การล่มสลายของความฝันที่ตรึงไว้ เพื่อก้าวสู่พื้นที่แห่งใหม่ที่ความไม่ฝันจะได้โบยบิน

ในเทศกาลหนังสารคดี ‘Her Art, Her Voice’ ซึ่งจัดขึ้นโดย RCB Film Club และ Documentary Club รวบรวมเอาหนังที่เกี่ยวกับผู้หญิงในโลกของศิลปะร่วมสมัยมาฉายเนื่องในโอกาสของวันสตรีสากลในเดือนมีนาคมนี้ 

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือหนังเรื่อง TOVE (2020) ผลงานกำกับของ Zaida Bergroth เล่าเรื่องราวของ ตูเว ยานซอน (Tove Jansson) หญิงสาวที่เกิดในครอบครัวที่พ่อและเเม่เป็นศิลปิน อาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศฟินเเลนด์ ในวันที่โลกต้องการการฟื้นฟูหลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2  

ตูเวอยากเป็นศิลปินผู้สร้างภาพวาดอันทรงพลัง แต่งานของเธอก็ไม่โดดเด่นมากเพียงพอที่จะไปได้ไกล ทำได้เพียงมีความสุขในพื้นที่เล็กๆ วาดการ์ตูนจิ๋วที่พ่อของเธอบอกว่ามันไม่ใช่ศิลปะ 

แม้ว่าตัวเธอเองก็อับอายกับผลงานเหล่านั้น แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งตัวละครในการ์ตูนเหล่านั้นนั่นแหละที่ทำให้ตูเวกลายเป็นศิลปินที่ดังเป็นพลุแตก กลายเป็นผู้สร้างตัวละครขวัญใจเด็กทั่วโลก ตัวละครจิ๋วหลิวที่มีนิสัยอ่อนโยนนั้นของเธอ ชื่อว่า ‘มูมิน’ โทรลล์สีขาวอันเป็นที่รักของใครหลายๆ คน

เส้นทางชีวิตของเธอช่างว้าวุ่น สับสน และเต็มไปด้วยจังหวะที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็หลอมรวมให้เรื่องราวในนิทานของตูเวพิเศษมากขึ้น นี่ไม่ใช่หนังสารคดี และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่หนังชีวประวัติ แต่กลับคือหนังที่สะท้อนก้นบึ้งอารมณ์ความสับสน ไม่แน่ใจ พลาดพลั้ง แต่ก็หาญกล้าของผู้หญิงที่กำลังค้นหาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศหรือความฟุ้งฝันที่ใฝ่มาเนิ่นนานเพื่อมาพบว่า ไม่ว่าจะเส้นทางไหนๆ เพียงแค่ปล่อยให้สิ่งที่อยู่ภายในได้โบยบิน

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์***

การ์ตูน (Not) ศิลปะ

เรื่องราวในหนังเริ่มต้นขึ้นด้วยประติมากรรมซึ่งสร้างโดยพ่อของตูเว พ่อบอกกับเธอว่าการ์ตูนที่เธอวาดอยู่นั้นไม่ใช่ศิลปะ ช่วยไปทำงานอะไรให้เป็นจริงเป็นจังเสียที สิ่งเหล่านี้กำลังบอกเล่าถึงจุดยืนทางศิลปะในยุคนั้นให้เราได้พอจะเห็นภาพ มีหลายฉากที่ตูเวเองพยายามที่จะละเลงสีสันบนเฟรมผ้าใบที่ใครต่อใครให้ความเห็นเพียงว่าสวยดี แม้จะฟังดูเหมือนคำชมแต่อาจจะเป็นรีแอกชันที่ตูเวเองก็ไม่ได้อยากได้รับมากนัก

ดูเหมือนกับว่าแม้จะเป็นเรื่องของศิลปะที่จำเป็นต้องอุดมไปด้วยความสดใหม่ และสร้างความเป็นไปได้ที่นอกเหนือจากสิ่งเดิม แต่รสนิยมของผู้คนกลับไปอิงเเอบอยู่กับภาพอุดมคติที่แข็งโป๊กของงานศิลป์ สิ่งเหล่านี้จึงดูเหมือนจะไม่ได้เร้าให้ตูเวสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มากนัก เธอเพียงเเต่ละเลงสีลงบนเฟรมผ้าใบไปเรื่อยๆ เส้นทางการเป็นศิลปินของเธอจึงดูขรุขระอยู่เหมือนกัน ทั้งการที่ไม่สามารถขายงานได้อย่างจริงจังและไม่ได้รับทุนทำงานจากหน่วยงานไหนเลย

ขณะที่พ่อของเธอเป็นศิลปินชั้นยอดซึ่งมีที่ทางในสังคมพอสมควร ทำให้ตูเวกลายเป็นลูกสาวที่พ่อเป็นศิลปินชื่อดัง แต่ลูกยังคงอยู่ในอีกระนาบหนึ่ง ถึงกระนั้นเธอก็ยังคงยืนยันที่จะเดินอยู่ในร่องในรอยที่พ่อกรุยทางไว้ เลือกอำพรางความพิเศษของลายเส้นการ์ตูนที่เธอใช้ผ่อนคลายอารมณ์ซ่อนไว้ในกระดาษใบเล็กๆ ทับกันไว้บนโต๊ะทำงาน และหารายได้จากมันในบางครั้งไม่มากมาย เพราะรู้สึกว่ามันหั่นเอาเสี้ยวเวลาที่เธอจะได้ผลิตงานที่ยิ่งใหญ่ไป

หนังค่อยๆ หย่อนข้อมูลเหล่านี้มาให้เรารับรู้ทีละเล็กทีละน้อย เล่าแบบแตะๆ ปัดผ่านเบาๆ แต่ก็ทำให้พอจะมองออกว่าเฟรมผ้าใบแต้มสีที่โชว์เด่นหรากลางห้องของเธอนั้น ‘ไม่ใช่’ ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่ศิลปะมีท่าทีขึงขังจริงจัง มีเพียง วิวิกา บันด์เลอร์ (Vivica Bandler) หญิงสาวที่เธอซูเปอร์คลั่งรักเท่านั้น ที่มองว่าลายเส้นน่ารักปุ๊กปิ๊กเหล่านั้นของเธอนี่แหละที่พิเศษ

น่าเสียดายที่หนังเล่าส่วนตรงนี้เบาไปนิด ยิ่งในประเด็นความสัมพันธ์ของตูเวกับพ่อ ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อความคิด ความเชื่อ และความทะเยอทะยานของตูเวอยู่ไม่น้อย เมื่อหนังเลือกที่จะลดความเข้มข้นตรงนี้ลงไปทำให้เฉดสีโดยรวมของหนังตุ่นลง หากขยี้ตรงนี้อีกหน่อยอาจมีประเด็นที่แตกแขนงไปได้อีก แต่ผู้กำกับก็ดูจะพึงพอใจกับเฉดสีประมาณนี้ และไปเน้นระบายแต้มในส่วนความซ่าก๋ากั่นของความเป็นผู้หญิงที่แหวกขนบจารีตเดิมๆ ของเธอแทน 

การได้พบเธอ ฉันเหมือนสวนที่ได้รับการรดน้ำ ดอกไม้ของฉันจึงบานสะพรั่ง 

ใครบางคนเคยบอกไว้ว่าความรักผลักดันให้มนุษย์ทำอะไรได้มากกว่าที่ตนเคยจินตนาการไว้ หนังเรื่องนี้สะท้อนคำพูดเหล่านี้ได้ดี เหล่าตัวละครใช้ความรักเป็นแรงขับเคลื่อนในชีวิต แต่ขณะเดียวกันความคลั่งรักเหล่านั้นก็กัดกินบางส่วนเสี้ยวความเป็นตัวตนของพวกเขา เพื่อประกอบรวมขึ้นมาใหม่กลายเป็นมนุษย์อีกคนที่ตัวเองก็ไม่เคยพบหน้า หนุ่มนักการเมืองที่แต่งงานแล้วซึ่งมีความสัมพันธ์กับตูเวอย่างเปิดเผย ทั้งสองคนคบหากันด้วยแก่นแกนที่ร่วมสมัยอย่าง การไม่ผูกมัดไม่ใฝ่หาการแต่งงานหรือครองคู่กัน เพื่อต่อต้าน Norm ของสังคมในช่วงเวลานั้นที่มองว่าคู่รักต้องแต่งงานกัน แต่ในภายหลังเราจะเห็นได้ว่าชายหนุ่มซึ่งวางตนเป็นชายผู้ขบคิดถึงปรัชญา และมีความคิดก้าวล้ำ เริ่มอยากสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังกับตูเว ด้วยการเลิกกับภรรยาและขอตูเวแต่งงาน 

ในฉากหนึ่งซึ่งขบขันและขมขื่นไปพร้อมๆ กัน คือฉากที่เขาพยายามจะคุยเรื่องขอเธอแต่งงาน แต่ตัวเขาเองก็รู้ดีว่าเธอเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ไม่ต้องการที่จะเป็นเมียของใคร เขาจึงต้องขอเธอพัฒนาความสัมพันธ์ที่จริงจัง และห้อยท้ายว่าเขาไม่ได้จริงจังนะ ขอเธอแต่งงานแต่บอกว่าเขาไม่ได้คาดหวังนะ สิ่งที่เราสัมผัสได้จากผู้ชายคนนี้คือเขาทั้งสับสนและว้าวุ่นใจในเรื่องนี้ เราจะได้เห็นความรักกัดกินเจตจำนงของคนที่เรียกตัวเองว่าเสรีชนผู้เชื่อมั่นในตนเอง ความต้องการของคนที่เขารักสั่นสะเทือนความฝักใฝ่ในชีวิตของเขาเอง 

ด้านตูเวเองเธอพบเจอรักจนถึงขั้นคลั่งไคล้กับวิวิกา ผู้กำกับละครเวทีสาวผู้ร่ำรวย ที่แต่งงานกับผู้ชายสักคนเพื่อให้ตัวเองสามารถมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงไปทั่วได้อย่างแนบเนียน หรือเรียกได้ว่าสามีของวิวิกาคือเกราะกำบังความแปลกประหลาดในยุคสมัยนั้น ในสมัยที่เลสเบี้ยนเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันแบบลับๆ ขณะที่ตูเวรู้สึกว่าวิวิกาคือความรักในแบบที่เธอไม่เคยได้พบเจอมาก่อน แต่วิวิกาก็ยังคงโลดเเล่นไปหาผู้หญิงคนอื่นอีกไม่รู้จบ แม้สุดท้ายแล้วรักของทั้งคู่จะไม่สมหวัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด 

แต่สิ่งที่วิวิกาฝากฝังไว้ให้ตูเวเป็นสิ่งซึ่งล้ำค่ามหาศาล คือการดึงเธอให้ลุกออกมายอมรับในสิ่งที่ตูเวเป็น ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศและนิทานเด็กอย่าง ‘มูมิน’ ซึ่งพิเศษเกินกว่าที่จะซุกซ่อนทับถมไว้บนโต๊ะทำงานในห้อง ในฉากหนึ่งที่เธอปฏิเสธหัวชนฝาต่อการชักชวนให้เอา ‘มูมิน’ ไปสร้างเป็นละครเวที แต่สุดท้ายก็พ่ายเเพ้ด้วยความลุ่มหลงต่อคนที่เธอรัก สยบยอมที่จะปล่อยให้การ์ตูนที่เธออับอายได้ออกไปโบยบิน และการตัดสินใจครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตตูเวไปตลอดกาล

ชีวิตของเธอในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกกระตุ้นเร้าให้ดำเนินไปด้วยความระส่ำระส่ายในรัก เราจะได้เห็นการค่อยๆ ลอกเปลือกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูมั่นอกมั่นใจในการดำเนินชีวิตค่อยๆ ถูกความรัก ความฝัน และความไม่สมหวังค่อยๆ แทะเล็มความเป็นเธอให้ซีดสลด เพื่อก่อร่างตัวตนใหม่ที่อาจแหว่งขาดไปบ้าง แต่ตัวเธอก็ยังคงเป็นเธอนั่นแหละ เพียงแต่ผ่านโลกผ่านชีวิตมาเพื่อโบยบินไปในพื้นที่แห่งใหม่ที่ตูเวเองก็อาจจะไม่เคยจินตนาการถึง

ผู้หญิงคนนั้นยังคงเต้นรำเป็นประจำอยู่ในห้องนอน

หนังเลือกที่จะใช้ฉากที่นักแสดงอย่าง อัลมา ปอยส์ตี (Alma Pöysti) เต้นอย่างบ้าคลั่งอยู่ในห้องเป็นฉากเปิดเรื่อง และใช้ฟุตเทจจริงของตูเว ยานซอน ตัวจริงมาปิดท้ายในตอนจบ เราไม่แน่ใจว่าเหตุใดผู้กำกับถึงเลือกที่จะนำ 2 สิ่งนี้มาวางไว้ตรงส่วนหัวและท้าย แต่สิ่งที่รู้สึกได้จากทางเลือกนี้ของผู้สร้าง มันคล้ายกับการที่ได้พบกับใครสักคนโดยบังเอิญ ในคราแรกการเคลื่อนไหวของเขาคงไม่ได้มีความหมายอะไรแฝงอยู่ เราจึงเห็นเพียงความบ้าคลั่งในการเต้นนั้น อาจเพราะเราไม่รู้จักเธอ 

แต่เมื่อเรื่องราวในหนังได้ดำเนินไป เราได้รู้จักเธอและสิ่งรายล้อมรอบตัว สภาวการณ์ที่ตูเวได้ประสบพบเจอ หลังจากนั้นการเต้นระบำกลางทุ่งหญ้าสีเขียวจึงเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งอิสระเสรีและทำงานกับความรู้สึกคนดูในอีกระนาบ เพราะในระหว่างทางของเรื่องได้บ่มความรู้สึกภายในของตัวละครมามากเพียงพอที่จะส่งให้ฉากจบทรงพลัง ภาพของหญิงสาวที่ผ่านการเติบโตของชีวิตแต่ยังคงกักเก็บความรื่นเริงและพลังงานแห่งความสดชื่นเอาไว้ได้  

ชีวิตคือการเต้นระบำไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ เคลื่อนไหวไปตามจังหวะและทิศทางที่กะเกณฑ์ไม่ได้ ตูเว ยานซอน เธอยังคงเต้นไปไม่รู้จบ ผ่านตัวตนที่ฝากฝังไว้ใน ‘มูมิน’ ที่กำลังเต้นระบำให้คนทั้งโลกชื่นชมและรัก 

ทั้งหมดทั้งมวล ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์และเต็มไปด้วยจังหวะที่ยืดยานสลับเร้าบ้างในบางจังหวะ เหมาะสำหรับคนที่ชอบดูอะไรที่ไหลผ่านไปเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่พิเศษของมันคือเราจะไม่ได้อยากหยุดหรือมองเวลาว่าเมื่อไหร่เรื่องราวเหล่านี้จะจบลง

เราจะยังคงนั่งอยู่ตรงนั้นแล้วดูไปเรื่อยๆ เข้าไปทำความรู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ค่อยๆ เผยให้เห็นความวับๆ แวมๆ ของชีวิตที่ฟุ้งซ่าน บ้าบอ พลั้งพลาด แต่ก็เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต เมื่อหนังจบลงเราจะได้ย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่าเราได้เคยปล่อยให้ตัวเองลองเต้นอย่างบ้าคลั่งหรือยังในชีวิต 

AUTHOR