หากว่ากันด้วยภาษาของนักมานุษยวิทยา
ปิล๊อกคือหม้อใบใหญ่ที่หลอมรวมหลายวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันผ่านผู้คนจากทุกสารทิศมาแสวงโชคในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู
ก่อนจะลงหลักปักฐานและกลายเป็น ‘ชาวปิล๊อก’ ถ่ายโอนและส่งต่อความหลากหลาย
ทั้งเชื้อชาติ ศรัทธา ความเชื่อ ความเป็นอยู่ ไปจนถึงอาหาร
จึงไม่น่าแปลกใจ
ที่หม้อใบใหญ่กลางหุบเขานี้จะปรุงอาหารได้อร่อยเด็ด
และเต็มไปด้วยรสชาติที่แปลกต่างแต่ลงตัว
“ความที่เราอยู่ไกล
อาหารของเราจะเน้นไปที่อะไรง่ายๆ ก่อนค่ะ ปลากระป๋องคือวัตถุดิบประจำบ้าน”
ป้าเปิ้ล – สุรีย์พร ไชยแสง ชาวปิล๊อกแต่กำเนิดเริ่มต้นเล่าด้วยรอยยิ้มสนุก “แต่วิธีปรุง
อาหารของเราจะออกไปทางพม่านิดๆ เพราะเราหาวัตถุดิบได้ง่ายกว่าอาหารไทย เมนูหลักๆ
เลยก็คือปลากระป๋องต้มกระเจี๊ยบ แต่บางคนก็ต้มกับหมูสามชั้นบ้าง กับกุ้งแห้งบ้าง ถ้าเปรียบรสชาติกับอาหารไทยก็จะคล้ายต้มใบมะขามอ่อน
คือมีความเปรี้ยวของใบกระเจี๊ยบ กับความหนืดจากฝักกระเจี๊ยบเขียว เราจะใส่หอมแดง
ทุบพริกสดใส่ลงไปหน่อย บางบ้านอาจใส่กะปิลงไปด้วย เป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่ทำกินกันในครอบครัว
ไม่ค่อยมีใครทำขายกัน” ป้าเปิ้ลค่อยๆ เล่าวิธีการและอธิบายรสชาติสดชื่นที่เรียกให้น้ำย่อยของเรากระตือรือร้น
ก่อนจะบอกให้เสียดายว่าเพราะหากระเจี๊ยบเขียวไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะลองทำให้ชิม
นอกจากแกงฮังเลที่รสชาติแตกต่างไปจากแกงฮังเลทางเหนือ
และขนมจีนหยวกกล้วยแบบพม่าที่ชาวปิล๊อกจะใช้หยวกกล้วยป่าที่มีรสฝาดกว่ามาแกงกับไก่ไม่ก็ปลาตามที่หาได้
อาหารท้องถิ่นอีกอย่างที่ป้าเปิ้ลบอกว่าเป็นของโปรดวัยเด็กก็คือ ‘กระบองจ่อ’ หากให้อธิบายก็คือผักชุบแป้งทอดกินกับน้ำจิ้มเปรี้ยวๆ หวานๆ
คล้ายน้ำจิ้มเต้าหู้ทอด แต่ความพิเศษคือผักที่ทำมาใช้ทำกระบองจ่อ นอกจากฟักทองที่เราเคยกินกัน
มะละกอดิบ และผักเท่าที่หาได้แล้ว ผักจิ้มน้ำพริกอย่างน้ำเต้าคือไฮไลท์ของกระบองจ่อที่ป้าเปิ้ลยืนยันว่าอร่อยและมีรสชาติเฉพาะตัว
“สูตรน้ำจิ้มที่นี่จะเอามะขามเปียกเคี่ยวกับน้ำตาลพม่า
เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมคล้ายน้ำตาลอ้อยบ้านเรา แล้วก็ใส่กระเทียมสดลงไปเคี่ยวด้วย
ตามด้วยถั่วลิสง โรยต้นหอมผักชีเหมือนกัน กินกันได้ไม่เบื่อ”
ป้าเปิ้ลยิ้มเมื่อเราไม่ยอมละมือจากกระบองจ่อฝีมือป้าเปิ้ลที่เสิร์ฟอยู่ตรงหน้า
ป้าเปิ้ลยังบอกอีกว่า
นอกจากจะรับเอาเมนูพม่ามาไว้ในครัวปิล๊อก เมนูอาหารเหนืออย่างลาบคั่ว แกงอุ๊บไก่บ้าน
หรือข้าวซอยก็เป็นอาหารที่ได้มาจากคนแม่สอดที่มาอยู่ในพื้นที่ยุคเหมืองแร่
ไหนยังจะมีข้าวสงกรานต์หรือข้าวแช่ตำรับมอญที่จะได้กินกันช่วงวันปีใหม่ไทย
และเครื่องเทศกลิ่นอายอินเดียที่ได้มาจากชาวเนปาล
คือความรุ่มรวยที่บรรจุอยู่หม้อหลอมใบใหญ่ใบนี้
ความน่าเสียดายเวลามีโอกาสไปล้อมวงกินข้าว
ชิมอาหารพื้นบ้านท้องถิ่น คือเราไม่รู้ว่าจะแบ่งปันให้คนอื่นๆ
มาชิมรสอร่อยเหมือนกันได้อย่างไร
แต่ความน่ารักของป้าเปิ้ลที่นอกจากจะเสิร์ฟกาแฟและเมนูง่ายๆ
ประจำวันในร้านร้านช้างแก่ คลาสสิกโฮมแล้ว หากใครสนใจอยากชิมอาหารพื้นบ้าน ซดแกงกระเจี๊ยบ
เคี้ยวกระบองจ่อ ชิมแกงฮังเล หรือลองยำปลากระป๋องสูตรปิล๊อกที่เป็นลายเซ็นเฉพาะตัว
ป้าเปิ้ลก็ขออาสาจัดให้ เพียงแต่ว่าต้องสั่งจองกันล่วงหน้าเสียหนึ่งวัน
และเมนูจะขยับปรับเปลี่ยนไปตามวัตถุดิบที่หาได้จากตลาดเล็กๆ
ในหมู่บ้านและจากสวนหลังบ้านของป้าเปิ้ลเอง
‘เรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดา’ คือนิยามอาหารปิล๊อกจากป้าเปิ้ล ส่วนจะไม่ธรรมดาในแบบไหน
ไม่มีอะไรอธิบายได้ชัดเจนกว่าการมาชิมด้วยลิ้นตัวเองสักครั้ง
ร้านพี่ซูซู
บนถนนสายสั้นๆ ในตลาดบ้านอีต่อง
มีร้านขายอาหารพื้นเมืองอยู่ 2-3 เจ้า
บางร้านเปิดเฉพาะหน้าเทศกาลต้อนรับนักท่องเที่ยว บางร้านตั้งแผงขายแค่ยามเช้าสำหรับคนท้องถิ่น
ส่วนร้านพี่ซูซู – สาวพม่าตำแหน่งสะใภ้นายช่างเหมืองเก่า
ได้เปิดบ้านขายอาหารพื้นเมืองอย่างแกงฮังเล ข้าวซอย และอาหารง่ายๆ
อย่างข้าวเหนียวไก่ทอดตลอดทั้งวันและทุกวัน รองรับทั้งลูกค้าบ้านใกล้และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไกล
จานเด็ดของพี่ซูซูคือแกงฮังเลหมูเนื้อนุ่มเต็มคำ มาพร้อมกับความขลุกขลิกที่ไม่หวานเท่าแกงฮังเลทางเหนือ
แต่ออกเผ็ดและเค็มแบบกินเป็นกับข้าวแล้วเผลอขอดชามเอาได้ง่ายๆ พี่สาวแก้มเนียนบอกว่าเป็นสูตรพม่าที่พ่อแม่ทำกินมาตั้งแต่เด็ก
และพี่ซูซูก็เป็นทายาทที่สืบทอดสูตรเด็ดนั้นมาให้เราได้ชิมกัน
เปิดทุกวัน 07:00 – 18:00 น.
ที่ตั้ง: หัวมุมฝั่งตลาดสดบ้านอีต่อง ต. ปิล็อก อ.
ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี
ครัวเจ๊ณี
ในยุคเหมืองรุ่งเรือง
ครอบครัวเจ๊ณีคือยี่ปั๊วะรายใหญ่ค้าขายเนื้อวัว เนื้อหมู เป็นตัวๆ
และสินค้าอุปโภคบริโภคจากพม่า
เรียกว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปากเลี้ยงท้องชาวเหมืองปิล๊อกเลยทีเดียว และแม้ว่าเหมืองจะปิดตัว
แต่เจ๊ณีก็ยังคงเป็นยี่ปั๊วะนำเข้ากุ้งและปูทะเลอันดามันจากฝั่งพม่าเป็นตันๆ
ผ่านด่านช่องเขาขาดหลังหมู่บ้านเพื่อนำไปส่งในเมืองกาญจน์และจังหวัดใกล้เคียง จนมาในยุคหลังนี่แหละที่ด่านชายแดนปิด
ไม่สามารถนำเข้าอาหารทะเลมากๆ ได้เหมือนก่อน แต่เจ๊ณีก็ยังหาปูและกุ้งพม่าสดๆ ฝากทหารพม่าผ่านแดนมาได้นิดหน่อยทุกสุดสัปดาห์
พอเปิดร้านอาหารตามสั่งขายปูทะเลก้ามโตนึ่ง กุ้งทะเลอบเนยคู่น้ำจิ้มซีฟู้ด
ปลาหัวยุ่งทอดกรอบเคี้ยวเพลิน และเมนูจัดจ้านหลากหลาย
ให้เราได้กินอาหารทะเลสดใหม่กันเต็มอิ่ม ทั้งๆ ที่อยู่กลางหุบเขาเมืองกาญจน์นี่แหละ
เปิดทุกวัน 07:00 – 21:00 น.
ที่ตั้ง: ถนนคนเดินบ้านอีต่อง ต. ปิล็อก อ. ทองผาภูมิ จ.
กาญจนบุรี
โทรศัพท์: 089-515-3528
ครัวสุดแดน
ครัวอาหารใต้ของป้าตุ๋ย
–
ลูกสาวนายเหมืองสมปองและเจ้าของโรงหนังทรายทองรามา หลังจากทิ้งกรุงเทพฯ
มาดูแลคุณพ่อ ป้าตุ๋ยก็ตัดสินใจเปิดร้านอาหารใต้เล็กๆ ขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน เสิร์ฟรสชาติจัดจ้านสไตล์ชุมพรไม่ว่าจะเป็นไก่บ้านต้มขมิ้น
แกงเหลืองหน่อไม้ดอง สะตอผัดกะปิ และขาหมูพะโล้สูตรซิกเนเจอร์ ซึ่งวัตถุดิบล้วนส่งตรงมาจากเมืองใต้
เพราะแม่ครัวควบเจ้าของร้านคนนี้บอกว่า สะตอทองผาภูมิก็มี
แต่ไม่มีกลิ่นปักษ์ใต้แบบสะตอชุมพร และเมื่อถามเหตุผลว่าทำไมมาเปิดร้านอาหารใต้ในป่าเขา
ป้าตุ๋ยบอกว่าอยากเป็นทางเลือกอื่นๆ ให้นักชิมบ้าง
ไม่ใช่ว่ามาเมืองกาญจน์แล้วจะต้องกินแกงป่าอย่างเดียว และจะว่าไป
อาหารใต้รสจัดของป้าตุ๋ย
ก็สะท้อนความเป็นเมืองเหมืองแร่ในอดีตที่ทุกคนมาจากทั่วสารทิศได้เป็นอย่างดีเชียวล่ะ
(ข้อมูล)
เปิดทุกวัน 08:00 – 21:00 น.
ที่ตั้ง: ถนนคนเดินบ้านอีต่อง ต. ปิล็อก อ. ทองผาภูมิ จ.
กาญจนบุรี
โทรศัพท์: 081-755-8043
“เจ้าบ้านที่ดีต้องยิ้มแย้มแจ่มใส
ต้อนรับลูกค้า จะเชิญค่า หรือเชิญมาฆ่าก็ว่ากันไป (หัวเราะ) เอาจริงๆ
ป้าว่ามันคือความใส่ใจนะ อาหารทุกจานป้าตุ๋ยทำเองหมด ที่โฮมสเตย์เราก็ต้องดูแลเรื่องความสะอาด
ความสะดวกสบาย คือเราต้องดูแลทุกอย่างให้ดีน่ะ ถ้าป้าไม่ทำกับข้าวเป็นแจ๋วในครัว
ก็ออกจะมาทักทายดูแลลูกค้า คนที่มาเขาก็จะกลับมาหาป้าตุ๋ยกันนะ
มันรู้สึกเหมือนเราเป็นเจ้าบ้าน เป็นคนที่นี่ไปแล้ว
อย่างที่บอกว่าตอนแรกไม่อยากมาอยู่เลย แต่ตอนนี้ให้กลับไปอยู่กรุงเทพฯ
ก็ไม่เอาแล้วนะ ลงไปหน่อยก็บ่น โอ๊ย ร้อน โอ๊ย รถติด เป็นคนปิล็อกดีกว่า”
สิริลักษณ์
หังสเนตร
เจ้าของร้านครัวสุดแดน
โฮมสเตย์บ้านตอไม้ และเจ้าบ้านชาวปิล็อก
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
อ่านเรื่องราวที่ทำให้เราหลงรักอำเภอปิล๊อก จังหวัดกาญจนบุรี แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย