Life of Mine

ทันทีที่เหมืองแร่กำเนิดขึ้นมา
ทุกคนรู้ดีว่าเบื้องหน้าของมันมีจุดจบรออยู่

ไม่ต่างอะไรกับชีวิตอื่น
เมื่อพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุถูกค้นพบ เครื่องจักรและผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเป่าลมหายใจรดเหมืองให้เติบโตขยายใหญ่
เหมืองกลายเป็นบ้าน เป็นที่ทำงาน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประชากรชาวเหมือง
จนกระทั่งสายแร่สุดท้ายถูกพลิกขึ้นมา เหมืองร้างแร่จึงสิ้นอายุขัย
ตามเส้นทางที่ควรจะเป็น

แต่เหมืองแร่ในปิล๊อกดำเนินชีวิตได้เพียงครึ่งทาง
ลมหายใจของมันก็สะดุดลง

“เหมืองปิดไม่ใช่เพราะแร่หมด
แต่เพราะราคาลงมากจนเหมืองอยู่ไม่ได้ ต้องปิดไปในที่สุด” ลุงบุญธรรม เสาธงหิน
ชาวเหมืองยุคแรกๆ บอกสาเหตุให้เราฟัง
ดวงตาของอดีตหัวหน้าช่างเครื่องยนต์ประจำองค์การเหมืองแร่ยังเปล่งประกายแจ่มใสเหมือนคนหนุ่ม
แม้จะวางมือจากเครื่องจักรมามากกว่า 30 ปีแล้ว
ความจำของลุงยังแจ่มชัดและจริงยิ่งกว่าภาพถ่ายใดๆ

“การทำเหมืองที่นี่ขึ้นอยู่กับน้ำภูเขา
แต่พอหน้าแล้งไม่มีน้ำ ก็ต้องขุดอุโมงค์ไปหาสายแร่ สายแร่มันจะเดินทางเหนือ-ใต้ คู่ขนานกับสายหิน ต้องเจาะทางตะวันตกหรือตะวันออกไปหาสาย
พอเจอก็เลี้ยวตามสายไป” ลุงบุญธรรมเฉลยเหตุและผลของอุโมงค์เล็กๆ ทะลุภูเขาที่เราเห็นในแถบนี้ “พอหน้าฝนเราจะฉีดน้ำไล่แร่ แร่ที่ฉีดได้ส่วนมากมาจากผิวดิน
ลึกราวสามสี่เมตรจะถึงดานดินแข็ง ถ้าหน้าดินแข็งมากก็ต้องระเบิดนำก่อน ถ้าแร่ดีมากๆ ก็ต้องไล่จับกันหลายวัน
พอแร่โดนน้ำฉีดก็จะตกลงไปที่รางข้างล่าง หินอยู่ข้างบน พอล้างทำความสะอาดเอาหินออกหมด
ก็จะได้แร่” ชายชราเล่าวิธีการหาแร่อย่างคล่องแคล่วก่อนจะหายไปในบ้านครู่หนึ่งเพื่อหยิบหินแร่ก้อนใหญ่มาประกอบการเล่า
หินตะปุ่มตะป่ำหนักอึ้งที่เห็นนั้นประกอบด้วยดีบุกสีช็อกโกแลต ไมก้าสีเงิน และวุลแฟรมฝังตัวเป็นจุดสีดำๆ

“ใครๆ ก็ร่อนแร่ทั้งนั้น
เด็กเจ็ดแปดขวบยังร่อนได้เลย เสร็จแล้วก็เอามาขายให้เหมือง
แต่จะขายให้คนนอกไม่ได้เพราะเหมืองลงทุนทุกอย่าง ทั้งระเบิด ไม้ ตะปู ราง เสาค้ำราง
ลงแต่แรงเท่านั้นก็ได้กิโลละ 10 บาท สมัยนั้นถือว่าไม่น้อยนะ
รอบนอกก็มีอีกหลายสิบเหมือง เงินมันหาง่าย”

การเงินสะพัดอู้ฟู่ทั่วปิล๊อก
ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเก็บค่าภาคหลวงได้มากที่สุดในกาญจนบุรี
ตามมาด้วยการพนันหนักหน่วงในสังคมชาวเหมือง ทั้งวงไพ่หลากประเภท โต๊ะแทงบิลเลียด
และสารพัดการละเล่นที่สรรหามาสร้างความสนุกครื้นเครงในป่าเขาเงียบเหงา โดยตะเกียงเจ้าพายุและหัวใจโลดโผนอนุญาตให้การลุ้นเงินในกระเป๋าสตางค์เกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้านึกบรรยากาศตามได้ไม่ชัด คนเก่าแก่ที่นี่เปรียบให้ว่า ‘เหมือนเท็กซัสกลางป่า’

