Palace of Memory

ยามเช้าที่แสงแดดยังอ่อนจาง ลมทะเลพัดแรงจนรู้สึกหนาวสิ่งแรกที่เราสัมผัสได้เมื่อย่างเท้าเข้าเขต พระจุฑาธุชราชฐาน พระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทยคือความสงบ

ก่อนเยี่ยมชมสถานที่แสนสวย น้องฝ้าย-สวรินทร์ แป้นมา มัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนเกาะสีชัง อาสาพาเราเดินชมเขตที่ประทับตากอากาศของรัชกาลที่ 5 ลั่นทมขาวร่วงพรูเหมือนพรมดอกไม้บนทางเดินหินและสนามหญ้าสีเขียวที่ตกแต่งเรียบร้อย

“ต้นลั่นทม ต้นมะขาม แล้วก็พวงชมพูกอใหญ่ๆ นั่นเป็นต้นไม้เก่าบนเกาะค่ะ สังเกตพวกต้นใหญ่ๆ จะปลูกสมัยรัชกาลที่ 5 หมดเลย หนูคิดว่าท่านคงชอบต้นไม้”

เจ้าบ้านตัวน้อยพูดซื่อๆ ขณะนำทางเราขึ้นเนินเขาสูงชัน เราแก้ความเหนื่อยหอบด้วยการอ่านป้ายบันไดและทางสัญจรที่มีชื่อพระราชทานไพเราะคล้องจอง เช่น เขี้ยวหนุมาน-ผสานโมรา-ศิลาสีอ่อน-ท่อนมาร์เบอร์ รู้ตัวอีกทีก็ผ่านเส้นทางร่มรื่นมาถึงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วังจุฑาธุชเป็นพระราชวังตากอากาศที่ทรงโปรดให้สร้างขึ้นและเสด็จมาประทับพักผ่อนหลายครั้ง เราจึงได้เห็นพระอิริยาบถของพระองค์ที่ดูผ่อนคลายที่นี่

เบื้องหลังพระบรมรูปคือบ่อรองน้ำฝนขนาดใหญ่ที่ทำเลียนแบบหอยมือเสือ ฝ้ายเล่าว่าน้ำฝนจะถูกต่อท่อไปสู่เขามอและน้ำพุต่างๆ แม้ในอดีตเกาะสีชังจะไม่มีน้ำจืดใช้มากมาย แต่มีกลไกชาญฉลาดจัดวางโขดหินและแอ่งธรรมชาติเป็นสระ บ่อ ธาร น้ำพุ และน้ำตกตลอดเส้นทางในสวน แต่ละจุดก็มีชื่อต่อกันเป็นบทกลอนสนุกๆ ที่ยาวจนทั้งเจ้าบ้านและเราจำกันไม่หวาดไม่ไหว

แดดเริ่มจ้าขึ้นเมื่อเราเดินผ่านแมกไม้ไปถึงหินระฆัง กลุ่มก้อนหินสีเทาตะปุ่มตะป่ำเหมือนผิวดวงจันทร์ มัคคุเทศก์น้อยในชุดพละปีนขึ้นไปตรงยอดก้อนหินอย่างคล่องแคล่วแล้วเคาะหินให้เราฟัง เสียงของมันดังใสก้องกังวาน ฝ้ายยิ้มเมื่อเห็นเราทำหน้าตาประหลาดใจ

“ตรงนี้เรียกว่าหินระฆังค่ะ มีตรงนี้ที่เดียว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโขดหินในทะเลมาก่อน จากตรงนี้เดินต่อไปอีกหน่อยจะถึงพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นวัดแบบโกธิคที่ติดกระจกสีแบบฝรั่ง ช่างชาวอิตาเลียนเป็นคนออกแบบค่ะ”

มัคคุเทศก์ชาวเกาะนำทางเราเข้าไปไหว้พระในวัดทรงกลมสีขาวสะอาดตา รายละเอียดต่างๆ ถูกลดทอนจนเหลือแต่ความเรียบง่าย โดมสูงขาวเก็บไอเย็นของลมทะเลไว้ภายใน ทิ้งแดดร้อนและความเดือดเนื้อร้อนใจไว้ภายนอกศาสนสถาน หลังนั่งซึบซับความเย็นครู่ใหญ่ ฝ้ายหันมาถามความสมัครใจว่าจะออกแรงเดินขึ้นเขาไปจุดชมวิวเนินเขาน้อยหรือกลับลงไปด้านล่างทันที เราเลือกเดินขึ้นที่สูงต่อ และไม่ผิดหวังเมื่อได้เห็นชายฝั่งสีชังและทะเลกว้างใหญ่สุดสายตา

เรือนไม้ 4 หลังที่ตั้งเรียงรายรับลมริมเกาะ เป็นอาคารโบราณที่เก็บรักษาความทรงจำของสีชัง เรือนอภิรมย์ เรือนผ่องศรี และเรือนวัฒนา เคยเป็นเรือนพักฟื้นผู้ป่วยที่เจ้านาย 3 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น มัคคุเทศก์น้อยพาเราไปชมนิทรรศการในแต่ละหลัง เราเรียนรู้ประวัติการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ บนเกาะสีชังอย่างละเอียดละออจากเรือนอภิรมย์ ชมนิทรรศการพระราชประวัติ และประวัติบุคคลผู้มีบทบาทกับเกาะสีชังในอดีตที่เรือนผ่องศรี และติดตามเหตุการณ์สำคัญในเกาะสีชังที่เรือนวัฒนา ส่วนเรือนไม้สีเขียวริมทะเลหลังสุดท้ายที่กลายเป็นสำนักงานและคาเฟ่เล็กๆ น่ารัก เคยเป็นที่พักของชาวต่างชาติในสมัยก่อน

ฝ้ายนำทางเราไปชมฐานปูน 8 เหลี่ยม ร่องรอยสุดท้ายของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์หลังเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 พระราชวังฤดูร้อนก็ถูกทิ้งร้างไปหลายปี รัชกาลที่ 5 ไม่ได้เสด็จแปรพระราชฐานที่นี่อีกจึงโปรดรื้อถอนอาคารไปสร้างใหม่เป็นพระที่นั่งวิมานเมฆในพระราชวังดุสิต แม้ไม่มีพระที่นั่งไม้สักทอง 3 ชั้นหรือตำหนักมากมายเหมือนในอดีต แต่พระจุฑาธุชราชฐานแห่งนี้ยังสวยดึงดูดใจและได้รับการดูแลรักษาอย่างดี

ฟองคลื่นซู่ซ่าที่สะพานอัษฎางค์ เราเดินออกไปรับลมบนทางเดินยาวแสนโรแมนติกที่ยื่นออกไปกลางทะเล สะพานนี้เพิ่งได้รับการบูรณะใหม่ในไม่กี่ปีให้มีลักษณะคล้ายต้นแบบมากที่สุด ทิวทัศน์และบรรยากาศที่เราสัมผัสน่าจะใกล้เคียงภาพที่เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ไม่มากก็น้อย

แน่ล่ะ สีชังก็เหมือนที่อื่นๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่การถนอมความทรงจำ ความรัก และความสุขที่ผลิบานในพระราชวังฤดูร้อนในเขตพระราชฐาน ทำให้ทุกคนที่เข้ามาได้แบ่งปันความสงบและสร้างช่วงเวลางดงามขึ้นที่นี่ร่วมกัน

“หน้าที่หนูคือการดูแลแขกที่มาค่ะ บางทีก็เบื่อบ้างที่ต้องพูดซ้ำๆ นะ แต่ก็ทำได้ หนูตั้งใจจะให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวให้ครบถ้วนที่สุดค่ะ”

สวรินทร์ แป้นมา
มัคคุเทศก์น้อย และเจ้าบ้านชาวเกาะสีชัง

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวแสนสุขบนเกาะสีชังเพิ่มเติมได้ทางด้านล่างนี้เลย

AUTHOR