‘จากรุ่นสู่รุ่น’ การส่งต่อความตั้งใจของแพทย์อาสาที่อุทิศตนเพื่อประชาชนและความหวังที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

‘จากรุ่นสู่รุ่น’ การส่งต่อความตั้งใจของแพทย์อาสาที่อุทิศตนเพื่อประชาชนและความหวังที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม

“ผู้ป่วยในเมืองส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่พอมีเงินเข้าถึงโรงพยาบาลได้ง่าย ในขณะที่ผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกลการเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ในเรื่องของความเจ็บป่วยอาจจะเป็นโรคเดียวกันเลยด้วยซ้ำ”

ไกลออกไปจากพื้นที่ศูนย์กลาง ท่ามกลางหุบเขาในจังหวัดเชียงราย แม้จะมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แต่คนในชุมชนอีกหลายหลังคาเรือนยังเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของคุณภาพชีวิตที่ดี

การเดินทางเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของคนในพื้นที่ห่างไกลเลือกจะไม่ไปโรงพยาบาลที่ห่างออกไปกว่า 40-50 กิโลเมตร ทั้งยังต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันไปกับการรอรับบริการ บางครั้งอาจต้องเดินทางมาค้างคืนก่อนหนึ่งวันเพื่อรับคิวตั้งแต่เช้ามืด หลายครั้งผู้ป่วยจึงอาจมีอาการหนักกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วเนื่องจากไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงทีตั้งแต่เนิ่นๆ

เรามีโอกาสได้มาดูการทำงานอาสาของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสาโดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับเครือข่าย 16 คณะการแพทย์ ที่ทำงานเชิงรุกด้วยการสนับสนุนและออกหน่วยแพทย์อาสา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 36 แล้ว

ความพิเศษของปีนี้นอกจากการตรวจโรคทั่วไปแล้ว ยังมีการตรวจเฉพาะทางอย่างโรคกลุ่ม NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หรือโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ) โรคที่มีความรุนแรง รวมถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยได้วางแผนการรักษาได้ทันเวลา และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนให้ครอบคลุมกว่าที่ผ่านมา

วันนี้สิงห์อาสาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่โรงเรียนบ้านทุ่งพร้าว ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย วันนี้จึงเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนตัวเล็ก พร้อมผู้ปกครองและคนในชุมชนเดินทางเข้ามารับการรักษาตลอดช่วงเช้าอย่างไม่ขาดสาย การออกค่ายครั้งนี้ยังเป็นการร่วมมือกันของคณะสำนักการแพทย์ จากหลากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดูแลการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลเรื่องการเอ็กซ์เรย์ รวมถึงเจาะเลือดก่อนส่งเข้าห้องแล็บ และคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ช่วยดูแลตรวจรักษาสุขภาพช่องปาก ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานร่วมกับสาธารณะสุขท้องถิ่นในการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อดูแลในระยะยาวด้วย

ในวันที่อากาศหนาวเย็นของภาคเหนือ เรามีโอกาสได้พูดคุยเบื้องหลังการทำงานกับแพทย์อาสาทั้ง 3 รุ่น คือ นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ่วงตำแหน่งแพทย์ชนบทดีเด่นคนที่ 39 ของศิริราช ที่สั่งสมประสบการณ์กว่า 30 ปี เพื่อส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจให้กับแพทย์รุ่นใหม่อย่าง นพ.ชิษณุพงศ์ จันทาพูน แพทย์ผู้มองเห็นมิติอื่นๆ ของคนไข้ที่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วยตัวโรคเพียงอย่างเดียว และ นศพ.นิชาภา โปติยานนท์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่อยากเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่และมอบการรักษาอย่างดีให้กับคนไข้ เหมือนที่เคยได้รับสมัยเด็ก

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แต่ละครั้ง นอกจากความห่างไกลของพื้นที่แล้ว แพทย์ต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน ถึงแม้ว่าการออกหน่วยแต่ละครั้งถือเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากร แล้วอะไรที่ทำให้แพทย์อาสาต้องออกมาจากพื้นที่ประจำของตัวเอง ตามไปหาคำตอบจากการออกตรวจครั้งนี้พร้อมกัน

หมอรุ่นใหม่ กับภารกิจรับและส่งต่อ

“เราจะดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม การเห็นผู้ป่วยเป็นคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่แค่ตัวโรค แต่ดูแลทั้งร่างกายจิตใจ สภาพสังคม เศรษฐกิจ”

นพ.ชิษณุพงศ์ จันทาพูน หรือ หมอบุ๊ก นอกจากการตรวจโรคทั่วไป สำหรับการออกหน่วยแพทย์ครั้งนี้แล้ว หมอบุ๊กยังรับหน้าที่เป็นแพทย์รุ่นพี่ที่ช่วยสาธิตการทำงานให้กับนักศึกษาแพทย์ไปด้วย จุดหลังจากที่เรียนเฉพาะทางด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว เขาเห็นว่าหลายครั้งการรักษาโรคยังต้องอาศัยความเข้าใจและสภาพสังคมของตัวคนไข้เช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นอกจากเข้าถึงการรักษาได้ยากแล้ว ยังเป็นเพราะฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้การรักษายากขึ้นไปอีกขั้น

นพ.ชิษณุพงศ์ จันทาพูน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

“คนในพื้นที่ห่างไกลส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่มีฐานะไม่ค่อยดี เขาจะไม่ค่อยอยากไปโรงพยาบาลเพราะการเดินทางแต่ละรอบก็ต้องเสียค่ารถ ซึ่งรายได้เขาอาจจะไม่พอ ดังนั้นปกติเวลามีหน่วยแพทย์อาสาในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีผู้ป่วยเยอะประมาณนี้” หมอบุ๊กชวนเรามองไปยังคนในชุมชนที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาไม่ขาดสายตั้งแต่ช่วงเช้า

“การเดินทางไปโรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองลำบาก แม้เราจะเห็นว่ามีถนนที่เป็นทางลาดยาง แต่ในเรื่องของรถยนต์ หรือเงินที่เขาต้องเสียในการเดินทางไปโรงพยาบาลเขายังขาดแคลนอยู่ ส่วนมากถ้าไม่เขาป่วยแบบใส่ท่อช่วยหายใจ เขาแทบจะไม่ไปโรงพยาบาล ทำให้เขาขาดโอกาสในการรักษาตั้งแต่แรก การที่เราได้รักษาเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้เขาไม่เกิดโรคร้ายแรง อย่างน้อยเราสกรีนผู้ป่วยให้มากที่สุด หลังจากนั้นมีการส่งไปให้โรงพยาบาลตรวจเพิ่มเติม หรือช่วยโรงพยาบาลในแง่การคัดกรองผู้ป่วยให้ครอบคลุมและไวขึ้น ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนแล้วค่อยไปรักษา และโรงพยาบาลอาจจะส่งมารับยาที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไป 40-50 กิโลฯ”

“ที่ผ่านมาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลการคัดกรองค่อนข้างทำได้ยาก เพราะว่าการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือ Non-communicable Diseases เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย บางทีเราต้องมีการตรวจติดตาม ไม่ใช่การตรวจแค่ครั้งเดียว ซึ่งการที่เราจะนัดผู้ป่วยมาตรวจติดตามบางทีเขาอาจจะไม่ไป เขาอาจจะขาดการติดตามการรักษาไปเลย สุดท้ายเขาไม่ได้รับการรักษา รวมถึงเรื่องอาหารการกิน ในคนที่มีฐานะยากจน ก็มีโอกาสเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง”

แพทย์คืออาชีพที่ให้ค่าตอบแทนไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ หมอบุ๊กยอมรับว่าช่วงแรกเขาเพียงต้องการเติบโตในสายอาชีพนี้จนถึงระดับงานบริหารโรงพยาบาล แต่การทำงานกว่า 7 ปี ทำให้เขาพบว่าการดูแลคนไข้เป็นสิ่งที่เขามีความสุขมากกว่า

มากไปกว่าการเสียสละของแพทย์อาสา สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการรักษาคนไข้ถือเป็นหน้าที่หลักของแพทย์ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ซึ่งหมอบุ๊กบอกว่าการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการเติมเต็มจิตวิญญานของความเป็นแพทย์ที่เขาเคยตั้งใจไว้

“เราอยากดูแลเขาให้ดีกว่านี้ เปิดโอกาสให้เขาได้รับการรักษาที่ดี แล้วยิ่งเราเป็นหมอถ้าเราไม่อาสาไปดูแลเขา คงไม่มีใครไปดูแล เลยคิดว่ามันคงเป็นหน้าที่ของเราแล้วที่ต้องไปทำตรงนี้ เราเรียนมาเป็นแพทย์แล้ว หน้าที่เราคือได้ดูแลผู้ป่วย แล้วสุดท้ายเขาหาย เราก็จะมีความสุข”

ในวันที่เขากลายเป็นแพทย์แบบอย่างให้กับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ การเคารพและให้บริการที่ดีกับคนไข้ทุกคนเท่าเทียมกันคือสิ่งที่เขาอยากส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปเหมือนที่เขาเคยได้รับมาจากอาจารย์ก่อนหน้านี้

“ตอนที่ยังเป็นเด็ก ส่วนมากจะเรียนรู้วิธีการพูดของอาจารย์ เขามีเซอร์วิสมายด์ และใช้คำพูดค่อนข้างสุภาพ ทำให้คนไข้รู้สึกเชื่อใจและทำให้มีความสุขที่ได้มารับบริการ เราก็เก็บสิ่งนั้นมาใช้ต่อจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราก็ยังอยากส่งต่อในแง่ของการมีจิตใจบริการคนไข้ เราเป็นผู้ให้บริการก็ควรจะดูแลเขาอย่างดีที่สุด ไม่ว่าคนไข้จะเป็นใครก็ตาม”

อาจารย์หมอ ผู้อยู่เบื้องหลังและเป็นต้นแบบ

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งนี้มีความพิเศษอยู่ 2 เรื่อง คือการเพิ่มการตรวจโรคเฉพาะทางมากขึ้น และการพานักศึกษาแพทย์ปี 4 มาเรียนรู้การทำงานนอกเหนือไปจากโรงพยาบาล

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยมักเป็นการตรวจทั่วไป แต่ด้วยความตั้งใจของโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสาที่อยากทำงานร่วมกับเครือข่าย 16 คณะการแพทย์ ทำให้ระยะหลังมีการตรวจโรคเฉพาะทางมากขึ้น โดยเฉพาะวันนี้ที่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อมะเร็ง

“เมื่อก่อนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการตรวจทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้ตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง จึงทำให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ อาศัยซักประวัติ ตรวจร่างกายง่ายๆ

นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“มะเร็งเต้านมถือเป็นประเด็นปัญหาของบ้านเรา ที่ผ่านมาการเข้าถึงการตรวจค่อนข้างจะไม่ทั่วถึง ที่ผ่านมาในระดับหมู่บ้านชุมชน หรือ รพ.สต มักเป็นเรื่องของการตรวจด้วยตัวเอง

“แต่หลังจากตรงนั้น จะพบว่ามีก้อนมะเร็ง ก็จะแนะนำส่งให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลอำเภอ แล้วถ้ามันเป็นก้อนจริงก็ต้องไปส่งตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อเมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ดูว่ามันมีก้อนจริงไหม บางที ทั้งๆ ที่ตรวจเจอแล้ว แต่ด้วยความที่อยู่ไกล บางคนก็อาจจะคิดว่าไม่เป็นมั้ง แล้วไม่ไปก็มี บางครั้งมันก็ลุกลาม”

“การคัดกรองตรงนี้ก็อาจจะทำแบบส่งตัวแบบ Fast-track คือนัดหมายให้มาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แม่ฟ้าหลวง คนไข้ก็จะเข้าถึงเร็วขึ้น มะเร็งมันก็ไม่ลุกลาม การผ่าตัดอย่างเดียวอาจจะเรียกว่าแทบจะรักษาหายเลย” หมอสมปรารถน์เล่า

นอกจากเพิ่มการตรวจโรคเฉพาะทางแล้ว หมอสมปรารถน์ยังบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่มากับนักศึกษาแพทย์ปี 4 เพื่อให้เรียนรู้ประสบการณ์ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ด้วยการจัดแบ่งให้นักศึกษาไปอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อช่วยงานและช่วยเรียนรู้ไปในตัว เนื่องจากการเรียนรู้แค่เพียงในห้องเรียนอาจไม่ทำให้เข้าใจระบบการรักษาในประเทศได้

“เมื่อก่อนเรียนแพทย์สิ่งที่ต้องรู้มีหลักๆ อยู่สองเรื่อง คือเรื่อง Basic Science หรือความรู้วิทยาศาสตร์ทั่วไป และ Clinical Science หรือความรู้เกี่ยวกับโรคที่แพทย์ต้องวินิจฉัย เรียกว่าเป็นพื้นฐานของวิชาชีพแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในช่วงประมาณ 6-7 ปีหลัง คิดว่าแพทย์รู้แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้เรื่องระบบที่เป็นจริงของประเทศที่คุณจบไปแล้วต้องไปทำงานด้วย เรียกว่า Health System Science ซึ่งแพทย์ควรจะรู้ระบบและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ไม่ใช่เห็นคนไทยเฉพาะตอนที่เดินเข้ามาที่ห้องตรวจในโรงพยาบาล”

“ถ้าอยู่โรงพยาบาลเจอสิ่งที่เราคุ้นชินแล้ว เช่น ตรงนี้เวชระเบียน จะตรวจเลือดก็ส่งไปห้องตรวจ แล้วกลับมาหาแพทย์ที่ห้อง แต่การออกหน่วยภายใต้ทรัพยากรจำกัด การบริหารจัดการพื้นที่มันต้องเป็นอีกแบบ ผมรู้สึกว่าให้เขามีประสบการณ์ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา แล้วถ้าเขาจบไปเป็นแพทย์ นอกจากการตรวจดูคนไข้ในโรงพยาบาล บางครั้งที่เขาต้องออกไปหน่วย เขาก็จะได้เห็นรูปแบบการจัดการและได้เรียนรู้ในแบบที่ต่างออกไปด้วย”

ในฐานะอาจารย์แพทย์ เขามักสนับสนุนให้แพทย์รุ่นใหม่และนักศึกษาแพทย์เรียนรู้จากประสบการณ์ควบคู่ไปกับการเรียนทฤษฎีด้วย รวมถึงเคารพความหลากหลายของคนไข้ที่ต้องเจอซึ่งบางครั้งอาจมีความเชื่อที่แตกต่างไปจากที่เคยเรียนรู้ในห้องเรียน

“เราก็จะบอกให้เด็กเคารพคนไข้ บางครั้งจะมีหลายอย่างที่เขาเชื่อแต่เราไม่เชื่อ เราต้องรับฟัง”

“ยกตัวอย่างบ้านหินลาดในเขามีป่าเดปอ เขาจะเอารกไปผูกกับต้นไม้ ซึ่งเป็นการทำให้เด็กรักและผูกพันกับป่า แล้วเขาจะไม่ตัดต้นนั้นเลย ขณะที่ไปคลอดที่โรงพยาบาล เขาจะบอกว่ารกอาจจะติดเชื้อนะ เพราะงั้นทำคลอดเสร็จต้องนำรกไปทำลาย มีช่วงหนึ่งที่โรงพยาบาลไม่ให้รกไปกับคนไข้ ช่วงนั้นเด็กที่เกิดก็ไม่มีรกไปผูกต้นไม้ ชาวบ้านเล่าว่าตอนหลังเขาไปคุยกับ ผอ. โรงพยาบาล จนผอ.อนุญาตให้เอาสายสะดือกลับมาได้”

สิ่งที่ทำให้หมอสมปรารถน์ยังทำงานอยู่แม้จะเกษียณไปแล้ว คือ การเชื่อว่าประสบการณ์และความรู้จากการเป็นแพทย์ชนบทยังเป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ “เรามีประสบการณ์ที่เราไปเจอแล้วมาเล่าให้นักศึกษาฟัง ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะระบบสุขภาพยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์อีกส่วนหนึ่งการได้มีกิจกรรม มีงานทำ ทำให้ผมรู้สึกยัง active คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคม” หมอสมปรารถน์เล่าพลางหัวเราะ

“เราก็จะบอกให้เด็กเคารพคนไข้ บางครั้งจะมีหลายอย่างที่เขาเชื่อแต่เราไม่เชื่อ เราต้องรับฟัง”

“ยกตัวอย่างบ้านหินลาดในเขามีป่าเดปอ เขาจะเอารกไปผูกกับต้นไม้ ซึ่งเป็นการทำให้เด็กรักและผูกพันกับป่า แล้วเขาจะไม่ตัดต้นนั้นเลย ขณะที่ไปคลอดที่โรงพยาบาล เขาจะบอกว่ารกอาจจะติดเชื้อนะ เพราะงั้นทำคลอดเสร็จต้องนำรกไปทำลาย มีช่วงหนึ่งที่โรงพยาบาลไม่ให้รกไปกับคนไข้ ช่วงนั้นเด็กที่เกิดก็ไม่มีรกไปผูกต้นไม้ ชาวบ้านเล่าว่าตอนหลังเขาไปคุยกับ ผอ. โรงพยาบาล จนผอ.อนุญาตให้เอาสายสะดือกลับมาได้”

นักศึกษาแพทย์ เรียนรู้เพื่อสานต่อ

“เรารู้สึกว่าทุกคนควรได้รับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เท่ากัน” นศพ.นิชาภา โปติยานนท์ นักศึกษาแพทย์ ปี 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่อยากเรียนรู้การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากการฟังเลกเชอร์ของคุณหมอสมปรารถน์ในห้องเรียน พร้อมกับเรียนรู้การทำงานของหมอบุ๊ก แพทย์รุ่นพี่ของเธอในวันนี้

นศพ.นิชาภา โปติยานนท์ นักศึกษาแพทย์ ปี 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

หลายคนอาจเคยกลัวโรงพยาบาลหรือคุณหมอเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก แต่สำหรับนิชาภากลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากเป็นหมอ

“ตอนเด็กเราเคยเป็นหอบหืดมาก่อน ซึ่งเมื่ออาการกำเริบต้องไปพ่นยาที่โรงพยาบาล ตอนที่ไปคืออาการมันเหนื่อย หายใจไม่ออก แล้วพอไปพ่นยาหรือตอนคุณหมอเขามาคุยด้วย เรารู้สึกดี แล้วก็คิดว่าก็คงดีเนอะ ถ้าเราทำให้คนไข้คนหนึ่งอาการดีขึ้น ถ้าเราส่งต่อความรู้สึกนี้ต่อไปให้กับคนไข้ก็คงรู้สึกดีเหมือนกัน”

เธอเล่าว่ากิจกรรมแพทย์อาสาก็ไม่ใช่นศพ.ทุกคนที่ต้องออกกิจกรรมนี้ แต่ส่วนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นครั้งแรกเลยที่ให้นศพ.เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทันทีที่กิจกรรมนี้ประกาศออกไป นักศึกษาแพทย์กว่า 30 คน ก็พร้อมใจกันลงชื่อเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม จากเดิมที่กำหนดโควตาเพียง 10 คนเท่านั้น แต่ด้วยความตั้งใจที่อยากเรียนรู้เรื่องแพทย์อาสาในพื้นที่ห่างไกล ก็ทำให้โควตาเพิ่มขึ้นมา แล้วนักศึกษาแพทย์เกือบ 90% ของชั้นปีก็ได้มาทำกิจกรรมนี้

กิจกรรมของนักศึกษาแพทย์วันนี้ก็แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ  กลุ่มแรกจะช่วยเรื่องการซักประวัติ คัดกรองเบื้องต้น ก่อนส่งเข้ามาทำการตรวจ จากนั้นจึงไปที่แผนกจ่ายยา ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือเภสัชกรจ่ายยา วันนี้เธอดูแลด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เธอเล่าถึงความสำคัญของการตรวจมะเร็งเต้านมว่าปกติแล้วโรคนี้เป็นโรคที่มักตรวจเจอโดยบังเอิญ ไม่ค่อยมีใครที่ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะ แต่ในทางกลับกันโรคนี้กลับเป็นโรคที่พบได้บ่อยของผู้หญิงและคนสูงอายุ ซึ่งหากพบเจอเร็วก็อาจสามารถรักษาให้หายได้

“โรคมะเร็งเต้านมที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้หญิง การที่เรามาตรวจให้เขาดูก่อนว่ามีปัญหานี้อยู่ไหม ถ้ามีแล้วแก้ทันสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ต้องไปถึงระยะสุดท้ายที่ไปเลาะเต้านม ตัดเต้านม มันค่อนข้างส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไข้ในระยะยาว ถ้าเราเจอและจัดการตั้งแต่ต้นก็จะดีต่อคนไข้ การตั้งสเตชันมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้หญิง”

“กิจกรรมนี้เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับที่เราเคยเรียนตอนออกชั้นปีคลินิก ปี 4-5-6 เราก็เคยแต่ทำงานในโรงพยาบาล เจอคนไข้เฉพาะในโรงพยาบาล แต่กิจกรรมนี้ทำให้เรามีโอกาสได้เจอคนไข้ตอนที่เขาอยู่ที่บ้าน เราได้ทำงานเชิงรุกแทนที่จะเป็นเชิงรับ คือเราเป็นคนเข้าไปหาคนไข้เอง ด้วยการเดินทางที่ค่อนข้างห่างไกลแต่ละพื้นที่ เขาก็รอการที่เราจะมารักษาเขาแบบนี้”

“มันค่อนข้างได้เห็นอะไรมากขึ้นในคนไข้ บางทีเขาก็อยากไปโรงพยาบาลแหละ อยากไปหาหมอแหละ แต่เขาไม่ได้มีโอกาสนั้น บ้านอยู่ไกล ต้องทำงาน มันเหมือนว่าการที่เรามาที่นี่ เราได้ทำเพื่อเขาโดยที่เขาไม่ต้องเดินมาหาเราเลย การที่เราได้เข้าไปตรงนั้น จุดประสงค์สุดท้ายคือการที่เราได้เข้าไปรักษาเขาเหมือนกัน”

ความท้าทายสำหรับนักศึกษาแพทย์เมื่อต้องออกมาในพื้นที่ห่างไกล นิชาภาบอกว่าเรื่องแรกคือเรื่องภาษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวม้ง หรือชาวลาหู่ ซึ่งภาษาก็จะแตกต่างจากที่เคยเข้าใจ สองคือการเตรียมร่างกายให้พร้อม และสุดท้ายคือการจัดเตรียมอุปกรณ์

“ในพื้นที่ค่อนข้างไกล อย่างแรกใจเราต้องมาก่อน บางที่ยานพาหนะอาจจะเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเดิน ต้องแบกของ ต้องเตรียมตัวเรื่องของร่างกาย ถ้ามีร่างกายและใจของแพทย์ที่ดี ก็รู้สึกว่าไม่น่ามีอะไรยาก ส่วนอีกเรื่องของอุปกรณ์ที่เราต้องจัดเตรียมไว้ เราต้องศึกษาก่อนว่าที่ตรงนั้นเขามีปัญหาเรื่องอะไรเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก”

“เรื่องงบก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ การมีผู้สนับสนุนอย่างสิงห์อาสา หรือการที่มีเครือข่ายแพทย์เข้ามาช่วยเหลือทำให้การทำงานมันโฟลว์ไปได้ ก็รู้สึกว่าสุดท้ายประโยชน์มันตกอยู่ที่คนไข้ ซึ่งยิ่งดีต่อคนไข้อยู่แล้วอย่างที่รู้กันว่าแพทย์ไม่ได้ทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว การมีแพทย์คนเดียวไม่มีเภสัชกร ไม่มีทันตแพทย์ ไม่มีนักกายภาพ ไม่มีเทคนิคการแพทย์ เราไม่สามารถดูคนไข้คนเดียวได้ เราไม่ได้รู้ทั้งหมดเรื่องของการแพทย์ เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นในการทำงานต่างๆ อย่างที่ได้เห็นในวันนี้” นิชาภาทิ้งท้าย

AUTHOR