สายซื้อเมล็ดกาแฟมาชงกินเอง คงคุ้นเคยกับแพ็กเกจจิ้งสะดุดตาและชื่อที่จดจำง่ายของเมล็ดกาแฟต่างๆ อย่าง milkman, morning person หรือ sleepy head จากแบรนด์กาแฟ The Summer Coffee Company โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมาซึ่งที่แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการขายออนไลน์
The Summer Coffee Company ก่อตั้งและบริหารโดย โน้ต-ชุติมา อนันรยา ร่วมกับพาร์ตเนอร์ กอล์ฟ-คณิน อนันรยาโดยธุรกิจเบสอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแบรนด์ที่มีอายุ 4 ปี และมีจังหวะก้าวย่างน่าสนใจตรงที่เริ่มจากการขายออนไลน์ก่อน ก่อนจะเปิดออนกราวนด์คาเฟ่ที่อยุธยาเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าในอีกมิติ
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ แบรนด์นี้ขับเคลื่อนด้วยรูปแบบองค์กรเต็มตัว เพราะเชื่อในระบบทีมและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแต่ละส่วนงาน มากกว่าว่าเจ้าของจะต้องลงไปลุยเองทุกอย่าง และเชื่อในเรื่องการตัดสินใจผ่านดาต้า มากกว่าการตัดสินใจด้วยความรู้สึกหรือสัญชาตญาณ
จากทีมเล็กๆ ไม่กี่คนในวันเริ่มต้นติดตั้งเครื่องคั่วกาแฟ ปัจจุบัน The Summer Coffee Company มีทีมงานกว่า 50 ชีวิต ด้วยความเชื่อที่ว่า คนยิ่งเยอะยิ่งสร้างงานได้มาก และมองเห็นโอกาสที่จะพาทุกคนเติบโตไปได้อีกมาก โดยมีเป้าหมายว่า อยากจะเป็นคอฟฟี่เฟรนด์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน
ใช้ความรู้ทางด้านศิลปะมาช่วยในการสื่อสารเชิงพาณิชย์
โน้ต-ชุติมา อนันรยา ไม่ได้เป็นคนอยุธยา แต่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาอยู่อยุธยาได้ประมาณ 7 ปีแล้ว
“โน้ตเรียนด้านการออกแบบที่มัณฑนศิลป์ ศิลปากร จบมาปุ๊บก็ไปทำงานออกแบบเครื่องประดับ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรที่เกี่ยวกับการสื่อสารมากขึ้น เลยมาหางานที่เป็นพีอาร์ งานมาร์เก็ตติ้งคอมมูนิเคชั่น ทำได้อีกสัก 2 ปีก็กระโดดมาทำร้านของตัวเองเลย”
ตอนนั้นเธอมีความชอบในเรื่องคาเฟ่และกาแฟเป็นทุนเดิม จึงคุยกับแฟนว่าอยากหาที่ทางเปิดร้าน แล้วพอดีครอบครัวของแฟนมีบ้านตากอากาศอยู่ที่อยุธยา เลยมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการได้ลองทำ
ในตอนนั้นใช้ชื่อร้านว่า Summer House ตั้งใจที่จะให้เป็นคาเฟ่ แต่เนื่องจากมีพื้นที่ใหญ่ และลูกค้าที่มาคาดหวังว่านอกจากกาแฟแล้วจะมีอาหารด้วย ต่อมาจึงค่อยๆ มีอาหารและปรับมาเรื่อยๆ จนความเป็นร้านอาหารมาครอบความเป็นร้านกาแฟ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจแยกออกมาเปิดเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เป็นที่มาของ The Summer Coffee Company ในปัจจุบัน โฟกัสไปที่เรื่องกาแฟอย่างเดียว
“เป็นการเริ่มต้นที่ถ้าถามว่ายากมั้ย ก็ยาก อยู่ดีๆ เราต้องเป็นคนกำหนดสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำขึ้นมาเอง แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องยากขนาดนั้น เราก็ค่อยๆ ทำตามศักยภาพที่เราทำได้ และก็โชคดีที่รู้ตัวตั้งแต่แรกว่า ไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ ก็พยายามจะหาทีมงาน หาคนที่ specialize ในแต่ละส่วนมาช่วยกัน มาทำงานร่วมกัน ให้มันเกิดผลงานขึ้นมาได้ เราไม่ได้คิดว่าทุกอย่างต้องเกิดขึ้นจากมือเรา เชื่อมาตั้งแต่แรกเลยว่าต้องมีทีมที่ดี”
นี่เป็นจุดที่ทำให้เธอได้ใช้งานศิลปะที่ชอบ จากเดิมที่อาจจะเป็นจินตนาการฟุ้งๆ และไม่ค่อยมีฟังก์ชั่นนัก มา commercialize ให้เป็นศิลปะในแบบที่จับต้องได้ เป็นที่มาของวิชวลของแบรนด์ทั้งหมด ให้คนได้เสพทั้งแบรนด์และของคุณภาพ
จากร้านออนไลน์สู่คาเฟ่ออนกราวนด์ เพิ่มประสบการณ์ที่รอบด้านให้กับลูกค้า
หลังจากแยกออกมาทำกาแฟเต็มตัวแล้ว โน้ตพบว่าตลาดกาแฟนั้นกว้างมาก แต่ละคนมีความชอบ มีความสะดวกที่ต่างกัน บางคนสะดวกทำเองที่บ้าน บางคนสะดวกมาที่ร้าน บางคนสะดวกกาแฟสำเร็จรูป จึงทำให้เธอยิ่งรู้สึกว่าธุรกิจนี้น่าสนใจ และอยากที่จะแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของลูกค้าให้ได้ ไม่ใช่แค่หน้าร้านที่ลูกค้าต้องเดินทางมา
“ร้านออนไลน์เรารู้สึกว่าคอนเนกกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เมืองไทยโด่งดังเรื่อง chat commerse ลูกค้าชอบพิมพ์ชอบแชตมาถามมาคุย เรามีเวลาคุยกับลูกค้าได้มากกว่าเวลาที่เรายืนอยู่หน้าร้าน ลูกค้าเองก็ทลายกำแพงต่างๆ ที่เขารู้สึกว่าไม่กล้าถาม พอเราได้คุยกับลูกค้ามากขึ้น ก็รู้สึกว่ามันมีหนทางให้เราเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเขาได้มากยิ่งขึ้น เราสัมผัสได้ถึงความชอบที่แตกต่าง และคิดว่ามันน่าสนใจมาก”
ช่วงโควิดเป็นช่วงที่ดีของทางแบรนด์ เพราะคนมองหากาแฟมากขึ้น จากการที่หลายร้านกาแฟถูกปิดไป หรือการเวิร์กฟรอมโฮมก็ตาม ทำให้คนเริ่มคิดว่า จริงๆ ทุกคนก็สามารถทำกาแฟเองที่บ้านได้ The Summer Coffee Company จึงขอยกมือเป็นคอฟฟี่เฟรนด์ของทุกคน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้านเรื่องกาแฟ
จนถึงจุดหนึ่ง The Summer Coffee Company จึงเปิดคาเฟ่เพิ่มขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้เดินเข้ามาสัมผัสในโลกจริงด้วย
“เราขายอยู่บนโลกออนไลน์มาตลอด ทำจนรู้สึกว่าเราอยากจะมีฟิสิคอลสโตร์ที่ให้ลูกค้าได้เดินทางมา และมาสัมผัสประสบการณ์อีกมิติหนึ่งที่แตกต่างจากการที่เขาได้พูดคุยและซื้อของทางออนไลน์ ให้เขาได้มาเห็นของจริง มาคุยกับบาริสต้าจริง ว่าสิ่งที่คุณเคยถามมา มันเป็นอย่างนี้นะ ได้มาลองชิมกาแฟในแบบที่เราอยากนำเสนอ เราอยากทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาแล้วมีประสบการณ์ของกาแฟที่รอบด้าน ต่อยอดมาจากออนไลน์ มากกว่าจะมองว่าเป็นคาเฟ่คาเฟ่หนึ่ง”
เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นโอกาส สร้างคนในท้องถิ่น
อยุธยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจ เนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยว แต่การที่ธุรกิจเบสอยู่อยุธยานั้น น่าสนใจว่ามีข้อได้เปรียบหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้าง
“ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อได้เปรียบมั้ย แต่อยู่ที่นี่แล้วรู้สึกว่า เรามีเวทีของเราที่ทำให้คนมองเห็นเราได้เต็มภาพมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องเล็กๆ ยิบๆ ย่อยๆ กระจายไปตามที่ต่างๆ แต่เรามี flagship ของเราตรงนี้ ให้คนได้มา experience เรา”
แน่นอนว่า การไปเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในแพลน เพราะอยากให้การเข้าถึงระหว่างลูกค้ากับแบรนด์มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ส่วนข้อจำกัดของการอยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะมีบ้างในเรื่องของบุคลากรที่ต้องสร้างขึ้นมาเอง
“แต่ก็แฮปปี้นะคะที่ได้ทำ และไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อจำกัดแล้ว เราทำมาจนรู้สึกว่ามันก็มีเส้นทางของมัน เป็นโอกาสที่ดีเหมือนกันที่เราได้สร้างทีมเทรนนิ่งของเราขึ้นมา เพื่อที่เวลามีคนสมัครบาริสต้าเข้ามาปุ๊บ เรามีทีมเทรนนิ่งเลย แล้วในอนาคตมันอาจจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ สำหรับบาริสต้าในพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน ที่เวลาเขานึกถึงว่าอยากจะมาเรียนเป็นบาริสต้า ก็มาเรียนที่นี่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาเป็นพนักงานของเรา”
ปัจจุบันทีมงานของที่นี่เป็นคนในท้องถิ่นอยุธยา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่าง อ่างทอง สุพรรณบุรี
“หลายคนมาจากอยุธยา ไปทำงานกรุงเทพฯ สุดท้ายย้ายกลับมา ดีใจที่เราได้เป็นที่ที่เขารู้สึกว่า กลับมาในจังหวัดบ้านเกิดแล้วมีงานที่ตอบโจทย์เขา”
ขับเคลื่อนองค์กรอย่างเป็นระบบด้วยทีมที่มีความถนัดเฉพาะทาง และใช้ดาต้าในการตัดสินใจ
ปัจจุบัน The Summer Coffee Company มีพนักงาน 50-60 คน ในทุกๆ ฟังก์ชั่นการทำงาน ทั้งหน้าร้าน R&D มาร์เก็ตติ้ง โปรดักชั่น หรือทีมบัญชีที่คอยคอลเลกดาต้าทั้งหมดมาวิเคราะห์
“เรามีรูปแบบเป็นองค์กรจริงจังมากค่ะ เพราะเรารู้ว่าคนเดียวเราทำไม่ได้ ด้วยความที่เชื่อในเรื่องของทีมมาก ให้คุณค่าของการเป็นทีมเวิร์ก ความเป็นเลิศของคน ความเฉพาะทางของคน การ specialize ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน เลยเป็นที่มาของการต้องมองว่า จะสร้างองค์กรยังไงให้สามารถผลิตงานขึ้นมาได้ และทุกๆ คนแฮปปี้ที่จะทำงาน
“องค์กรของโน้ตมีค่าเฉลี่ยของพนักงานค่อนข้างต่ำ เรียกว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่หมดเลย ซึ่งเขาจะมีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดนอกกรอบได้บ้าง โน้ตเปิดมากที่จะได้ทำงานกับเขาและก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราให้คุณค่ากับมันสมองและ creativity ของพวกเขา ทำให้เราพยายามที่จะลดเวิร์กโหลดอื่นๆ อย่างเช่นงานที่ซ้ำซ้อน งาน labor ต่างๆ โดยพยายามจะหาเทคโนโลยีมาช่วยเขาให้ได้มากที่สุด ใช้ RPA (Robotic Process Automation) ในการลดงานเหล่านั้น ทำทุกอย่างให้เป็นระบบมากที่สุด”
นอกจากเชื่อในเรื่องของทีมเวิร์กแล้ว ที่นี่ยังเชื่อเรื่องของดาต้าด้วยเช่นกัน
“เนื่องจากโน้ตเป็นคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานการเรียนหรือการทำงานที่เป็นงานบริหารมาเสียทีเดียว โน้ตเลยเชื่อว่า เราไม่สามารถจะใช้กึ๋นหรือใช้อารมณ์ในการตัดสินใจได้ เราใช้ข้อมูลเป็นหลัก ใช้ดาต้าเป็นสิ่งสำคัญ ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาคอยเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เวลาที่จะตัดสินใจทำอะไร
“เช่น เราดูยอดขายของเรา เรามีประวัติการขายของเราทั้งหลาย สมมติว่ากาแฟตัวไหนขายดี เรามีดาต้าเป็นยวงเลย ว่าในแต่ละช่วงที่เราโปรโมตอะไรออกไป สื่อสารอะไรออกไป ยอดขายตัวไหนที่ยังคงเป็นฮีโร่ของเรา เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นโชคชะตา หรือเป็นช่วงอารมณ์ในการซื้อของคน แต่มันเห็นอยู่แล้วว่าสินค้าตัวนี้เป็นที่ต้องการ เราเลยอาจจะใช้โปรดักต์ตัวนี้มาต่อยอดสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นต้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ นั่งมโนขึ้นมาว่า เราจะมีกาแฟรสนั้นรสนี้
“เพราะฉะนั้นงานในแต่ละงานของที่บริษัทนี้จะมีความยูนีคมาก อย่างเช่นมีพนักงานคนหนึ่งคอยดูดาต้า วิเคราะห์โดยเฉพาะ จบนักคณิตศาสตร์มาก็มี เป็นงานที่เขาไม่คิดว่าเขาจะหาได้ในจังหวัดนี้ (หัวเราะ) เราก็สร้างงานให้เขา มันคือสิ่งที่เราต้องการมากๆ เหมือนกัน คนที่คอยดู วิเคราะห์ตัวเลขเหล่านี้ หาค่าความสัมพันธ์ต่างๆ”
เชื่อใน speed มากกว่า perfection และความสำคัญของ manpower
องค์กรใหญ่ก็ยิ่งต้องโต โน้ตบอกว่าธุรกิจออนไลน์ยังโตได้อีกเยอะ ขอแค่มี manpower หรือกำลังคนที่จะช่วยผลิตงานให้ขยายขึ้นไปอีก เพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของคนที่เยอะขึ้น มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
“โน้ตเชื่อว่า ยิ่งมีคนเยอะ ยิ่งสร้างงานขึ้นมาให้ได้อีกเยอะ เพราะเราคิดว่าทุกคนยื่นงานให้เราเสมอ ยิ่งเยอะยิ่งดี
“แต่ตอนนี้บางทีรู้สึกว่าจำกัดในบางอย่าง งานที่เราคิดมันออกมาไม่เร็วพอ เพราะเราเชื่อใน speed มากกว่า perfection คือ ณ วันนี้ อะไรที่มันเร็วมันต้องรีบทำมาก่อน ดีไม่ดีเดี๋ยวค่อยว่ากัน ถ้าเฟลก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาอะไรใหม่ทำขึ้นมาเพิ่ม โน้ตเลยเชื่อว่า manpower สำคัญ ยิ่งช่วยกันคิดช่วยกันทำขึ้นมา ยิ่งก่อให้เกิดงาน และยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ได้เห็นว่า ตอนนี้เรามาถูกทางหรือเปล่า คือถ้าเราไม่รีบทำคนอื่นอาจจะทำแล้ว ทำไว้ก่อนแล้วเราค่อยมาเลิร์นนิ่งกันว่ามันดีไม่ดียังไง แล้วค่อยปรับในอนาคต
“เช่น ในเรื่องของงานมาร์เก็ตติ้ง หรืองานพวกอาร์แอนด์ดีทั้งหลาย บางทียิ่งคิดเยอะอาจจะทำให้นานเกินไป สมมติเราคิดอะไรออกมาปุ๊บ มองมันน่าจะดี เรารีบปล่อยออกมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์หรือเรื่องการสื่อสารก็ตาม เรามีไอเดียอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้ามันอยู่ในวิถีที่น่าสนใจ อาจจะออกนอกกรอบไปบ้าง โน้ตเปิดที่จะให้เขาทำเลย แล้วลองดู อะไรที่มันไม่ดูเป็นผลเสีย ไม่ดูเป็นภาพลบกับบริษัทมากนัก อะไรที่มันน่าจะลองก็ลอง”
การมีคนเยอะ ก็ต้องมีวิธีจัดการคนที่เยอะนั้น โน้ตบอกว่าก็ใช้วิธีเหมือนทำงานกลุ่ม แยกย้ายกันไปทำ ยิ่งองค์กร flat ยิ่งรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม ทุกคนสามารถพูดได้ ออกความคิดเห็น และลองทำอะไรได้ เพราะที่นี่ให้คุณค่ากับมันสมองของทุกๆ คนที่รับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
“องค์กรเรามีลักษณะ flat เราแยกทีมออกไปบริหาร เพราะฉะนั้นเรามีทีมลีดเดอร์ของแต่ละทีม แล้วเขาก็ไปดูแลปกครองกันเองในวิธีของเขา ถามว่ามีปัญหาเรื่องคนมั้ย โน้ตว่าก็คงมี แต่ปัญหามันก็คงจะเล็กกว่าที่ถ้าหากว่าทุกอย่างรวมศูนย์มาที่เดียว เพราะการดูแลที่ทั่วถึงนั้นสำคัญ ปัญหามันอาจจะเกิดจากการที่ดูแลไม่ทั่วถึง ความต้องการที่ไม่ตรงกัน ไม่สามารถส่งมอบงานได้ หรืออะไรที่สะสมไว้นานเกินไป ถ้าเกิดว่ามีการดูแลกันอย่างใกล้ชิดและดีมากยิ่งขึ้นของทีมลีดเดอร์ที่ดูแลในทีมของเขา ปัญหาเหล่านั้นก็อาจจะน้อยลง และอาจจะเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยๆ กันแก้ไขปัญหาเรื่องคนมีอยู่แล้วทุกองค์กร ยิ่งคนเยอะด้วยแล้ว แต่เราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาขนาดนั้น”
ความสำเร็จไม่ใช่ภาพใหญ่ แต่คือทุกรายละเอียดที่ภูมิใจ
จากการเริ่มกินกาแฟลาเต้ของเธอในวันนั้น โน้ตไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่า แพสชั่นที่มีต่อกาแฟจะพาเธอมาถึงตรงนี้ได้ ทุกวันนี้โน้ตมองว่ากาแฟยังเป็นธุรกิจที่มีมีศักยภาพมากๆ ยิ่งเห็นว่าจะโตไปได้ในทางไหน สามารถแตกอะไรออกไปได้อีกบ้าง เธอก็ยิ่งมีแพสชั่นขึ้นไปอีก
“คิดว่ากาแฟก็ยังเป็นตลาดที่ใหญ่ และพร้อมจะรับผู้เล่นใหม่เข้ามาเสมอ อยู่ที่ว่าทำอะไร เพราะอย่างที่บอกว่าความต้องการของคนต่างกันมาก และพร้อมจะเปลี่ยนไปในทุกวัน วันนี้ชอบกาแฟแบบนี้ ในอนาคตก็อาจจะชอบกาแฟอีกแบบหนึ่ง อาจจะมีข้อจำกัดที่ทำให้เขารู้สึกว่า กาแฟแบบนี้ไม่ตอบโจทย์กับเวลาในชีวิตเขาแล้ว
“เพราะฉะนั้นถ้าเรามองให้ออกว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เข้ามาเลย โน้ตว่ากาแฟยังเล่นได้อีกเยอะ ขอแค่ โน้ตคาดหวังให้ทุกคนที่เข้ามาเล่นในสนามกาแฟ มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วจะยิ่งทำให้โตขึ้นไปกันได้อีก การทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟจะยิ่งสนุกขึ้นไปอีก แต่ถ้าเกิดว่าเข้ามาแล้วทำตามแพตเทิร์นของคนอื่น ทำเหมือนเดิมๆ ทำตามๆ กันมา โน้ตว่าคนทำธุรกิจก็เบื่อ ลูกค้าก็เบื่อ และอาจจะมีส่วนเรื่องของการประสบความสำเร็จหรือไม่ด้วยเช่นกัน ถ้าเกิดเรายิ่งครีเอทีฟ ทำอะไรให้น่าตื่นเต้น โน้ตว่าลูกค้าพร้อมที่จะรับอยู่แล้ว ยิ่งคนรักกาแฟที่เป็นลูกค้า เขาพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ลองอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว เข้ามาเลย อยากให้เข้ามาเยอะๆ”
สำหรับตัวเธอเอง ไม่ได้ให้ค่าของความสำเร็จที่เป็นชิ้นใหญ่ แต่เก็บทุกๆ ไมล์ที่มองกลับไปแล้วรู้สึกถึงความภูมิใจ
“โน้ตอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จ ที่ถ้ามาถามว่าวันนี้สำเร็จแล้วหรือยัง ในอนาคตข้างหน้าก็คงจะตอบเหมือนเดิมว่า ไม่ได้ปักธงไว้ว่าอะไรคือความสำเร็จ เพราะความสำเร็จในแต่ละอย่างมันคงขยับธงออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น รู้สึกว่าเราให้ค่ากับสิ่งที่เป็นผลงานที่สร้างออกมามากกว่า อย่างเช่นอะไรที่วันนี้เรามองกลับไปแล้วเราภูมิใจ นั่นก็เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้ว
“ณ วันนี้ถ้าถามว่า มองกลับไปแล้วโน้ตภูมิใจกับอะไรบ้าง ก็คงเป็นเรื่องของการที่เราได้สร้างองค์กรหนึ่งมา แล้วมันก็เติบโต เป็นที่รู้จักของคน และทำให้คนที่อยู่ในองค์กรของเรา เขาก็ภูมิใจไปกับเราด้วยเหมือนกัน เพราะสิ่งที่ออกมา มันมาจากมือพวกเขา อันนี้คือสิ่งที่ภูมิใจมาก มันอาจดูเป็นนามธรรม แต่ว่ามันมีความหมายมาก กับคนที่ทำงานแล้วเขารู้สึกมีส่วนร่วมจริงๆ แล้วเราก็ไม่เคยเทกเครดิตว่ามันเป็นของเราคนเดียว Summer ไม่เท่ากับคนใดคนหนึ่ง Summer คือองค์รวมทั้งหมดเลย”
เพราะว่าเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ จึงหาคนมาจับมือแล้วไปด้วยกัน เธอบอกว่า นั่นแหละ คือสิ่งที่พาเธอให้มาถึงจุดนี้ได้