Home is Where the Stories Are

แน่นอน, ทุกๆ สถานที่ย่อมมีเรื่องราวในตัวของมันเอง

ทว่าบนผืนนาเก่าที่บ้านจันนา ควนขนุน ไม่ได้มีเพียงเรื่องเล่าผ่านประวัติความเป็นมา
วิถีเกษตร และชุมชนชาวบ้านเท่านั้น เพราะฉากและชีวิตที่เกิดขึ้นที่นี่ถูกแปรรูปเป็นตัวหนังสือด้วยพิมพ์ดีดและสองมือของกนกพงศ์
สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ผู้ล่วงลับ

ในฐานะบ้านเกิดที่นักเขียนหนุ่มตลอดกาลเติบโต ควนขนุนคือวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันเข้มข้นของเขา
และเมื่อเขาได้จากไป พื้นที่เดียวกันนี้ยังเริ่มต้นบรรจุเรื่องราวใหม่ๆ
บนนิยามของการระลึกถึง

“พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่นาเก่า ส่วนบ้านอยู่ฝั่งตรงข้าม
มันรกร้างอยู่ประมาณ 20 ปี พอกนกพงศ์เสีย ผมได้กลับมาอยู่บ้าน
เลยคุยกับพี่ชาย (เจน สงสมพันธุ์ เจ้าของสำนักพิมพ์นาคร)
ว่าอยากพัฒนาทำเป็นบ้านนักเขียน มีมุมเก็บงานของกนกพงศ์ ทำไปทำมามันก็ขยายไปเรื่อย
มีเพื่อนเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ก็ขยายต่อเป็นห้องสมุด เป็นร้านกาแฟ
เป็นที่แสดงผลงาน คือตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่เกิดประโยชน์กับชุมชนด้วย
เพราะที่พักผ่อนส่วนรวมของหมู่บ้านอย่างสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นมันไม่ค่อยมี
อยากทำพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้” พี่ยุติ-นิยุติ
สงสมพันธุ์
โต้โผและผู้จัดการบ้านนักเขียน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของบ้านทำมือหลังเท่กลางสวนร่มรื่นที่สร้างขึ้นเมื่อปี
2553 ก่อนจะยิ้มขันให้กับความไม่เข้าใจของคนในชุมชนช่วงแรกๆ
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกกลัวของชาวบ้านที่มีต่อพรรคพวกผมยาวที่แวะมารวมตัวกันหรือกระทั่งไม่กล้าก้าวขาเข้ามาในบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย

แต่เส้นแบ่งของความแปลกต่างก็ค่อยๆ ละลายหายไป
เพราะนอกจากงานรำลึกกนกพงศ์ที่จัดทุกปี
ที่นี่ยังมีค่ายวรรณกรรมที่รวมนักเขียนทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้มาอบรมงานเขียนให้ผู้ที่สนใจ
มีงานแสดงศิลปวัฒนธรรมทั้งพื้นบ้านและร่วมสมัย มีเวิร์กชอปศิลปะให้กับเด็กๆ
ในชุมชน และล่าสุดคือการเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมจัดการ ‘หลาดใต้โหนด’
ตลาดพื้นบ้านมากเสน่ห์ที่ใครได้มาเป็นต้องหลงรัก
และทำให้ชุมชนแห่งนี้คึกคักทุกสุดสัปดาห์

“เราตั้งว่าที่นี่เป็นพื้นที่เปิด เป็นสโลแกนของเรา
ดังนั้นมันเป็นเรื่องอะไรก็ได้ คราวที่แล้วที่ละครมา มีโนราของนักเรียน
มีดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งเราอาศัยการจัดการมาช่วย อย่างหนังตะลุงเล่นกลางคืน
เล่นกลางวันได้มั้ย? แสดง 4-5 ชั่วโมง เหลือหนึ่งชั่วโมงได้มั้ย
เพื่อทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น อย่างตอนนี้มีคนมามากขึ้นก็เป็นเพราะปัจจัยหลายๆ
อย่าง คนมาแล้วมีต้นไม้ ได้ผ่อนคลาย และมีกิจกรรมอย่างอื่นด้วย แฟนหนังสือกนกพงศ์ก็ได้มาดูบ้านเกิด
ได้มาเห็นบางฉากที่มันปรากฏในเรื่องสั้น ทั้งลำคลองหลังบ้าน
บ้านของป้าในเรื่องสะพานขาด หลายๆ อย่างมันอยู่รอบๆ พื้นที่นี้ ปกติคนไปตลาดก็ไปแป๊บเดียว
แต่ที่นี่เขามาอยู่กันเป็นวัน” พี่ยุติยิ้มกว้าง ก่อนจะเสิร์ฟกาแฟที่คั่วบดและเบลนด์เองให้เราได้ลองชิมและเล่าถึงแผนการในอนาคตของบ้านนักเขียน
ที่ถือโอกาสปรับปรุงบ้านเดิมด้วยการขยายพื้นที่ออกไปเป็นบ้านพักริมคลอง

เราดื่มกาแฟรสเข้มข้นของพี่ยุติพร้อมกับซึมซับบรรยากาศรอบตัวอีกครั้ง
จริงอย่างที่หนุ่มใหญ่ว่า นี่คือพื้นที่ที่แสนผ่อนคลาย
บ้านทำมือและโต๊ะเก้าอี้วัสดุธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นกันเอง
เตาดินก่อมือกับผลาด้านบนไว้รมควันอาหารชวนให้อยากรู้อยากเห็นจนต้องเอ่ยถาม
บันไดเล็กไต่ไปสู่ห้องสมุดที่เก็บผลงานชิ้นสำคัญของกนกพงศ์ให้พลิกอ่าน
ไปจนถึงลานกว้างและเวทีที่ชวนให้เอนหลังดูและฟังด้วยใจ

และที่แสนสำคัญ เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณในบ้านนักเขียนหลังนี้

จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ที่ยังฝังอยู่ในผืนแผ่นดิน

“จุดที่ผมพอใจมากคือที่นี่เป็นตัวอย่างของชุมชนเข้มแข็งของจริง
ไม่ต้องเอาป้ายมาปัก ชาวบ้านทุกคนมีทัศนคติว่าทุกคนเป็นเจ้าของตลาด
เป็นเจ้าของบ้านเอง คำว่าเจ้าบ้านที่ดีมันไม่ซับซ้อนเลยครับ
เราให้อะไรเขาไปด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ เราก็ได้รับสิ่งดีๆ กลับมา”

นิยุติ
สงสมพันธุ์
ผู้ก่อตั้งบ้านนักเขียน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และเจ้าบ้านชาวควนขนุน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่เราไปพบเจอเจ้าภาพที่ดีในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่าง

AUTHOR