The Makanai: Cooking for the Maiko House ซีรีส์ที่มีรสชาติเบาบางเหมือนอุด้งเกียวโต

สำหรับเราๆ ท่านๆ อาจมีภาพจำของ ‘เกอิชา’ ว่าเป็นอาชีพสุดแสนเอ็กโซติกจากหนังสือหรือภาพยนตร์ Memoir of Geisha (2005) ซึ่งไม่ว่าจะฉบับไหนก็ล้วนถูกตำหนิว่านำเสนอชีวิตของเกอิชาอย่างบิดเบือนและเกินจริง ถึงกระนั้นเกอิชาหรือไมโกะ (เกอิชาฝึกหัด) ก็เป็นกลุ่มคนที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนทั่วไปอยู่ดี อย่างที่ได้ยินดราม่าอยู่เนืองๆ ว่ามีนักท่องเที่ยวแห่กันไปเกียวโตเพื่อดักถ่ายรูปเกอิชา จนสาวๆ เหล่านี้ปรากฏตัวในที่สาธารณะน้อยลง ถ้าใครได้เจอถือว่ามีดวง (โดยหารู้ไม่ว่านั่นอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวเอเชียเช่ากิโมโนมาถ่ายรูปเล่น) น่าสนใจว่าโลกยุคสมัยใหม่เกอิชาทำอะไร อยู่กันอย่างไร พวกเธอมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในโลกที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว

ซีรีส์ญี่ปุ่น The Makanai: Cooking for the Maiko House ที่ออนแอร์ทาง Netflix เมื่อกลางมกราคม 2023 อาจไม่ได้ตอบคำถามข้างต้นอย่างทะลุปรุโปร่ง แต่มันพอทำให้เรารู้จักชีวิตของเกอิชา (ซึ่งในเรื่องจะเรียกว่า ‘เกอิโกะ’ ตามภาษาแถบคันไซ) และไมโกะมากขึ้น ซีรีส์นี้สร้างจากมังงะ Kiyo in Kyoto: From the Maiko House (2016) โดยไอโกะ โคยามะ เล่าถึงเด็กสาวสองคนที่ดั้นด้นจากอาโอโมริมายังเกียวโตเพื่อจะเป็นไมโกะ ในขณะที่สุมิเระมีทั้งใบหน้าและกิริยาอันงดงาม จนกลายเป็นตัวเต็งไมโกะอันดับหนึ่ง เพื่อนสนิทของเธออย่างคิโยะกลับเป็นคนเก้ๆ กังๆ ถึงขั้นครูฝึกสอนบอกตามตรงว่าเธอไม่มีวันเป็นไมโกะได้ แต่โชคชะตาก็พลิกผันว่าคิโยะได้รับตำแหน่งแม่ครัวทำ ‘มากาไน’ หรืออาหารสำหรับเหล่าไมโกะและพี่เลี้ยง 

ความน่าสนใจของ The Makanai อยู่ตรงที่หนึ่งในผู้กำกับและดูภาพรวมของซีรีส์คือ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (คนทำหนังรางวัลปาล์มทอง Shoplifters) โดยเขาให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเกอิชาหรือไมโกะเลย อาจเคยผ่านตาจากหนังเก่าๆ ของ มิกิโอะ นารุเสะ หรือ เคนจิ มิโซกุจิ แต่เกอิชาในหนังยุค 50 มักมีชะตากรรมแสนรันทด นั่นทำให้โคเรเอดะตั้งคำถามว่าเกอิชาและไมโกะใน ‘ยุคปัจจุบัน’ มีชีวิตอย่างไร เขาทำรีเสิร์ชที่เกียวโต แต่การได้มาซึ่งข้อมูลไม่ง่ายนัก เพราะยากาตะหรือบ้านพักของไมโกะเป็นสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้าไป เขาจึงสัมภาษณ์เกอิชาบางส่วน (เกอิชาจะไม่อยู่ในยากาตะ แต่มีที่พักของตัวเอง) และใช้วิธีตามติดบรรดาคนที่แวดล้อมไมโกะ เช่น คนที่ทำหน้าที่แต่งตัวไมโกะหรือแม่ครัวที่ทำมากาไน 

เนื้อหาส่วนหนึ่งของ The Makanai จึงบอกเล่าถึงการฝึกรำของไมโกะตามแบบแผนเคร่งครัด, การแต่งหน้าทำผมที่แสนจะยากลำบาก (เพื่อไม่ให้ผมเสียทรง ไมโกะต้องหนุนหมอนสูงเวลานอนและสระผมเพียงสัปดาห์ละครั้ง), ชีวิตที่ต้องเลือกระหว่างการแต่งงานกับการเป็นเกอิชาต่อ ไปจนถึงการปะทะกันของโลกเก่าและโลกใหม่ที่หลายครั้งตัวละครตั้งคำถามหรือแสดงความไม่พอใจต่อกฎต่างๆ ที่เกอิชาและไมโกะยึดถือกันมาอย่างช้านาน

The Makanai มีแนวโน้มที่จะเป็นซีรีส์วิพากษ์แวดวงเกอิชาอย่างจริงจังได้ แต่โคเรเอดะไม่เลือกเส้นทางนั้น เขากลับนำเสนอทุกอย่างในซีรีส์ออกมาในอารมณ์นุ่มนวล อ่อนหวาน (หรือหลายครั้งเกือบจะข้ามเส้นไปสู่ความโลกสวย) เปรียบได้กับ ‘อุด้งเกียวโต’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติเบาบางอันเป็นหนึ่งในเมนูหลักของเรื่อง การที่โทนของซีรีส์ออกมาเช่นนี้ก็เพราะโคเรเอดะให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการนำเสนอภาพของหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่มาอยู่ร่วมกันจนเหมือนเป็นครอบครัว และมันทำให้สองตัวละครหลักอย่างคิโยะและสุมิเระอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ

ต้องหมายเหตุไว้ว่าโคเรเอดะไม่ใช่พวกคนทำหนังใสซื่ออ่อนต่อโลก แต่เขาอยู่ในระดับเซียนจนสามารถทำหนัง ‘เลเวล’ ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะหนังมืดหม่นจมดิ่งอย่าง Maborosi (1995), Distance (2001) หรือ The Third Murder (2017) ส่วน The Makanai น่าจะจัดอยู่ในโหมด ‘สว่าง’ ประเภทเดียวกับ Our Little Sister (2015) หรือ Broker (2022) ซึ่งมันไม่ใช่โหมดของโคเรเอดะที่ต้องกับรสนิยมของผู้เขียนสักเท่าไร ระหว่างที่ดู The Makanai เลยรู้สึกเลี่ยนความใสสว่างจนต้องหยุดเป็นพักๆ แต่สุดท้ายก็ดูจนจบโดยไม่ได้ฝืนทนจนเกินไป

อย่างไรก็ดี The Makanai ตอกย้ำถึงสิ่งที่โคเรเอดะทำได้ดีเสมอคือการออกแบบตัวละครและกำกับนักแสดง นานะ โมริ และ นัตสึกิ เดกุจิ สอบผ่านฉลุยในการรับบทนำของเรื่อง แต่น่าเสียดายว่าเราไม่ได้รู้จักตัวละครแบบลงลึกเท่าไร เช่นว่าคิโยะนั้นดูจะเป็นเด็กเพี้ยนๆ ลอยๆ มากกว่าคนใสซื่อ หรือจบเรื่องไปแล้วผู้เขียนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจความมุ่งมั่นในการเป็นไมโกะของสุมิเระนัก กลับกลายเป็นตัวละครรองอื่นๆ ที่มีมิติน่าค้นหามากกว่า ไม่ว่าจะเรียวโกะ (อาจู มากิตะ) เด็กสาวที่เลือกไม่เป็นไมโกะ ทำงานในบาร์ และเหมือนจะแบกอะไรไว้ในใจมากมาย, อาซึสะ (ทาคาโกะ โทคิวะ) พี่เลี้ยงใหญ่ของบ้านที่ไม่ยอมแต่งงานเสียทีด้วยภาระดูแลเหล่าไมโกะ แต่ตัวละครน่าสนใจที่สุดคงต้องยกให้โมโมโกะ (ไอ ฮาชิโมโตะ) เกอิชาตัวท็อปผู้มีความขบถบางอย่าง แต่กลับเลือกอยู่ในกรอบของเกอิชาอย่างงดงาม เป็นตัวละครประเภทใช้ชีวิตบนเส้นแห่งความลักลั่นย้อนแย้งแบบอยู่เป็น

นอกจากการกำกับ ‘คน’ แล้ว โคเรเอดะยังพิถีพิถันต่อเรื่อง ‘สถานที่’ ด้วย เขาเล่าว่าให้ความสำคัญกับการออกแบบยากาตะหรือบ้านพักของไมโกะอย่างมาก บ้านหลังนี้แบ่งออกเป็น 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความหมายต่างออกไป ชั้นหนึ่งคือพื้นที่ที่ทุกคนใช้ร่วมกัน การแสดงของตัวละครจึงเป็นใบหน้าสาธารณะ, ชั้นสองที่เป็นห้องนอนคือการเปิดเผยใบหน้าส่วนตัวของตัวละคร, ชั้นสามคือห้องใต้หลังคา-ห้องนอนและพื้นที่เฉพาะของคิโยะ และท้ายสุดคือดาดฟ้าสำหรับตากฟ้า ซึ่งตัวละครมากมายมักมาพูดเปิดใจหรือเผยความลับต่อกัน แต่นัยสำคัญที่สุดของมันคือสถานที่ที่แสดงถึงการเติบโตไปด้วยกันของคิโยะและสุมิเระ

แน่นอนว่าอีกตัวละครสำคัญของ The Makanai คือ ‘อาหาร’ โดยแต่ละตอนจะมีเมนูประจำเป็นของตัวเอง ถึงกระนั้นโคเรเอดะก็หลีกเลี่ยงการนำเสนออาหารในขนบของ Food porn หรือการถ่ายภาพอาหาร-กระบวการทำอาหาร-ผู้ชิมอาหารอย่างเกินจริง (ให้ลองนึกถึงมังงะ/อนิเมะอาหารชื่อดังอย่าง Food Wars!: Shokugeki no Soma หรือกระทั่ง Kiyo in Kyoto: From the Maiko House ฉบับอนิเมะ) ทุกเมนูแม้จะดูเย้ายวนใจ แต่นำเสนอออกมาอย่างสมจริง สามารถทำตามได้ เพราะอาหารเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ในขนบของ Food porn ทว่าเมนูของคิโยะคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้คนรอบข้าง เป็นสิ่งประกอบในชีวิตประจำวันที่ทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างสงบสุข

เช่นนั้นแล้ว บางช่วงบางประเด็นของ The Makanai อาจรู้สึกเจือจางไปบ้าง แต่ท่ามกลางสงครามสตรีมมิ่งที่มีแต่คอนเทนต์อันหวือหวาและเรียกร้องความสนใจ การเปลี่ยนบรรยากาศมาลิ้มรสอะไรเบาๆ ก็อาจเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ ‘ทางตา’ และ ‘ทางใจ’

แถมท้าย: ภาพยนตร์และซีรีส์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับ ‘ผู้หญิงทำอาหาร’ น่าดูเรื่องอื่นๆ

Kamome Diner (2005) 

ซีรีส์ Bread and Soup and Cat Weather (2013)

Sue, Mai and Sawa: Righting the Girl Ship (2013) 

ซีรีส์ Restaurant with Many Problems (2015)

An (Sweet Bean) (2015)

AUTHOR