Highland Spirit

ริ้วสีเขียวลดหลั่นเป็นขั้นบันไดบนขอบภูเขาสูงไม่ใช่ทิวไม้สูงต่ำสลับซับซ้อนของป่า
แต่เป็นพุ่มอู่หลงเบอร์ 12 ก้านอ่อนที่กินบริเวณกว้างขวาง
ไร่ชาสองพัน งดงามด้วยแรงทุ่มเทของมนุษย์แห่งขุนเขา
สาวๆ ชาวดาราอั้งหรือปะหล่องสวมชุดประจำเผ่านั่งขายของอยู่หน้าทางเข้า ทั้งผ้าทอพื้นเมือง
เครื่องประดับ และของที่ระลึกต่างๆ ฝีมือชนเผ่าและของนำเข้าจากพม่า
เมื่อเราหยุดแวะดู แม่ค้าที่อายุน้อยที่สุดยิ้มหวานก่อนส่งเสียงทักทายชัดถ้อยชัดคำ

“แวะดูของก่อนมั้ยคะ”

ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม แสง-จุฑามณี
ธรรมเซ
จึงมาช่วยหารายได้พิเศษให้กับที่บ้าน สาวน้อยวัย
12 ปีเล่าว่า มาขายของทุกวัน ยกเว้นเปิดเทอมจะไปเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
30 ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่อยู่ด้านล่าง นอกจากรับบทต้อนรับนักท่องเที่ยว บางครั้งเธอก็ไปช่วยพ่อแม่ปลูกผักและเก็บใบชาที่นี่

“ที่ของพวกหนูอยู่ตรงนู้นค่ะ”
แสงชี้มือไปทางไร่ชาเขียวชอุ่ม “เราเก็บชาตั้งแต่ก่อน 6 โมงเช้า
เพราะใบชามันจะอ่อน เวลาเก็บเราจะเก็บ 1 ยอดกับอีก 2 ใบ เลิกเก็บประมาณบ่าย 3 เพราะไม่มีแดด จะตากใบชาไม่ได้ พอตากเสร็จก็เอาไปนวด เอาผ้าสีขาวปู
วางใบชาลงไป มัดผ้าให้แน่น สมัยก่อนจะใช้มือนวด สมัยนี้ใช้ใส่เครื่องนวด เสร็จแล้วก็เอาไปอบแล้วบรรจุค่ะ”

เจ้าบ้านตัวน้อยอธิบายว่า คนปลูกชาคือชาวบ้านในหมู่บ้านนอแล
โดยไร่ชานี้เริ่มปลูกตั้งแต่ปี 2000 แต่ละบ้านมีอาณาเขตของตัวเอง
แต่เวลาเก็บก็ช่วยกันเก็บทั้งหมด โดยนิยมเก็บชาวันเว้นวันในช่วงหน้าฝน
ส่วนเวลาอื่นนอกจากนั้นก็ปลูกผัก และในฤดูหนาวก็ทำไร่สตรอว์เบอร์รี่

“คนที่มาที่นี่ตั้งแต่แรกๆ
โครงการหลวงจะส่งเสริมให้ปลูกผัก เป็นการสร้างอาชีพ เพราะตอนแรกที่มาใหม่ๆ
ปลูกฝิ่นกัน ในหลวงมาสร้างโครงการหลวงตั้งแต่หนูยังไม่เกิด” แสงพูดอย่างจริงใจ “หนูไม่เคยเห็นพระองค์
แต่ก็ประทับใจที่มาช่วยชาวบ้าน ใกล้ชิดชาวบ้าน ไม่แบ่งแยกว่าเราเป็นชาวเขา”

สาวน้อยในชุดผ้าถุงสีแดงยิ้มอายๆ เธอเป็นดาราอั้ง
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสมาชิกเต็มตัวของแผ่นดินไทยเช่นกัน

มู่บ้านนอแล อยู่ห่างจากไร่ชาสองพันเพียงเล็กน้อย
บ้านไม้เรียบง่ายตั้งเรียงรายอยู่ริมถนน
สลับกับร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว เช่น ชุดชาวเขา ผ้าฝ้ายทอมือ กำไลหญ้าอิบูแค และของจุกจิกสารพัด สาวๆ
ชาวดาราอั้งแดงยืนขายมัน เผือก ข้าวโพด และไข่ปิ้งร้อนๆ พร้อมกับผักผลไม้สดราคาย่อมเยา เช่น บัวหิมะ แต่ละคนแต่งชุดประจำเผ่าคล้ายที่น้องแสงเล่าให้ฟัง
คือสวมผ้าถุงสีแดงมัดด้วยเข็มขัดสีเงินวงโตและหวายสีดำมัดใหญ่

“ชนเผ่าดาราอั้งเป็นชนเผ่าที่ย้ายมาจากพม่า
ชุดที่ใส่เป็นผ้าถุงสีแดง เป็นดาราอั้งแดง ถ้าเป็นดาราอั้งดำจะใช้ผ้าถุงสีดำ
ประวัติบรรพบุรุษของพวกหนูคือนางฟ้า 7 องค์ลงมาเล่นน้ำ แล้วก็มีนายพรานใช้หวายจับนางฟ้าองค์สุดท้องชื่อว่านางทวยคำไปถวายกษัตริย์พม่า
เมื่ออยู่ด้วยกันก็เกิดเป็นชนเผ่าพวกหนู เลยต้องใส่เข็มขัดหวายสีดำ เรียกว่า
หน่องว่อง เพื่อแสดงวัฒนธรรม”

ตำนานกำเนิดดาราอั้งยังมีอีกหลายฉบับที่คล้ายคลึงกัน
แต่ตามหลักประวัติศาสตร์ ชาวดาราอั้งหรือปะหล่องประสบปัญหาสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยและทหารพม่า
จนทำให้ตัดสินใจอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 9 (หรือที่ชาวเขาเรียกว่าเจ้าหอคำ) เมื่อพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมสถานีเกษตรหลวงอ่างขางใน พ.ศ.
2527 นับเป็นชาวเขากลุ่มสุดท้ายที่อพยพเข้ามาอยู่ถาวรในบริเวณนี้

ความขัดแย้งครั้งล่าสุดผ่านพ้นไปมากกว่า 10 ปี หมู่บ้านนอแลเติบโตขึ้นอย่างสงบและสมถะท่ามกลางสายหมอก
มีป่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับขุนเขา

ด้วยความจริงใจสาวๆ
ดาราอั้งยิ้มแย้มชวนเราให้กินมื้อกลางวันด้วยกัน พวกเธอหยุดขายของชั่วคราวเพื่อล้อมวงเติมพลังใส่ท้อง
ในชามขนมจีนใส่ผักสดและพริกคั่วหอมและเผ็ดจัด รสชาติดั้งเดิมที่เจ้าบ้านแห่งขุนเขามอบให้มีรสชาติของน้ำใจและมิตรภาพซ่อนอยู่

“เวลามาขายของ เราก็ต้องทำให้คนซื้อไม่ผิดหวัง สินค้าเป็นยังไงก็บอกไปตามความจริง
ไม่ทำให้เขาเสียใจทีหลัง ให้เขาอยากกลับมาเยี่ยมบ้านเราอีกครั้งค่ะ”

จุฑามณี ธรรมเซ
เยาวชนชาวดาราอั้งแดง และเจ้าบ้านชาวฝาง

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวดีๆ ส่งตรงจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและพื้นที่ข้างเคียงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR