5 เคล็ดลับจับเรื่องรอบตัวมาเล่าเป็นหนังตามแบบฉบับเต๋อ นวพล

คงไม่ต้องเสียเวลาแนะนำทำความรู้จัก เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ คนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมือที่มีลายเซ็นชัดเจนในผลงานทุกเรื่องกันอีกแล้ว ถึงปีนี้เราจะยังไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องยาวของเขา แต่เต๋อบอกเราว่าปีนี้เขาได้ลองกระโดดไปทำงานสนุกๆ ในสนามที่ไกลออกไปจากเดิมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการภาพถ่ายประกอบคำที่เป็นกระแสให้ใครต่อใครต้องไปดูเขาเขียนบทสดๆ อย่าง i write you a lot หรือแวะไปส่งเสียงทักทายพร้อมเลือกเพลงอินดี้ให้วัยรุ่นฟังทุกเย็นวันเสาร์ในรายการวิทยุ แซดเต๋อเดย์ กับทาง CAT Radio

สำหรับเรา เต๋อคือคนหนุ่มที่บ้าพลังเสมอต้นเสมอปลาย แถมยังเก่งในการพลิกแพลงเทคนิคการเล่าเรื่องของตัวเองไปกับงานที่หลากหลาย จนเราต้องขอให้เขามาเผยไต๋กับเราหน่อยว่า ความละเอียดในการจ้องมองผู้คนและมุขตลกร้ายที่เขาจับใส่ในผลงานทุกอย่างตลอด 12 ปีของเขานั้นมีที่มายังไง (เผื่อเราจะได้เอามาใช้บ้างนั่นแหละ)

TIP 01: ทดลองจนรู้แนวทาง

ความอยากลองทำภาพยนตร์มีในตัวเต๋อตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย งานช่วงแรกที่เต๋อลองทำเลยเริ่มจากหยิบประเด็นในงานวรรณกรรมมาตั้งไว้ เช่น งานเขียนของปราบดา หยุ่น หรือปรัชญาเซนญี่ปุ่น แล้วค่อยคิดเสริมเรื่องราวเข้าไปใหม่ ช่วงครึ่งแรกของการเข้าสู่วงการคนทำหนัง เต๋อทำหมดทั้งงานหนังสั้นเชิงทดลองและไม่ทดลองเพื่อค้นหาว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร จนสุดท้ายก็พบว่าตัวเองชอบหนังเล่าเรื่อง (Narrative Film) ที่มีเรื่องราวมากกว่าจะชูด้วยคอนเซปต์เฉยๆ

TIP 02: มองหารายละเอียดจากเรื่องราวธรรมดารอบตัว

พอรู้ว่าอยากทำหนังเล่าเรื่อง ก็ต้องมองหาเรื่อง แต่จะไปเอาเรื่องมาจากไหนล่ะ?

ง่ายสุดที่เต๋อบอกกับเราคือต้องหัดเป็นคนช่างสังเกต คำนี้ไม่ได้หมายถึงการมองหาแต่สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครเจอ แต่ที่ยากและท้าทายกว่าคือการสังเกตให้เห็นรายละเอียดหรือมิติใหม่ๆ ของเรื่องราวธรรมดาที่เราเจออยู่ทุกวัน แล้วค่อยๆ แตกประเด็นออกมา เต๋อเชื่อว่าทุกเหตุการณ์และของทุกอย่างในชีวิตนำมาทำหนังได้หมด แค่ต้องมองหาจุดพิเศษของมันและดึงออกมาใช้ให้ดีพอ

“ทุกคนมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่แล้ว เพียงแค่อย่าคิดว่ามันไม่น่าสนใจ คิดแบบนั้นมันจะไม่น่าสนใจจริงๆ แต่อะไรล่ะที่เรามีและไม่เหมือนคนอื่น นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่จะเอามาเล่า”

TIP 03: หามุมที่ใหม่จากประสบการณ์ที่มี

มีเรื่องอยากเล่าแล้ว แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องที่ถูกคนอื่นพูดถึงบ่อยเป็นรอบที่ร้อย แล้วจะทำยังไงให้เรื่องเล่าของเราไม่เก่าและเชย เต๋อบอกว่าเรื่องนี้อยู่ที่การสั่งสมประสบการณ์ของนักหัดเล่าเรื่องแต่ละคนว่า เคยอ่าน ฟัง นั่งชมสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายมากแค่ไหน ยิ่งมีวัตถุดิบเยอะก็จะยิ่งพลิกแพลงเรื่องธรรมดาๆ ให้เป็นเรื่องที่ไม่เหมือนใครและสนุกได้มากกว่า

“ถ้าเราอยากเล่าเรื่องนักมายากล เรื่องนี้มันใหม่สำหรับเรา แต่มีคนเล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว 15 มุม สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เปลี่ยนเรื่องใหม่ แต่ต้องหามุมที่ 16 ให้เจอ”

TIP 04: รู้จักเรื่องที่อยากเล่าให้มากพอ

ถ้าลองสังเกต หนังของเต๋อมักจะเล่าเรื่องคนทั่วไปและใส่รายละเอียดเล็กน้อยให้กับชีวิตตัวละครเหล่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่เจ้าตัวสนใจมาตลอด นี่เป็นอีกเคล็ดลับที่เต๋อบอกว่าสำคัญ ความยาวของหนังเป็นตัวแปรให้เราต้องคิดว่าจะพัฒนาเรื่องที่เราสนใจให้กลายเป็นบทได้ยังไง ถ้าเป็นหนังสั้น 10 – 15 นาที เลือกเรื่องที่มีประเด็นให้พูดถึงไม่กี่ข้อและสร้างสถานการณ์ดีๆ ก็เพียงพอ แต่ถ้าได้โจทย์ว่าต้องทำหนังยาว เรื่องที่เอามาเล่าก็ควรเป็นเรื่องที่ตัวคนทำรู้จักดีและเชี่ยวชาญพอจนสร้างจักรวาลของเรื่องราวและตัวละครขึ้นมาได้ เพื่อจะได้มีอาวุธไว้หลอกล่อคนดูให้ไม่เบื่อตลอด 90 นาทีได้เยอะๆ ยกตัวอย่างเร็วๆ ถ้าอยากเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของคน แค่เปลี่ยนอาชีพและรายละเอียดในชีวิตของพระเอกนางเอกที่มาเจอกันก็เกิดเป็นหนังเรื่องใหม่ได้ไม่รู้เบื่อแล้ว

TIP 05: หาเรื่องเชื่อมโยงกับคนดู

ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าถ้าทำหนังเล่าเรื่องที่คนดู ‘อิน’ ไปกับมันได้ ก็น่าจะการันตีความสำเร็จของมันได้พอตัว หนังเล่าเรื่องการทำงานหนักที่ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำก็คงเข้าใจดี การเล่าเรื่องที่ตรงกับความสนใจของคนคือหมัดเด็ดที่จะปล่อยใส่คนดูให้เชื่อมโยงกับหนังและติดตามเรื่องราวต่อไปได้
แต่ถึงอย่างนั้น คนทำหนังก็ไม่จำเป็นต้องทำแต่เรื่องที่ตรงกับความสนใจของคนส่วนมากไปเสียหมด ยังต้องทำเรื่องที่ตัวเองสนใจ แต่บิดยังไง ชูประเด็นไหน ให้มันส่งไปถึงคนกลุ่มใหญ่ขึ้นให้ได้มากกว่า

“หนังบางเรื่องที่เราหลุดๆ ก็เพราะมันไม่มีประเด็นที่ตรงกับความสนใจกับเรา แต่หนังเรื่องนั้นก็ไม่ผิดนะ แค่เราไม่ชอบคนเดียว อาจมีคนอีกหมื่นๆ คนชอบมันก็ได้ เพราะงั้นก็ทำเรื่องที่เราถนัดและสนใจไปให้ดีที่สุดนั่นแหละ”

“ยุคนี้เทคโนโลยีเอื้อให้ทุกคนผลิตเนื้อหาของตัวเองได้ ข้อดีคือเราจะได้มีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นและเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ทั่วโลกได้ง่ายกว่า แต่คุณก็ยังต้องเป็นตัวของตัวเอง เลือกทำในสิ่งที่ถนัด และยังต้องยึดแก่นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจไว้เสมอ ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย เนื้อหาที่ดีถ้าเขียนใส่กระดาษเฉยๆ อาจจะดีกว่าหนังของเราทั้งเรื่องก็ได้ และถ้าถึงตอนนั้นมันก็จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อใครบางคนในอีกซีกโลกด้วยตัวมันเอง”

อ่านจบแล้วคันไม้คันมืออยากลองเล่าเรื่องราวที่ชอบในแบบของคุณเอง ก็รีบสร้างสรรค์คลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที ในหัวข้อ Connecting Lives ไม่จำกัดรูปแบบทั้งภาพยนตร์สั้น มิวสิกวิดีโอ หรือแอนิเมชัน ส่งมาร่วมโครงการ AIS THE 5-MIN VIDEO CHALLENGE ลุ้นเป็น 2 ตัวแทนที่จะเข้าไปประกวดในระดับโลก พร้อมเงินรางวัลกว่า 500,000 บาท พร้อมลุ้นต่อที่สองชิงเงินล้านในเวทีระดับโลก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ ais.co.th/The5minvideochallenge และเพจเฟซบุ๊ก AISTHE5MINVIDEOCHALLENGE นะ

 

AUTHOR