แก๊กการ์ตูนอันประกอบไปด้วยเกาะจิ๋วกลางทะเล ต้นมะพร้าว เรืออับปาง
ตัวละครเสื้อผ้าขาดวิ่นนั่งสิ้นหวังเดียวดาย และปลาฉลามว่ายวนรอบเกาะ คือภาพจำวัยเด็กที่เรามีต่อคำว่า
‘ติดเกาะ’
แน่นอนว่าการเดินทางข้ามทะเลใสแจ๋วมายังเกาะสีชังไม่มีส่วนประกอบที่ว่านั้น
สีชังเป็นเมืองเล็กกลางทะเลที่เต็มไปด้วยผู้คนคึกคัก เรือประมงทะเลสีสดใสจอดเทียบเต็มท่าไม่เห็นกระโดงปลาฉลาม
และหาต้นมะพร้าวไม่เจอสักต้น!
พี่นิวัติ คนขับรถสามล้อสกายแล็บที่ถือเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของเกาะสีชังมารับเราที่ท่าเรือตามการนัดแนะ
ในทริปนี้ ขอให้พี่นิวัติพาเที่ยวรอบเกาะแบบเข้มข้นกว่าทริปท่องเที่ยวทั่วไป
เพราะโดยปกติแล้วเหล่ารถสกายแล็บจะพานักท่องเที่ยวแวะ 4
จุดสำคัญรอบเกาะ อันได้แก่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ช่องเขาขาด พระราชวังจุฑาธุช
และหาดถ้ำพัง ในราคามาตรฐาน 250 บาท
แต่หากต้องการแวะเที่ยวมากกว่านั้น ก็เป็นไปตามแต่ตกลงกัน
ขึ้นรถเรียบร้อยเราก็ชวนพี่วัตคุยเรื่องรถหน้าตาเท่
ได้ความว่า สกายแล็บเป็นรถสามล้อฟิวชันสัญชาติอีสาน ข้างหน้าเหมือนมอเตอร์ไซค์
ส่วนข้างหลังเป็นเบาะกว้างพร้อมหลังคา
เมื่อก่อนส่วนคนขับมีแค่กระจังหน้าบังลมและมีหลังคาเล็กๆ เฉพาะส่วนผู้โดยสาร
แต่แดดแรงและลมฝนทำให้สกายแล็บบนเกาะสีชังเปลี่ยนโฉมให้ทนแดด ทนฝน
และดูทนทานมากขึ้น แต่ยังคงชื่อสกายแล็บที่ได้มาตอนสถานีอวกาศ skylab ของสหรัฐอเมริกาตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงยุค
80 และกลายเป็นข่าวดังจนหยิบยืมมาใช้เรียกรถพันธุ์ใหม่คันนี้
พี่วัติบอกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน
เกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยวคึกคักของนักแสวงบุญ
ช่วงปีใหม่และตรุษจีนจะเป็นช่วงสำคัญที่ใครต่อใครต่างพากันมาสักการะเจ้าพ่อเขาใหญ่ชนิดที่ท่าเรือแน่น
และบันไดที่ทอดยาวขึ้นไปบนเขาคลาคล่ำไปด้วยผู้คน แม้ในช่วงหลังๆ
นักท่องเที่ยวจะบางตาลงบ้าง
แต่ศรัทธาที่คนบนเกาะมีต่อเจ้าพ่อเขาใหญ่ก็ยังไม่เสื่อมคลาย
“เขามาไหว้เจ้าพ่อแล้วร่ำรวยกันไปเยอะนา
เจ้าพ่อท่านรักคนไกล แต่คนใกล้ท่านก็ไม่ให้อด” คุณป้าที่ตลาดกล่าวยิ้มแย้มและชวนเราปีนบันใดขึ้นไป
ศาลเจ้าสีแดงโดดเด่นมองเห็นแต่ไกลนั้น ภายในมีโพรงถ้ำฉาบสีทอง
และมีหินเจ้าพ่อในลักษณะประทับนั่ง ว่ากันว่าพ่อค้าชาวจีนมาสำรวจและพบ
จึงบนบานขอให้ทำมาค้าขึ้น
เมื่อกิจการประสบความสำเร็จก็กลับมาสร้างศาลเจ้าตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน และในเขาลูกเดียวกัน
คือรอยพระพุทธบาทจำลองที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพอัญเชิญมาจากพุทธคยา
และหากกำลังขายังเดินไหว อีกสามร้อยกว่าขั้นถัดจากมณฑปรอยพระพุทธบาท
คือยอดเขาพระจุลจอมเกล้า หรือที่ชาวสีชังเรียกว่า ‘ยอดเสาธง’
จุดชมวิวสูงที่สุดบนเกาะสีชัง
ขึ้นได้แต่ลงไม่ได้คือคำจำกัดความกำลังขาของเรา
ระหว่างรอให้พี่นิวัติมารับ คุณน้าชาวสีชังชวนเราคุยเรื่องต้นไม้
แกบอกว่าเกาะสีชังไม่มีมะพร้าว แต่เต็มไปด้วยลั่นทมขาวกลิ่นหอม ส่วนต้นจันผาฟอร์มสวยอายุร้อยกว่าปีที่ยืนต้นอยู่ตามไหล่เขานักเลงต้นไม้มาเห็นต้องทึ่งทุกคน
เพราะถ้าขายในตลาดราคาก็สูงเอาการ แต่ชาวสีชังก็เลือกจะอนุรักษ์ไว้
ห้ามตัดและนำออกจากเกาะไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น
คุยกันพอเหงื่อแห้ง
พี่วัติพาเราไปยังอีกจุดชมวิวสวยอย่างช่องเขาขาดที่มีสะพานทอดยาวเลียบผาโดยมีทะเลอยู่เบื้องล่าง
ก่อนจะแวะจุดอันซีนที่เจ้าบ้านแนะนำให้แหงนคอชม ต้นเลียบประวิช สองต้นไม้ใหญ่ยักษ์ที่เติบโตเคียงข้างกันและพิงอิงกันจนคล้ายเป็นต้นไม้ต้นเดียว
จากหลักฐานพบว่านี่คือต้นไม้ที่รัชกาลที่ 5 ทรงปลูก และตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม หากว่ากันที่ภาพตรงหน้า
ต้นไม้ใหญ่โตนั้นชวนให้ตื่นเต้นใจ แต่เรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ที่เติบโตอยู่ในพื้นที่
ทำให้เรารู้สึกว่าการเดินทางมาเกาะนี้เหมือนการมาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่ใจดียังไงยังงั้น
จุดหมายต่อไปคือหาดถ้ำพัง
ชายหาดหนึ่งเดียวของเกาะสีชังที่ลงเล่นน้ำได้ เราจึงได้เห็นร่มชายหาดสีสดใส
เก้าอี้ชายหาดชวนเอนหลัง
และความคึกคักของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เล่นล้อกับคลื่นลมกันอย่างสนุกสนาน
และระหว่างทางไปท้ายเกาะ เราได้พบกับครอบครัวหมูป่าจำนวนมากเดินอยู่ตามชายป่าและริมทางเหมือนพี่หมาจรจัด
(แถมยังเป็นมิตรกับคนมากเสียด้วย!) พี่วัติบอกว่าแรกเริ่มเดิมทีมีคนนำมามาเลี้ยงแค่คู่เดียว
แต่มันก็ขยายพันธุ์เติบโตจนกลายเป็นชุมชนหมูป่าหลายร้อยตัวโดยไม่มีผู้ดูแล
กลายเป็นสัตว์ประจำเกาะไปโดยปริยาย
แต่ถ้าว่ากันที่เอกลักษณ์ประจำเกาะอย่างกระรอกขาวที่เราเห็นจากป้ายถนน
เจ้าหางฟูเหล่านี้คือสัตว์อนุรักษ์ที่คนเกาะช่วยกันดูแล คอยเอาผลไม้มาให้ทุกวัน แถมพี่วัตยังพาเราขับรถไปแหงนหน้าดูพวกมันกระโดดโลดเต้นไปตามกิ่งต่างๆ
อีกด้วย
มาถึงท่ายายทิมที่อยู่หลังเกาะ
เจ้าบ้านกระซิบมาว่านี่คือที่ถ่ายเอ็มวีสุดเท่ของวงร็อกบ้านเรา แลนด์สเคปกว้างจากการทำสัมปทานระเบิดภูเขาเพื่อนำหินไปสร้างท่าเรือแหลมฉบังทำให้เกิดเป็นภูมิทัศน์สุดเท่แปลกตา
แถมยังได้บ่อผุดน้ำจืดแห่งเดียวบนเกาะเป็นของแถม เราจึงได้เห็นรถขนน้ำแวะเวียนมาสูบน้ำจากบ่อเพื่อไปแจกจ่ายขายต่อให้ชาวบ้าน
เพราะระบบน้ำประปาที่ผลิตจากน้ำเค็มของที่นี่ยังไม่เสถียรนัก มีการซื้อน้ำจืดใช้ในบ้านในราคาสูงลิ่ว
บ้านยุคเก่ามักจะสร้างบ่อเก็บน้ำฝนไว้ใต้ดินเพื่อใช้ตลอดปี ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายเหมือนการขุดบ่อดินทั่วไป
เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะเป็นหิน อาชีพเฉพาะถิ่นอย่าง ‘ช่างตีหิน’ จึงเป็นงานจำเป็น พี่โม่แห่งบ้านอยู่ดีมีความสุขพาเราไปรู้จักกับลุงหนู เกตุนอก
ช่างตีหินคนสุดท้ายบนเกาะสีชัง (ที่เคยเป็นมือระเบิดแห่งท่ายายทิมมาก่อน) เพื่อให้แกเล่าถึงการทำบ่อเก็บน้ำ
โดยธรรมเนียมปฏิบัติ เวลาคนเกาะสีชังสร้างบ้าน
จะต้องมีการคำนวณก่อนว่ามีสมาชิกกี่คน ต้องใช้น้ำทั้งปีเท่าไหร่
บ่อต้องกว้างยาวลึกแค่ไหน จากนั้นก็จะให้ช่างตีหินมาดูพื้นที่
ลุงหนูบอกว่าถ้าหินไม่เขียว แปลว่าตีง่าย แต่ถ้าเป็นหินดาน จะแข็งและตียาก
จากนั้นก็จะกำหนดพื้นที่ แล้วก็สุมฟืนเผาหินหนึ่งคืนเพื่อให้ ‘หินตาย’ เพราะคนเก่าคนแก่บอกว่าหินมีชีวิตนอกจากการเผาจะช่วยให้ตีง่ายแล้วยังทำให้หินไม่งอกจนเบียดซีเมนต์ที่โบกไว้แตกเวลาผ่านไปนานๆ
ซึ่งกระบวนการนี้ ว่ากันเป็นเดือนๆ (ไปจนหลายเดือนก็มี)
งานนี้ หินไม่ใช่เล่น!
ในฐานะนักท่องเที่ยว
พี่วัติพาเราเก็บจุดสำคัญของเกาะสีชังอย่างครบครัน แต่ในฐานะแขกผู้มาเยือน เหล่าเจ้าบ้านชาวเกาะสีชังไม่เพียงยิ้มแย้มและต้อนรับด้วยน้ำใจ
แต่ยังแบ่งปันเรื่องราวของชาวเกาะที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่อาจแลกเปลี่ยนกันด้วยการซื้อขาย แต่เป็นไมตรีที่เจ้าบ้านเกาะนี้มีต่อเรา
และนั่น
ทำให้เราติด (ใจ) เกาะนี้เป็นการถาวร
“เป็นเจ้าบ้านก็ต้องมีน้ำใจ เราเป็นคนเกาะ อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด
ใครถามอะไรมาเราก็ตอบ ช่วยแนะนำให้เขาได้”
คุณป้าเจ้าของร้านน้ำผลไม้ปั่น หาดถ้ำพัง
เราขับรถสกายแล็บ ลูกค้าอยากไปไหนก็ตามใจเขา
ไม่ใช่ตามใจเพราะเขาจ่ายสตางค์ให้เรา แต่ตามใจเพราะอยากพาไปให้เขารู้จักเกาะสีชังของเรามากขึ้น”
นิวัต
บุญเพ็ง
คนขับรถสกายแล็บ เกาะสีชัง
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
อ่านเรื่องราวแสนสุขบนเกาะสีชังเพิ่มเติมได้ทางด้านล่างนี้เลย