The Lost Lotteries หนังตลกจาก Netflix ที่พูดเรื่องไม่ตลกในสังคมเหลื่อมล้ำ

The Lost Lotteries ปฏิบัติการกู้หวย คือหนังไทยเรื่องแรกจากไลน์อัพ ‘ทีไทยทีมันส์’ ของ Netflix ประเทศไทย ประกอบด้วยคอนเทนต์หนังและซีรีส์ไทย 6 เรื่อง ซึ่งประกาศไปเมื่อ 11 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นทัพหน้าของคอนเทนต์ไทยจากเน็ตฟลิกซ์ในยุคบุกโลคัลเต็มตัว ภายใต้การนำของผู้อำนวยการคอนเทนต์ไทยอย่าง ยงยุทธ ทองกองทุน หนังเรื่องนี้จะสตรีมไปทั่วโลกกว่า 190 ประเทศ 

The Lost Lotteries ปฏิบัติการกู้หวย เป็นผลงานจาก GMM Studio ผู้สร้าง เด็กใหม่ 2 และ เคว้ง ภายใต้การนำของโปรดิวเซอร์อย่าง เอกชัย เอื้อครองธรรม และเป็นผลงานกำกับของ พฤกษ์ เอมะรุจิ เจ้าของผลงานอย่าง Bikeman และ อีเรียมซิ่ง เป็นต้น

ทีมนักแสดงนั้น ได้ สกาย-วงศ์รวี นทีธร, มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร, แพท-ณปภา ตันตระกูล, แจ๊ส ชวนชื่น (ผดุง ทรงแสง), สมจิตร จงจอหอ และ ปาน-ธนพร แวกประยูร มาเป็นตัวชูโรง 

พล็อตเรื่องก็คือ บีท (มินนี่), โซ่ (แพท), เหวิ่น (แจ๊ส) และ คุ้ง (สมจิตร) เป็นลูกค้าที่ซื้อลอตเตอรี่ไปคนละใบจากชุด 5 ใบ ส่วนอีก 1 ใบนั้น เต (สกาย) พ่อค้าลอตเตอรี่ เก็บไว้เอง แล้วปรากฏว่าลอตเตอรี่เจ้ากรรมชุดนี้ถูกรางวัลที่ 1 แต่ก็ดันถูกแก๊งทวงหนี้เงินกู้นอกระบบมายึดเอาไป เพราะต้อย (ปาน) แม่ของเตจ่ายหนี้ช้า ปฏิบัติการแย่งชิงลอตเตอรี่จึงเกิดขึ้น เป็นการดำเนินเรื่องราวของหนังเรื่องนี้

ฉากหลังของเรื่องก็คือกรุงเทพฯ ซึ่งหนังเลือกมุมถ่ายออกมาได้สวยแปลกตา เป็นมุมที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น

นี่คือหนังตลกแบบ Thai comedy อย่างแท้จริง โดยที่ไม่ลืมใส่ความเป็นดราม่า ซีนโรแมนติก และโดยเฉพาะฉากแอ็กชั่นเข้าไปด้วย ส่วนใครดูแล้วจะฮา ซึ้ง หรืออินไปกับชะตากรรมและวีรกรรมของตัวละครระดับไหนนั้น อาจเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่คุณเอาไปเม้าท์มอยกับเพื่อนที่ออฟฟิศระหว่างมื้อกลางวันกันอีกที

แต่สิ่งที่บทความนี้อยากพูดถึงก็คือ ภายใต้ฉากหน้าของความตลกนั้น หนังเรื่องนี้กลับสะท้อนสิ่งที่ไม่ตลกเอาเสียเลย หัวข้อที่หนังหยิบเอามาเล่ามีทั้ง ความหวังรวยทางลัดจากลอตเตอรี่ ตัวละครชนชั้นที่ต้องกระเสือกกระสน แก๊งทวงหนี้ โต๊ะบอล การพนัน ความเหลื่อมล้ำ อภิสิทธิ์ชนที่กฎหมายแตะไม่ถึง คุณภาพชีวิตในเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความจริง เกิดขึ้นจริงกับคนในสังคมปัจจุบัน และต้องบอกว่า มันไม่ตลก เป็นอะไรที่ออกจะน่าท้อแท้ แต่ก็ต้องกัดฟันทน

ซับเจกต์อย่างลอตเตอรี่นั้น ตัวผู้กำกับเองก็พูดไว้ และหลายๆ คนก็คงรู้สึกเหมือนกัน คือ สังเกตได้จากทุกวันที่ 1 กับวันที่ 16 จะมีมีมหรือมุกเรื่องหวยบนหน้าฟีดส์ เพจต่างๆ พูดถึง เพื่อนๆ พูดถึง คนนั้นถูกหวย คนนี้ถูกกิน ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะคนชนชั้นเดียวกับตัวละครในเรื่อง เหมือนเนื้อเพลงที่ร้องว่า ‘คนจนวกวนเล่นหวย คนรวยๆ เขาไปเล่นหุ้น’ อีกต่อไป แต่มันกลายเป็นความหวังหรือสีสันในชีวิตของคนในทุกๆ ระดับชั้น ไม้เว้นแม้กระทั่งดาราคนมีชื่อเสียง

ความจริงก็น่าสนุกดีที่ได้ลุ้นเดือนละ 2 ครั้ง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนว่า ในสังคมนี้ การที่คุณจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ได้นั้น มันเป็นเรื่องยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบางคน ต้องหวังถูกหวยเพื่อพลิกชีวิต เพื่อที่จะได้หลุดพ้นไปจากสภาพที่ตัวเองอยู่ ไปเป็นคนอีกระดับหนึ่ง หรือเพื่อทำความฝันอะไรบางอย่าง 

เช่น ตัวละคร เต (สกาย) ที่อยากซื้อบ้านให้แม่ บีท (มินนี่) ที่อยากมีเงินไปจ้างทนายเก่งๆ มาฟ้องไฮโซที่ขับรถชนพ่อตัวเองแล้วกฎหมายแตะไม่ได้ ซึ่งกรณีของบีทนี่เรียกว่า เหลื่อมล้ำในเหลื่อมล้ำ กดขี่ในกดขี่ เธอเองก็ยอมรับว่าไฮโซนั่นคงมีเงินมากกว่าเพื่อจ้างทนายที่เก่งกว่าอยู่ดี

ว่าไปแล้ว ความฝันของกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามเช่นตัวละครเหล่านี้ ก็ไม่ใช่อะไรที่ใหญ่โต หรือเป็นเรื่องแปลกพิสดาร แต่เป็นเรื่องพื้นๆ เป็นเบสิกพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ความยุติธรรม ต้นทุนในการทำมาหากิน ทุนการศึกษา แต่ก็นั่นแหละ ความเป็นจริงในสังคมก็เห็นกันอยู่แล้วว่ามันไม่ได้เป็นแบบนั้น

ทีนี้เมื่อตัวละครในเรื่องอุตส่าห์ไปถึงฝั่งฝันคือถูกรางวัลที่หนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่กลับมาเล่นงานพวกเขาก็ยังเป็นผลพวงจากความจนของพวกเขาอยู่ดี ต้อย (ปาน) แม่ของเต ค้างชำระหนี้นอกระบบ ถูกยึดลอตเตอรี่ไป ซึ่งหนี้นอกระบบก็เป็นเรื่องของระบบการเงินนอกกฎหมายที่หากินกับคนจน หากินกับโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยวเหลื่อมล้ำอีกต่อหนึ่ง อะไรมันจะรันทดซ้ำรันทดซ้อนไปกว่านี้

แล้วคนจนเหล่านี้ก็ต้องไปงัดข้อกับคนนอกกฎหมาย ซึ่งพวกเขาสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นที่มาของแผนการห่วยๆ จนเกิดเรื่องราวตลกๆ ที่สุดท้ายทางออกที่จะช่วยให้เหล่าตัวละครหลุดพ้นหรือเอาตัวรอดไปได้ ก็ยังไม่วายต้องพึ่งพาโชคชะตาและเรื่องนอกกฎหมายอีกอยู่ดี นี่จึงเป็นหนังที่สะท้อนความสิ้นหวังบางอย่างของคนบางกลุ่มในสังคมอย่างแท้จริง 

“ง่ายสุดเลยคือดูเอาสนุก ตลก มีความสุขครับ ที่จริงผมไม่หวังอะไรเยอะ ผมหวังแค่ว่าเราทำหนังสนุกเรื่องหนึ่ง และให้คนดูใช้เวลาชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงไปกับความบันเทิงที่เขาอยากได้รับ ดูจบแล้วมีความสุข ส่วนผลพลอยได้อย่างอื่น พวกแง่คิด สัญลักษณ์ที่แอบเอาไว้ ความเสียดสีหรืออะไรต่างๆ อันนี้แล้วแต่ว่าใครจะเก็บได้มากน้อยแค่ไหนเลย อันดับแรกที่ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้คืออยากให้ทุกคนสนุกครับ” พฤกษ์ เอมะรุจิ ผู้กำกับของเรื่องได้กล่าวเอาไว้

จริงๆ การที่หนังเลือกที่จะหยิบสิ่งเหล่านี้มาเล่าในมุมตลก ก็เป็น element แบบไทยๆ ‘เวรี่ไทย’ ที่สะท้อนลักษณะนิสัยบางอย่างของความเป็นคนไทย นั่นคือสนุกสนานและหัวเราะได้กับทุกเรื่องแม้แต่ชะตากรรมที่รันทดของตัวเอง ทำให้หนังเรื่องนี้มีความ localization ตั้งแต่มุมมองของหนัง ไปจนถึงองค์ประกอบต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งนี่อาจจะเป็นรสชาติที่เน็ตฟลิกซ์มองหาในการที่จะพาหนังไทยไป globalization ก็เป็นได้

ข้อความ ‘กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ มักกลายเป็นช็อตในหนังหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องนี้ ที่ถูกนำเสนอในเชิงเสียดเย้ย เพราะทุกคนรู้ดีว่าในความเป็นจริงแล้วมันเป็นยังไง เป็นข้อความที่เราเห็นแล้วอยากจะหัวเราะหึๆ แบบขื่นๆ และน้ำตาไหลในเวลาเดียวกัน

เช่นเดียวกับหนังเรื่อง The Lost Lotteries ปฏิบัติการกู้หวย หนังตลกที่บทความนี้มองว่า มันคือความตลกที่เรียกเสียงหัวเราะแบบขันขื่น แล้วหัวเราะร่าน้ำตารินไปกับชะตากรรมและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม   

AUTHOR