แต่ถ้าอยากผ่อนคลายอารมณ์กับภาพยนตร์
โรงหนัง 2 โรงของนายเหมืองหังสเนตรก็เปิดฉายหนังคืนละ
2 รอบ ถึงโรงหนังจะใหญ่และสูง 2 ชั้น ก็ยังจุผู้ชมมหาศาลที่เฝ้ารอหน้าโรงหนังทรายทองรามาของลุงสมปอง หังสเนตร ได้ไม่หมด และสำหรับชื่อ ‘ทรายทอง’
มาจากที่ลมมักพัดเม็ดทรายเข้ามาในโรงหนังเสมอๆ นั่นเอง

“เคยมีทีนึง เหมืองนี้ขาดข้าวสาร ที่นี่มีคนงานเป็นพันๆ แต่หน้าฝนทางมันลำบากมาก
รถจากทองผาภูมิบรรทุกเสบียงมาเต็มที่ตอนเข้าพรรษา
แต่มาถึงที่นี่ก็ออกพรรษาพอดี” ลุงบุญธรรมเล่าพลางหัวเราะ
“ข้าวล่างๆ กระสอบกลายเป็นขนมจีน ส่วนถั่วเขียวกระสอบแตกกลายเป็นถั่วงอกหมด”

แร่ปรุงแต่งชีวิตชาวเหมืองให้มีรสชาติไม่เหมือนใคร ลุงบุญธรรม ลุงสมปอง รวมไปถึงชาวเหมืองอีกหลายคนได้แต่งงาน มีลูก และใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบเล็กกลางป่าแห่งนี้มายาวนาน แต่เมื่อเหมืองซบเซา
ประชากรเหมืองจำนวนมากแยกย้ายไปตามเส้นทางใหม่ของตน จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา
มนตร์ขลังของเหมืองแร่และธรรมชาติที่กลับมาสมบูรณ์ส่งผลให้ชื่อปิล๊อกและหมู่บ้านอีต่องค่อยๆ คุ้นหูนักท่องเที่ยวมากขึ้น ความคิดถึงทำให้ชาวเหมืองหลายคนกลับมา ‘บ้าน’ อีกครั้ง และเปิดธุรกิจเล็กๆ รองรับนักท่องเที่ยว เช่น ป้าน้อย วนิดา เจ้าของ ‘วนิดาพาณิชย์’ ที่กลับมาเปิดโฮมสเตย์หลังจากบ้านไปกว่า
20 ปี

“สมัยก่อนที่นี่เดินชนกันเป็นปากคลองตลาดเลย มาซื้อขายแร่ แลกข้าวของกันตรงนี้แหละ ป้าก็ทำเหมืององค์การฯ นะ ตอนนั้นสนุกมาก แต่พอเหมืองปิดเราก็ต้องไป” ป้าน้อยเล่ายิ้มๆ
“ป้าเห็นปิล๊อกในรายการทีวีหลายปีก่อน ตกใจว่าบ้านเรานี่นา คิดถึงเลยต้องกลับมา”

เหมืองปิล๊อกฟื้นคืนชีพอีกครั้งในรูปแบบใหม่
ลมหายใจของมันแผ่วเบาและเชื่องช้าผิดกับแต่ก่อน ไม่มีเสียงระเบิดดังสะท้านภูเขา
ไม่มีวงพนันคึกคักขวักไขว่ แต่เสียงของความเงียบสงบ ระลอกความทรงจำ
และการเคารพธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ต่อชีวิตให้เมืองกลางหุบเขานี้เติบโตอีกครั้ง

โดยไม่มีความว่างเปล่าเป็นปลายทางเหมือนเคย

“เวลาแขกมาผมก็ดีใจนะ อยากให้มา ถึงที่นี่มันจะไม่ฟุ่มเฟือยครบเครื่องแบบข้างล่าง
แต่มันสบาย อากาศมันดี มลภาวะอะไรก็ไม่มี ตอนเขาช้างเผือกเปิดนี่มีนักท่องเที่ยวมากันเต็มเลย ผมไม่ได้มีกิจการอะไรกับเขาหรอก แต่ก็มีโต๊ะมีเก้าอี้ให้เขานั่งพักกันหน้าบ้าน อยากอาบน้ำก็ให้อาบ
แนะนำเขาเรื่องเขาช้างเผือก ผมเคยไปตั้งแต่หนุ่มๆ น่ะ ใครอยากรู้เรื่องเก่าๆ ก็เล่า
เหมือนที่เล่าให้ฟังเนี่ยแหละครับ”

บุญธรรม
เสาธงหิน
อดีตหัวหน้าช่างเครื่องยนต์องค์การเหมืองแร่ และเจ้าบ้านชาวปิล๊อก

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่ทำให้เราหลงรักอำเภอปิล๊อก จังหวัดกาญจนบุรี แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR