หากเชื่อว่าเทวดาคุ้มครองมีจริง ดินแดนแห่งนี้คงได้รับพรวิเศษ
เมื่อพรวนไถดินร่วนซุยเพื่อเพาะปลูก ขุมทรัพย์แร่ธาตุปากแม่น้ำก็หล่อเลี้ยงพืชพรรณนานาให้เติบโต หลายต้นอาจชอบอยู่ใกล้คูคลอง แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่รักทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จนลำต้นสูงเพรียวผุดขึ้นโบกใบไหวๆ ทั่วทั้งสามอำเภอในสมุทรสงคราม ด้วยความอยู่ง่ายกินง่าย นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน มะพร้าวจึงฝากตัวเป็นสมาชิกของสวนแต่ละบ้านได้อย่างไม่ขัดเขิน
สรรพคุณของมะพร้าวมีหลากหลาย ตั้งแต่ราก ลำต้น ก้าน ใบ ดอก ผล ไปจนสุดปลายยอดสูงลิ่ว ทุกส่วนของต้นไม้มหัศจรรย์นี้มอบอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้สารพัด มะพร้าวเติมตำรับครัวแม่กลองให้อร่อยเหาะ โดยเฉพาะจุดแข็งอย่างน้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปึก ที่กลายเป็นตัวละครเอกขึ้นหิ้งของฝากสมุทรสงคราม จนใครผ่านไปมาต้องแวะซื้อน้ำตาลแท้รสหวานกลมกล่อมกลับบ้าน
บ้านริมคลองโฮมสเตย์ หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ รู้ซึ้งถึงอานุภาพต้นไม้ชนิดนี้อาณาเขตที่พักริมน้ำจึงรวมพื้นที่จัดเวิร์กชอปภูมิปัญญาจากมะพร้าว ลุงสมชาย สมุทรทองคำ-วิทยากรท้องถิ่นกวักมือเรียกเราไปยืนใต้มะพร้าวต้นเตี้ย ก่อนคว้ามีดเล่มโตมาฝานจั่นหรือดอกมะพร้าว รอเพียงอึดใจ น้ำตาลใสๆ ก็หยดติ๋งๆ ลงมา เรายื่นนิ้วไปแตะหยดน้ำหวานมาชิมขณะที่ผึ้งงานตอมจั่นมะพร้าวอย่างอดใจไม่ไหว
“หวานมั้ย?” ลุงถาม เราพยักหน้า นิยมรสหวานบางๆกำลังดี เจ้าบ้านวัยกลางคนคว้ากระบอกใส่น้ำตาลมาให้ดู ด้านในบรรจุไม้พะยอมหนึ่งหยิบมือเป็นสารกันบูดธรรมชาติที่รักษาน้ำตาลให้คงรสชาติได้ตลอดวัน
“น้ำตาลมะพร้าวเอามาทำอะไรได้หลายอย่างเลย พอรองน้ำตาลได้ก็กรองไม้พะยอมทิ้ง เอาลงกระทะตั้งไฟเคี่ยว พอเดือดก็กลายเป็นน้ำหวานไซรัป ถ้าตอนเดือดปุดเดียวเอาลงมาเก็บในไหดินเผา ใส่ไม้มะเกลือชิ้นๆ ย่างไฟ รอ 7 วันเท่านั้นก็ได้กระแช่ อร่อยจนติดใจเลยล่ะ เวลากินต้องใช้กะลาด้วยนะ จะอร่อยเข้ากัน ได้บรรยากาศ”
ลุงสมชายแบ่งปันสูตรน้ำเมาอย่างไม่หวง ก่อนเดินนำเราไปที่เตาเคี่ยวน้ำตาลขนาดใหญ่น้ำตาลใสๆ ที่ถูกเคี่ยวนับชั่วโมง กลายเป็นสีน้ำตาลเข้มต้องใช้โคหรือฝาไม้ไผ่ครอบไม่ให้ฟองล้นเมื่อผิวหน้าเดือดปุดๆ จนขึ้นดอกหมากก็ถึงเวลายกกระทะลง และใช้แท่งเหล็กปลายวงม้วนกระทุ้งให้น้ำตาลคลายความร้อน หลังหยอดของเหลวข้นหนึบลงแม่พิมพ์แต่ละถ้วย น้ำตาลอุ่นๆ จะแข็งตัวเป็นก้อนกรุบ หวานนวลและหอมอร่อยสมความทุ่มเทในทุกขั้นตอน
รสหวานยังอวลอยู่บนลิ้น ขณะที่เราเข้าซุ้มจักสานใบมะพร้าวของ พี่ศรีรัตน์ สุพรรณโรจน์ เจ้าบ้านสาวยิ้มแย้มอย่างใจดี ท่ามกลางเด็กชายหญิงที่มะรุมมะตุ้มขอปลาตะเพียน ปู และของเล่นสารพัดจากปลายนิ้วและใบมะพร้าวสอดประสาน
“เราโตมากับปลาตะเพียนสานตั้งแต่เกิดแล้ว สมัยก่อนเราไม่ได้ซื้อของเล่นอะไร ก็ใบมะพร้าวนี่แหละที่เป็นทั้งของเล่นของใช้” พี่ศรีรัตน์เสกปูตัวน้อยขึ้นมาอย่างคล่องแคล่วพร้อมเล่าว่าสมัยก่อนทำของเล่นให้น้องเป็นประจำ และยังเรียนรู้การสานหมวก สานตะกร้า และเครื่องใช้อื่นๆ จากครอบครัว ก่อนจะใช้ความรู้นั้นดัดแปลงดีไซน์เล็กน้อย และสร้างอาชีพเสริมให้กับตัวเอง
“เรียนทำหมวกสักใบมั้ย? ไม่ยากหรอก พี่สอนให้”
เราเกือบตอบตกลง แต่เมื่อสบตาเด็กๆ ที่ต่อคิวขอปูปลาตาละห้อย เลยยอมถอยให้การกำเนิดของเล่นจากธรรมชาติ
“ขนมชิมได้นะลูกไม่ต้องเกรงใจ”
กลิ่นหอมของขนมหวานและเสียงเพราะๆ ของ ยายละออง แท่งเพ็ชร เหมือนแม่เหล็กดึงดูดเราไปที่ซุ้มขนมต้มและถั่วแปบ ก่อนเปิดเวิร์กช็อปทำขนม ยายตักขนมทั้งสองแบบใส่กะลาใบจิ๋ว โรยหน้าด้วยมะพร้าวทึนทึกกลางอ่อนกลางแก่ หยอดน้ำตาลและงาขาวดำคั่วบนถั่วแปบเล็กน้อยแล้วส่งให้เราชิม แม้เป็นขนมไทยที่มีขายทั่วไป แต่ความสดใหม่และมะพร้าวมันหอมของแม่กลองก็ทำให้เราตาโตเมื่อได้ชิม
“ถั่วแปบกับขนมต้มใช้แป้งเหมือนกัน ใช้แป้งข้าวเหนียวอย่างดีนวดกับน้ำสะอาด แค่ไส้ไม่เหมือนกัน ถั่วแปบใส่ถั่วเขียวซีกนึ่งคลุกเกลือเล็กน้อย ส่วนขนมต้มใส่ไส้มะพร้าวกวนเท่านั้นละลูก” ยายละอองอธิบายความแตกต่างระหว่างขนมสองชนิด แล้วหยิบกะละมังไส้มะพร้าวกวนเป็นก้อนกลมๆ มาให้ดู
“ต้องใช้กระต่ายขูดมะพร้าวให้ละเอียดเป็นฝอย ถ้าใช้มือขูดจะชี้โด่ชี้เด่ แล้วเอาน้ำตาลปึกที่เคี่ยวมาตั้งไฟ กวนรวมกับฝอยมะพร้าวอย่างละครึ่ง กวนนานสามชั่วโมงให้เหนียวละเอียดเนียนจนปั้นได้ ที่สำคัญต้องใช้น้ำตาลแท้ ไม่งั้นปั้นแล้วจะแตกร่วน ไม่เป็นลูกขนมต้มเลย อร่อยกับไม่อร่อยต่างกันตรงนี้” ตาประสม สามีของยายละอองกล่าวเสริมให้เราเห็นกระบวนการทำขนมมงคลโบราณสำหรับพิธีขึ้นบ้านใหม่ตั้งศาลพระภูมิ ศาลเพียงตาหรือการยกครู เนื่องจากสมัยก่อนขนมไทยไม่มีการซื้อ ทำกินเองกันทุกบ้าน การขึ้นมะพร้าวเก็บลูกมาทำขนมทานเองจึงเป็นเรื่องปกติ โดยเนื้อขาวๆ น้ำกะทิ และน้ำตาลมะพร้าว เป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้สำหรับเมนูขนมไทยประจำสมุทรสงคราม
แดดแจ่มจ้า เด็กๆ วิ่งสวนเราไปพร้อมของเล่นใบมะพร้าวในมือหากเทวดาคุ้มครองมีจริง ก็มอบผืนดินอุดมสมบูรณ์เป็นพรวิเศษเพียงครึ่งเดียว อีกส่วนที่เหลือ ชาวแม่กลองรับช่วงปลูกภูมิปัญญาในวิถีชีวิต และส่งต่อของขวัญให้ผู้มาเยือน
บ้านริมคลองโฮมสเตย์
เปิดทุกวัน
ที่ตั้ง: 43/1 หมู่6 ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม
โทรศัพท์: 034-752-775, 089-170-2904
“เจ้าบ้านที่ดีต้องเป็นกันเองเหมือนเจอลูกหลาน ถ้าเจ้าบ้านถือตัว วางตัว เห็นแขกเป็นแขก
ไม่ใช่พวกฉันไม่ใช่ญาติฉัน แบบนี้เราไม่มี เราจะเป็นกันเอง จะรู้จักไม่รู้จัก ถือว่ามาเยือนเราแล้ว
จะเป็นคนดีไม่ดี เราทำดีใส่เขาเขาก็ดีใส่เรานั่นแหละ เราก็จะมีมิตร ทุกวันนี้ตายายพูดได้จ๋อยๆ เลยนะ เราชอบคน ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย
ทำตรงนี้แล้วไม่รู้สึกว่าอายุมากขึ้นเลย”
ละออง แท่งเพ็ชรและประสม แท่งเพ็ชร
วิทยากรบ้านริมคลองโฮมสเตย์ และเจ้าบ้านชาวแม่กลอง
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
สัมผัสมนตร์เสน่ห์ของเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย