Spirit of the Mountain

หมู่บ้านอีต่องมีจิตวิญญาณของตัวเอง

ไม่ได้หมายความว่าในอีต่อง หรือ ‘ณัตเอ็งต่อง’ ชื่อเดิมที่แปลว่าหมู่บ้านบนเขาเทวดา มีเทพเจ้าปรากฏตัวให้เห็น และยิ่งไม่ได้หมายความว่าที่นี่มีภูตผีชุกชุมตามชื่อตำบลปิล๊อกหรือผีหลอก

จิตวิญญาณหมู่บ้านเผยตัวหลายครั้ง ครั้งที่หนึ่งแฝงกายมากับมัคคุเทศก์หนุ่มน้อยของเรา

น้องเต หรือ ติไหน่ วัย 21 ปี พาเราเที่ยวชมทางหลักรอบหมู่บ้าน เห็นบ้านไม้โบราณมุงหลังคาสังกะสี พื้นลึกต่ำจนหลังคาแทบเกยชิดถนนยกสูงระดับทางรถ ซึ่งเป็นโมเดลทางเดินหลบลมฝนของเหมืองแร่ในป่าฝนชุก จนเมื่อลัดเลาะเข้าไปในย่านชาวพม่า เฉียดใกล้บ้านพ่อแม่ของเต บทสนทนาระหว่างเราเริ่มมีเสียงสูงต่ำ และเสียงหัวเราะแซมเรื่องราว

รอยยิ้มจางๆ สดใสบนใบหน้าซื่อ ระหว่างเยี่ยมชมบ้านไม้มุงหลังคาสังกะสี ที่บางหลังคงสภาพออริจินัลดั้งเดิม และบางหลังก็ทาสีสดตัดกับสีดอกไม้ที่ปลูกเรียงรายหน้าบ้าน สิ่งเดียวที่มีเหมือนกันทุกบ้านคือเหลี่ยมวางหิ้งพระ ทำให้ผนังด้านนอกมีห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ยื่นออกมาจากกำแพง เป็นเอกลักษณ์ของบ้านชาวทวาย ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านอีต่อง

เตเล่าให้ฟังว่าบ้านเดิมของพ่อแม่อยู่ไม่ไกลจากปิล๊อกเท่าไหร่นัก แต่เขาไม่เคยกลับไปพม่าเลยสักครั้ง ชีวิตวัยเด็กของเตอยู่ที่นี่ ที่ที่วิถีชีวิตของไทยและทวายผสมปนเปในเหมืองแร่ริมชายแดน ผู้คนอาศัยอยู่อย่างสมถะ ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ยังชีพ เมื่อถึงฤดูกาล ชาวบ้านจะเก็บดอกหญ้าที่ขึ้นเต็มทั้งหุบเขามาทำไม้กวาดทำมือส่งขาย ดอกหญ้าตากแห้งช่อโตที่มัดรวมกัน ใช้กวาดพื้นได้สะอาดถนัดมือดีทีเดียว

ช่วงเวลาที่เขาโตขึ้นมา ยุคสมัยขุดแร่จบลงไปแล้ว เหมืองเก่าเป็นที่เล่นซน เช่นเดียวกับภูเขาและน้ำตก สนามเด็กเล่นของเด็กชายติไหน่กินอาณาเขตทั่วปิล๊อก กว้างขวางและสนุกอย่าบอกใคร ยิ่งพาเราออกไปสูดอากาศบนจุดชมวิวเนินเสาธงและช่องเขาขาดที่ลมบริสุทธิ์พัดแรง รอยยิ้มของเตก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเรื่องเล่าที่ไหลออกมาเหมือนตาน้ำผุดพราย

“ผมเริ่มเป็นไกด์มาตั้งแต่จบป.6 เอาจริงๆ คือผมชอบเที่ยว บางที่ก็เดินเล่นแล้วเจอเอง” มัคคุเทศก์หนุ่มอธิบาย “ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวมาที่นี่แล้วไปเที่ยวไม่ถูก ผมก็พาไปเรื่อย พอไม่มีอะไรทำก็ไปกับเขาตลอด นั่งท้ายกระบะรถกับคนกลุ่มใหญ่ๆ มาเป็นคณะ ได้แลกเปลี่ยนกัน สนุกมาก”

นอกจากเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว เตยังควบบทบาทอาสาสมัคร ชรบ. หรือชุดรักษาความสงบหมู่บ้านที่คอยดูแลปิล๊อก โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีอย่างไฟป่า ทำให้ชาวบ้านต้องลงแรงทำแนวกันไฟและช่วยดับไฟด้วยน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เมื่อผ่านเขตเหมืองแร่เก่า เข้าอุโมงค์เหมืองแร่ที่ต้องจุดเทียนย่องเข้าไป เตแจกเทียนให้เราคนละเล่ม พร้อมชี้ให้เห็นโพรงขุดเล็กๆ หลายจุดที่กระจายตัวอยู่ทั่วเนินเขาก่อนถึงอุโมงค์หลัก

“ตอนเด็กๆ รุ่นผมนี่แสบสุด วิ่งเข้าวิ่งออกไปทุกที่ แต่ตอนนี้เขาปิดไม่ให้เข้าแล้วครับ ที่เล็กๆ มันอาจถล่มลงมาได้” เทียนพม่าสว่างขึ้นทีละดวงๆ ในอุโมงค์แคบ เตเดินนำหน้า ชี้ให้เราเห็นร่องรอยการไล่จับสายแร่ในอดีต ทางเดินส่วนที่เปิดให้เข้าชมไม่ลึกนักเพื่อรักษาความปลอดภัย วัยรุ่นชาวปิล๊อกแถมเกร็ดเล็กน้อยว่าให้สังเกตเทียนในมือให้ดี หากเข้าไปลึกกว่านี้แล้วเทียนดับต้องรีบออกมา เพราะนั่นหมายถึงอากาศที่ไม่เพียงพอต่อการหายใจ

เราเดินออกมาสูดออกซิเจนหอมหวานข้างนอก สายตาไกด์หนุ่มมองไปทั่วเนินเขา “สมัยก่อนผมชอบมานั่งกินข้าวเย็นกับพี่ ตชด. ตรงนี้ พี่ๆ เขาใจดีแล้วก็อยากมีเพื่อนคุยเหมือนกัน”

คงเป็นความน่ารักจริงใจของหนุ่มน้อยคนนี้นี่เอง ที่ทำเส้นแบ่งระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยี่ยมเยือนจางลงไป แทนที่ด้วยมิตรภาพที่ไม่เกี่ยงความแตกต่างใดๆ

“แต่ก่อนชาวบ้านที่นี่มีหลายเชื้อชาติมาก นอกจากไทยและเมียนมา ยังมีกะเหรี่ยง มอญ โรฮีนจา เนปาลก็มี” อดีตผู้ใหญ่บ้าน ลุง ทินกร ทรายทอง ย้อนวันวานให้เราฟัง “ตอนเหมืองปิดกิจการเหมือนผึ้งแตกรัง เหลือแต่ชื่อในทะเบียน เขาต้องลงไปทำมาหากินข้างล่าง”

ชีวิตในเหมืองม้วนถอยสู่ความสงบเรียบง่าย มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มาก เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาชุบชีวิตหมู่บ้านอีต่อง ความเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวบ้านต้องทบทวนทิศทางความเป็นอยู่อีกครั้ง

“เราอยากอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องสร้างการท่องเที่ยวด้วย มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ลุงทินกรอธิบาย “เราไม่เน้นสิ่งแปลกปลอม ไม่มีสถานบันเทิงเริงรมย์ บาร์เบียร์ คาราโอเกะ เพราะเราอยู่กันเองในชุมชน มีแต่คนเก่าคนแก่ ถึงจะมีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ธรรมชาติสมบูรณ์มาก ตรงนี้ไม่อยากเปลี่ยนเลย”

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็เริ่มปรับตัว จากที่เข้านอนเงียบตั้งแต่ 1 ทุ่ม ร้านรวงต่างๆ จะเปิดจนค่ำ จนกระทั่ง 4 ทุ่มเป็นต้นไปจึงงดใช้เสียง โฮมสเตย์หลายแห่งปลูกอาคารแบบสมัยใหม่ แต่บางแห่งยังคงเชื่อในความคลาสสิกของสไตล์ไม้และสังกะสี ในตลาดเริ่มมีของฝากมาขายนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ทานาคานำเข้าจากพม่า จนถึงของกระจุกกระจิกในนามของปิล๊อก ถนนเส้นหลักของหมู่บ้านแปรเปลี่ยนเป็นถนนคนเดินในวันเสาร์อาทิตย์ แกงฮังเลแบบพม่า ขนมจีนหยวกกล้วย หรือบัวลอยกะทิที่ขายดิบขายดี เกิดจากรสมือคนอีต่องที่เลือกต้อนรับนักท่องเที่ยวในแบบของตัวเอง

“เราอยากรักษาวัฒนธรรมเดิมด้วย อย่างรณรงค์ให้แต่งชุดพื้นบ้าน หรือสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่เรียนภาษาทวาย” อดีตผู้ใหญ่เล่าต่อว่าที่นี่ยังเทศกาลพิเศษที่ติดตัวชาวทวายชายทะเล คือพิธีไหว้อูชิขิ่นต่าง หรือไหว้เทพเจ้าทะเลก่อนออกไปหาปลา เมื่อมาถึงหุบเขาปิล๊อก พิธีกรรมถูกกำหนดให้จัดขึ้นทุกวันที่ 14 เมษายน เพื่อสร้างสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองให้สมาชิกหมู่บ้าน

“แล้วพอปีใหม่ คนที่หายไปทำงานก็จะกลับมาบ้านอีกครั้ง” ลุงทินกรแถมท้าย

ยิ่งพูดคุยกับเจ้าบ้านคนแล้วคนเล่า จิตวิญญาณของหมู่บ้านก็ยิ่งปรากฏชัด ในการต้อนรับอย่างจริงใจ ไมตรีจิตที่หยิบยื่นให้นักเดินทาง

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรักหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงอีต่องให้ยืนหยัดผ่านประวัติศาสตร์บทแล้วบทเล่า ผ่านยุคสมัยที่เหมืองมั่งคั่งจนถึงซบเซา สปิริตแรงกล้าของคนในหมู่บ้านนี้เองที่พาอีต่องให้ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะคนเก่าแก่ที่อยู่ที่นี่มานาน คนที่ตัดสินใจกลับบ้าน หรือเด็กรุ่นใหม่อย่างเต ความรักแผ่นดินต่อจุดเชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากัน

ดังนั้นจิตวิญญาณของขุนเขาจึงไม่เคยหายไป

“การเป็นไกด์ที่ดี อันดับหนึ่งต้องซื่อสัตย์ สำคัญที่สุด คนเขามาเที่ยวก็ต้องดูพฤติกรรมเราเป็นอย่างแรกว่าไว้ใจได้แค่ไหน เด็กในพื้นที่เป็นยังไง มันสะท้อนตัวตนหมู่บ้านนะ มีน้องๆ ก็สอนยังงี้ เด็กๆ ที่นี่ใครใช้อะไรก็ไปทำให้ ลักเล็กขโมยน้อยไม่มี อย่างเขาไว้ใจให้เราไปเอาของในรถ นักท่องเที่ยวบางคนเขาทิ้งตังค์ไว้ลองใจ เรายังไม่เอาเลย เรารู้สึกดีที่มีคนมาเที่ยว จะทำให้เขาเสียความรู้สึกก็ไม่ใช่”

ติไหน่
มัคคุเทศก์ และเจ้าบ้านชาวปิล๊อก

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่ทำให้เราหลงรักอำเภอปิล๊อก จังหวัดกาญจนบุรี แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR