Weaving a life

ชีวิตชาวเขาที่ดูสวยงามน่าสนใจ ไม่ใช่เหตุผลในการเข้าพักที่บ้านไม้หลังเดียวในศูนย์ฝึกและปฏิบัติการกลุ่มทอผ้าบ้านแม่ขนาด แม้ที่นี่จะเปิดต้อนรับทุกคนที่สนใจแวะมาเมียงมองหรือซื้อของ แต่หากต้องการพักที่บ้านปกาเกอะญอ ต้องมาเรียนรู้และลงมือทอผ้าฝ้ายด้วยกี่เอวกับแม่ครูชาวเขาเท่านั้น

อากาศยามเช้าที่แม่ทาเย็นฉ่ำจนเราต้องวิ่งออกไปยืนตากแดดอุ่นๆ ระหว่างที่แม่เฒ่าชาวปกาเกอะญอสิบกว่าชีวิตเข้ามารวมตัวกันที่เรือนทอผ้า เมื่อนั่งลงพูดคุยกันด้วยภาษาประจำเผ่า ต่างคนต่างตระเตรียมอุปกรณ์ตามหน้าที่ เริ่มจากหยิบ ‘ลูแบ’ หรือดอกฝ้ายมาเข้าเครื่องมือหมุน บีบแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย ยายขันแก้ว น้อยก้อน ชี้ให้ดูว่าดอกอ่อนจะให้ฝ้ายสีอมเขียว ดอกแก่จะมีปุยสีออกน้ำตาล ส่วนดอกที่บานเต็มที่จะเป็นสีขาวนวล ฝ้ายนุ่มๆ กองใหญ่ไร้เมล็ดจะถูกปั่นเป็นเส้นด้ายยาว นำไปย้อมสีได้ตามชอบ ก่อนจะม้วนเข้ากระสวยเพื่อนำไปทอและปักลายเหมือนเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมใส่

“การทอผ้าบ้านเรายังเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นเอกลักษณ์ของเราว่าเกิดมาแล้วต้องมีเสื้อผ้าติดตัว แม่จะทำให้ เราก็ต้องสอนลูกสาวของเราพออายุสัก 10 กว่าขวบก็เรียนรู้การทอผ้าได้แล้ว”

ป้าพร-พรทิพา ดอกแก้วนาค อธิบายที่มาของทักษะที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น บ้านแม่ขนาดรวมตัวกันเป็นกลุ่มทอผ้าตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่มโอท็อป และเปิดเวิร์กช็อปสอนผู้ที่สนใจภูมิปัญญาถักทอในเวลาต่อมา บ้านไม้สองชั้นในศูนย์ฝึกฯ จึงกลายเป็นที่พักสำหรับนักเรียนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไม่สะดวกเข้าไปพักในตัวเมือง

“เวลาอยากมาร่วมกิจกรรมกับเรา แม่ครูก็สามารถสอนวิธีทำตั้งแต่แรกจนจบ มา 3 วันก็ได้ผ้ากลับไปด้วยเลย ถ้ามานอนค้างก็จะพาไปเก็บฝ้ายด้วยนะ หรือฝึกเสร็จแล้วอยากจะซื้อกี่กับอุปกรณ์ไปทอต่อก็ได้เหมือนกัน”

เจ้าบ้านเล่าอย่างใจดีต่อว่าคนที่มาอยู่นับสิบวัน ทอทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ไปจนถึงเสื้อจนต้องหอบผ้ากลับบ้านไปหลายม้วน แต่ถ้าอยากยืดเส้นยืดสายออกจากกี่ทอเอว จะไปนอนพักที่บ้านไม้ในสวนลำไยติดลำน้ำแม่ขนาด หรือออกไปเทรกกิ้งเยี่ยมชุมชนกะเหรี่ยงหลายหมู่บ้านบนเขาก็ไม่มีปัญหา

“หมู่บ้านเราจะมีประเพณีเลี้ยงเห่เสื้อบ้านปีละ 2 ครั้ง เดือน 5 กับเดือน 9 เป็นประเพณีที่สืบทอดมานาน และปกติบ้านชาวเขาทุกหลังจะต้องมีเตาไฟอยู่ในห้องนอน เวลามีคนไม่สบายในครอบครัวก็ต้องมากินข้าวรวมญาติกันทั้งฝั่งพ่อฝั่งแม่ แล้วเราก็มีป่าสะดือ ผีต้นน้ำ สมัยก่อนเวลาเด็กเกิด ต้องเอารกใส่กระบอกไปมัดติดกับต้นไม้ แต่สมัยนี้เด็กส่วนมากจะเกิดในโรงพยาบาล เลยใช้ผมใช้เล็บแทน เป็นความเชื่อที่ทำให้เราได้อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ไม่ตัดต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กๆ ถ้ามาพักกับเราก็จะได้เห็นเรื่องพวกนี้”

นอกจากได้สัมผัสวัฒนธรรม การผจญภัยทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญป้าพรจะเตรียมสำรับเหมือนที่คนท้องถิ่นกินจริงๆ ทั้งอาหารเมืองและอาหารที่ได้วัตถุดิบจากเรือกสวนไร่นา ขุดหาปู จับเขียด เก็บหน่อไม้ ผักต่างๆ และเห็ดตามฤดูกาลมาแกง ที่ขาดไม่ได้คือแกงเบอะ อาหารชาวเขาที่ต้องใส่ข้าวคั่วหรือข้าวเบือ ยิ่งถ้ามาพักในหน้าหนาวแบบนี้ ก็จะมีข้าวหลามและข้าวงาที่ผสมข้าวเหนียวกับงาดำให้กินเล่นด้วย

เจ้าบ้านนำทางเราไปดูห้องรับแขกที่เก็บผลิตภัณฑ์ที่ถักทอจากคนทั้งหมู่บ้าน ฝ้ายนุ่มหนาแปรสภาพเป็นเสื้อ กระโปรง ผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ถุงย่าม และสารพัดของน่าใช้ที่ผสมภูมิปัญญาดั้งเดิมกับการออกแบบตามยุคสมัย ผลผลิตสำเร็จคือปลายทางที่เราอาจซื้อได้ แต่เพื่อทำความเข้าใจการถักทอชีวิตจากธรรมชาติเรียบง่ายงดงามของปกากะเญอ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการลงมือทำด้วยตนเอง

ศูนย์ฝึกและปฏิบัติการกลุ่มทอผ้าบ้านแม่ขนาด

ที่อยู่: 99 หมู่ 8 แม่ขนาด ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
โทรศัพท์: 081-961-8741, 085-622-7723

“เราคิดว่าแขกทุกคนที่เข้ามาในที่ของเรา เรารักเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนพ่อเหมือนแม่ เหมือนญาติ ของเราเอง มีอะไรก็แบ่งกันกินได้ พูดคุยกันได้ อยากให้เขามาด้วยใจรัก และได้สิ่งดีๆ สมกับความรู้ที่เขาตั้งใจจะได้รับจริงๆ กลับไป”

พรทิพา ดอกแก้วนาค

หัวหน้ากลุ่มทอผ้ากระเหรี่ยงบ้านแม่ขนาด และเจ้าบ้านชาวแม่ทา

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านความน่ารักของเมืองลำพูนแบบเต็มๆ ได้ด้านล่างนี้เลย

AUTHOR