนด์มาร์กอย่าง U-mkt ไว้จัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางของคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ ก็เป็นวิธีที่ช่วยดึงให้ชาวไต้หวันต่างรุ่นต่างวัยได้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน ในขณะที่คนต่างเมืองหรือนักท่องเที่ยวอย่างเรา ถ้าสนใจเขาก็มี Self-Guide ภาษาอังกฤษเตรียมไว้ให้พร้อมฟังเรื่องราวในประวัติศาสตร์

การมีอยู่ของอาคารเก่าทำให้คนรุ่นก่อนยังรู้สึกเชื่อมโยงกับพื้นที่นี้ ในขณะที่การเปลี่ยนโฉมหน้าและฟังก์ชั่นของอาคารก็ขับเคลื่อนให้คนรุ่นใหม่ได้คิดต่อว่าจะพัฒนาย่านเก่านี้ให้ดีขึ้นได้ยังไง

วันที่เราได้ไปเยือน U-mkt เป็นครั้งแรก ที่นี่ก็มีตลาดสินค้าศิลปะ (Flea Market) และนิทรรศการเล็กๆ จัดแสดงอยู่พอดี ในงานไม่ได้มีแค่ร้านค้า สินค้าดีไซน์แบรนด์ของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารสตรีทฟู้ดแบบไต้หวันแท้ๆ ของชาวบ้านในย่าน รวมถึงโชว์การแสดงและดนตรีพื้นถิ่นที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยรู้จัก และเวิร์กช็อปที่พ่อแม่พาลูกหลานมาทำได้สนุกๆ ทำให้เราได้เห็นความคึกคักและเห็นภาพชัดขึ้นว่า U-mkt ถูกใช้ประโยชน์อย่างไร ที่นี่ยังจัดเสวนาหรือคอร์สเวิร์กช็อปเกี่ยวกับด้านอาหาร วัฒนธรรมหรือสถาปัตยกรรมเรื่อยๆ ทั้งปี เป็นตัวอย่างให้เราเห็นการพัฒนาที่มาจากภาคเอกชนที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องกำไรเพียงอย่างเดียว

สำหรับเรา U-mkt ถือเป็นโปรเจกต์ฟื้นฟูพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่ แต่สิ่งที่โดดเด่นคือคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตัวอาคารและย่านที่ตั้งอยู่ที่มีความหมายกับคนในยุคก่อน ขณะเดียวกัน กิจกรรมและความเคลื่อนไหวที่คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งานในปัจจุบันก็เป็นเหมือนลมหายใจที่ช่วยให้อดีตยังคงอยู่และส่งต่อไปยังอนาคต

เพราะใช่ว่าทุกอย่างจะจบลงที่การทุบทำลายแล้วสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่สามารถทดแทนประวัติศาสตร์เดิมได้

ป.ล. อีกหนึ่งสถานที่ภายใต้การดูแลของ JFAA คือ Jut Art Museum แกลเลอรี่ที่ขยันจัดนิทรรศการเน้นเนื้อหาด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมืองแบบเข้มข้น ไม่ควรพลาดถ้าได้แวะมาไทเปนะ

http://umkt.jutfoundation.org.tw/ 

https://www.facebook.com/Umkt.JUTfoundation

Ref.

https://english.gov.taipei/News_Content.aspx?n=A11F01CFC9F58C83&s=2690ED45C25B78FA

https://www.taipeitimes.com/News/feat/archives/2015/05/23/2003618939

http://www.jutfoundation.org.tw/en/project/43/1120

https://www.g-mark.org/award/describe/49509?locale=en

AUTHOR