TMRW Creators Camp : โอกาสและอนาคตในยุคดิจิทัลของคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ไฟแรง

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ อาชีพหนึ่งที่มาแรงแซงโค้งในหมู่คนรุ่นใหม่วัยทำงานคงหนีไม่พ้น ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ อาชีพที่มาพร้อมกับการพัฒนาและการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ทั้งในแง่การผลิตคอนเทนต์ที่ครีเอเตอร์ต้องเป็นดิจิทัลเนทีฟ หรือผู้ที่เชี่ยวชาญเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิตคอนเทนต์ เข้าใจแพลตฟอร์มดิจิทัล และในแง่การเสพคอนเทนต์ของผู้ชมที่เป็นดิจิทัลเจเนอเรชั่น วันหนึ่งๆ ติดหนึบกับหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์แทบจะตลอดเวลา จนคอนเทนต์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก

เพราะอย่างนี้ TMRW บริการธนาคารดิจิทัลเพื่อดิจิทัลเจเนอเรชั่นจากธนาคารยูโอบี จึงจัดโครงการ TMRW Creators Camp เพื่อสนับสนุนเป้าหมายทางการเงินและเป้าหมายชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยเชิญชวนเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ไฟแรงมาร่วมเรียนรู้ทักษะการทำงานจริง และฟังเคล็ดลับจากคอนเทนต์ครีเตอร์รุ่นเก๋า ไม่ว่าจะเป็นบูม ธริศร จากช่อง BoomTharis, เคน นครินทร์ จาก THE STANDARD, โค้ดดี้ อรรถพล จาก Good Day, เอ็ดดี้ ญาณวุฒิ หรือพี่เอ็ด 7 วิ, อู๋ spin9, Softpomz, ซี ฉัตรปวีณ์ และช่อง Asayhi Channel

โอกาสนี้ a day ชวนคุยกับ นที ศรีรัศมี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Retail Digital ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ ขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ Khajochi ผู้ก่อตั้ง MacThai, MangoZero และ RAiNMaker ว่าด้วยเรื่องคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อาชีพที่ไม่ได้มีสอนในตำรา การสนับสนุนวงการคอนเทนต์ผ่าน TMRW Creators Camp แคมป์ฝึกทักษะครีเอเตอร์รุ่นใหม่สู่มืออาชีพ ไปจนถึงอนาคตของวงการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีโอกาสก้าวไปสู่ระดับโลก

มีโลกดิจิทัล จึงมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์

ในฐานะบล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ ของไทย ขจรเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้เพราะความประจวบเหมาะของเทคโนโลยีและแพสชั่น เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลายและการเขียน ‘บล็อก’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน เขาจึงได้ทำตามความฝันในการเป็นนักเล่าเรื่อง จรดแป้นพิมพ์ถ่ายทอดเรื่องราวใกล้ตัว เช่น ร้านอาหารที่ชอบ หนังที่ดู จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก

ในตอนนั้นคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ สามารถเป็นอาชีพได้ ขจรและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยุคเริ่มแรก เช่น โมเมพาเพลิน ล้วนเริ่มต้นจากความชอบ ก่อนจับพลัดจับผลูได้ทำเป็นอาชีพและประสบความสำเร็จ เป็นตัวอย่างให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นหลังเห็นว่าอาชีพนี้เป็นไปได้

TMRW Creators Camp
ขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ Khajochi

พอมาถึงยุคนี้ที่เทคโนโลยีมีราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น และมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและโลกดิจิทัล จึงมีคนจำนวนมากเข้ามาประลองฝีมือในสนามคอนเทนต์ ขจรยกตัวอย่างถึงหลานผู้เป็นยูทูบเบอร์ในวัย 11 ปีที่สามารถถ่ายทำ ตัดต่อ ลงเสียง ใส่ซับไตเติลด้วยโทรศัพท์มือถือกับไอแพด ทำทุกอย่างได้ครบ จบในตัวเอง แสดงให้เห็นว่าความพร้อมทางเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่มีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จสูงมาก 

“ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ เด็กอายุ 11 ขวบกับช่องแกรมมี่สามารถอัพฯ คลิปยูทูบด้วยความคมชัดเท่ากัน ลงแข่งในสนามเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันเลยแข่งกันเรื่องคุณภาพกับความสามารถ เป็นโอกาสที่คนใหม่ๆ จะสามารถขึ้นมาชนะตัวใหญ่ๆ ได้ทันที”

โอกาสที่มาพร้อมกับโลกดิจิทัลที่พัฒนาขึ้น

แม้ขจรจะเห็นว่าสนามคอนเทนต์ที่เปิดกว้างเป็นข้อดีและโอกาส แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การแข่งขันที่สูงเช่นนี้จะทำให้แต่ละคนมีโอกาสเติบโตได้จริงหรือ

บล็อกเกอร์รุ่นใหญ่ให้คำตอบกับเราว่า “คนชอบพูดว่าตอนนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มันเยอะแล้ว แต่ถ้าไปดูในเชิงตัวเลข เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์โตขึ้นปีละ 25-30 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าในแง่รายได้มันยังมีโอกาสให้เข้ามาแบ่งกันไปอีกมาก

“อีกอย่างคนไทยยังไม่ได้เข้าถึงสื่ออื่นๆ อีกเยอะเลย ตอนนี้คนไทยใช้เฟซบุ๊ก 50 กว่าล้านคน แต่พอไปดูแพลตฟอร์มอื่นอย่างยูทูบหรือ TikTok คนใช้แค่ 10 กว่าล้านคน แสดงว่าในแพลตฟอร์มพวกนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีโอกาสที่จะเข้าไปแสดงฝีมือและสร้างผู้ติดตามใหม่ๆ ได้อีก”

TMRW Creators Camp

รวมกลุ่มไปด้วยกัน จะไปได้ไกลกว่า

แม้จะมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก แต่จะเห็นว่าครีเอเตอร์บ้านเราส่วนใหญ่เกิดจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และพยายามพัฒนาตัวเองหรือแก้ไขปัญหาที่เจอแบบตัวใครตัวมัน เพราะอย่างนี้ขจรจึงมองว่าอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์คือการรวมกลุ่มกันเพื่อขยับไปพร้อมกันทั้งวงการ 

ประโยชน์ของการรวมกลุ่มของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ขจรเล็งเห็นมีหลายข้อ ข้อแรกคือเมื่อรวมกลุ่มกัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมีเสียงและอำนาจต่อรองที่ดังขึ้น ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เช่น ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์คอนเทนต์ครีเอเตอร์มากขึ้น หรือรัฐก็จะมีกฎหมายแรงงานที่ช่วยปกป้องดูแลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เป็นต้น 

อีกข้อดีคือการรวมกลุ่มกันจะช่วยยกระดับคุณภาพของคอนเทนต์ ทำให้คอนเทนต์มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมถึงช่วยสอดส่องกันและกันในแง่จริยธรรม ขจรยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายกำกับว่า อินฟลูเอนเซอร์ต้องเปิดเผยว่าได้รับเงินโฆษณาหรือไม่ โดยแจ้งอย่างชัดเจนหรือใส่แฮชแท็กด้านล่าง ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยอาจหยิบมาปรับใช้ได้เช่นกัน

TMRW Creators Camp

ที่สำคัญ การที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์มาเจอกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก แต่สามารถพัฒนาทักษะตัวเองและพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ต่อจากสิ่งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นเก๋าได้เคยทำมาแล้ว

“อย่างการที่ TMRW จัด TMRW Creators Camp ก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่ง พอคอนเทนต์ครีเอเตอร์มารวมกันก็จะเริ่มคุยกันและผลักดันอะไรร่วมกันได้” ขจรกล่าว

สนามฝึกฝนและฝึกฝันของครีเอเตอร์รุ่นใหม่

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ นทีในฐานะตัวแทนของ TMRW จึงร่วมแชร์มุมมอง 

“TMRW มุ่งมั่นที่จะเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนดิจิทัลเจเนอเรชั่นให้ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในชีวิต ทั้งเป้าหมายทางการเงินและเป้าหมายส่วนบุคคล ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาเราทำรีเสิร์ช พูดคุยกับลูกค้าค่อนข้างเยอะ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือคนรุ่นใหม่สมัยนี้มีเป้าหมายในชีวิตที่ต่างไป ปัจจุบันแทนที่จะทำงานประจำ หลายๆ คนอยากจะเริ่มกิจการของตัวเองหรือเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ 

“TMRW มองเห็นว่าเราน่าจะมาเติมเต็มได้ จึงเกิด TMRW Creators Camp ขึ้นมาเพื่อที่จะส่งเสริมให้ดิจิทัลเจเนอเรชั่นได้ทำตามความฝันของเขา ส่วนหนึ่งคือที่ผ่านมา TMRW ทำงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์เยอะมาก จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่จะได้ร่วมงานกับ TMRW ด้วย” 

TMRW Creators Camp
นที ศรีรัศมี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Retail Digital ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

ในฐานะแบรนด์ที่ทำงานร่วมกับคอนเทนต์ครีเตอร์มามาก เราจึงถามมุมมองที่นทีมีต่อตลาดคอนเทนต์ในปัจจุบัน ซึ่งเขาบอกว่าตลาดคอนเทนต์มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีก เพราะคนโหยหาคอนเทนต์ใหม่ๆ เสมอ

“สมัยก่อนคนอาจจะชอบดูหนัง ดูละคร ดูโฆษณาที่เป็นโฆษณา แต่สมัยนี้คนชอบคอนเทนต์อะไรที่มันเรียล มีความสดใหม่ เรามองว่าสิ่งนี้มีแต่จะเติบโต เพราะว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ช่องทางออนไลน์ก็เปิดกว้าง คนเริ่มยอมรับว่ามันเป็นอาชีพได้ คนดูเองก็ยังเอนจอยกับคอนเทนต์แบบนี้”

สำหรับ TMRW Creators Camp นั้นจะเน้นสื่อสารคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ เพราะเชื่อว่าแพลตฟอร์มในรูปแบบวิดีโอยังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด น่าจะตรงกับความสนใจของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย แคมป์นี้จึงมุ่งเน้นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ทักษะการเล่าเรื่อง (storytelling) การทำวิดีโอ และการทำไลฟ์ ซึ่งจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่เข้าร่วม

“หลักๆ ที่พวกเราคาดหวังคืออยากเห็นน้องๆ ที่มีไฟอยากจะพัฒนาตัวเอง มีความฝันที่จะเป็นเหมือนพี่ๆ ครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ ได้เข้ามาเรียนรู้และประสบความสำเร็จ รองจากนั้นเป็นเรื่องคอนเทนต์ในแง่ว่าเราเองก็จะได้โอกาสในการทำงานครีเอเตอร์ใหม่ๆ ได้ไอเดียใหม่ๆ ได้คอนเทนต์ใหม่ๆ มาสื่อสารกับลูกค้าของ TMRW ด้วยครับ” นทีทิ้งท้ายถึงความคาดหวังต่อแคมป์นี้

TMRW Creators Camp

คอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ก้าวไกลระดับโลก 

พอฟังนทีและขจรแล้วเราเชื่อว่าหลังจบโครงการนี้จะมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาประดับวงการเยอะขึ้น แต่ในอนาคตวงการจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน ยังเป็นคำถามที่เราสงสัย

ขจรคาดการณ์ว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมีความเฉพาะทางมากขึ้น เช่น ครีเอเตอร์ที่ดังเฉพาะใน TikTok แต่ไม่ได้รับความนิยมในช่องทางอื่น หรือครีเอเตอร์ที่เจาะกลุ่ม niche มากอย่างบิวตี้บล็อกเกอร์ที่รีวิวเฉพาะเครื่องสำอางออร์แกนิก 

นอกจากนี้การโด่งดังในระดับโลกก็เป็นอีกสิ่งที่ขจรเล็งเห็น เพราะมีครีเอเตอร์รุ่นพี่พิสูจน์ให้เห็นไปบ้างแล้ว เช่น เพจ Lowcostcosplay ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์แปลงสิ่งใกล้ตัวเป็นคอสเพลย์ในราคาจับต้องได้จนมีผู้ติดตามจากทั่วโลก 5.5 ล้านคน หรือช่อง DEKSORKRAO ที่มีการเต้นคัฟเวอร์มิวสิกวิดีโอของวง BLACKPINK โดยหยิบจับสิ่งของรอบตัวมาเป็นพร็อพและฉากหลังจนได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศ

“ผมรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นไปได้ เหลือแค่ว่าเราต้องช่วยกันผลักดัน ยิ่งในช่วงหลังที่เริ่มมีคอนเทนต์ประเภทที่ภาษาไม่ใช่อุปสรรค เช่น คอนเทนต์ใน TikTok การคัฟเวอร์ การชาเลนจ์ที่มันสนุก หรือ ASMR ที่ทำเรื่องเสียงก็น่าสนใจ ผมอยากเห็นครีเอเตอร์ไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกเหมือนกันนะ” 

คำแนะนำจากครีเอเตอร์รุ่นเก๋าถึงรุ่นใหม่

ก่อนจากกัน เราขอให้ขจรให้คำแนะนำกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่าให้เป็นตัวของตัวเอง

“เพราะในวงการมีตัวอย่างให้ดูเยอะ ทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี จนเขาอาจจะสร้างคอนเทนต์ที่เป็นออริจินอลของตัวเองได้ไม่มากนัก สังเกตว่าทุกวันนี้คอนเทนต์จะค่อนข้างคล้ายกันไปหมดจนเราเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นใคร”

ขจรบอกว่าการจะค้นหาเอกลักษณ์ตัวเองให้เจอนั้นมีทางเดียว คือต้องทดลองทำและฝึกฝนให้มาก ซึ่งในโลกดิจิทัลนั้นทำได้ง่ายและแทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากต้องทุ่มเทเวลาและหัวใจ อีกทั้งอย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากต้องใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ คุณจะยังยืนระยะทำต่อไปหรือไม่

“ผมใช้เวลาเกือบ 10 ปีนะกว่าจะมีคนรู้จัก เพราะงั้นต้องถามตัวเองว่าจะอดทนอย่างนั้นได้หรือเปล่า ชอบจริงก็ต้องรักจริง ต้องอดทนทำได้จริง และต้องมีความสุขในการได้สร้างคอนเทนต์ ไม่ใช่มีความสุขเฉพาะตอนได้เห็นผลตอบรับของมัน ถ้าแค่ได้สร้างคอนเทนต์ก็มีความสุขแล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะมีทางไปต่อได้” ขจรทิ้งท้าย


สำหรับใครที่พลาดโอกาสสมัครเข้าร่วม TMRW Creators Camp ยังสามารถติดตามไฮไลต์รวมไปถึงกิจกรรมสนุกๆ ของแคมป์ได้ที่เพจ TMRW Thailand และ Rainmaker

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่