Life is blooming

ยามบ่ายที่แดดแจ่มจ้า ความร่มรื่นยังเก็บความเย็นฉ่ำใต้เงาไม้เมื่อเราเดินทางถึง ‘ลำสะปูน’ สวนบรรจุฝันของ พี่ยุ้ย-อุทัยวรรณ บุญลอย และ พี่ต๊ะ-ธีระพล พลเหตุ สถานที่เวิร์กช็อปสอนการทำบ้านดิน การทำสวนเกษตร และการทำอาหารนานาชนิดโดยเฉพาะเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ พื้นที่ขนาดเกือบ 6 ไร่ที่หนุ่มสาวดูแลมีต้นไม้รกครึ้ม บ้านดินหลังหนึ่งกำลังก่อตัวขึ้นทั้งที่ทางเข้า และอีกหลายหลังยืนเด่นเป็นที่พักด้านหลังของผู้เข้าอบรม

หลังทานข้าวกลางวัน นักเรียนบ้านดินแยกย้ายกันนอนอ่านหนังสือใต้ร่มไม้ ตรงข้ามกับกล้วยตากที่ผึ่งตัวเองให้แห้งสนิทบนถาดกลางแดด พี่ยุ้ยชงโอเลี้ยงหวานๆ เป็นเครื่องดื่มดับร้อนในครัว บรรยากาศสงบสบายจนเราจินตนาการแทบไม่ออกว่าย้อนกลับไปในวันที่เจ้าบ้านสาวตัดสินใจกลับบ้านมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผืนดินแห่งนี้รกร้างว่างเปล่า การตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่เป็นสวนอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เพื่อทำสถานที่จัดอบรมหรือทำโฮมสเตย์ แต่เพื่อให้เธอจัดการชีวิตแบบพึ่งตนเอง และได้มีเวลาให้ครอบครัว

“เป้าหมายของพี่คือการได้กลับบ้าน ได้ทำสวน ทำชีวิตให้มันยุ่งยากน้อยลง เรียบง่ายมากขึ้น ช่วงแรกที่มามันอาจไม่เหมือนอย่างนี้ คือเรามาเพื่อใช้ชีวิตมากกว่าที่จะมาคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไร มันคล้ายๆ กับหลายคนที่เราไปเจอที่ตลาดรักพูนพูน เขากลับบ้านมาเพื่อมาหาชีวิตของตัวเอง เพราะทุกคนก็ผ่านการทำงานในเมือง ในองค์กร การใช้ชีวิตในโลกที่กว้างใหญ่มาเยอะแยะ แล้วต้องการที่จะเปลี่ยนชีวิตตัวเอง”

หลังจากผ่านชีวิตที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศมาหลายปี พี่ยุ้ยค่อยๆ ฝึกทักษะการเกษตรและออกแบบการใช้ชีวิตในบ้านสวนบนที่ดินของครอบครัวผืนนี้ เมื่อได้พบกับพี่ต๊ะและตัดสินใจลงหลักปักฐานร่วมกัน ทั้งคู่ต่างมีฝันที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เริ่มจากช่วยกันปลูกผักไปขายและเปิดร้านอาหารสุขภาพในเมือง แต่การดูแลลูกพร้อมบริหารธุรกิจร้านไปด้วยไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพบว่าชีวิตย้อนกลับไปสู่วงจรการเข้าเมืองไปทำงานประจำ มีเวลาเพื่อตัวเองและคนรอบข้างน้อยลง เธอและสามีจึงตัดสินใจสอนสิ่งที่ทำได้และสร้างรายได้ในสวนของตัวเอง

“พี่อยู่ที่นี่มา 4 ปี และเพิ่งเริ่มเปิดตัว เริ่มใช้โซเชียล เริ่มจัดกิจกรรมเมื่อปีที่แล้ว เราไม่ได้ทำทุกอย่างเป็นมาก่อน อย่างแยม พี่ก็ทำไม่เป็น แต่เรามีกระเจี๊ยบเยอะ ขายสดไม่หมด ก็ต้องคิดว่าต้องจัดการผลผลิตของเรายังไง ใครที่ออกมาใช้ชีวิตแบบนี้ เรื่องอาหารการกินก็ตามมาเลย เพราะชีวิตมันก็เปลี่ยนไปแล้วว่าเราวิ่งไปหาอาหารตามสั่งทุกมื้อไม่ได้ เราก็เรียนรู้ทั้งจากพ่อแม่ จากอินเทอร์เน็ต จากการลองผิดลองถูกเอง”

“กิจกรรมที่นี่ไม่มีอะไรมาก คือเราทำอะไรเป็นก็พาไปทำอันนั้น ไม่เชิงเป็นการสอนอบรม แต่เรียกว่าพาทำมากกว่า จริงๆ แล้วเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอคนอื่นๆ ได้มาทำอย่างที่เราทำ เขาก็ตื่นเต้นว่าทำไมทำได้ง่าย มันก็เป็นประโยชน์กับผู้อื่น

“ตอนนี้มีคอร์สทำบ้านดิน มีทั้งระยะสั้นระยะยาว 3 – 4 วัน หรือคอร์สยาว 9 วัน และมีคอร์สพาอยู่พากิน เป็นคอร์สรวม มีทั้งบ้านดิน รู้หลักเบื้องต้นว่าเลือกดินยังไง ผสมยังไง ก่อฉาบยังไง สำหรับคนที่สนใจแต่อาจยังไม่มั่นใจ พาทำสวน ทำปุ๋ยหมัก ปลูกต้นไม้ เก็บเมล็ดพันธุ์ และวันสุดท้ายก็เป็นคอร์สสุขภาพ ทำน้ำสลัด ทำขนมปัง ระหว่างนี้ถ้ากินอะไรแล้วติดใจ ก็สอนทำน้ำซอสชนิดต่างๆ ซอสผัดไทย ซอสสะเต๊ะ รูปแบบเราไม่ได้ตายตัว บางรุ่นสนใจทำอาหารก็เน้นมากหน่อย”

เจ้าบ้านสาวอธิบายระหว่างที่ลูกชายคนโต น้องโอโซนนั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ ส่วนน้องยี่หวา สาวน้อยคนเล็กคลอเคลียอยู่บนตักแม่ เวลาเคลื่อนไปถึงบ่ายคล้อย พี่ยุ้ยขอตัวไปเตรียมอาหารเย็นร่วมกับพ่อแม่ ส่วนพี่ต๊ะเตรียมอุปกรณ์นำหน้านักเรียนนับสิบคนไปที่บ้านดินหน้าทางเข้าสวน เราจึงถือโอกาสตามไปดูการก่อสร้างที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์

จากพื้นดินเรียบโล่ง เจ้าบ้านหนุ่มใจดีสอนการสร้างบ้านดิน ตั้งแต่การออกแบบ วางโครงสร้าง ก่อปูนด้านล่างสุดเพื่อกันน้ำซึม ก่ออิฐแบ่งช่องเป็นประตู หน้าต่าง ชั้นวางของ สมาชิกทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อสร้างหลังคาบ้านในวันก่อนสุดท้ายของการเรียนรู้

“เมื่อก่อนผมไม่ได้อยู่บ้านดินหรือทำอะไรแบบนี้ ผมทำงานบริษัท แต่มันเป็นจุดที่ทำให้เริ่มคิดว่าถ้าไม่มีเงินเราจะทำยังไง เราใช้เงินเป็นอย่างเดียว แต่ความสามารถของเรามันหายไป ผมก็เลยต้องฝึกตัวเองทำนู่นทำนี่ พอดีไปเจอคุณโจน จันได เลยไปเป็นอาสามัครที่พันพรรณประมาณ 4 ปีเพื่อดึงศักยภาพที่หายไปกลับคืนมา ฝึกปลูกผัก ทำสวน ก่อสร้าง ทำอาหารต่างๆ พยายามจะพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด”

อดีตสมาชิกศูนย์พึ่งตนเองที่เชียงใหม่เล่าให้ฟัง หลังตัดต้นไม้ลำตรง ลิดกิ่งใบอย่างคล่องแคล่ว เพื่อทำอกไก่หรือคานของบ้านดินที่จะทำเป็นร้านส้มตำเล็กๆ หน้าสวนลำสะปูน ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปช่วยกันย่ำดินผสมน้ำ ฟาง และแกลบ เป็นกาวฉาบจากธรรมชาติ

“เราอยากใกล้ชิดธรรมชาติ อยากผลิตอาหารที่มันปลอดภัยต่อสุขภาพ และเริ่มสร้างรังของเราเอง ก่อนหน้านี้ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ว่าเราจะพึ่งตัวเองได้มั้ย อยู่ด้วยลำแข้งเราเองได้รึเปล่า แต่พอเรารู้จักการทำอะไรหลายอย่าง ทำบ้านเองก็ได้ ช่วยให้คนอื่นได้ดึงศักยภาพออกมา มันก็ทำให้เรามั่นใจขึ้นครับ”

พี่ต๊ะตอบอย่างจริงใจ กลุ่มสร้างบ้านทำงานแข็งขันกันพักใหญ่ ก่อนยี่หวาจะจูงมือคุณตามาดูการสร้างบ้านดิน เท้าเล็กๆ เปลือยเปล่าเตาะแตะเหยียบทางดินในสวนอย่างแข็งแรงแจ่มใส เราเดินตามสาวน้อยกลับไปหาแม่ของเธอที่กำลังทำแกงเผ็ดฟักทองเป็นอาหารเย็น

เราก็ยังทำอยู่ทำกินเหมือนเดิม ไม่ใช่มีน้องแล้วต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจะหาเงินมากขึ้น เรื่องทำงานหลากหลายขึ้นเป็นเรื่องการอยากโบยบิน เพราะเรามีพลังที่อยากทำงานสร้างสรรค์มากกว่า ไม่ใช่จะทำเพื่อสะสมให้ลูก สิ่งที่เราทำมันเป็นการทำให้เขาอยู่แล้วในตัวมันเอง การที่เราปลูกต้นไม้ วันนึงที่เขาโต ต้นไม้ก็โตด้วย เขาก็ได้อยู่แล้ว พ่อกับแม่มีวิถีชีวิตยังไง เขาก็ได้อยู่แล้ว มันเป็นการสะสมโดยที่ไม่ต้องไปคิดว่าฉันต้องเก็บโน่นเก็บนี่ มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่าลูกจะต้องได้สิ่งที่เราทำ ต้องได้สิ่งที่เราเป็น”

พี่ยุ้ยสานต่อบทสนทนาของเราหน้าครัว ก่อนที่นักเรียนบ้านดินจะกลับขึ้นมาล้างเนื้อล้างตัว ทานอาหารเย็น และเริ่มปาร์ตี้พิซซ่าเตาดินในช่วงค่ำ เราสงสัยว่าคนที่มาลำสะปูนมาค้นพบอะไรที่สวนแห่งนี้

“ความฝันมันคงไม่ได้อยู่ที่นี่ มันคงอยู่ที่เขา สมมติว่าความฝันมันเป็นดอกไม้ดอกนึงให้เอื้อมไปเก็บ ตรงนี้มันอาจเป็นดอกหญ้าริมทางดอกนึงที่เขาเก็บก่อนไปหาฝันของตัวเอง แล้วเขาเห็นว่ามันงดงามหรือน่าจะเป็นประโยชน์บางอย่างกับเขา เขาก็เก็บไป บนเส้นทางที่เขาจะมุ่งไปหานั่นแหละ

“สมัยก่อนมันไม่ได้เป็นอย่างนี้นะ คนต้องการชีวิตแบบนี้มากขึ้น อาจจะเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานหลายๆ อย่างมันเร่งรัดกดดันมากขึ้น เลยอยากทำอะไรที่เรียบง่ายมากขึ้น ซึ่งที่แบบนี้มันก็มีหลายที่ เราเองเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็พยายามที่จะให้ให้มากที่สุด เราไม่ได้ถือว่าเราเป็นผู้รู้นะ เราเป็นผู้รับด้วย มันไม่ได้มีโลกกว้างสำหรับเราเลย ยกเว้นคนที่มาที่นี่ที่จะเอาโลกกว้างมาให้ เอาประสบการณ์ความรู้มาแชร์กับเรา เรารับกันทั้งสองฝ่าย เขาก็ได้สิ่งที่เราเป็น และเราก็ได้สิ่งที่เขามี มันก็เติมเต็มกันไปได้เรื่อยๆ มีคนทุกอายุเข้ามา อายุน้อยๆ ก็เยอะ ก็แล้วแต่เขาว่าเขาแสวงหาอะไรอยู่ แต่คนที่ผ่านชีวิตมาบ้างแล้ว ค่อนข้างจะชัวร์ว่าที่มาก็เพื่อเก็บเกี่ยวทักษะหรือรูปแบบอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะไปทำของตัวเองให้มันสมบูรณ์มากขึ้น”

สมาชิกในสวนทยอยกลับเข้ามาที่บ้านเมื่อพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน พี่ยุ้ยรีบสาธิตการจุดเตาดินก่อเองที่ใช้อบขนมต่างๆ เจ้าบ้านสุมไม้เข้าไปในเตาและอธิบายว่าต้องจุดไฟราว 3 ชั่วโมงให้เตาร้อนจัดจึงใช้อบพิซซ่าได้ ต่างคนต่างรีบกินข้าวและอาบน้ำเพื่อมารวมตัวกันทำซอสพิซซ่า ไฟในครัวสว่างจ้าขณะที่หลายคนช่วยกันสับมะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ กระเทียม และเคี่ยวส่วนผสมกับน้ำมันมะกอก ปรุงด้วยใบไทม์ และกระวาน อีกส่วนหั่นพริกหวานสารพัดสีและโหระพาเป็นผักแต้มหน้าพิซซ่า

เจ้าบ้านสาวกำกับการหั่นชีสเป็นเส้นและตำถ่านไม้ลำไยอินทรีย์เป็นผงสีดำละเอียดสำหรับผสมแป้งพิซซ่าชาโคล ก่อนจะผสมแป้งเหนียวๆ แล้วนวดให้ดูเป็นตัวอย่าง

เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพรักพร้อม เรารวมตัวกันหน้าเตาดินในคืนเดือนหงาย ช่วยกันคลึงแป้งสีขาวนวลและดำสนิทเป็นแผ่นบาง ราดซอสเข้มข้น ผัก ชีส แถมโรยจิ๊นส้มผสมกลิ่นอายอาหารเหนือลงไปแทนเปปเปอร์โรนี ก่อนจะส่งแผ่นพิซซ่าเข้าเตาอบด้วยไม้พายแบนอันโต รอไม่กี่นาทีให้ชีสดีดเด้งแล้วตักออกมาแบ่งปัน อาจเพราะลงมือทำด้วยตัวเอง พิซซ่าร้อนๆ หอมกลิ่นฟืนจึงอร่อยกว่าที่เคยชิมในร้านอาหาร ความใส่ใจทุกขั้นตอนปรุงรสมื้อนี้ให้มีความหมายพิเศษ

“ที่นี่มันค่อยๆเป็นค่อยๆไป คำตอบของอนาคตมันคงจะมาทีละเล็กละน้อย พี่คงจัดอบรมไปเรื่อยๆ แต่คงไม่บ่อยมากนัก คนเราบางทีมันต้องมีช่วงเก็บเกี่ยวอะไรให้ตัวเองบ้าง บ่มเพาะไม่ให้วันนึงตัวเราคับแคบไป อาจทำร้านส้มตำสุขภาพข้างหน้าสวน ปลูกสมุนไพรมากขึ้น ฝึกทำอาหารไทยให้เก่งขึ้น และทำที่พักบ้านดินให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นฟาร์มสเตย์ ให้ต่างคนต่างพักในที่ของตัวเอง มีสวนครัวและครัวเล็กๆ ให้เขาเก็บสมุนไพรหรือผักมาทำอาหารกินเองได้ ให้มันเป็นที่เยียวยาเล็กๆ สำหรับคนที่อยากหลบความวุ่นวาย ได้มีที่พักสงบเงียบประมาณนึง”

เจ้าของลำสะปูนเล่าความตั้งใจต่ออนาคตที่กำลังมาถึง เตาไฟยังอุ่นระอุสู้ไอหนาวช่วงค่ำ แต่ได้เวลาเข้านอนของเด็กน้อยสองคนแล้ว เราตัดสินใจบอกลาเจ้าบ้านชายหญิงและสมาชิกรอบวงพิซซ่าอบอุ่น บอกลาบ้านดิน แปลงผัก ลำไย ไม้ยืนต้นสารพัด และพระจันทร์ดวงโตในสวนกลางคืน

จริงอยู่ ลำสะปูนอาจเป็นดอกไม้ดอกหนึ่งบนเส้นทางที่เราเดินผ่าน แต่มันก็เบ่งบานงอกงามอยู่ในความทรงจำ

“การเป็นเจ้าบ้านที่ดีคือเราเป็นตัวเรา ซื่อตรงกับตัวเอง จริงใจกับคนอื่น เราไม่ใช่โรงแรมหรือที่พักที่จะต้องมีบริการทุกระดับประทับใจ แต่เราคือบ้านของครอบครัวนึง ซึ่งถ้ามาพักหรือมาเรียนรู้อะไรที่นี่ เขาก็จะได้เห็นสภาพชีวิต และทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เราจะพยายามให้เขาอย่างเต็มที่ เพื่อเดินมาสู่จุดตรงกลางที่เราทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนกัน เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกันในท้ายที่สุด”

อุทัยวรรณ บุญลอย และ ธีระพล พลเหตุ

เจ้าของสวนลำสะปูน และเจ้าบ้านชาวเมืองลำพูน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

ตามไปอ่านความน่ารักของเมืองลำพูนแบบเต็มๆ ได้ด้านล่างนี้เลย

AUTHOR