หิมะ ความฝัน และตราบาป Frozen Hot Boy เรื่องราวของแก๊งเด็ก(เคย)เดือด กับภารกิจพิชิตก้อนน้ำแข็ง  

‘เด็กมีปัญหา’ 

คำพูดที่เราต่างใช้เรียกเยาวชนคนใดก็ตามที่ปฏิบัติตัวไม่ต้องตามครรลองคลองธรรมของสังคม หรือหนักกว่านั้นอาจใช้เรียกเด็กสักคนที่กระทำความผิดและต้องไปใช้ชีวิตอยู่ภายในรั้วหนาม ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนกับกระดาษโพสต์อิตที่แปะไว้บนหน้าของ ‘แจ๊บ’ เด็กมีปัญหาที่ว่าคนนั้น หนึ่งในเยาวชนนับร้อยของศูนย์ฝึกเยาวชน ที่ถูกตราหน้าว่าชาตินี้ก็ไม่มีทางเป็นคนดีได้ กลับต้องกลายมาเป็นหัวหน้าทีมแกะสลักหิมะ ที่สมาชิกในทีมไม่มีใครเคยเห็นหิมะมาก่อน 

ทว่าความยากลำบากในการฝึกซ้อม อาจไม่ได้ยากเท่ากับการต่อสู้กับความหวังที่ไม่แน่ใจ เพราะไม่เชื่อว่าเด็กที่เคยทำผิดสามารถมีความฝันได้หรือเปล่า อีกทั้งแรงกดดันจากสังคมที่ตั้งคำถามต่อโอกาสของพวกเขา คือโจทย์สำคัญที่เด็กกลุ่มนี้จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้

หากใครที่ได้รับชม ‘แก๊งหิมะเดือด’ ภาพยนตร์ของผู้กำกับเลือดใหม่ที่เพิ่งเข้า Netflix มาแบบสดๆ ร้อนๆ ความรู้สึกแรกหลังดูจบคงอบอวลไปด้วยแสงสว่างวาบในจิต และคงสัมผัสได้ถึงความเบียวอย่างตั้งใจ ที่สะท้อนออกมาจากทั้งตัวละคร บทพูด รวมถึงอีกสารพัดองค์ประกอบในภาพยนตร์ พร้อมกับพล็อตเรื่องสู้ฝันแบบโชเน็นเมนสตรีม จัดเต็มด้วยมุขฮาที่ทั้งธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ แต่หากคนดูได้แหวกม่านผ่านความบันเทิงนั้นเข้ามาอีกขั้น จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พยายามนำเสนอประเด็นสังคมที่ละเอียดอ่อนไว้อย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ซะด้วย

“ช้างมันอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แค่แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป” 

บทสนทนาในเรื่อง ที่เปรียบเปรยว่า​​การแกะสลักหิมะอาจไม่ต่างจากการค้นหาตัวเองเท่าไหร่ เพราะบางทีตัวตนที่แท้จริงของเราก็แค่ซ่อนอยู่ลึกๆ ข้างใน รอเพียงบางสิ่งมากะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ออกไปเท่านั้น 

ด้วยมิติที่น่าสนใจของเรื่องราวและตัวละคร คอลัมน์ ‘Artist Talk’ ในครั้งนี้จึงได้ชวน เป้-นฤบดี เวชกรรม, ปิ๊ปโป้-เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ และ ดรีม-ธนกฤต กิตติอภิธาน เหล่าผู้ให้กำเนิด ‘แก๊งหิมะเดือด’ มาจับเข่าคุยถึงที่มาที่ไป แรงบันดาลใจ และประเด็นต่างๆ ที่สอดไส้อยู่ในภาพยนตร์รสเปรี้ยวนำขมตามเรื่องนี้ 

จากก้อนหิมะ สู่เด็กในรั้วหนาม
จุดตั้งต้นเส้นทางสุดทุลักทุเลของ ‘แก๊งหิมะเดือด’

ดรีม: เราได้ไอเดียเกี่ยวกับเรื่องทีมแกะสลักหิมะมาจากการโยนไอเดียกันในบริษัท ซึ่งเรามองว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ เลยเริ่มไปรีเสิร์ชเรื่องนี้แล้วก็พบว่า มีข่าวเกี่ยวกับทีมคนไทยที่ไปแข่งแกะสลักหิมะเยอะมาก เวลาไปแข่งก็จะชนะตลอด เร็วๆ นี้ก็มีเด็กอาชีวะที่ไปแข่งที่ฮาร์บินแล้วก็ได้รางวัลดีๆ กลับมา เราเลยคิดว่าประเด็นนี้มันน่าสนใจนะ เด็กประเทศเมืองร้อนไปแข่งแกะสลักหิมะ แถมยังชนะได้รางวัลมาอีก ทั้งๆ ที่ทีมอื่นเขาเกิดมาก็เจอหิมะอยู่แล้วแต่พวกเราเจอแค่น้ำแข็งไสด้วยซ้ำ 

ปิ๊ปโป้: การแกะสลักหิมะมันก็เป็นสิ่งที่เราเห็นในข่าวเรื่อยๆ ว่าทีมไทยไปชนะการแข่งขันที่ฮาร์บินบ้าง ซัปโปโรบ้าง แต่เราก็รู้กันแค่นั้น เราแทบไม่เคยรู้เลยว่ากฎกติกาเป็นยังไง หรือเขาแข่งขันกันยังไง ซึ่งพอเราได้ไปรู้จักกับพี่ที่เขาเป็นโค้ชทีมแกะสลักหลายปีซ้อน ส่งเด็กไปทุกปี เราก็เลยได้ไปเห็นขั้นตอนการฝึกซ้อมแกะสลักหิมะ ‘ที่ไม่มีหิมะ’ ซึ่งเขาก็จะใช้น้ำแข็งแทน หรือไม่ก็สร้างมันขึ้นมาจากสูตรหิมะเทียม 

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่โยนไอเดียมาแล้วมันฮุกเลย มันสนุก มันน่าสนใจ ประกอบกับส่วนตัวเคยไปดูเทศกาลหิมะที่ฮาร์บินแล้วเรารู้สึกว่ามันตรึงใจเรามาก ซึ่งเราก็อยากให้วิชวลแบบนั้นมันเกิดขึ้นในหนังบ้าง 

ดรีม: คิดว่าในแง่มุมภาพยนตร์ไทยมันยังไม่มีหนังที่เล่าเรื่องของการแกะสลักน้ำแข็งเลย เราเลยคิดว่ามันควรมีหนังเกี่ยวกับศิลปะแขนงนี้บ้าง มันเป็นสิ่งที่คนไทยเก่งมาก และไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวขนาดนั้น 
ปิ๊ปโป้: ในแง่ของความเป็นเอนเทอร์เทนเมนต์เรื่องของเด็กเมืองร้อนที่ไม่เคยเจอหิมะ แต่ดันต้องไปแข่งแกะสลักหิมะ พอฟังดูแล้วมันน่าสนุกดี

เด็กมีปัญหา? 
ทำไมตัวละครหลักในเรื่องต้องเป็นเด็กในศูนย์ฝึกเยาวชน

ดรีม: เรื่องเด็กศูนย์ฝึกเยาวชนมันมักจะเป็นกระแสสังคมอยู่ตลอด ทุกครั้งที่มีเด็กกระทำความผิดคดีแรงๆ เราก็จะเห็นว่ามันมีกระแสที่มองว่า ‘เด็กควรได้รับโทษแบบผู้ใหญ่’ หรือความเห็นที่ว่า เด็กพวกนี้มันไม่มีโอกาสกลับตัวอีกแล้วเมื่อทำผิด ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรเป็นแบบนั้นหรือเปล่า? 

ตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่องเราสร้างเขามาจากเรื่องราวของคนจริงๆ หมดเลย เด็กทุกคนที่เราได้ไปพูดคุยส่วนมากเขาจะมีจุดร่วมกันก็คือพื้นฐานทางครอบครัวไม่ดี หรือไม่ก็ครอบครัวทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ตรงนั้นไม่ได้ ครอบครัวผลักให้เขาต้องเจอกับความผิด ต้องไปอยู่ในสังคมที่แย่ ต้องพัวพันกับยาเสพติด พอเขาถลำเข้ามาแล้ว เขาก็เชื่อว่าเขาไม่มีที่ให้กลับไป และเขาก็ไม่เชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนได้ เหมือนเป็นจุดร่วมของแทบจะทุกคนเลยว่า “แล้วผมจะทำอะไรนอกจากนี้ได้” 

พอเรามีเวลาที่จะได้คุยกับเด็กๆ ข้างในเราก็เลยอยากเล่าสิ่งนี้ เราอยากให้คนมองเห็นฝันของเด็กที่มันไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำอะไรได้มากกว่าสิ่งที่ตัวเองเคยทำมา และมันก็โดนสังคมย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า “มึงมันก็แค่นี้”

เป้: บางทีเด็กที่ทำผิดเขาได้รับการส่งเสริมกันด้วยสังคมของเขา หรือกลุ่มเพื่อนของเขา ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีฝัน มีความสามารถที่เขาไม่มีโอกาสได้แสดงออกมา หนังเรื่องนี้มันเหมือนชวนให้คนดูคิดว่า ถ้าคุณเองเคยทำผิดมาสักเรื่องแล้วมันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ คุณลองเอาอีกสิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้มาทดแทนมันสิ บางทีมันอาจจะเปลี่ยนตัวตนข้างในให้มันดีขึ้นกว่าการจมอยู่กับสิ่งนั้นก็ได้

ความท้าทายต่อกระแสสังคม 
กับประเด็นการนำเสนอเรื่อง ‘เยาวชนที่กระทำความผิด’

ปิ๊ปโป้: เราคุยกันเยอะเหมือนกันว่าไม่อยากให้หนังมันไป ‘Romanticize’ เด็กที่ทำผิดเลย ซึ่งเราก็พยายามบาลานซ์ให้หนังมันไม่ไปตัดสิน มันคือเรื่องที่ยากเหมือนกันที่จะไม่ให้สังคมมาบอกว่า “พวกมึงทำหนังโลกสวย” 

ดรีม: เราเล่าเรื่องเด็กที่ทำความผิดเป็นหลักก็จริง แต่เราก็ไม่ได้เล่าแค่ในแง่มุมของเด็กเท่านั้น เราเองก็เล่าในมุมของคนอื่นที่มองเด็กเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน และเราก็สะท้อนในหนังว่าพวกเขาคิดยังไงกับเด็กกลุ่มนี้

“ให้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำ แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไปเหมือนกัน” 

เราคิดว่าประโยคนั้นคือสิ่งที่เราอยากพูด แน่นอนว่าเขาทำผิดจริง มันผิดแน่ๆ แต่ว่าลองให้เด็กเหล่านี้ได้แก้ตัวไหม โอกาสก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เขารับโทษเสร็จเขาสามารถเลือกทางอื่นได้

เป้: ในมุมของผม หนังเรื่องนี้มันท้าทายตรงที่เป็นประเด็นสังคม แต่เราจะต้องเล่ายังไงให้มันสนุกด้วย เพราะหนังเรื่องนี้มันมีความเป็นดราม่า-คอเมดี้ ซึ่งมันก็ยากที่จะเล่าเรื่องเด็กในศูนย์ฝึกเยาวชน และทำให้ไม่รู้สึกว่ามันผิดกับการที่เอาเด็กกลุ่มนี้ออกมาจากรั้วที่ล้อมเขาอยู่ เราเลยต้องพยายามมองภาพว่าพวกเขาคือเด็ก เขาทำความผิดจริงแต่ข้างในของเขาก็ยังคงเป็นเด็กคนหนึ่งเหมือนกัน เขายังต้องการโอกาส และยังต้องการทำอะไรอีกตั้งเยอะ แต่ถ้าเราตัดสินจากสิ่งที่เขาทำเพียงครั้งเดียว มันก็จบเลย เราต้องบาลานซ์ให้ดี ต้องเล่าเรื่องให้สนุก แต่ก็ยังคงต้องให้พื้นที่ในการพูดถึงโอกาสของเด็กเหล่านี้ด้วย 

ดรีม: เราไปเจอเด็กข้างในนั้น ทุกคนเหมือนเพื่อนที่เราเคยเรียนด้วยกันสมัยมัธยม แต่ต่างกันตรงที่เขาเคยทำความผิดมา เขาต้องเข้ามาในนี้ และมันเปลี่ยนชีวิตของเขา เด็กที่เราไปเจอมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อน หรือคนในสังคมของเขา ไม่มีใครบอกว่าเขากำลังทำสิ่งที่ผิดอยู่ แล้วพอต้องมาอยู่ข้างในถึงจะมีคนมาบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดีนะ 

ซึ่งก็จะมีทั้งเด็กที่เข้าใจ แล้วก็มีเด็กที่กลับออกไปก็ยังทำผิดซ้ำซากเหมือนเดิม มันมีเด็กหลายแบบจริงๆ แต่เราคิดว่าเราอยากให้มีคนไปชี้ให้เขาเห็นสักครั้งหนึ่งก็ยังดีว่าเขาลองทำอีกทางได้นะ ส่วนเขาจะเลือกทางไหนมันก็สุดแท้แต่เขาแล้ว

ปิ๊ปโป้: เราเคยพานักแสดงไปที่ศูนย์ฝึกเยาวชนรอบหนึ่ง เพื่อที่จะให้นักแสดงเขาเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นยังไง ซึ่งก็อย่างที่ดรีมบอกเลยว่า เขาก็เป็นเด็กคนหนึ่งจริงๆ 

แคะ แซะ แงะ
ความสัมพันธ์ของก้อนน้ำแข็ง และการขัดเกลาทางจิตใจ

ดรีม: เบื้องหลังของตัวละครต่างๆ เขาก็ถูกสร้างมาจากความเชื่อที่ไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนตัวเองได้

การทำความผิดครั้งเดียวมันเปลี่ยนชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปเลย ซึ่งบางทีเขาอาจจะต้องการคนที่มาบอกว่าสิ่งนี้มันจะไม่ใช่จุดจบของชีวิตนะ มันคล้ายกับการแกะสลักในแง่ที่ว่า จากก้อนน้ำแข็งทื่อๆ 1 ก้อนที่ไม่มีอะไรเลย ถ้ามีคนที่ถูกต้องเข้าไปแนะนำว่ามันควรที่จะแกะมันออกมายังไง มันก็จะออกมาอย่างถูกต้อง 

ปิ๊ปโป้: ตัวละคร ‘ป้าอัญ’ ที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกเยาวชน เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากคนจริงๆ ซึ่งก็คือ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก องค์ประกอบหลายอย่างที่เราก็หยิบมาใช้ เช่น การกินหมูกระทะ ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่บ้านกาญจนาฯ เขาใช้จริงๆ เพื่อที่จะให้เด็กที่เข้าไปรู้สึกว่าที่นี่ไม่ได้เป็นสถานที่ที่ไม่เชื่อใจเขา ซึ่งของจริงยิ่งกว่าในหนังอีกนะ เขาพาไปร้านจริงๆ ที่เด็กมันวิ่งหนีได้เลยนะ แต่ป้ามลเขาเชื่อใจเด็กๆ แล้วก็ไม่ได้มีใครวิ่งหนีออกไป 

เป้: บางทีเราอาจจะต้องยอมรับในตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นคืออะไร ต้องไปทำความรู้จักกับน้ำแข็งก้อนนี้ก่อน พื้นผิวมันเป็นยังไง รูปทรงมันเป็นยังไง ต้องเซาะตรงไหนเพื่อไม่ให้มันพลาด ต้องแงะตรงไหนเพื่อให้มันพอดี ซึ่งมันก็คือการฝึกฝนข้างในตัวเราเหมือนกัน

กว่าจะเป็น ‘Frozen Hot Boys’
เรื่องเล่าจากการขนกองไปถ่ายในต่างแดน

ดรีม: หนักสุดคืออากาศ ถ้าหนาวอย่างเดียวคือเราเตรียมตัวได้แหละ แต่ปัญหาคือเวลาเราถ่ายภาพยนตร์เราต้องการความต่อเนื่อง (Continue) แต่ที่ญี่ปุ่นมันอากาศเปลี่ยนแบบ 10 นาทีมี 4 ฤดู ซึ่งเป็นสิ่งที่เราค่อนข้างช็อกตอนที่ไปเจอ เช่น ถ่ายรับหน้าอยู่ หิมะตก ผ่านไปอีกสักแปป อ้าว แดดออก เราก็เลยต้องเตรียมตัวกับเรื่องนี้เยอะมาก เราก็คุยกันว่าจะทำยังไงให้มันต่อเนื่องกันโดยที่คนดูไม่ติดขัด ต้องคุยกับทีมญี่ปุ่นเยอะมากซึ่งเขาก็ชำนาญเกี่ยวกับสภาพอากาศบ้านเขา 

ปิ๊ปโป้: มันมีเรื่องตลกๆ อยู่เหมือนกัน ด้วยวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเขาเป็นคนที่มีมารยาทมาก ซึ่งเราจะไปปิดถนนถ่ายทำ เขาไม่ให้นะ เขาบอกว่าเราต้องเคารพพลเมืองของเขา เราห้ามไปขวางทาง รถจะขับ หรือคนจะเดิน เขาก็ต้องมีสิทธิ์ ทีนี้เราก็ต้องจัดการยังไงก็ได้ที่จะให้คนไม่เดินเข้ากล้อง เพราะเราถ่ายติดเขาไม่ได้เหมือนกัน ก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกดีครับ 

