welcome drink ของ ‘บ้านอยู่ดีมีความสุข’ คือน้ำทะเล
เปล่า พี่โม่-เกศแก้ว ทองจรูญ เจ้าบ้านชาวสีชังไม่ได้ตักน้ำทะเลเค็มปี๋มาเสิร์ฟเรา แต่น้ำใบเตยอัญชันที่เธอต้มเองเป็นสีน้ำเงินอมเขียวใสเฉดเดียวกับน้ำทะเลที่เรามองเห็นจากระเบียงบ้าน ยิ่งเมื่อดื่มควบกับขนมไทยอย่างข้าวต้มมัด ขนมต้ม และข้าวเกรียบอ่อนไส้มะพร้าวอ่อนที่ไม่ค่อยมีให้ชิมได้ทั่วไป เราก็ทำได้แค่อมยิ้มเคี้ยวตุ้ยและไม่อาจสนทนาอะไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
ระหว่างอิ่มเอมกับความหวานเย็นของขนมและลมทะเล เรานึกย้อนว่ารู้จักพี่โม่ครั้งแรกในฐานะดีไซเนอร์ช่างปรุงที่ทำกระเป๋าผ้าน่าหยิบ งานแบรนด์ดิ้งน่ารัก และเคเทอริ่งช่างคิดในนาม บริษัท อู้ฟู่ จำกัด พอได้ยินว่าเธอมาทำบ้านพักเล็กๆ บนเกาะสีชัง เราก็นึกว่าคงเป็นอีกโปรเจกต์ใหม่ของเธอ โดยไม่เคยรู้เลยว่าผู้หญิงช่างคิดคนนี้เป็น ‘คนเกาะ’ โดยกำเนิด
“ที่นี่จะเรียกพวกเรากันเองว่า ‘คนเกาะ’ แต่คนที่มาจากที่อื่น จะกรุงเทพฯ ศรีราชา หรือจังหวัดไหน เขาจะเรียกว่า ‘คนฝั่ง’ พี่เป็นคนเกาะเลยค่ะ เกิดที่นี่ เราอยู่ที่เกาะจนถึงป.6 ไม่เคยไปอยู่ที่อื่น เคยไปแค่เที่ยวศรีราชาแล้วกลับมา เรารู้สึกว่ามันธรรมดาน่ะ แต่พอเราไปอยู่กรุงเทพฯ วันแรกที่ไปเจอเพื่อนแล้วคุยกัน เพื่อนแปลกใจมากว่าบ้านอยู่เกาะเหรอ อยู่กันยังไง เราถึงรู้ว่ามันไม่เหมือนกัน” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม “สมัยที่เราเป็นเด็ก บ้านเรายังไม่มีน้ำประปา ทุกบ้านมีบ่อเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน จะใช้ก็ต้องตักมาใส่กะละมัง ไฟฟ้าก็มีให้ใช้เฉพาะตอนกลางคืน พอไปอยู่กรุงเทพฯ เลยรู้สึกว่าเป็นโลกอีกใบหนึ่ง”
พี่โม่บอกว่าการไปใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ยาวนานทำให้เธอกลายเป็นคนเกาะที่มองเห็นเสน่ห์บางอย่างของสีชังเหมือนคนฝั่ง คนเกาะมีวิถีน่ารักๆ ที่น่าชื่นชม พี่โม่เล่าว่าใน ‘วันกองข้าว’ 15 เมษายน ทุกครอบครัวจะแต่งตัวสวยถือปิ่นโตไปทำพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ที่ศาลศรี-ชโลธีเทพ ในเขตวังจุฑาธุชราชฐาน และแลกอาหารที่ถือมาร่วมแบ่งปันความอร่อย ส่วนช่วงสงกรานต์ที่ช้ากว่าสงกรานต์ทั่วไป จะมีประเพณีเฉพาะกิจอย่าง ‘อุ้มสาวลงน้ำ’ ที่ทุกคนจะไปรวมตัวกันที่เกาะขามใหญ่ แล้วเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยการอุ้มลงไปในทะเลแทนการใช้น้ำจืดที่หายากเพื่อสาดน้ำใส่กัน อย่างสนุกสนาน เป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยความสนุกครอบคลุมทั้งคนหนุ่มคนสาวและคนเฒ่าคนแก่
ส่วนวิถีประจำวัน พี่โม่บอกว่าทุกครั้งที่ได้กลับบ้านถือเป็นความเพลิดเพลินส่วนตัวที่ได้ใช้จ่ายเวลาเหลือเฟือโดยไม่ต้องหมดไปกับรถติดและชีวิตเร็วรี่อย่างที่เรารู้กัน
“เกาะมันกะทัดรัด อยากคุยกับใครไม่ต้องโทรศัพท์ไปนะ ขี่รถไปหาเอา ตอนพี่หาช่างทำบ้าน ขอเบอร์โทรศัพท์จากพี่สาว พี่บอกไม่มี ให้ขี่รถไปหาเขาสิ เราไปหาไม่เจอ เขาไปทำงานที่อื่น แต่เดี๋ยวเย็นเขาก็กลับมากินข้าวบ้าน เราก็แค่ไปหาเขาใหม่ ตอนแรกก็รู้สึกหงุดหงิดนะ ทำไมไม่ขอเบอร์ฯ กันมา จะคุยกันรู้เรื่องไหม แต่กลับกลายเป็นว่ามีเบอร์ฯ ก็ยังคุยไม่รู้เรื่อง ต้องไปเจออยู่ดี ขี่รถไปแป๊บเดียวเอง ระหว่างทางเจอคนเกาะขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านกันก็ทักทาย เฮ้ย ไปไหน คุยกัน แซวกัน เพราะเรารู้จักกันหมด ไม่รู้จักกันโดยตรงก็รู้ว่าเป็นลูกบ้านนี้ เป็นเพื่อนลูก เพื่อนหลาน มันเป็นเสน่ห์น่ารักที่เราไม่ได้เจอที่กรุงเทพฯ”
แล้วในแง่ของคนฝั่งล่ะ พี่โม่คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ที่คนแปลกหน้าจะได้รับจากเกาะกะทัดรัดเกาะนี้
“ความชิลล์ ไม่มีเกาะไหนใกล้กรุงเทพฯ เท่านี้อีกแล้ว สมมติเราตื่นมาแล้วอยากไปไหนซักที่ที่ชิลล์ๆ หน่อย ที่อื่นไกลกว่านี้หมด เกาะล้าน เกาะเสม็ด เกาะช้าง ไกลกว่าทั้งนั้น ขับรถมานี่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง มาถึงเกาะก็ชิลล์ๆ ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือบางคนอยากมาตกปลาก็มีทั้งตกชายฝั่งหรือจะเช่าเรือออกไปตกก็ได้ใช้เวลาแค่วันเสาร์อาทิตย์ก็พอถ้ามีเวลามานอนค้าง ตื่นสายๆ แล้วกลับบ่ายๆ ถ้าไม่อยากค้างก็เที่ยวแค่วันเดียว มีเรือให้กลับถึงค่ำๆ ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง สำหรับพี่ สีชังเป็นเกาะที่ง่าย ไมต้องปรับตัวอะไรมาก คนเกาะก็ไม่ได้เข้าถึงยาก ยิ้มแย้มแจ่มใส เดินผ่านบ้านก็ยิ้มให้กันถึงจะไม่รู้จักกัน”
รอยยิ้มที่เราได้รับตลอดทาง ยืนยันคำของเจ้าบ้านได้ชัดเจน
ส่วนรอยยิ้มที่เรามีตลอดทริป ก็ยืนยันความสุขที่ได้รับจากเกาะแห่งนี้
…
รถสกายแล็ปคันใหญ่เต็มซอยพาเราลัดเลาะลงเนินเข้าไปในหมู่บ้านเลียบทะเลใกล้ท่าบน และจอดเอี๊ยดในจุดที่เราเห็นบ้านพักขนาดกะทัดรัดที่มีหน้าตาแปลกต่างกว่าใคร ใช่ นั่นคือ ‘บ้านอยู่ดีมีความสุข’ บ้านตึกขนาดสองชั้นที่เหมือนปลูกอยู่ในทะเลเวลาน้ำขึ้น แปลกตาด้วยช่องลมซีเมนต์หล่อเต็มผนัง และเมื่อเราก้าวผ่านบานประตูไม้เข้าไป ลมตึงจากทะเลก็พัดความเย็นชื่นมาทักทายเราก่อนที่เจ้าบ้านจะออกปากเชื้อเชิญเสียอีก
เราไม่แน่ใจว่าควรเรียกพื้นที่เล็กๆ นี้ว่าล็อบบี้เหมือนโรงแรมทั่วไปได้หรือไม่ เพราะมันมีเพียงแพนทรีบาร์เล็กๆ เครื่องเล่นแผ่นเสียง โต๊ะเก้าอี้พร้อมรับรอง และระเบียงที่มีบานเฟี้ยมกว้างให้มองเห็นน้ำทะเลใสแจ๋ว พร้อมเหล่าเรือประมงสีสดใส แต่รอยยิ้มจริงใจของเจ้าบ้าน น้ำสมุนไพรสีน้ำทะเลเย็นเจี๊ยบ และขนมไทยหากินยากเต็มโต๊ะ ก็ละลายความขวยเขินของแขกแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนใหม่ได้ไม่ยาก
“เดิมบ้านหลังนี้เป็นบ้านของพี่สาว เป็นบ้านไม้ที่เริ่มพังจนเข้าอยู่ไม่ได้แล้ว วันนึงพี่พาเพื่อน (คุณชาติขจร เลิศสวัสดิ์) สถาปนิก มาเที่ยวบ้าน พี่สาวเลยขอคำปรึกษาเรื่องการซ่อมแซมบ้านหลังนี้ คุณชาติขจรได้แนะนำว่าบ้านตรงนี้น่าจะทำเป็นบ้านที่เปิดให้คนมาพักได้ พี่สาวคิดอยู่ 2 – 3 วัน ก็โทรมาบอกพี่ว่าตกลงจะทำตามที่สถาปนิกแนะนำ ขอให้พี่เป็นคนจัดการทั้งหมด” พี่โม่เจ้าของโปรเจกต์เริ่มต้นเล่าบทที่หนึ่งของบ้านหลังนี้ให้ฟังไปพร้อมๆ กับพาดูมุมต่างๆ ในบ้าน ที่หยอดรายละเอียดน่ารักชนิดตั้งอกตั้งใจ
“เราก็เริ่มออกแบบกับสถาปนิก โจทย์คือต้องการบ้านที่ไม่ต้องเปิดแอร์ทั้งวัน มีลมพัดผ่านได้ดี เราชอบช่องลมเหมือนบ้านโบราณ ซึ่งสถาปนิกก็บอกว่ามันช่วยทำให้บ้านมีอากาศหมุนเวียนด้วย เราก็ดีใจเลย ตอบโจทย์ โดยขอให้เค้าออกแบบผนังที่มีช่องลมเยอะๆ การซ่อมบ้านหลังนี้ต้องทำในช่วงเวลาที่น้ำลงตอนกลางวัน คือเดือนเมษายน พอทำโครงสร้างรากฐานและบ่อสำหรับเก็บน้ำเสร็จก็มาเริ่มทำห้อง ลงรายละเอียดว่าประตูหน้าต่างจะยังไง แต่งแบบไหน เราวางไว้ 4 ห้อง ตั้งใจจะทำให้ไม่เหมือนกัน”
และผลลัพธ์ของคำว่า ‘ลงรายละเอียด’ ของพี่โม่ หมายถึงการไปขอให้ร้านวัสดุเจ้าเก่าหล่อช่องลมซีเมนต์ที่เลิกผลิตแล้วให้อีกครั้ง จับคู่กระเบื้องลายเก๋จากอิตาลีให้เข้าขากับกระเบื้องไทยอย่างลงตัว ตัดเย็บม่านหมอนผ้าห่มด้วยคู่สีน่ารัก สั่งอ่างล้างหน้าทำจากหินอ่างศิลาแทนสุขภัณฑ์สำเร็จรูป ไปจนถึงสั่งทำแชมพู สบู่เหลว แบบออร์แกนิกที่ออกแบบสีสันมาเฉพาะห้องทั้งสี่ อันได้แก่ เมฆหมอก ขอบฟ้า สีคราม และสีชัง ส่วนชื่อบ้านยาวเหยียด เธอบอกว่าได้ไอเดียจากป้าย ‘บ้านนี้อยู่แล้วรวย’ มาผสมกับคำโบราณที่ชอบอย่าง ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ เลยกลายเป็น ‘บ้านอยู่ดีมีความสุข’ ที่แขวนอยู่เล็กๆ หน้าบ้าน
แม้จะไม่เคยทำงานออกแบบตกแต่งมาก่อน รายละเอียดลงตัวในบ้านน่าจะเป็นสิ่งที่เธอถนัดเหมือนงานนักออกแบบและทำแบรนด์ดิ้งของเธอ แต่ในฐานะ ‘ผู้ให้บริการ’ เจ้าบ้านคนนี้ก็เพิ่งได้เรียนรู้ว่าเธอมีอยู่มากพอตัว
“ตอนทำบ้านสนุกแบบหนึ่ง พอได้รับแขกก็สนุกอีกแบบหนึ่ง จริงๆ มันก็กลายเป็นสิ่งที่เราชอบเหมือนกันนะ เมื่อก่อน เวลาเพื่อนมาบ้าน เราก็จะทำกับแกล้มให้ ผสมคอกเทลให้ ทั้งที่เราก็แพ้แอลกอฮอล์ แต่เราสนุกกับการทำอย่างนี้ มันอยู่ในตัวเราว่าเราชอบดูแลคนอื่น คือในมุมของเจ้าบ้าน เราก็ควรต้อนรับให้เขามีความสุข ทำให้เขาแฮปปี้ พี่คิดว่าถ้าเราไปเที่ยวที่ไหน เราก็คงอยากได้ความสุขจากตรงนั้น มีบรรยากาศที่ดี มีบ้านที่สะอาด มีการดูแลที่ดี ถ้ามีข้าวให้กิน ข้าวเราก็ควรจะอร่อยด้วย หน้าตาดีด้วย” เจ้าบ้านช่างปรุงเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
มื้อเย็นชุดใหญ่ริมทะเล อันประกอบไปด้วยกุ้ง ปู ปลาสดๆ จากเรือประมงวันต่อวัน ไร้สารฟอร์มาลีน นำมาปิ้งย่างเสริมทัพกับกับข้าวบ้านๆ สไตล์คนเกาะเต็มโต๊ะ (ผัดพริกปลาย่างอร่อยเหลือร้าย!) ปาร์ตี้ดูดาวบนดาดฟ้าที่มีพระเอกเป็นโมฮิโต้รสสดชื่น และอาหารเช้าที่กินยาวไปได้ถึงมื้อเที่ยงอย่างข้าวต้มทะเลเครื่องแน่นข้าวน้อย เครปคาวหวานทำสดใหม่ และกาแฟดีจากกาเฟรนช์เพรส คือคำยืนยันถึงความอร่อยด้วย หน้าตาดีด้วย ที่เธอประกาศ
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากตัวงานที่เปลี่ยนแปลง พี่โม่บอกว่ามันไม่แตกต่างกันนัก เพราะผลลัพธ์สุดท้ายเหมือนกันเสมอ
“สิ่งสุดท้ายคือความสุขของเราตอนจบงาน อย่างตอนเราทำกระเป๋า แล้วลูกค้าโทรมาบอกว่ากระเป๋าสวยมากเลย ชอบมาก เรามีความสุขแล้วว่าของถูกใจเขา รู้สึกว่างานนี้สำเร็จด้วยดี คือถ้าเป็นงานที่ลูกค้าจ้าง เราก็ต้องทำให้เขาพอใจเพราะเขาจ่ายเงินมา มันต้องเป็นแบบนั้น แต่สำหรับบ้าน ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอก แต่ก็เอาที่เราชอบก่อน เราชอบบ้านโล่งโปร่งสบายและเรารู้สึกว่ามันดีกับทุกคนนะ แล้วพอคนมาอยู่บ้านเรา บอกว่าห้องสะอาด อาหารอร่อย บรรยากาศโอเค เราก็จะรู้สึกว่าตรงนี้ ใช่ละ เราไม่ได้คิดว่าบ้านนี้จะเป็นธุรกิจ คนอื่นเขาทำบังกะโลทำบ้านพักกันยังไง เราไม่คิดว่าบ้านเราจะต้องเป็นแบบนั้น พอได้ทำเราก็อยากทำให้เป็นแบบที่เราอยากอยู่ ชาวบ้านอาจจะมองว่าบ้านอะไรไม่ทาสี แต่เราชอบแบบนี้ ถ้ามีคนมาแล้วชอบ ก็ยินดีกับเขาและยินดีกับตัวเองที่มีคนชอบเหมือนเรา โจทย์เราก็มีแค่นี้ เราก็ทำเต็มที่ไปเลย ของใช้ก็ใช้ของดีๆ ไปเลย เพราะมันคือบ้านของเรา”
‘บ้านอยู่ดีมีความสุข’
บ้านอยู่ดีมีความสุข
ที่อยู่ : 36/1 ม. 5 ต. ท่าเทววงษ์ อ. เกาะสีชัง จ. ชลบุรี
โทรศัพท์ : 089-168-9077
Facebook : happyhomekohsichang
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
อ่านเรื่องราวแสนสุขบนเกาะสีชังเพิ่มเติมได้ทางด้านล่างนี้เลย