In the Shade of the Trees

ยอมรับตามตรงเลยว่า
รายละเอียดละลานตาในหลาดใต้โหนดทำให้เราไม่ได้แหงนหน้าขึ้นไปพิสูจน์เลยว่า
ตลาดแห่งนี้อยู่ใต้ต้นตาลโตนดสมชื่อหรือไม่

ก็ทั้งแผงผักพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยผักหน้าตาแปลกประหลาดหาไม่ได้ในเมืองใหญ่
แถมคุณลุง คุณป้า คุณย่า
คุณยายนักขายยังยิ้มแย้มแนะนำผักนั้นใบนี้ให้เรารู้จักอย่างไม่นึกเบื่อหน่าย
ไหนจะขนมท้องถิ่นในหีบห่อแปลกตาที่มีให้เดินชิมตลอดทาง นี่ข้าวเหนียวดำห่อใบพ้อย่างทรงสามเหลี่ยมเท่
นั่นขนมตาลโหนดในห่อใบตองทั้งหนุบทั้งหอม นู่นข้าวเม่าโท้งในกรวยใบไม้ โน่นน้ำสมุนไพรในกระบอกไม้ไผ่
แถมยังล้ำเกินตลาดกรีนที่ไหนด้วยหลอดธรรมชาติที่ได้มาจากต้นลาโพที่ขึ้นในป่าพรุท้องถิ่น

ยังไม่หมดง่ายๆ
เรายังไม่ได้เล่าถึงขนมจีนจากข้าวสังข์หยดราดน้ำเคยยอดหวายโปะผักพื้นบ้านในราคา 15 บาท
ข้าวยำสมุนไพรและข้าวแกงหม้อเรียงรายคิวรอชิมยาวเหยียด ขนมปำนึ่งในถ้วยตะไลหอมฉุย
ขนมปำจีหรือลาทะ ที่เหมือนขนมลาเวอร์ชันจี่ในกระทะ ห่อมะพร้าวอ่อนผสมงาหวานมัน
ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เอาข้าวเหนียวมูนกับกะทิยัดไส้ลงไปในหม้อต้นไม้ใบจิ๋ว
แล้วนำไปนึ่งให้เราเคี้ยวหนุบ หมี่พัทลุงสูตรดั้งเดิมที่เคี่ยวน้ำมันมะพร้าวจากกะทิสดเอาน้ำมันมาคลุกเส้นหมี่หุนให้มีกลิ่นหอม
ทอปปิ้งด้วย ‘ขี้มัน’ หรือตะกอนที่ได้จากการเคี่ยวน้ำมันมะพร้าว และไฮไลต์สำคัญอย่างขนมปาดา
ขนมแห่งฤดูฝนที่ใช้ความอบอุ่นพร้อมป้องกันหวัดในพื้นที่ฝนชุก หน้าตาเหมือนโดนัทสอดไส้
แต่เป็นแป้งข้าวเจ้าผสมกล้วยน้ำว้า สอดไส้เครื่องแกงที่โขลกจากดีปลีเมืองสีแดงสด ขมิ้น
ตะไคร้ กุ้ง และมะพร้าวทึนทึก ปั้นบนก้นถ้วยกระเบื้องด้วยกรรมวิธีมองเพลิน
ก่อนนำไปทอดร้อนๆ ให้ชิมรสเผ็ดชื่นใจสร้างความคึกคักได้ดีจริงๆ

แล้วอย่างนี้จะให้เอากะจิตกะใจที่ไหน
มองหาต้นตาลโตนดกันล่ะ

พี่ประไพ ทองเชิญ
ผู้จัดการตลาดและชาวควนขนุนโดยกำเนิดเล่าจุดเริ่มต้นของตลาดมากเสน่ห์แห่งนี้ให้เราฟังว่า
หลังจากกลับมาทำงานภาคประชาสังคมที่บ้านเกิดและได้สืบค้นองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น
พี่ประไพได้สร้างเครือข่ายกินดีมีสุข โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชีววิถี
ชวนชาวบ้านเจ้าขององค์ความรู้ไปแลกเปลี่ยนกับจังหวัดอื่นๆ
จนเป็นที่รู้จักในเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศ พี่ประไพเห็นว่าการจะฟื้นองค์ความรู้ขึ้นมาได้ต้องหาช่องทางในการเผยแพร่ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้ จึงมองหาพื้นที่ทำตลาดสีเขียว
โดยจับมือกับบ้านนักเขียนกนกพงศ์ที่มีทั้งพื้นที่และเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน
เปิดเป็นตลาดนัดแรกเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2558

ใช่,
ตลาดสีเขียวเป็นกระแสที่มีอยู่มากมายในตอนนี้
แต่ความโดดเด่นของหลาดใต้โหนดคือข้อตกลงร่วมกันที่น่ารักและชัดเจน “เอกลักษณ์ของเราคือเราขายปัจจัยสี่
ของใช้ ของกิน งานศิลป์บ้านบ้าน เป็นผู้ผลิตต่อตรงกับผู้บริโภค รับมาขายไม่เอา ถ้าคุณส่งเสริมให้เป็นแม่ค้า
จะสั่งของมาจากลาว จากอินเดียก็ได้ แต่หัวใจของที่นี่คือผู้ผลิตเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น
มันเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะผู้ผลิตจริงๆ จะหวงแหน เขาจะปลูกผักเพิ่ม
เขาจะรักป่า รักต้นไม้ เพราะนั่นคือสาวไปถึงแหล่งผลิตเลย”

ไม่เพียงแค่บอกเล่า
พี่ประไพยื่นกฎระเบียบหลาดใต้โหนดให้เราพลิกอ่าน ในนั้นมีรายละเอียดที่ทำให้เราเข้าใจเลยว่าทำไมตลาดแห่งนี้ถึงแปลกต่าง
นอกจากข้อกำหนดว่าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามฤดูกาลและปลอดเคมี ไร้การปรุงแต่งทุกชนิด
ยังมีระเบียบว่าด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติแทนหีบห่อสังเคราะห์ ไม่อนุญาตให้มีโฟม
ลูกแม็กโลหะ ป้ายไวนิล
แถมผู้ค้าทุกคนต้องดูแลจัดการขยะของตนเองและจัดเวรดูแลความสะอาดร่วมกันโดยไม่มีการว่าจ้าง

“คนมาหลาดใต้โหนดเพราะอะไร? เพราะรักความเป็นธรรมชาติ
ความพื้นบ้านที่เราพึ่งตนเอง พอได้โจทย์นี้เขาก็ไปหาอะไรใกล้ตัว เอาใบเตยป่ามาทำเป็นกระทง
เอากาบหมากทำเป็นป้ายชื่อ เอาใบมะพร้าวมารัด ห่อเป็นมัดๆ แทนยาง โอ้โห
นี่ตำราเล่มใหญ่นะ มีอะไรให้ตื่นเต้นทุกนัด”

นอกไปจากพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยน
ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธิตการทำขนม ย้อมผ้าพื้นบ้าน
และการพัฒนาเรื่องมัคคุเทศก์น้อยนำลูกหลานผู้ผลิตมาบอกเล่าเรื่องบ้านของตัวเอง
นั่นเพราะเป้าหมายของตลาดแห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่การเป็น ‘แหล่งท่องเที่ยว’ แต่คือ ‘แหล่งเรียนรู้’
ที่พร้อมเป็นโมเดลต้นแบบของการเปลี่ยนแปลง

“ถ้าเป็นตลาดท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวก็จะคิดว่ามาเสพอย่างเดียว เราต้องให้ความสะดวกสบาย แต่เราต้องการรักษาวิถี
การที่คุณมาเที่ยวก็ต้องขอความร่วมมือ คือทุกฝ่ายต้องช่วยกันมันถึงยั่งยืน อย่างปัญหาที่พบหลักๆ
คือเรื่องแยกขยะ เราพยายามเขียนป้ายไว้ละเอียดมาก แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ
หรือบางคนเรียกร้องให้เปิดเสาร์อาทิตย์ได้มั้ย ขยายร้านได้มั้ย แต่เราลิมิตแล้ว
คิดว่าหยุดแค่นี้ เพราะมันยั่งยืนกว่า ทั้งจำนวนร้าน และปริมาณคนที่มา ประเด็นคืออยากให้มองว่าเราเป็นโมเดล
คุณสามารถขยายให้มันเกิดหลายๆ ที่ เราเชื่อว่าแต่ละที่มีของดีอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าคุณจัดกระบวนให้มัน”

พี่ประไพย้ำชัดถึงแนวคิดของตลาดยั่งยืนที่จะไม่เป็นเพียงกระแสที่โหมกระพือและมอดไป

แต่จะเติบโตหยั่งรากเหมือนต้นไม้ที่แข็งแรง

“เจ้าบ้านที่ดีในมุมของหลาดใต้โหนดคือให้คนที่มาได้เรียนรู้และเกิดความสุขทั้งกายและใจ
เราเชื่อมั่นว่าการที่หลาดใต้โหนดสามารถเชื่อมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้จับมือกันจริงๆ
มันจะตอบปัญหาหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจพื้นฐาน การปกป้องแหล่งผลิตอาหาร
การลดขยะ มิตรภาพและการสร้างสังคมที่ดี ถ้าทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน มันจะค่อยๆ เคลื่อนไปในทิศทางที่ดี
เราก็จะแสดงตัวตนว่าเราเป็นเช่นนี้ คุณเข้ามาสัมผัสเราในมุมนี้ มาหนุนเราในสิ่งที่เราเป็น”

ประไพ ทองเชิญ
ผู้จัดการหลาดใต้โหนด
และเจ้าบ้านชาวควนขนุน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่เราไปพบเจอเจ้าภาพที่ดีในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่าง

AUTHOR