เป้: มีฉากตอนกลางคืนที่เราดูสถานที่ไว้ว่ามันจะต้องมีหิมะ 2 ข้างทาง ซึ่งมันสวยมาก แต่วันที่เราไปถ่ายจริงคือฝนตก หิมะจากสีขาวมันก็กลายเป็นสีขมุกขมัว ซึ่งเราก็ต้องขอความร่วมมือกับทีมงานญี่ปุ่นให้เขาเอาหิมะมาลงให้ใหม่เพื่อที่จะให้มันเป็นสีขาวทั้งสองข้างทาง (ซึ่งเขามีเครื่องทำหิมะ ทั้งๆ ที่ประเทศเขาก็มีหิมะ) พอเราได้ฉากที่อยากได้แล้ว แต่พอถึงตอนถ่ายจริงฝนตกลงมาอีก หิมะก็ดำอีก กลายเป็นว่าเราก็ต้องถ่ายท่ามกลางฝน กับอากาศ -10 องศาเซลเซียส จนถึงตี 2 – 3 ด้วยความทรหด

Magic Moment ในกองถ่าย

ดรีม: ฉากที่สะพานตอนจบเป็นซีนที่ประทับใจมาก เพราะเราคิดกันแล้วว่าต้องไปถ่ายร้านหมูกระทะแน่นอน ซึ่งพอใกล้ถึงวัน กรมอุตุฯ เขาแจ้งว่ามันจะหิมะตกและพายุเข้า แต่สุดท้ายวันนั้นคือเราไปแล้วแดดออก แสงสวย เลยต้องรีบถ่ายให้ไวก่อนมันจะหายไป แล้วกลายเป็นว่าภาพมันก็ออกมาดีมาก

ปิ๊ปโป้: ซีนในสวนสาธารณะผมก็ชอบเหมือนกัน ฉากที่ครูชมไปเจอพ่อ เพราะตอนนั้นแสงมันสวยมาก 

เป้: แสงมันเปิดมาพอดี สวยอย่างกับถ่ายในสตูดิโอเลย 

ดรีม: เรายังแซวกันอยู่เลยว่าฉากนั้น CG แน่นอน มันสวยเกินไป แล้วก็มีซีนที่ไทยที่เราประทับใจ เป็นฉากตอนที่ไปแข่งคัดตัวกัน อันนั้นเราถ่ายกันเป็นคิวท้ายๆ แล้วตอนนั้นนักแสดงเขาสนิทกันมากๆ ณ โมเมนต์นั้นมุขอะไรต่างๆ ที่เราเห็นคือตัวละครเขาเล่นกันมาเอง โดยที่ไม่ได้ปรึกษาอะไรกันมาก่อนเลย แต่มันดีมาก ซึ่งเราก็นั่งขำกันหน้ากล้องและเราก็รู้สึกว่า เออ นี่มันคือ ‘Frozen Hot Boys’ จริงๆ

สิ่งที่ ‘เซาะ’ มาได้ ในฐานะคนทำหนัง

เป้: หลังจากที่ปิ๊ปโป้กับดรีมแล้วก็ทีมเขาทำบทเสร็จเรียบร้อย พี่เป็นคนที่มาท้ายสุด เข้ามาขั้นตอนของการทำโปรดักชันแล้ว เป็นเหมือนอีกทีมที่มาซัปพอร์ตทีม ‘Frozen Hot Boys’ ซึ่งก็ถือเป็นทีมที่เข้ากันได้ดีมาก ถึงแม้มันจะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้างแต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี พอทำไปทำมาภาพในหัวของพี่กับดรีมมันก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ แล้วก็ถือว่าเราได้เรียนรู้จากน้องที่เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ ซึ่งมีวิธีคิดแบบนี้ มีมุมมองแบบนี้ เราเอามาแชร์กัน ก็ถือว่าได้มุมมองใหม่ๆ เยอะเหมือนกัน

ดรีม: นี่เป็นหนังเรื่องแรกของผมเลย แล้วก็ได้โอกาสมาทำงานร่วมกับพี่เป้ที่ทำหนังมาเยอะ แล้วก็ดูดวิชาเขามาเยอะเหมือนกัน เราดูวิธีการทำงานของเขา ได้วิธีการดีลกับทีมงาน นักแสดง ได้วิธีคิดจากการแปลงตัวอักษรให้กลายมาเป็นภาพ เราก็ซึมซับประสบการณ์เหล่านั้นมา 

ปิ๊ปโป้: ส่วนใหญ่เราทำซีรีส์กันมาตลอด แต่นี่ก็เป็นหนังเรื่องแรกที่เราทำและร่วมงานกับ Netflix ผมรู้สึกว่าการทำงานในครั้งนี้มันทำให้เราได้เห็นมาตรฐานที่ดีมากๆ จาก Netflix เหมือนกัน เราเห็นว่าเขาทำงานด้วยมาตรฐานแบบนี้ มีกระบวนการแบบนี้ เราเองก็เรียนรู้แล้วก็อยากทำให้ดีขึ้น แล้วก็โชคดีที่หนังเรื่องนี้มันมีทีมงานกับนักแสดงที่ค่อนข้างดี แน่นอนว่าปัญหาต่างๆ มันก็มีอยู่แล้ว แต่ภาพรวมเรารู้สึกว่ามันสนุก มันเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ คงเป็นกองถ่ายหนึ่งที่พอย้อนกลับมามองแล้วคงมีความสุขกับมัน นักแสดงล่าสุดไปสัมภาษณ์มาก็บอกว่ากองเราบรรยากาศดีที่สุดเลย ซึ่งเราก็ดีใจนะ เพราะว่าเราก็อยากให้คนทำงานและนักแสดงเอนจอย แล้วงานก็ออกมาได้ผลลัพธ์ที่ดี 

ดรีม: เพราะเราทำเรื่องเกี่ยวกับเด็กศูนย์ฝึกเยาวชน เราเลยต้องไปคลุกคลีแล้วก็เข้าใจเขาขึ้นเยอะมาก ทำให้เราไม่ได้ไปตัดสินอะไรจากข่าวเพียงด้านเดียว บางทีเราฟังข่าวมา เราไม่รู้ภูมิหลังด้วยซ้ำว่าก่อนเขามาทำสิ่งนี้เขาเผชิญกับอะไรมา เรารู้สึกว่าการทำหนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดลึกขึ้นมากๆ ว่าก่อนคนเราจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างมันเกิดขึ้นจากอะไร เขาทำไปทำไม และหลังจากนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา การทำหนังเรื่องนี้มันให้กระบวนการนี้กับเรา เรามองมนุษย์มีมิติขึ้น ไม่คิดอะไรแค่ด้านเดียว และไม่คิดเอาเองว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้นหรือควรจะเป็นแบบนั้น 

“สุดท้ายก็อยากให้คนดูสนุกไปกับหนัง”
ความบันเทิงเชิงสร้างสรรค์ที่อยากส่งต่อให้คนดู  

ปิ๊ปโป้: จริงๆ ที่เราคุยกันวันนี้สาระมันอาจจะเยอะหน่อย แต่เอาตรงๆ เราอยากให้คนดูหนังแล้วสนุกแหละ เราอยากให้คนดูเอนจอย แล้วก็สนุกไปกับมัน แต่ถ้าหากคนดูเขาดูจบแล้วหยิบจับอะไรกลับมาได้ มีประเด็นที่จุดประกายบางอย่างในใจ หรือหนังมันเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับเขา ผมก็ถือว่ามันคือกำไรของเรานะ เราคาดหวังอะไรแค่นั้นเลย 

เป้: หนังมันเจตนาทำให้สนุก แล้วก็เป็นคอเมดี้อยู่แล้ว แต่ทีนี้ถ้าเกิดว่ามันมีบางซีนไปโดนใจคนดูแล้วทำให้รู้สึกว่ามันสะกิดอะไรบางอย่างในใจ อย่างในเรื่องคือ การได้มาซึ่งโอกาสของเด็กที่เคยทำผิดมา มันก็เป็นสิ่งยากนะ แต่เขายังลองพยายามเลย ถ้าหากคนดูได้เมสเซจนี้กลับไปคุยกับตัวเองเหมือนกันเราก็ดีใจ 

ดรีม: เราไม่ได้อยากจะชี้นิ้วว่าทุกคนจะต้องมีมุมมองต่อเด็กศูนย์ฝึกเป็นแบบนี้นะ เราแค่หวังว่าถ้าเกิดสังคมมองมุมที่กว้างกว่านี้ได้ก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าจุดประสงค์หลักของเราก็คืออยากให้คนดูสนุกนั่นแหละ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นอยบอย

ช่างภาพที่ชอบนอยเพราะน้ำตาลตก 🥲