Weave the past into the present

เมื่อศิลปะและดีไซน์ปัจจุบันถักทอเข้ากับพืชน้ำแห่งป่าพรุ กระจูดก็แตกยอดกลายเป็นงานจักสานปักษ์ใต้ร่วมสมัย

เส้นเพรียวผอมหลากสีสันกองอยู่เบื้องหน้ากลุ่มสมาชิกหัตถกรรมกระจูดวรรณี
สาวน้อยสาวใหญ่นุ่งผ้าปาเต๊ะสีสดพูดคุยกันเบาๆ ขณะที่มือทุกคู่สานก้านหญ้ากลวงเส้นยาวอย่างว่องไว
กระจูดและใบลานสีพาสเทลร้อยพันเข้าด้วยกันเป็นตะกร้าใส่ผ้าไล่สีสวยหวานจากคอลเลกชันล่าสุดของปี พี่หญิง-ณัทศศิร์ เซ่งฮวด หนึ่งในผู้สืบทอดกิจการจักสานของครอบครัว
ชี้ให้เราดูกระเป๋าหลายรูปทรง ถาด กล่อง ตะกร้า เสื่อ
ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้และโต๊ะตัวใหญ่ที่มีพื้นผิวเป็นกระจูดสานลายกราฟิกเก๋
ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นสวยโดดเด่นจนน่าจับไปตกแต่งบ้าน

“มันพัฒนาจากเสื่อกระจูด
เป็นภูมิปัญญาตกทอดตั้งแต่สองร้อยกว่าปีมาแล้ว
ทุกคนจำได้ว่าเราใช้เสื่อกระจูดปูนั่งปูนอนในชีวิตประจำวัน” เจ้าบ้านเล่าอย่างยิ้มแย้มว่าจุดเริ่มต้นของหัตถกรรมกระจูดวรรณีเกิดจากการสานทอวัชพืชภาคใต้แบบดั้งเดิมของคุณแม่วรรณี
เซ่งฮวด ที่มีฝีมือระดับครูช่างหัตถศิลป์ไทยของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ เมื่อพี่นัท-มนัทพงค์
เซ่งฮวด น้องชายของพี่หญิงเรียนจบด้านศิลปะ ก็กลับมาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์กระจูดนานาประเภทให้สอดคล้องกับปัจจุบันและตอบโจทย์สังคมเมือง
โดยยังรักษากระบวนการแฮนด์เมดและวัตถุดิบธรรมชาติไว้ครบถ้วน

“กระจูดเป็นวัสดุที่เหนียว ใช้ไปแล้วผิวจะนุ่ม
เงา อายุการใช้งานหลายปีมากค่ะ ไม่มีมอด รา แมลงเพราะไม่มีเยื่อข้างใน แต่มีผิวสองชั้น”

เราลูบผิวตะกร้าลื่นเรียบอย่างชอบใจ
เจ้าบ้านสาวอธิบายเพิ่มเติมว่าเมื่อตัดต้นกระจูดจากน้ำ ต้องนำมามัดรวมกัน
คลุกตมหรือดินนาเพื่อเคลือบผิวไม่ให้เส้นแตก
ก่อนจะนำไปตากแดดให้แห้งแล้วรีดเพื่อนำมาสานหรือย้อมสีเพิ่ม เนื่องจากกระจูดเปลี่ยนเฉดได้แค่สีสดหรือสีเข้ม
ที่นี่จึงผสานใบลานย้อมเพื่อสีครบเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเฉดเอิร์ธโทน ไล่โทนสี หรือขาวดำตัดกันก็ทำได้ทั้งสิ้น ผลลัพธ์คือดีไซน์ที่โดดเด่นและน้ำหนักงานจักสานที่เบายิ่งขึ้นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหัตถกรรมกระจูดวรรณี

ผู้สืบทอดกิจการจักสานกางเสื่อม้วนยาวให้เราดูลวดลายกราฟิกหลังคาปั้นหยาสีขาวดำ
ลายมโนราห์สีจัดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแต่งกายของการร่ายรำท้องถิ่น
ไปจนถึงลวดลายโบราณต่างๆ ที่ถักทออย่างประณีตลงตัว
ล้วนเป็นฝีมือการออกแบบของน้องชายและการถอดลายจากแม่ของเธอเอง

“เราภูมิใจมากนะคะ ก่อนหน้านี้พี่ทำงานอย่างอื่น
แต่พอมองหันกลับมา รู้สึกว่าสิ่งที่แม่และน้องทำมันน่าภูมิใจ มันสร้างรายได้ให้ชุมชนและครอบครัวเรา
และเราได้อยู่ร่วมกันมีความสุข ไม่ต้องออกไปหางานทำไกลบ้าน”

พี่หญิงยิ้มกว้าง ไม่เพียงวางขายในเมืองไทย หัตถกรรมกระจูดวรรณีได้รับคัดเลือกให้ไปออกงานแฟร์ที่ญี่ปุ่น
เกาหลี จีน และเพิ่งไปอวดโฉมผลิตภัณฑ์ที่สหราชอาณาจักร มือที่สานต่อภูมิปัญญาพื้นบ้านพาก้านหญ้าในป่าพรุเดินทางผ่านกาลเวลา เส้นกระจูดที่ยืดหยุ่นเปลี่ยนร่างครั้งแล้วครั้งเล่า จนอดีตและปัจจุบันถักควบรวมเป็นหนึ่งเดียว

ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณี

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน 8.00 – 17.00 น.
ที่ตั้ง: บริเวณจุดชมวิวทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน
จ.พัทลุง
โทรศัพท์: 08-7760-9879, 08-9589-6370

“ยินดีต้อนรับสู่พัทลุงค่ะ
ถ้าแวะมาเยี่ยมที่บ้านเรา เราก็พร้อมต้อนรับอย่างอบอุ่น ให้แขกมีความสุข ประทับใจในความเป็นเรา
และวิถีของเรา”

ณัทศศิร์
เซ่งฮวด

ผู้ดูแลหัตถกรรมกระจูดวรรณีและเจ้าบ้านชาวควนขนุน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่เราไปพบเจอเจ้าภาพที่ดีในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่าง

AUTHOR