Why the sea is salt

“ทำนาเกลือมันต้องอาศัยทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ
ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้เลยนะหนู เราต้องมีที่ดิน ปล่อยน้ำทะเลเข้ามากักไว้
อาศัยลมดันเข้ามา แล้วก็ต้องมีไฟจากแดด เผาให้น้ำกลายเป็นเกลือ”

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่
คุณครูสมัยประถมก็เคยสอนเราเรื่องวิธีการทำเกลือมาแล้ว
แต่ทำไมพอได้ฟังจากปากคุณลุงที่กำลังค่อยๆ เอาคราดไถเกลือให้กองเป็นภูเขาย่อมๆ
ในแปลงนา ประกอบกับลมพัดกลิ่นเค็มโชยเย็นมาปะทะใบหน้า
มันทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของเกลืออย่างทะลุปรุโปร่ง

และเปลี่ยนความรู้สึกที่เรามีต่อเกลือราคาถูกในครัวไปตลอดกาล

ในฐานะคนต่างถิ่น
แน่นอนว่าภาพเกลือกองเป็นหย่อมๆ เข้าแถวเรียงรายทำให้เราคันไม้คันมืออยากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปไว้อวดเพื่อนในโลกโซเชียล
แต่คำถามในใจก็ผุดขึ้นมาว่าเราต้องการแค่นี้ใช่ไหม
ปล่อยให้เมมโมรี่ในกล้องทำหน้าที่จดจำ และเพื่อนๆ กดถูกใจยืนยันการมีอยู่ของเรา ณ
ที่แห่งนี้

เมื่อคำตอบคือไม่ เราจึงตะโกนขออนุญาตเข้าไปดูใกล้ๆ
คุณลุงสังวาร สกุลพงศ์ ยิ้มแล้วกวักมือเรียกพร้อมกับบอกให้เราถอดรองเท้าเดินไปตามคันนา

นุ่ม! ใช่
ดินตรงคันนานุ่มอย่างไม่น่าเชื่อ มันไม่เหลวเป๋วเหมือนโคลนแฉะน้ำ
แต่มีความฟูและเบาจากความสนิทสนมกับกรดเกลือ ความนิ่มนุ่มนั้นทำให้เราค่อยๆ
บรรจงวางเท้าแต่ละก้าว ระวังไม่ให้ดินตกลงไปในน้ำซึ่งเราเริ่มเห็นเกลือขาวๆ
ก่อตัวอยู่

คุณลุงผู้ทำหน้าที่นายนาหรือผู้จัดการนาเกลือบอกว่า นาทั้งผืนถูกแบ่งเป็นแปลงที่เรียกว่า
‘กระทง’ แต่ละกระทงจะทำหน้าที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่การสูบน้ำทะเลมาขังในส่วนแรกที่เรียกว่า
วังน้ำ ก่อนจะปล่อยน้ำเข้าสู่ นาตก เพื่อดักสิ่งสกปรก แล้วสูบไปขังต่อใน ‘นาเชื้อ’ พักไว้จนได้ระดับความเค็มตามที่ต้องการ
ซึ่งจะวัดด้วยปรอทวัดความเค็มให้ได้ค่าสัก 22 – 23 ดีกรี ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ด้วยสีของน้ำที่จะออกชมพูอมส้ม
จากนั้น ก็จะปล่อยน้ำเข้าสู่นาปลงจนเกลือเริ่มตกผลึกอยู่ที่ผิวดิน
ก็จะช่วยกันแซะเกลือด้วยวัวและคราดให้เกลือแตกเป็นเม็ดและสุมเป็นกองภูเขา
ก่อนจะเข้าสู่มหกรรม ‘ขึ้นเกลือ’ ที่ชาวบ้านหลายสิบชีวิตมาหาบเกลือที่กองไว้ขึ้นไปเก็บไว้ที่ยุ้ง
รอนำไปขายต่อไป

“เป็นนายนาทำนาเกลือมันเหมือนมีการบ้านทุกวัน
กลับบ้านไปต้องคิดว่าพรุ่งนี้จะเติมน้ำเค็มไปตรงไหน ไม่ใช่ว่าวางทีเดียวแล้วจบอย่างบ้านแหลมเราอยู่เคียงทะเล
ดึงน้ำเค็มขึ้นมาใช้ทำนาเกลือได้ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะขึ้นทั่วหมด
หลุดจากเดือนสามน้ำจะขึ้นไม่ถึงแล้ว ช่วงเดือนค่ำ ตั้งแต่สิบสองถึงสิบห้าค่ำต้องดันน้ำเค็มมาเก็บในวังน้ำแล้วใช้น้ำนั้นมาทำต่อ”

ต่อในโลกจะทันสมัยไปสักแค่ไหน
แต่คนนาเกลือก็ยังคงใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับพระอาทิตย์ พระจันทร์ และฤดูกาล

“ลุงเป็นนายนามา
21 ปี แล้วก็ทำนาข้าวของตัวเองด้วย เกิดมาก็เห็นนาข้าวฝั่งนึง
นาเกลือฝั่งนึง พอหน้าแล้งเราก็ทำเกลือกัน เกลือปีจะทำตั้งแต่เดือนตุลา
ก็จะได้ขึ้นเกลือช่วงมกรา พอหลุดจากเดือนหกแรมค่ำไปจะเรียกว่า ‘เกลือตะวาย’ วางได้ไม่นานเพราะเดี๋ยวฝนลง เกลือไม่ชอบฝน พอฝนลงก็ข้ามไปปลูกข้าวฝั่งกระโน้น”
คุณลุงสังวารเล่า “คนบ้านแหลมถ้าขยันไม่มีอดหรอก มีงานให้ทำตลอด เดี๋ยวนาไหนขึ้นเกลือก็ไปหาบเกลือกัน
แป๊บเดียวก็ได้หลายร้อยแล้ว ถ้าอยากเห็นก็ไปรอดูสิ
บางนาเขาจะขึ้นกันตอนดึกเพราะไม่ร้อน แต่บางนาก็ขึ้นสายๆ เพราะดินมันแข็งหน่อย
ไม่เหลวเหมือนเช้ามืด”

จากคำเชิญชวนของเจ้าบ้าน
ทำให้เราอยากรู้อยากเห็นจนต้องถามไถ่พิกัดเพื่อไปต่อ

และลืมไปแล้วว่า
เราเริ่มต้นเรื่องนี้เพียงแค่อยากถ่ายรูปอวดเพื่อน

ขับตามรถมอเตอร์ไซค์ที่พ่วงไม้คานและบุ้งกี๋ใบโตมาไม่นาน
เราก็พบชาวบ้านจำนวนมากที่กำลังรอจะขึ้นเกลือกัน เพราะเป็นช่วงสาย เสื้อผ้าของทุกคนจึงพร้อมกันแดดตั้งแต่หัวจรดเท้า
ไล่ไปตั้งแต่หมวกปีกบาน หน้ากากไอ้โม่งที่เจาะรูเพียงตา จมูก และปาก ปลอกแขนยาว
ถุงมือกระชับ และถุงเท้าสูงเหนือเข่า จนเมื่อเข้าไปชวนคุยถึงรู้ว่า
การขึ้นเกลือมีระบบหมวดหมู่
ต้องแบ่งกันให้เรียบร้อยก่อนว่าใครรับผิดชอบกองเกลือแถวที่เท่าไหร่
เมื่อตกลงกันเสร็จ แต่ละคนก็จะลงไปจัดการโกยเกลือใส่บุ้งกี๋ หาบใส่คาน
แล้วเดินจ้ำอ้าวแบกน้ำหนักที่มากถึง 60 – 80
กิโลกรัมต่อเที่ยวมาไว้ที่ยุ้งฉางจนกว่าจะหมดกองเกลือที่รับผิดชอบและรับค่าแรงตามที่กำหนดกันไว้
คนหนุ่มแรงมากบุ้งกี๋ก็จะใหญ่แบกหนักแต่น้อยเที่ยว
ผู้สูงอายุหรือฝ่ายหญิงก็จะบุ้งกี๋เล็กลงตามแรงที่แบกไหว ซึ่งการได้เข้าไปดูการขึ้นเกลือใกล้ๆ
ได้ยินพวกเขาตะโกนแซวกัน ทะเลาะกัน ช่วยเหลือกัน
และเดินเรียงแถวแบกเกลือมากองไว้ที่ยุ้ง ทำให้เรารู้ชัดเลยว่า กว่าจะได้มาซึ่งผลึกสีขาวรสเค็ม
ต้องแลกมาด้วยแรงกายแรงใจของชาวนาเกลือที่หนักหนาไม่ใช่เล่น

“ปีที่แล้วเกลือราคาตกมาก
เพราะหัวไชเท้าไม่ออก ที่เคยซื้อเกลือไปดองไชโป๊วกันที่ราชบุรีก็ต้องยกเลิกไปด้วย
มันเกี่ยวข้องกันไปหมด” คุณป้าแม่แรงที่ดูแลการขึ้นเกลือหันมาคุยกับเรา
“เกลือปีที่แล้วยังอยู่ในยุ้งอยู่เลย ถ้าไม่มียุ้งให้เก็บแล้ว
ปีนี้คงเลิกทำก่อนฝนมา”

ดูเหมือนว่านอกจากไอโอดีนและแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย
เกลือยังคือวิถีชีวิตที่หล่อเลี้ยงชุมชนและผู้คนให้มีชีวิตชีวา อีกทั้งยังปรุงรสชาติให้การเดินทางครั้งนี้แปลกต่างไปกว่าเคย

ไม่ใช่รสเค็มหรอก
หากจะระบุใช้ชัด เราเชื่อว่ามันคือรสชาติของคุณค่า ที่ได้ทำความรู้จักผ่านนาเกลือ

“เวลาเราไปบ้านคนอื่นเขา
ถ้าเขาต้อนรับเราดี เราก็อยากจะกลับไปอีก แต่ถ้าเขาพูดไม่ดี ทำไม่ดีกับเรา
ถามว่าจะอยากไปอีกมั้ยล่ะ ก็ไม่ไปแล้วนะ อย่างหนูมาเที่ยวบ้านลุง ลุงต้อนรับดี
หนูก็อยากกลับมาอีกใช่ไหม ชุมชนก็เหมือนกัน เราต้อนรับทุกคนแหละ
คนขี่จักรยานมาถามทาง คนอยากเข้ามาดูนาเกลือ เชิญเลย แวะได้ทุกนา
แค่ตะโกนบอกกันเสียหน่อยเท่านั้นเอง”

-สังวาร สกุลพงศ์-
นายนา และเจ้าบ้านชาวบ้านแหลม

ภาพ มณีนุช บุญเรือง


อ่านเรื่องการเดินทางบนถนนสายเกลือ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR