“จงทำสวนของเรา”
บทสนทนาที่หนูโจ
อาร์ตแอนด์ฟาร์ม ทำให้เรานึกถึงบทสรุปใน ก็องดิดด์ ปรัชญนิยายคลาสสิกของวอลแตร์ที่ว่าด้วยชายหนุ่มผู้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วโลกใบนี้ดีงามหรือเลวร้าย
และหมกมุ่นค้นหาคำตอบผ่านการเผชิญเรื่องราวมากมาย
ก่อนจะพบว่าคุณค่าของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับโลกที่ดีหรือเลว
แต่อยู่ที่การได้ลงมือทำงาน-งานในสวนของเรา
ภัทรพร อภิชิต
และ วีรวุฒิ กังวานนวกุล บอกเล่าสิ่งที่ใกล้เคียงกันนั้น
ในฐานะคนต่างถิ่นที่หลงรักแม่กลองและมาลงหลักปักชีวิตผ่านร้านกาแฟเล็กๆ
ในตลาดน้ำอัมพวา ได้ริเริ่มนิตยสารท้องถิ่น มนต์รักแม่กลอง
ที่บอกเล่าเสน่ห์ของชุมชนผ่านภาพถ่ายและตัวหนังสือ ได้ลงแรงสร้างโรงนาเล็กๆ
ขนาดไม่กี่ไร่ให้กลายเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้’ ที่ขมวดรวมระหว่างการเกษตร ศิลปะ และวิถีชีวิต
ต้อนรับนักเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ ผ่าน WWOOF เน็ตเวิร์กอาสาสมัครในฟาร์มออร์แกนิกที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก
และได้เป็น ‘เจ้าบ้าน’ ด้วยความรักที่พวกเขามีต่อผืนแผ่นดินนี้
ในยามโพล้เพล้ที่พระอาทิตย์ให้สีแดงอมส้มบนท้องฟ้า
ทั้งคู่ขอตัวไปปฏิบัติภารกิจประจำวันอันได้แก่รดน้ำแปลงผัก ต้อนเป็ดเข้าเล้า
อุ้มแม่ไก่เข้ากรง
และชักชวนพวกเราถือตะกร้าเก็บผักและติดเตาฟืนเตรียมทำผักโขมอบชีสเป็นอาหารมื้อเย็น
ไม่ใช่แค่ทำสวนหรอก
เราว่าทั้งคู่กำลังทำ ‘ส่วนของเรา’ ตามอย่างที่เชื่อต่อไป
ไม่ว่าโลกจะดีหรือร้าย, ลงมือทำ
คนของที่นั่น-คนของที่นี่
หนู ภัทรพร
และโจ วีรวุฒิ ไม่ใช่คนแม่กลอง
เล่าอย่างรวบรัด,
โจ วีรวุฒิ เป็นศิลปินที่เคยทำงานกับชุมชนที่จังหวัดเชียงราย
และเปิดร้านกาแฟอยู่ในห้องแถวไม้แสนสวยแถววัดอรุณฯ
หลังได้รู้จักกับชุมชนอัมพวาและเห็นห้องแถวไม้เก่าแก่ริมคลอง เขาก็จับจองเปิดร้านทุ่งนากาแฟ หนึ่งในร้านแรกๆ ที่เปิดประตูตั้งแต่ตลาดน้ำอัมพวาเพิ่งตั้งไข่ ส่วนหนู ภัทรพร เป็นบรรณาธิการสาวในบริษัทสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่เริ่มสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่ชีวิตต้องการ เธอลาออกจากงาน แวะมาเที่ยวเล่นในอัมพวา ได้รู้จักร้านทุ่งนากาแฟ สนใจเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ
และประกายแววตาที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของลุงป้าน้าอาในชุมชน
หญิงสาวตั้งใจจะเล่าเรื่องราวมีชีวิตชีวาเหล่านั้น และตั้งใจจะเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองใหม่
ทั้งคู่พบรักกัน ตัดสินใจลงหลักปักฐานในบ้านริมน้ำหลังกะทัดรัด และปลุกปั้นนิตยสารเล็กๆ
อย่าง มนต์รักแม่กลอง ขึ้น
เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากนักท่องเที่ยวเริ่มหนาตา
“เราคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะทำความเข้าใจกับคนภายนอกที่เข้ามา
และคนภายในได้รักหวงแหน ภูมิใจในบ้านตัวเอง ประกอบกับเราได้เห็นพลังของคนที่นี่
รู้สึกว่าเราทำอะไรบางอย่างได้ เราไม่มีเงินสักบาทด้วยซ้ำ แต่เราก็ใช้แรงงานเข้าแลก
ทำเพราะว่าในฐานะที่เรามาอยู่แล้วเรามีความสุข มีแม่น้ำให้เราอาบ มีคนเดิมๆ
มีบ้านเมืองดีๆ ที่ให้เรามาอยู่” ภัทรพรเล่าถึงจุดเริ่มต้นด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “เรามาจากสื่อส่วนกลาง
ทำอะไรก็ต้องตามเทรนด์ แต่มาอยู่ที่นี่ เรื่องของคนเล็กคนน้อยมันน่าเล่าไปซะหมด
ทุกคนนี่เป็นตำราเลย อาจเพราะแม่กลองมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำท่า ดินดี
ปลูกอะไรก็ขึ้น มันทำให้คนมีความสุข เวลาฟังคนรุ่นเก่าๆ เล่าเรื่องตอนเด็ก
แววตาของเขามีความสุขมาก ทุกคนจะพูดว่าบ้านเขาไม่มีเงินจะซื้อหมูกิน
เขากินแต่กุ้งแม่น้ำที่จับได้ เราว่าพอบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ อยู่เย็นเป็นสุข
มันส่งผลให้คนรักถิ่นฐาน”
ดูเหมือนเธอและเขาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
ด้วยความเคารพ
หลังจากทำ
มนต์รักแม่กลอง ทั้งคู่ได้ทุนปัญญาสาธารณะแห่งเอเชียที่มอบให้คนทำงานสาธารณะในสาขาต่างๆ
ภัทรพรและวีรวุฒิไปญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเพื่อศึกษากระบวนทัศน์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยจิตวิญญาณพื้นบ้าน
วัฒนธรรมท้องถิ่น และการท่องเที่ยวยั่งยืน การเดินทางตลอด 1
ปีทำให้พวกเขาได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง
และถอดรหัสความยั่งยืนจากหลายชุมชนท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือน
“รหัสมันมาจากพลังที่อยู่ข้างใน
การที่คนภายนอกหรือรัฐจะเข้าไปส่งเสริม มันได้แค่เปลือก แค่ผิว แค่หน้าตา
ตราบใดที่คนข้างในยังรวมกันไม่ได้ ไม่วางแผนร่วมกัน จัดการร่วมกัน
เห็นพ้องต้องกันไม่ได้ มันจะยั่งยืนยากมาก” วีรวุฒิบอกเล่า ก่อนที่ภัทรพรจะเสริม “มันคือการเคารพตัวเอง
ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด จากเรื่องเล็กๆ อย่างไม่ลักขโมย
ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว ไปจนถึงจะดูแลรักษาเมืองของเขาอย่างไร
“อุตสาหกรรมโรงงานไม่เหมาะกับชุมชนอย่างไร
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ไม่เหมาะกับชุมชนเล็กๆ อย่างนั้น
การทำอุตสาหกรรมคือการทำซ้ำเยอะๆ แต่ชุมชนมันเล็ก เปราะบาง แนบแน่นใกล้ชิด
อุตสาหกรรมเป็นเรื่องของทุน มือใครยาวสาวได้สาวเอา
แทนที่การท่องเที่ยวจะมีเพื่อให้คนในชุมชนลืมตาอ้าปาก ภูมิใจว่าเขามาเที่ยวบ้านเรา
รักบ้านเรา กลายเป็นถูกตัดสินด้วยทุนเพียงอย่างเดียว สำหรับเรา
มันก็เป็นการไม่เคารพตัวเองอย่างหนึ่ง และยิ่งเราตีความการท่องเที่ยวว่าสนุก
ปรนเปรอ เรากอบโกยอะไร ทิ้งอะไรได้ เมื่อดีมานด์กับซัพพลายมาเจอกัน
ผลก็จะออกมาเองว่าเมืองที่คนไปเที่ยวโดยที่เขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับคุณเลย
นอกจากมาปรนเปรอความสุข ในที่สุดผลจะเป็นยังไง”
“การได้เรียนรู้เรื่องนั้น
ทำให้กลับมาพร้อมพลังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกเลยไหม” เราถาม
“ไม่”
ทั้งคู่ปฏิเสธแทบจะพร้อมกัน ก่อนภัทรพรจะรับหน้าที่อธิบาย “ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นคนแบบนั้น
ด้วยเจตนาดี โง่เขลาตามวัย มีพลังมาก แต่ไม่มีปัญญาเท่าไหร่ ฉันทำอะไรได้ฉันก็จะทำ
แต่พอเราโตขึ้น ผิดพลาดมากขึ้น เราก็พบว่า คุณเปลี่ยนตัวเองได้รึเปล่า
ถ้าคุณเปลี่ยนตัวเองได้ วิธีการช่วยสังคมเกิดจากตัวคุณ อยากเห็นสังคมเป็นยังไง
เริ่มจากตัวคุณ แต่ไม่ใช่จะไปคาดคั้นเอาความเปลี่ยนแปลงจากคนอื่น”
แล้วเธอและเขา
ก็เริ่มต้น ‘เปลี่ยน’ ด้วยตัวเอง
จากวูฟเฟอร์สู่โฮสต์
ที่ดินผืนไม่ใหญ่นัก
มีโรงนาหลังคาแดงหน้าตาน่ารัก
มีร้านทุ่งนากาแฟที่ย้ายจากตลาดน้ำอัมพวามาเปิดบริการทุกเสาร์-อาทิตย์
มีบึงน้ำกว้างที่มีศาลาเปิดโล่งไว้นอนเอกเขนก มีครัวเล็กๆ
พร้อมเตาดินปั้นมือไว้อบพิซซ่า
มีแปลงผักรายล้อม มีบ้านหลังจิ๋วและเต็นท์สวยสำหรับผู้มาเยือน
มีต้นไม้น้อยใหญ่และมีลมเย็นโชยตลอดเวลา
คือองค์ประกอบของโรงนาหนูโจ อาร์ตแอนด์ฟาร์ม
สถานที่ทีทั้งคู่ใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ในครั้งที่ทั้งคู่ไปญี่ปุ่นจากทุนที่ว่า
ระหว่างการเดินทางจากเมืองสู่เมือง ภัทรพรและวีรวุฒิเลือกการ ‘WWOOF’ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการทำความเข้าใจแต่ละเมืองที่ไป
เพราะได้สัมผัสวิถีชีวิตที่มากกว่าสิ่งที่เจอตามแหล่งท่องเที่ยว และเป็นเหมือนการซ้อมใหญ่
ว่าหญิงสาวที่ไม่เคยทำสวนเลยอย่างเธอจะกลับมาทำโรงนาได้จริงหรือเปล่า “เป็นงานที่หนักในตอนแรกๆ
แต่เห็นงานเสร็จแล้วรู้สึกดี มีความสุข เราไม่เคยทำงานใช้แรงมาก่อน
แต่งานแบบนั้นมันสอนเราเยอะ เราใช้เหงื่อทำงานที่สั่งให้ทำ มันลดอีโก้
ตอนเราเก็บหญ้าให้วัวกิน หน้าที่ของเรามีแค่นั้นในโลกใบนี้ ตอนเช้าเราก็ล้างคอก
เสี่ยงกับการถูกวัวเตะ เอาขี้วัวไปเท เอาหญ้าให้กิน เหนื่อยมาก แต่พอทุกตัวกิน เราเห็นความสุขของคนที่ทำให้วัวมันหายหิว
เออ งานเราเสร็จแล้ว งานที่เราทำมาตลอดชีวิตมันทำให้เรามีตัวตนสูงขึ้นเรื่อยๆ
พอกเราเรื่อยๆ แต่งานแบบนี้คุณได้เห็นความสุขที่เงินไม่เกี่ยว เรารู้สึกกับที่นี่
รักที่นี่ รักเมืองที่เราไปในความหมายที่มันมากกว่านั้น มีเงินคุณก็ทำไม่ได้
คุณต้องไม่มีเงินต่างหากถึงทำได้” ในขณะที่วีรวุฒิก็ฉายอีกมุมหนึ่งว่า “เราเข้าไปสัมผัสมนุษย์ที่เราไม่รู้จัก
ทำให้เรารู้จักญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่ได้รู้จักแค่ที่เห็น การไปสัมผัสชีวิตจิตใจเขา
สุดท้ายก็กลายเป็นเพื่อนที่ทำให้คิดถึงอยู่เสมอ พอไปเจอกันก็ยังเหมือนเดิม
ถ้าเราไปเที่ยวธรรมดาคงไม่ได้มิตรแบบนี้”
ประสบการณ์ในการเป็นวูฟเฟอร์ (หาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือของทั้งคู่ – เราพบกันเมื่อวันอาทิตย์อุทัย)
ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเป็นโฮสต์เพื่อทำหน้าที่ ‘เจ้าบ้านที่ดี’ อย่างที่เธอเคยพบเจอ
“เราสนใจเรื่องความยั่งยืน
เราได้คุยกับคนและเขียนหนังสือเรื่องออร์แกนิก เรารู้เลยว่ามันต้องไปทางนี้แหละ
ในเมื่อเรากินทุกวี่วัน เราน่าจะรู้จักสิ่งที่เรากิน
การเกษตรเป็นงานที่สำคัญและควรจะเรียนรู้ เพราะมันใกล้ตัวเรามาก แต่เรามองข้ามมันเสมอ
ปล่อยให้คนอื่นทำ พอไปวูฟก็ยิ่งทำให้อยากกลับมาเป็นโฮสต์
เราชอบความสัมพันธ์ฉันเพื่อนมนุษย์ จากคนไม่รู้จักแต่ได้มาพึ่งพาซึ่งกันและกัน”
หญิงสาวเล่าไอเดียด้วยรอยยิ้มแล้วหัวเราะสนุกเมื่อเราถามว่าแล้วมันเป็นอย่างที่คิดไหม
“มีทั้งฝันดีและฝันร้าย”
คือคำตอบ เพราะจากคนร้อยพ่อพันแม่จากหลากหลายประเทศ บางคนสู้งาน บางคนไม่
บางคนทำอะไรไม่เป็นเลย บางคนไร้ความรับผิดชอบ บางคนขอให้พาไปส่งโรงแรมห้าดาว
บางคนหวังแค่ที่อยู่ฟรีกินฟรีระหว่างเที่ยว
และบางคนก็กลายเป็นเพื่อนและผูกพันจนต้องเสียน้ำตาเมื่อโบกมือลา
“ต่อให้เราเจอคนไม่ดี
9 คน แล้วมาเจอคนดี 1 คน ก็รู้สึกว่าหายกันนะ ฝันร้ายหายเลย
โดยรวมมันดีมากที่คนไม่รู้จักกันมาอยู่ร่วมกัน
พลังทางบวกมีอานุภาพมากกว่าพลังทางลบมากมายมหาศาล มันเป็นความรู้สึกที่ดี
ถ้ามองเรื่องคุ้มไม่คุ้มเลิกไปแล้ว เพราะถ้าเราจ้างคนมาทำงานรายวันอาจคุ้มกว่า
แต่มิตรภาพสำหรับเรามันเป็นของมีราคา มีคุณค่า
แล้วเวลาเจอบางคนที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือมีประกายความฝันที่จะทำต่อไป
ได้มาแลกเปลี่ยน มาร่วมงานกัน มันมากกว่าแค่นักท่องเที่ยว
แต่มาในฐานะมนุษย์ที่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น” ภัทรพรเล่า “เหมือนเราอยู่บ้าน
แต่ได้เห็นโลกมากขึ้น โลกเดินทางมาหาเราเอง” วีรวุฒิกล่าวยิ้มๆ
ก่อนจะเล่าถึงอาหารฟูลคอร์สที่สองเชฟจากปารีสข้ามทะเลมาก่อเตาฟืนทำให้ชิม
พื้นที่เปิด (ใจ)
นอกจากเป็นฟาร์มสำหรับวูฟเฟอร์
ทั้งคู่ยังเปิดโรงนาให้เป็นพื้นที่กิจกรรมเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป
“เราอยากใช้ที่นี่เป็นที่ทำงานศิลปะ
อยากทำเกษตรที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ส่วนตัว
เราก็อยากแบ่งปันที่นี่ให้คนอื่นใช้ตามสมควร คือเราเองได้เรียนรู้มากๆ
ในพื้นที่นี้ ถ้าได้แบ่งปันคนอื่นบ้าง นอกจากจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำอะไรให้มันงอกเงย
มันก็น่าจะให้ประโยชน์กับคนอื่นด้วย” ภัทรพรอธิบาย
ก่อนที่โจจะเล่าถึงตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสำหรับครอบครัวที่ได้เรียนรู้การปลูกผัก ทำงานศิลปะจากเศษไม้
ทำพิซซ่าจากผลิตผลในฟาร์ม ไปจนถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปตัดเสื้อผ้าใส่เองที่กำลังจะเกิดขึ้น
และโครงการอื่นๆ ในอนาคต
“ทริปแรกก็น่าประทับใจดีนะ
เราได้นั่งมองดูพ่อแม่ลูกมากางเต็นท์นอนครั้งแรกในชีวิต
วัยรุ่นได้จับเลื่อยครั้งแรก เราไม่มีอะไรหวือหวา สถานที่เราก็ไม่เรียบร้อยดี
มันทำให้เราเห็นว่ามันเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆ ไม่ว่าใครที่ได้สัมผัสธรรมชาติ
มันจะมีประโยชน์เอง ได้ของขวัญกันเอง โดยที่เราไม่ต้องบอก
เราแทบไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน อยู่ๆ เขาก็มาวิ่งอยู่ในที่ของเรา
แล้วเขาก็มีความสุขกับมัน มันเป็นความรู้สึกที่ดี” เจ้าบ้านทั้งสองเล่าไปยิ้มไป
แม้ทั้งคู่จะไม่ได้พูดออกมา แต่เรารู้สึกได้ว่า เมล็ดพันธุ์ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาอยากให้เกิด
เริ่มแตกใบอ่อนบนผืนดินแห่งนี้แล้ว
“เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราตั้งคำถามว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคืออะไร
ถ้าเราอยากเห็นอะไร เราก็เป็นสิ่งนั้น
สิ่งที่เราทำไม่ได้คือการไปเรียกร้องคนอื่นว่ากลับมาหวงแหนกันเถอะ
แต่เราพยายามทำด้วยการบอกว่าท่องเที่ยวไม่ได้หมายความว่าเราต้องแต่งตัวมาหลอกขาย
มาเอาใจใคร แล้วเขาก็ไม่รักคุณ เขาแค่มาย่ำยีคุณแล้วก็ไป
เราว่านั่นไม่ใช่การท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์เลย
แต่ถ้าคุณภูมิใจในสิ่งที่คุณเป็นจริงๆ ไม่พยายามเป็นคนอื่น นำเสนอคุณค่าของคุณที่คุณเป็นอยู่
เขาจะมาอย่างเห็นคุณค่า และเคารพคุณ
ที่เราพูดอย่างนี้ไม่ได้จะบอกว่าเรากำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไร
เพราะเราเชื่อว่าหลายๆ คนก็ทำอยู่ ทำหน้าที่ของตัวเอง”
‘จงทำสวนของเรา’ วอลแตร์เล่าตอนจบในนิยายไว้เช่นนั้น
‘จงทำส่วนของเรา’ เจ้าของหนูโจ อาร์ตแอนด์ฟาร์ม บอกเราคล้ายๆ กัน
ภาพ มณีนุช บุญเรือง
สัมผัสมนตร์เสน่ห์ของเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย