The Rubber PARAdoxii งานศิลปะจากยางพารา ชูวัสดุบ้านเกิดให้เป็นตัวจริงมากกว่าตัวประกอบ

งานศิลปะทุกวันนี้แตกแขนงหลายสาขากว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาดกราฟิก ดิจิทัลอาร์ต อาร์ตทอยเก็บสะสม หรืองานศิลปะ Installation ไม่ว่าจะเป็นผลงานรูปแบบไหน มันคล้ายกับว่าจะทำให้เป็นที่จดจำให้คงอยู่ในสายตาผู้คนตลอดไป แตกต่างจากแนวคิดของ ‘นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล’ ศิลปินผู้ก่อตั้ง The Rubber PARAdoxii ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามความเชื่อที่ว่า…..


‘ใดๆ ในโลกล้วน ไม่มีจีรังยั่งยืน
ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’

เมื่อทุกชีวิตยังมีวันดับสูญ
ศิลปะก็ย่อมมีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกัน

หากพูดถึงชีวิตนั้นคือธรรมชาติ ต่างต้องมีการเกิดขึ้น เติบโต โรยรา และย่อยสลายหายไปตามวัฏจักร มันก็เหมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ผ่านเรื่องราวมากมายในช่วงเวลานั้นๆ เมื่อจบลงไปก็จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นทดแทนไม่รู้จบ ซึ่งความหมายศิลปะสำหรับนิ่ม ผลงานอาจไม่จำเป็นต้องคงอยู่ถาวร บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนตามอายุไขชีวิตของสิ่งๆ นั้นให้คนตระหนักถึงและเห็นคุณค่าในช่วงเวลาหนึ่งได้เช่นกัน

วัสดุที่นิ่มอยากถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวคือ ‘ยางพารา’

ทำไมถึงต้องเป็นยางพารา เราลองไปถามเธอกัน

ตะโกนให้ยางพาราเป็นตัวเด่น

ก่อนจะพูดถึงยางพารา ต้องย้อนความไปถึงจุดเริ่มต้นของนิ่มสมัยเป็นนักศึกษา เธอเรียนคณะจิตรกรรมสาขาศิลปะไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร หลายคนเมื่อได้ยิน ‘ศิลปะไทย’ อาจจะนึกถึงประวัติศาสตร์โบราณ ต้องเป็นลายกนกในวัด หรือประเพณีของบ้านเราที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ความเป็นจริงแล้ว
‘ความเป็นไทย’ มันอยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ หรือเครื่องแต่งกายที่ทุกคนสวมใส่ ทุกอย่างสามารถบ่งบอกความเป็นไทยได้ทั้งหมด

เธอจึงหยิบวัสดุใกล้ตัวในบ้านเกิดนั่นคือ ‘ยางพารา’ เป็นตัวแทนเล่าเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ และความเป็นนิ่มผ่านผลงานศิลปะของตัวเอง

“ตัวเราเองสนใจวัสดุยางพาราจากบริเวณบ้านของเรา มันเริ่มมาจากรุ่นปู่ย่าตายายเป็นชาวสวนยาง สวนผลไม้อยู่ที่จังหวัดตรัง ยายเลี้ยงครอบครัวเรามาได้เพราะสวนยาง แม่นิ่มมีเงินเรียนหนังสือเพราะสิ่งนี้ จะว่าไป ยางพาราคือรากที่หล่อเลี้ยงครอบครัวของเรา เราเอาตัวรอดมาได้จากสิ่งเหล่านี้ รวมถึงมันเป็นวัสดุที่สะท้อนถึงความเป็นไทย บ้านเกิด และวิถีชีวิตรวมอยู่ในนี้ทั้งหมด

“เวลาเราเรียนศิลปะ เราก็จะมองว่าทุกอย่างมันสามารถทำเป็นศิลปะได้หมดเลย ซึ่งยางพาราเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์ในตัวมันเอง หลังจากเราเคยหยิบมาทดลองและค้นพบว่า ทุกส่วนของยางพาราสามารถใช้ได้หมดเลย ทั้งลำต้น ใบ ยาง หรือว่าจะเป็นของเสียจากมัน เช่น ลูกยางก็ใช้ได้ โดยผลงานส่วนใหญ่ของนิ่มจะเป็นน้ำยาง มันสามารถเป็นกาวเชื่อมต่อกัน หรือสามารถแยกออกจากกันได้ มันแปลกดีนะ เหมือนเซลล์อะไรบางอย่าง ยิ่งกว่านั้นผิวสัมผัสของมันก็มีหลายแบบด้วยนะ ละมุน หยาบและอ่อนนุ่มในวัตถุเดียว” 

แม้ว่ายางพาราจะเป็นวัสดุที่มีลูกเล่นมากมาย อย่างไรก็ตามก็เป็นความท้าทายในการทำสิ่งนี้ให้เป็นจุดเด่นไม่เหมือนใคร

“แม้ว่าตัวเราเองจะมาสายวิชวลอาร์ต (Visual Art) แต่ในเชิงธุรกิจเราต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ลูกค้าและการใช้งาน มันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะยางพารามีอยู่ในทุกสิ่ง เช่น รองเท้า ยางรถยนต์ หรือแม้กระทั่งเคสโทรศัพท์

“แต่ว่าตัวของมันเองไม่ได้สื่อออกมาเป็นวัตถุดิบตรงๆ คือตัวมันไม่สามารถตะโกนออกมาได้ว่า นี่คือยางพารา เพราะส่วนใหญ่มันจะเป็นส่วนประกอบการผลิตให้กับสินค้าต่างๆ แต่ไม่ได้เป็นตัวมันเอง ซึ่งนิ่มอยากให้ยางพารามันชูจุดเด่นออกมา”

ศิลปะยางพารา และการเวียนว่ายตายเกิด

สำหรับนิ่มไม่ได้มองยางพาราแค่วัสดุธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังตีความหมายศิลปะที่สื่อถึง
‘วัฏจักรชีวิต’ อย่างการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปผ่านตัวยางพาราที่เปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลา

“วัสดุที่นิ่มอยากทำ เราอยากเล่าให้มันเป็นเชิงศิลปะได้ด้วย มันเริ่มมาจากตัวเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่สักวันเราต่างต้องย่อยสลายไปจากโลกใบนี้ แต่ทำไมตัวผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างไว้ ทำไมมันถึงยังคงอยู่ล่ะ ทั้งๆ ที่ตัวเราก็ตายไปแล้ว นิ่มคิดว่า ทุกสิ่งมันต้องมีวาระของมัน มีการเกิดขึ้นและการย่อยสลาย

“สาเหตุที่สนใจเรื่องวัฏจักรของชีวิต เพราะทุกอย่างมันมาจากธรรมชาติ ซึ่งมันจะย่อยสลายเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับอายุของมัน หรือเราอยากจะยืดอายุกับมันนานขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องมีจุดสิ้นสุด ซึ่งในใจนิ่มคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีเวลาของมัน มีเกิดขึ้นและก็ต้องมีดับไปของวัตถุทางกายภาพ เพราะเราคือสสารของอินทรีย์ เรารู้สึกว่าวัสดุที่เราหยิบมา มันสามารถย่อยสลายได้นะ และมันสามารถย่อยเป็นอย่างอื่นได้ด้วย”

เธอยังเล่าแนวคิดการทำผลงานเพิ่มเติมอีกว่า ตัวยางพาราก็มีเวลาย่อยสลายของมันเอง ซึ่งระหว่างทางที่มันจะแปรสภาพย่อยสลาย เราก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสียางพาราไปเรื่อยๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปถึงจุดสิ้นสุด ยกตัวอย่างเช่น เวลาเรากรีดยางพาราออกจากต้นไม้ ตัวน้ำยางจะเหมือนน้ำนมสีขาว แล้วพอมันถูกรีดออกเป็นแผ่นก็จะมีสีขาวนวลๆ พอมันผ่านระยะเวลาไปนานๆ ก็จะเป็นสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้มและกลายเป็นสีดำในที่สุด

“เราจะเห็นระยะเวลาของมันว่าเป็นอย่างไร ผ่านสีและสภาพของยางพารา เราว่ามันคือเสน่ห์ มันคือผลงานที่สะท้อนถึงชีวิตหนึ่งที่เราได้เห็นไทม์ไลน์ของมันตั้งแต่เริ่มจนจบ”

แฟชั่นยางพาราบนรันเวย์

ระหว่างเล่าที่มาที่ไปของยางพาราในแง่มุมคนเรียนศิลปะ เธอใส่ทั้งความหมายและความรู้สึกในผลงานของตัวเองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเมื่อนิ่มก้าวเข้ามาสู่โลกการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงคนใช้งาน เราจะทำอย่างไรให้ศิลปะที่ตีความหมายดังกล่าวเข้าถึงคนได้มากยิ่งขึ้น เธอนั่งคิดสักพักก่อนจะตอบว่า ต้องทำให้มันเป็นเรื่องแปลกใหม่จากที่เคยเป็นอยู่บ วกกับเป็นสิ่งที่เธอสนใจนั่นคือเรื่องแฟชั่น

“ในช่วงแรกก็มีความคิดว่า จะทำอย่างไรให้ยางพารามันตะโกนออกมาให้ได้ เราอยากทำให้มันรู้สึกแปลกตาไปจากที่เคยเห็นอยู่ เราก็เลยคิดถึงแฟชั่นที่อยู่บนรันเวย์ ส่วนใหญ่มันต้องเป็นแบรนด์ระดับสูงหรือดีไซเนอร์ชื่อดังเท่านั้น 

“แต่เรารู้สึกว่า ยางพารา ภาพจำส่วนใหญ่มันไม่ค่อยมีคุณค่าเลยและราคาถูกมาก เพราะไม่มีใครอยากจะตัดต้นยางขายแล้ว มันก็เลยเป็นโจทย์ให้เราคิดต่อว่า อะไรนะที่ทำให้มันเห็นคุณค่าได้ งั้นลองเอายางพารามาทำเป็นชุดแฟชั่นดีไหม เป็นแบบกึ่งแฟชั่นให้คนเข้าถึงได้ด้วย

“ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลยนะว่าอยากจะกบฏ ทำไมยางพาราจะทำเป็นแฟชั่นที่สูงส่งไม่ได้ ยางพาราถูกๆ เนี่ย เราก็สามารถทำเป็นแฟชั่นได้นะ เพราะเราไม่ได้ยึดติดกับวัสดุต้องอยู่ในกรอบ แต่มันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่มันมีโอกาสเป็นไปได้ ไปให้สุดตามที่มันจะเป็น”

แน่นอนว่าหลังจากเธอนำยางพารามาทำเป็นชุดแฟชั่นเดินแบบ รวมถึงได้ออกงานตามเทศกาลต่างๆ มากมาย เช่น เทศกาล Mango Art กับผลงานชุด Raining on The Moon หรืองานโชว์แฟชั่นในนิทรรศการต่างๆ มิหนำซ้ำยังหลายคนยังใส่ชุดแฟชั่นยางพาราไปเดินอวดโฉมในงานเทศกาลเก๋ๆ จนคนรู้จักมากมาย รวมถึงได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 60 แบรนด์ของโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ด้วย

ระหว่างที่ยืนคุยพลางดูชุดยางพาราของนิ่มไปด้วย ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ลวดลายของชุดที่มีรูมากมาย มันทำกันอย่างไร เธอเลยเล่าเรื่องการผลิตชุดยางพาราพร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราฟังว่า เวลาผลิตชุดยางพาราหนึ่งตัว เธอจะมีแม่แบบขนาดใหญ่เอาไว้เทน้ำยางพารา ซึ่งมันจะถูกจับตัวเป็นแผ่น หากเราอยากทำแผ่นยางพาราให้เป็นรูหรือลวดลายต่างๆ ที่อยากได้ เขาก็จะทำแม่แบบโดยเว้นพื้นที่เป็นรูตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดขยะจากเศษยางพาราที่กรีดทิ้ง

“รู้ไหมว่า เราสามารถกำหนดความหนาของผ้ายางพาราได้ด้วยนะ ถ้าเท 1 ครั้งจะได้ผ้ายางพาราบางๆ ถ้าสมมติเราอยากได้หนาๆ ก็ต้องเทหลายครั้งมันก็จะหนาขึ้น ส่วนสีสันต่างๆ มาจากสีธรรมชาติ จากมังคุด ใบยางหรือบางทีก็เป็นสีอะคริลิก” นิ่มพูดพร้อมยื่นผ้ายางพาราให้เราสัมผัสถึงความหนาบางของแผ่นยางพาราด้วยมือตัวเอง

“ผลงานนิ่มชิ้นใหญ่ขนาดนี้ มีทีมงานทำกันกี่คนหรือคะ” เราถามกลับเมื่อเห็นชุดยางพาราขนาดใหญ่และมีรายละเอียดในผ้ามากมายที่แอบคิดไปไกลแล้วว่า ตอนผลิตผลงานน่าจะมีหลายมือเข้ามาช่วย แต่เธอตอบกลับมาว่า “คนเดียวค่ะ นิ่มเองทำกับมือเลย” นิ่มพูดพร้อมยิ้มเบาๆ 

ต่อโอกาสงานศิลปะ ต่อแรงบันดาลใจชุมชน

เธอชวนคุยต่อว่า การทำชุดแฟชั่นดังกล่าว ไม่เพียงนำเสนอคุณค่าของวัสดุยางพารา แต่อยากจะส่งเสริมอาชีพของชุมชนที่ทำยางพาราอีกทางหนึ่งด้วย เพราะผลงานของเธอทุกชิ้นเป็นผลผลิตของชุมชนทั้งหมด

  “การมีส่วนร่วมกับชุมชนคือ ขั้นตอนการทำน้ำยางพาราเนี่ยแหละ แรกเริ่มเราก็คุยกับชุมชนวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในจังหวัดหรือจังหวัดใกล้ๆ และเราก็บอกรายละเอียดให้ชุมชนว่า เราอยากได้สเป็กน้ำยางประมาณนี้ ผิวสัมผัสประมาณนี้ เขาก็จะไปทำมาให้เรา มันสั่งทำได้หมดเลย

  “ซึ่งก่อนหน้านี้ตัวชุมชนเขาก็มีความรู้สึกไม่อยากทำแล้ว แต่เราไม่ได้บังคับให้เขาทำนะ เราเอาผลงานที่เราทำไปให้เขาดูว่า ก่อนหน้านี้เราทำอะไรมาบ้าง เขาก็แบบ เฮ้ย! ยางพารามันทำได้ขนาดนี้เลยหรอ แบบนี้มันเป็นไปได้หรอ เขาก็ลองๆ ทำ ต่างคนต่างลองแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่กัน อย่างชุมชนก็จะช่วยเรื่องที่นิ่มอยากได้ยางพาราสเป็กแบบนี้ต้องทำอย่างไร และเราก็บอกชุมชนว่า ยางพารามันสามารถทำอะไรได้บ้าง

  “สำหรับเรา ตรงนี้มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กับเขาได้ทำยางพาราต่อ เพราะก่อนหน้านี้เขาหยุดขายไปเพราะมันขายไม่ได้ เราก็ทำให้เห็นว่ามันก็มีคุณค่านะ พี่ทำอีกสิๆ พี่มีวัตถุดิบ เรามีไอเดีย ถ้าทำด้วยกัน มันก็ต้องไปต่อกันได้

“ความเป็นจริงทุกคนในภาคใต้ต้องรู้จักยางพาราอยู่แล้วละ แต่แค่เขาไม่รู้ตัวว่ายางพารามันทำอะไรได้อีก นอกจากหมอน รองเท้า หรือยางรถยนต์ เพราะเขาก็นึกภาพไม่ออกว่า มันจะอยู่ในงานศิลปะได้อย่างไร ซึ่งเรารู้สึกว่า สิ่งที่เราหยิบยางพารามาทำเป็นผลงาน มันก็เป็นวัตถุดิบบ้านๆ ที่เห็นได้ตามสวน แต่มันมีคุณค่าของมันเอง เราก็แค่หยิบศักยภาพและหาความเป็นไปได้ให้กับมัน เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำเหล่านี้ก็เป็นอิมแพ็กต์ของเราเหมือนกันที่ได้สร้าง ได้ส่งต่อ หรือช่วยอะไรให้กับชุมชนบ้างในทางหนึ่ง”

ลบภาพจำศิลปะ Pure Art จากวัสดุธรรมชาติ

หากให้เล่าว่า The Rubber PARAdoxii ทำอะไร ก็บอกได้เลยว่าเป็นแบรนด์ที่อยากผลักดัน
‘ยางพารา’ วัสดุท้องถิ่นในบ้านเกิดมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีคุณค่าด้วยตัวเอง รวมถึงนำเสนอความเป็นไทย ทั้งเรื่องวิถีชีวิต ชุมชน และการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน ทั้งหมดเหล่านี้คือคำอธิบายการทำธุรกิจศิลปะของนิ่ม

และมีอีกสิ่งหนึ่งที่นิ่มอยากสื่อให้ทุกคนเข้าใจในการทำธุรกิจนี้คือ
‘ศิลปะ Pure Art ก็สร้างมูลค่าได้’

หลายคนมักจะคิดว่า การทำศิลปะวิจิตรศิลป์ (Pure Art) ไม่น่าทำเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าได้ แต่ความเป็นจริงแล้วทุกอย่างคือธุรกิจทั้งหมด “มองตามความเป็นจริงทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปได้ด้วยเงินเป็นหลัก เราจะสร้างคุณค่าหรือเม็ดเงินจากอะไร เราคิดว่ามันมาจากศิลปะได้นะ ถ้าทำให้มันมีคุณค่า”

ซึ่งศิลปะไทยในภาพจำใครหลายคนมักจะคิดถึงรูปวาดหรือรูปปั้นต่างๆ แต่คำว่าศิลปะมันมีหลากหลายรูปแบบมากกว่าสิ่งที่เห็นเหล่านั้น

“นิ่มคิดว่า ศิลปะในประเทศไทยก็จะมีรูปแบบหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่ภาพติดฝาผนังหรืออยู่บนแคนวาสเฉยๆ จริงๆ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นงานศิลปะได้ เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่าศิลปินมีหลากหลายสาขามาก ทั้งทำทั้งแสง เสียง หรือศิลปะที่รับประสาทสัมผัสแบบอื่นๆ มันหลากหลายมาก

“ของนิ่มเป็นงานศิลปะแบบกึ่ง Installation แทบจะมีน้อยมากในไทย คนอาจจะคิดว่าเป็นการจัดโชว์ Display ทั่วไป แต่มันไม่ใช่นะ มันคืองานแฟชั่นกึ่งศิลปะ ต่อไปมันอาจจะเปลี่ยนหน้าตาเป็นอย่างอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟชั่น แต่เป็นอะไรก็ได้ตามศักยภาพของวัสดุ ซึ่งเราไม่ได้ยึดติดวัสดุสิ่งนั้นต้องเป็นได้แค่นี้ มันขึ้นอยู่กับบริบทที่เปลี่ยนไป”

ความหวังเล็กๆ อยากเป็นจุดตั้งต้นและต่อยอดให้ผู้อื่น

ในมุมศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะยางพารา คุณอยากจะให้คนเสพผลงานรู้สึกหรือตระหนักถึงอะไร

“ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่แรกด้วยแนวคิด ‘ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’ ไม่มีสิ่งไหนอยู่ไปได้ตลอด เรารู้สึกว่า ทุกสิ่งมันย่อยสลายได้และสามารถหายไปจากโลกใบนี้ได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่ามันจะเป็นงานระดับโลกก็ตาม 

“เรารู้สึกว่า มันไม่มีอะไรคงอยู่ เพราะถ้ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ในโลกใบนี้ตลอดไป ศิลปะของเขาก็อาจจะเป็นขยะชิ้นหนึ่งก็ได้ในโลกใบนี้ที่อาจจะไม่มีคนดูแล้ว เราอาจคิดแปลกๆ หน่อย เรามองว่า คุณค่าของมันจะอยู่ในรูปแบบไหน มันอยู่ที่คนจะมอง หรือถ้าย่อยสลายไป งานศิลปะมันจะไม่มีคุณค่าเลยหรอ หรืองานของคุณ ถ้ามันยังคงอยู่ มันจะมีคุณค่าจริงๆ เหรอตามกาลเวลา ทุกอย่างไม่แน่นอนทั้งนั้น ซึ่งสำหรับเราคุณค่าของศิลปะมันคือช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ เห็นการเปลี่ยนแปลงและจบไปตามอายุไขของมัน”

และหนึ่งในคุณค่างานศิลปะที่นิ่มแอบซ่อนเมสเซจในผลงานนี้ นั่นคือศิลปะช่วยขับเคลื่อนได้ทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตระหนักถึงคุณค่าวัสดุใกล้ตัว ชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากต่อยอดงานศิลปะหลากหลายมากยิ่งขึ้น

“เราคิดว่าศิลปะช่วยขับเคลื่อนได้ทุกสิ่งเลย นี่ไม่ได้พูดอวยนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า ศิลปะมันขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ทุกอย่าง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด มันสามารถขับเคลื่อนทุกอย่างไปได้ อย่างน้อยคือการสร้างแรงบันดาลใจและการต่อยอดให้คนอื่น

“คือสิ่งที่เราทำ เราก็ไม่ได้ทำคนแรกหรอก ถูกไหม มันก้ต้องมีคนที่ให้แรงบันดาลใจเรามา หรือเห็นสิ่งอื่นๆ มาต่อยอดไปเรื่อยๆ และก็แตกแขนงออกไป เราก็อยากให้ผลงานเราเป็นทั้งจุดตั้งต้นและจุดต่อยอดให้ใครก็ได้เช่นกัน”


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR