Indigo Origin

กลิ่นครามในเนื้อผ้าและสีฟ้าน้ำเงินพาเราเดินทางสู่จุดกำเนิดของลวดลายสดสวย
ในชุมชนที่ภูมิปัญญาครามสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น แม่บ้านย้อมฝ้ายและทอผ้าเพื่อตัดเสื้อให้สามีใส่ไปทำไร่ทำนา
ตัดกระโปรงให้ลูกใส่ไปโรงเรียน ครามเกาะเกี่ยวกับเส้นใยผ้าและวิถีชีวิตชาวบ้าน อูนดง-หนองไชยวาลย์
อย่างแนบแน่นเนิ่นนาน จนกลายเป็นอาชีพเมื่อสมาชิกชุมชนตัดสินใจรวมกลุ่มกันเมื่อ
10 กว่าปีก่อน เพื่อสร้างวงจรผลิตครามออกสู่สายตาผู้คนภายนอก

“การทำครามแบ่งออกเป็น
3 ส่วน หนึ่งคือการทำเนื้อคราม สองคือการก่อหม้อและย้อม อีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือการทอ
แต่ละจุดก็มีความสัมพันธ์พอๆ กัน เริ่มจากเนื้อคราม ต้องคำนวณเลยว่าพอใช้ย้อมทั้งปีและเผื่อขาย
เราจะเตรียมแปลงปลูกก่อนฝนลง ประมาณเดือนเมษา-พฤษภาจะเริ่มหยอดเมล็ดครามเพื่อที่จะรอน้ำฝน
หลังจากนั้นประมาณ 3 – 4 เดือน พอครามโตได้ที่ก็มาเกี่ยวตอนเช้ามืดค่ะ”

พี่ต่าย-สุนีย์ พร้อมโกมล
ประธานกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง-หนองไชยวาลย์ พาเราไปดูไร่ต้นครามเขียวขจีที่จะถูกเกี่ยวไปทั้งต้น
แล้วนำชมขั้นตอนการผลิตเนื้อครามหรือแม่สีสำหรับย้อมผ้าอย่างไม่หวงวิชา บ้านอูนดงใช้ครามน้อยหรือครามฝักตรงที่ให้สีสดสว่าง
กลิ่นไม่ฉุน ตรงข้ามกับครามใหญ่ที่ลำต้นสูงกว่า ใบใหญ่ ฝักงอ กลิ่นฉุนแรง และให้สีน้ำเงินเข้มทึบ
ครามที่ถูกเกี่ยวจะถูกนำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมงแล้วแยกกากออก
จากนั้นจึงผสมปูนแดงในน้ำแล้วปั่นด้วยมอเตอร์ให้สีเกาะตัวกัน

เมื่อได้น้ำครามเหลวก็ต้องพาไปนอนเปล เทครามบนผ้าขาวที่ใช้กรองเนื้อและน้ำครามออกจากกัน
น้ำครามใสๆ จะไหลซึมจากเปล เหลือเนื้อครามนุ่มนิ่มเหมือนเยลลี่สีน้ำเงิน กว่าจะได้เนื้อครามสัก
1 กิโลกรัมต้องใช้ต้นครามหลายถัง และแม้จะได้หัวใจของครามมาอยู่ในมือ
แต่การย้อมสีให้ติดทนนานต้องอาศัยการก่อหม้อครามและวิธีย้อมที่ละเอียดอ่อน เจ้าบ้านสาวพาเราเข้าเฮือนคราม
กระต๊อบเล็กๆ ที่บรรจุความลับของครามในหม้อเรียงราย

“การก่อหม้อ แต่ละหมู่บ้านจะใช้วัตถุดิบไม่เหมือนกันค่ะ
ที่นี่ยังเป็นสูตรโบราณอยู่ มีกรด ด่าง และเนื้อคราม สัดส่วนคือคราม 1
กิโล น้ำด่าง 3 ขัน น้ำต้มใบเหมือดแอ่
3 ขัน น้ำต้มมะขาม 3 ขัน และน้ำตาลทรายแดง
3 ช้อนโต๊ะ ผสมแล้วโจกทุกเช้าประมาณ 15 วัน”

ผู้เชี่ยวชาญหยิบขันมา ‘โจก’ คราม คือตักน้ำแล้วเทลงไป
ผิวครามด้านบนสีน้ำเงินม่วง แต่เบื้องล่างเห็นเป็นสีเหลืองขมิ้น พี่ต่ายอธิบายว่าสีเหลืองหมายถึงหม้อที่ก่อสำเร็จพร้อมย้อม
เมื่อย้อมจนสีเริ่มเปลี่ยนเป็นเหลืองอมเขียวให้หยุดพัก เติมอาหาร เช่น น้ำคราม น้ำด่าง
น้ำตาลใส่หม้อเพื่อให้หม้อฟื้นตัวและสร้างเม็ดสีมาให้ย้อมอีกในวันถัดไป

“เมื่อก่อเป็นหม้อจะอยู่ได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคนดูแล
ถ้าดูแลดีเขาก็อยู่กับเราตลอด ถ้าดูแลไม่ดีเขาเรียกหม้อหนี คือไม่เหลืองแล้ว เป็นสีอื่น
เช่น สีเขียว สีเทา ย้อมแล้วไม่ติด ครามเขามีชีวิตนะ เขาชอบอะไรที่สม่ำเสมอ สมดุล ไม่ชอบอะไรแปลกๆ
อาหารเปลี่ยน อุณหภูมิเปลี่ยนก็มีผลหมด”

เรามองการย้อมของมืออาชีพแบบตาไม่กะพริบ พี่ต่ายสะบัดฝ้ายเข็นมือต้มสะอาดกับราวไม้ให้เส้นตรงไม่พันกัน
สวมถุงมือก่อนนำเส้นฝ้ายจุ่มลงในหม้อแล้วบีบให้สีกระจายไปทั่วไจ ยิ่งย้อมหลายครั้งหลายหม้อ
สีครามก็จะยิ่งเข้มจัด เจ้าบ้านหยุดมือเมื่อได้เฉดสีที่ต้องการ นำไจฝ้ายสีน้ำเงินไปตากอย่างคล่องแคล่ว
แล้วพาเราเดินเข้าเขตกระบวนการสุดท้ายที่ใต้ถุนเรือน

คุณป้าคุณยายกำลังทอผ้าอย่างตั้งอกตั้งใจ ขณะที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ
นั่งกรอด้ายเข้าหลอดบนพื้น ผลิตภัณฑ์สีฟ้าน้ำเงินของชุมชน เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ
กระเป๋า หมวก เรียงตัวกันเป็นระเบียบเคียงข้างม้วนผ้าลายต่างๆ มีทั้งผ้าพื้นเรียบเข้ม
ผ้าลายเกล็ดเต่า เกล็ดแลน ที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ จนถึงลายที่คิดขึ้นใหม่ และแพตเทิร์นทันสมัยที่ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(องค์การมหาชน)
หรือ BEDO เข้ามาส่งเสริม

“จุดเด่นที่นี่คือผลิตเนื้อครามเองนี่แหละค่ะ
ไม่ต้องไปซื้อจากที่อื่น เพราะเราปลูกครามได้ สีสวยด้วย แล้วชุมชนของเราจะมีกลุ่มปลูกฝ้าย
เข็นฝ้ายด้วย ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาทอได้หมดเลย”

พี่ต่ายยิ้มอย่างภูมิใจ เราลูบเนื้อฝ้ายนุ่มฟูหอมกลิ่นครามจางๆ
การย้อมและทอมือฝากร่องรอยเฉพาะตัวในผ้าแต่ละผืน อาจดูไม่สมบูรณ์ แต่เป็นเสน่ห์ของงานฝีมือที่เครื่องจักรไม่อาจเลียนแบบ
บนผืนดินที่ครามงอกเงย ชีวิตและความงามก็เติบโตผ่านกาลเวลาไปพร้อมกัน

“เราดีใจและภูมิใจกับงานนี้นะ สมาชิกก็มีที่ได้พบปะกัน
ที่นี่ไม่ได้ทำธุรกิจอย่างเดียว แต่เราได้พูดคุยกัน พบปะกัน อย่างแม่ๆ อายุหกสิบกว่าแล้วยังมีรายได้เสริม
มันก็รู้สึกดี ยิ่งเห็นว่าคนชอบงานของเราก็ยิ่งดีใจ จากปกติทำเฉยๆ ก็มีกำลังใจอยากทำงานที่ดีออกไป
ถ้าอยากมาเยี่ยมมาดูงาน แค่แจ้งล่วงหน้ามาก่อน เราก็ยินดีต้อนรับเสมอค่ะ”

สุนีย์
พร้อมโกมล

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง-หนองไชยวาลย์
และเจ้าบ้านชาวพรรณานิคม

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวดีๆ เจือสีครามจากสกลนครได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR