THE REAL CHAPLIN การเมืองเป็นเรื่องตลกเงียบ

เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ยุควีซีดีระบาด ผู้ผลิตต่างควานหาหนังมาปั๊มแผ่นเพื่อสนองตลาดใหม่ของความบันเทิงราคาถูก และหนึ่งในนั้นก็คือแผ่นหนังเก่ากึ้กนำแสดงโดย ชาร์ลี แชปลิน ที่ไม่ใช่หนังเงียบเหมือนต้นฉบับ แต่กลับพากย์ไทยเสียงอีสานโดย นิคม สุนทรพิทักษ์ ที่เริ่มจากฉบับวิดีโอของบริษัท อีวีเอส 

หลายคนจึงอาจรู้จักแชปลินจากหนังแผ่นเวอร์ชั่นนี้ที่มีราว 60 เรื่อง และทุกเรื่องเด่นที่ได้รับการยกย่องในความอัจฉริยะของแชปลิน ไม่ว่าจะเป็น Modern Times, The Gold Rush, The Circus หรือ City Lights ฯลฯ ล้วนถูกนำมาพากย์อีสานครบหมด เป็นการเพิ่มอรรถรสและช่วยให้หนังของแชปลินข้ามเวลามาต่อกับปัจจุบันในบ้านเราอย่างเนียนๆ 

เพราะชาร์ลี หรือ ชาร์ลส์ แชปลิน คือชายชาวอังกฤษร่างเล็กเป็นบุคคลสำคัญอีกคนของโลก ในฐานะผู้ร่วมผลิตสินค้าให้ฮอลลีวู้ดตั้งแต่ยังเตาะแตะ เป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอเมเจอร์แห่งแรกๆ อย่างยูไนเต็ดอาร์ติสต์ ทำหน้าที่ช่วยให้วัฒนธรรมความบันเทิงอย่างภาพยนตร์แพร่ไปด้วยศิลปะการสร้างเสียงหัวเราะที่เขาทั้งแสดง-เขียนบท-กำกับ โดยเกือบทั้งหมดมีเพียงภาพกับเสียงดนตรีประกอบที่เขาก็มักประพันธ์เองอีกเหมือนกัน แต่ใครต่างก็ซึมซับความบันเทิงนี้ได้เหมือนกันทั้งโลก 

คนไทยรู้จักภาพยนตร์หลังจากมันถือกำเนิดขึ้นบนโลกได้เพียงไม่กี่ปี จึงไม่แปลกถ้าคนรุ่นปู่ทวดจะรู้จักแชปลินจากบทบาทของ ‘ชายจรจัด’ (The Tramp) หรือ ‘ไอ้ตัวเล็ก’ (Little Fellow) แบบที่แชปลินเรียก ที่ปรากฏตัวมาตั้งแต่ปี 2457 และหากไม่นับทั้งในหนังโฆษณา โชว์คณะตลก หรือมายากล ในสารรูปแบบนั้นยังเคยมีดาราตลกอย่าง เพชร ดาราฉาย ติดกระจุกหนวด แต่งตัวและถือไม้เท้าแบบเดียวกันอยู่ใน ‘ซูเปอร์เก๋าส์’ ของ สมพงษ์ ตรีบุปผา เมื่อปี 2524 ส่วนทางฟากหนังจีน ในปีก่อนหน้านั้น ก็มีสือเทียนแต่งตัวคล้ายกันแสดงเป็น ‘ซือแป๋ แซ่ตลก’ หรือ Laughing Time ที่กำกับโดย จอห์น วู และก่อนหน้านั้นอีกเล็กน้อย ก็พบหนังของแชปลินเข้ามาฉายในโรงบ้านเรา ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเป็นหนึ่งในหนังที่มีเจ้าของโรงบางแห่งขุดเอามาฉายแก้ปัญหาจอว่าง อันเนื่องจากมาตรการขึ้นภาษีฟิล์มหนังต่างประเทศเมื่อปี 2519   

แต่นอกจากแผ่นดีวีดีหนังของแชปลิน หนังเรื่องหรือ ‘feature film’ ยังมี ‘Chaplin’ (2536) อีกเรื่องที่นำอัตชีวประวัติของเขามาสร้าง และออกฉายในบ้านเราเมื่อร่วม 30 ปีมาแล้ว กำกับโดย ริชาร์ด แอทเทนโบโรห์ มี โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ มาเป็นแชปลิน แต่ก็ไม่ใช่หนังดีสำหรับนักวิจารณ์ ผิดกับ ‘The Real Chaplin’ ที่ออกฉายในอังกฤษเมื่อ 2 ปีก่อน กำกับโดย ปีเตอร์ มิดเดิลตัน กับ เจมส์ สปินนีย์ และมีสตรีมให้ชมกันอยู่ในขณะนี้ 

The Real Chaplin เป็นหนังสารคดีความยาว 1 ชม. 54 นาที ที่ผสมทั้งเทปบันทึกเสียง ฟุตเทจจริงกับที่ถ่ายใหม่-เลียนแบบการสัมภาษณ์แชปลินตัวจริงกับคนใกล้ชิดโดยนิตยสาร Life จัดได้ว่าเป็นสารคดีชีวิตของแชปลินที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง เพราะชีวิตกับงานที่เป็นหนังขาวดำมีสีสันมากมาย และบางส่วนนั้นยังคงดังข้ามเวลาอยู่ในบ้านเรา 

ในขณะที่แชปลินไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องในกระแสบันเทิงปัจจุบัน กลับพบ ‘The Great Dictator’ เมื่อปี 2483 หนังเสียงเรื่องแรกของแชปลิน ปรากฏอยู่ในบทความหลายชิ้น รวมทั้งมีการตัดเป็นคลิปให้ดูกันพร้อมซับไทยอยู่ในยูทูบ โดยในบทความเหล่านั้นก็มักกล่าวถึงเนื้อหาเดียวกันกับในคลิปนี้ ซึ่งเป็นซีเควนซ์ที่แชปลินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหนังเสียงที่เคยบ่ายเบี่ยงไม่อยากจะทำ ด้วยสุนทรพจน์ความยาว 6 นาทีของช่างตัดผมชาวยิวอันเป็นเหมือน ‘ไคลแม็กซ์’ ท้ายเรื่อง และในสารคดี The Real Chaplin ก็นำมาเล่าเอาไว้เช่นกัน 

เพราะสำหรับความบันเทิงสักชิ้น มันคือรสชาติในการชม แต่ในชีวิตกับศิลปะ ถือเป็นการกระทำอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งบนแผ่นฟิล์มก็ว่าได้  

ในซีเควนซ์นี้ ชายที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้นำเผด็จการ กล่าวถึงอะไรบางอย่างที่เหมือน ‘ยูโทเปีย’ หรือโลกที่เขาใฝ่ฝันให้ผู้คนช่วยกันสร้างขึ้น จนต้องร้องขอออกมา และด้วยความยิ่งใหญ่ของมัน ในการรำลึกปีที่ 85 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเรา หรือวันที่ 24 มิถุนายน 2560 มันจึงถูกเลือกขึ้นมาให้ผู้คนร่วมแชร์และชมเรื่องนี้ผ่านทางยูทูบตามเวลาที่นัดหมาย แต่คงเป็นอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากความกลัว เมื่อถึงเวลาจึงมีคำสั่งลึกลับให้ปิดกั้นการเข้าถึง และบทความต่างๆ รวมทั้งคลิปจากเรื่องนี้อย่างที่เห็น จึงน่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการแสดงความกลัวแบบนั้น  

ตลกกับการเมืองอาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีถึงขั้นเป็นผู้นำประเทศให้เห็นกันอยู่แล้วแถวยูเครน แต่กับในยุคสมัยของแชปลิน ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ไม่น้อย และแชปลินก็ใช้ The Great Dictator แสดงแนวคิดของเขาอย่างเป็นทางการกับชาวโลก ส่วนเหตุผลในการสร้าง มากกว่าแค่หนังตลกล้อเลียน และโอกาสจะได้แสดงเป็นตัวละคร 2 คนพร้อมกัน ในปี 2481 ที่เริ่มเขียนบท แชปลินได้มองเห็นอันตรายของเผด็จการอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี จึงใช้เสียงหัวเราะเพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนัก ด้วยการนำทั้งฮิตเลอร์และเบนิโต มุสโสลินี เพื่อนซี้แห่งอิตาลีมาปั้นเป็นคู่หูเผด็จการในประเทศสมมติ ก่อนที่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นจริงในสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนที่ชาวโลกจะได้รับรู้ในเวลาต่อมา ถึงค่ายกักกันหรือการสังหารหมู่ชาวยิวด้วยวิธีรมแก๊ส แชปลินล้วนแต่บอกเอาไว้ก่อนแล้วในหนังตลกเรื่องนี้  

แม้จะเป็นแนวคิดถึงโลกที่เท่าเทียมและแบ่งปัน มากกว่าจะถูกจำกัดด้วยความเชื่อตามลัทธิการเมืองใด ในสารคดีเรื่องนี้ยังแสดงผลของการแสดงจุดยืนแบบนั้นที่เริ่มมาจาก The Great Dictator เอาไว้ เพราะภายหลังออกฉายและมีการนำกำไรจากรายได้ในยุโรปไปบริจาคชาวยิวที่กำลังหนีภัยในเยอรมนี รวมทั้งไปย้ำสปีชในเรื่องนี้อีกครั้งในพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของ แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เมื่อปี 2484 คำบรรยายในสารคดีเรื่องนี้ก็ใช้คำว่า “หลังจากนั้น แชปลินก็พูดๆๆ” เรื่องการเมืองไม่หยุดหย่อน 

แต่ภายหลังฮิตเลอร์ถูกกำจัด สงครามใหม่ก็เริ่มต้น ในดินแดนที่ว่ากันว่าให้เสรีภาพในการพูด บางประโยคกลับเป็นปัญหา แชปลินโดนรัฐบาลอเมริกายัดข้อหาแสนคลาสสิก นั่นคือภัยความมั่นคง แล้วอะไรจะดีไปกว่าในยุคสงครามเย็นอย่างเช่นการเป็นคอมมิวนิสต์  

ส่วนในชีวิตส่วนตัว ด้วยใครต่างก็ไม่สมบูรณ์แบบ ในสารคดีเรื่องนี้ก็เหมือนจะชี้ไปที่ความสัมพันธ์กับเหล่าสตรีที่เป็นดาราหนังของเขา และด้วยความร่วมมือของสื่อบางจำพวกกับเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภท จากชายที่คนทั้งโลกรัก ซูเปอร์สตาร์คนแรกๆ ของโลกกลับตกต่ำทั้งอาชีพและถูกบั่นทอนชื่อเสียง ทั้งที่ไม่รู้จุดหมาย ในที่สุดชายชาวอังกฤษก็ตัดสินใจอพยพไปจากอเมริกา 

ทั้งหมดไม่ใช่ข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยรู้ ใน Chaplin ของแอทเทนโบโรห์ ก็นำชีวิตกับการเมืองของแชปลินมาเล่า ทุกบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของเขาต้องมีอ้างถึง แต่ The Real Chaplin นำเสนอเป็นรูปร่างให้จับต้องชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยฟุตเทจทั้งภาพและเสียงจริงที่เลือกมาเรียบเรียง อย่างไรก็ดี มันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะสารคดีเรื่องนี้ต้องการทำหน้าที่เหมือนชื่อเรื่อง คือค้นหาตัวตนที่แท้จริงของแชปลิน ตั้งแต่ต้นจนจบจึงมีชีวิตอีกหลากหลายแง่มุม 

แต่ชีวิตที่หวังเพียงแค่สันติภาพ คือบางมุมที่ยากจะลืมเลือน เพราะใครที่มีสติก็คงหวังหรือฝันเช่นเดียวกับตัวตลกอย่าง ชาร์ลี แชปลิน เช่นกัน 

AUTHOR