20 ปีแห่ง ‘อภินิหารแหวนครองพิภพ’ การเดินทางที่หนักหน่วงของเหล่าผู้กล้าตัวเล็กๆ

ทุกวันนี้ชื่อ The Lord of the Rings คงมีความหมายแตกต่างกันไปสำหรับหลายๆ คน สำหรับบางคนอาจรู้จักตัวละครอย่างกอลลัมผ่านๆ บางคนอาจเคยเห็นมีม “มันไม่ง่ายเลย” (ใจเย็น คุณไม่ได้แก่ขนาดนั้น) บางคนอาจไม่รู้จักเรื่องนี้แต่เคยได้ยินมาบ้าง บางคนอาจเคยดูหรือเคยอ่านไตรภาคนี้มาก่อน และสำหรับบางคนชื่อนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตไปแล้ว 

เพราะนับตั้งแต่ปี 1954 ที่นวนิยาย The Fellowship of the Ring ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในไตรภาค The Lord of the Rings ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก (โอเค ถ้าคุณทันอันนี้ก็อาจจะอายุเยอะอยู่) ซีรีส์แฟนตาซีนี้ก็กลายเป็นส่วนสำคัญต่อวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลต่อนวนิยายแฟนตาซีชื่อดังอย่าง Game of Thrones อิทธิพลต่อวงดนตรีร็อกอย่าง Led Zeppelin หรือแม้แต่อิทธิพลต่อวงการเกมอย่าง Dungeons and Dragons และ Warhammer

และผมก็เป็นคนหนึ่งที่ The Lord of the Rings เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตั้งแต่ยังหัวเกรียน ซึ่งภาพยนตร์ชุดนี้ก็มีความหมายต่อชีวิตผมต่างไปตามช่วงวัย ไม่ว่าจะตั้งแต่วัยเด็กที่ชอบในเรื่องราวการผจญภัยไปสู่สถานที่ต่างๆ ของเหล่าตัวเอก ชอบความเท่ของโลกแฟนตาซีมิดเดิลเอิร์ธ พอโตขึ้นมาหน่อยก็ชอบในความมีมิติต่างๆ ของตัวละคร การใช้ภาษาอันสละสลวย และความลุ่มลึกของโลกที่ผู้เขียนรังสรรค์ขึ้น

จนถึงในขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ ก็เป็นช่วงเหมาะเจาะครบรอบ 100 ปีของค่าย Warner Bros. ทางค่ายจึงได้นำภาพยนตร์ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001) กลับมาฉายใหม่ และด้วยความที่เป็นแฟนคลับของโลกมิดเดิลเอิร์ธอยู่แล้ว ผมเลยไม่รีรอขอไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นรอบแรกในโรง 

และในการดูใหม่รอบนี้ ผมก็ได้พบความหมายใหม่ในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง

เมื่อทั่วทั้งมิดเดิลเอิร์ธกำลังจะถูกครอบงำด้วยอำนาจมืด…

ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกันโดย เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring (2001) เล่าถึงฮอบบิท สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่ตัวเล็กกว่าครึ่งหนึ่ง นามว่า โฟรโด แบ็กกินส์ ผู้ได้รับ ‘แหวนแห่งอำนาจ’ มาจากลุงของเขา แต่โฟรโดหารู้ไม่ว่าแหวนดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในอดีตกาลโดยจอมมาร เซารอน ผู้หวังปกครองแผ่นดินมิดเดิลเอิร์ธด้วยพลังของแหวน แต่ด้วยการรวมพลังของมนุษย์และเอล์ฟ สุดท้ายเซารอนก็พ่ายแพ้ไป อย่างไรก็ตาม 2,500 ปีต่อมา เซารอนกลับมาอีกครั้ง สิ่งเดียวที่จอมมารต้องการในการกลับคืนสู่อำนาจอย่างสมบูรณ์ก็คือ แหวนแห่งอำนาจ เพราะฉะนั้นชะตากรรมของมิดเดิลเอิร์ธจึงตกอยู่ในมือของโฟรโดและเหล่าคณะพันธมิตรแห่งแหวน ที่ต้องออกเดินทางนำแหวนไปทำลาย ณ มอร์ดอร์ ดินแดนของจอมมาร ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่สามารถทำลายแหวนได้

พล็อตเรื่องของ The Lord of the Rings ไม่มีอะไรมาก โฟรโดและผองเพื่อนต้องออกเดินทางไปทำลายแหวนที่มอร์ดอร์ แต่สิ่งที่ทำให้ไตรภาคนี้โดดเด่นคือความรวยในรายละเอียดที่ผู้เขียนบรรจงประดิษฐ์ขึ้นมา ซึ่งตัวภาพยนตร์ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring ก็ถ่ายทอดบรรยากาศของโลกมิดเดิลเอิร์ธจากตัวหนังสือออกมาสู่จอภาพยนตร์ได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามในวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของ เดอะ ไชร์ หมู่บ้านบนเนินเขียวขจีของเหล่าฮอบบิท ความสวยงามในความหรูหราเปล่งออร่าของ ริเวนเดลล์ ดินแดนมหัศจรรย์ท่ามกลางหุบเขาของเหล่าเอลฟ์ ไปจนถึงความสวยงามในความน่าหวาดระแวงของ เหมืองแห่งมอเรีย อาณาจักรอันล่มสลายของเหล่าคนแคระ

ความหวังทั้งหมดที่ถูกแบกรับไว้โดยคนตัวเล็กคนเดียว…

และอย่างที่ได้เกริ่นไว้ ผมได้ค้นพบความหมายใหม่ใน The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring จากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงรอบล่าสุด เพราะด้วยอายุที่มากขึ้น ด้วยขาข้างหนึ่งที่ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน และด้วยภาระมากมายที่ตามมา ปัญหาที่ดูรายล้อมจนไร้ทางออกเหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจในตัวโฟรโดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ถ้าใครตาม The Lord of the Rings มาบ้างอาจจะเคยได้ยินที่คนทั่วโลกแซวกันว่า “จริงๆ แล้วแซมคือตัวเอกของเรื่องต่างหาก” เพราะตลอดทั้งการผจญภัย เป็นแซมนี่แหละที่จัดการอะไรหลายๆ อย่างให้โฟรโด ตั้งแต่ตามไปช่วยตอนโฟรโดจมน้ำ หรือคอยเตือนสติโฟรโดตอนจะโดนแหวนครอบงำ ในขณะที่พระเอกของเรานั้นได้แต่เดินไปเดินมา ถูกภูตปีศาจแทง ถูกหมึกยักษ์ลากลงน้ำ แล้วก็ถูกโทรลล์แทงอีกที เห้ย…แล้วตกลงเรามีพระเอกไว้ทำอะไรนะ…

ซึ่งจริงๆ แล้วตัวพระเอกที่ดูเหมือนไม่ได้ทำอะไรนอกจากเดินถือแหวนไปวัน ๆ กำลังต่อสู้กับศัตรูตลอดเวลา เพราะการต่อสู้ของโฟรโดนั้นไม่ใช่การต่อสู้กับศัตรูภายนอก แต่เป็นการต่อสู้กับศัตรูภายในต่างหาก

พลังของแหวนแห่งอำนาจในการครอบงำจิตใจผู้คนนั้นเด่นชัดตลอดทั้งเรื่อง เราเห็น อิซิลดูร์ กษัตริย์แห่งกอนดอร์ถูกความโลภกลืนกิน ไม่ยอมทำลายแหวนแห่งพลังหลังจากพิชิตเซารอนได้ และเลือกเก็บแหวนเอาไว้ใช้เอง นำไปสู่จุดจบของอิซิลดูร์ในที่สุด จากนั้นแหวนก็ตกไปสู่การครอบครองและครอบงำจิตใจของ กอลลัม ทำให้มันกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเป้าหมายเดียวในชีวิตคือการดูแลแหวน จนถึงขั้นเรียกแหวนวงนี้ว่า “ของรักของข้า” หรือแม้แต่หนึ่งในคณะพันธมิตรแห่งแหวนอย่าง โบโรเมียร์ เองก็ถูกพลังของแหวนดึงดูดจนหันมาทำร้ายโฟรโดเพื่อแย่งชิงแหวนมาครอบครอง

จากฉากเหล่านี้เราสามารถมองได้ว่าแหวนแห่งอำนาจนั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดเชิงนามธรรมของ ‘สิ่งล่อใจ’ ที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบของสิ่งของ ตัวละครอย่างอิซิลดูร์และกอลลัมต่างถูกแหวนดึงดูดไว้ให้เสพติดต่อสิ่งล่อใจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดต่ออำนาจที่แหวนมอบให้หรือการเสพติดต่อวัตถุที่เป็นตัวแหวน และถ้าใครเคยเสพติดอะไรสักอย่าง เป็นต้นว่าอาหาร อินเทอร์เน็ต หรือสารเสพติด จะรู้ว่าการหลุดจากวังวนนั้นมันยากแค่ไหน ซึ่งหากมองในมุมโฟรโด ฮอบบิทตัวนี้ต้องคอยต่อต้าน ‘สิ่งล่อใจ’ ที่แขวนอยู่รอบคอตลอดการเดินทาง

สิ่งที่โฟรโดต้องแบกรับไม่ใช่แค่แหวนวงหนึ่ง เพราะหากพูดกันตามจริง ถ้าภารกิจทำลายแหวนนี้ไม่สำเร็จก็หมายถึงจุดจบของโลกทั้งใบ ประกอบกับการที่ทั้งเรื่องตัวละครต่างๆ ซ้ำเติมนักหนาว่าภารกิจทำลายแหวนนี้ช่างดูไร้ความหวังสุดๆ การถือครองแหวนแห่งอำนาจจึงเปรียบเสมือนการแบกโลกทั้งใบที่ถาโถมใส่ในทุกฝีก้าวที่โฟรโดออกเดิน

หนึ่งในการตีความที่เราชอบมากของการเป็นผู้แบกรับแหวนแห่งอำนาจคือ การแทนภาระนี้กับภาวะโรคซึมเศร้า การเป็นผู้ถือครองแหวนแห่งอำนาจเปลี่ยนพฤติกรรมของโฟรโดจากที่เป็นคนร่าเริง โหยหาการผจญภัย และเต็มไปด้วยความมั่นใจ ไปสู่คนที่กังวลและหวาดระแวงถึงภัยอันตรายที่รายล้อมรอบตัวตลอดเวลา นอกจากนี้ภาระของแหวนยังกีดกันโฟรโดจากคนอื่นๆ เพราะถึงแม้จะมีผู้ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่คงไม่มีใครรอบตัวโฟรโดที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเข้าใจในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ 

แต่ท่ามกลางความมืดมิดก็ยังมีแสงสว่างอยู่ ตลอดการเดินทางโฟรโดได้รับการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากเหล่าฮอบบิทที่สนิทกันมานานและไม่ทอดทิ้งกัน หรือจากคณะพันธมิตรแห่งแหวนที่เพิ่งเจอกันแต่ก็เต็มใจช่วย ซึ่งโทลคีนเน้นย้ำถึงความสำคัญของมิตรภาพมากถึงขนาดเอาไปตั้งเป็นชื่อภาค (The Fellowship of the Ring แปลว่า คณะพันธมิตรแห่งแหวน) 

และถึงแม้โฟรโดต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งโดยไม่มีใครเข้าใจถึงน้ำหนักของภาระนั้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตจริงนั้นไม่มีใครที่จะเข้าใจคนอื่นได้เต็มร้อย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าหากไร้ความช่วยเหลือจากแซมและคนอื่นๆ ภารกิจของโฟรโดคงจบลงตั้งแต่ออกจากเดอะไชร์ด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าบางทีเราอาจเป็นโฟรโดที่ต้องการความช่วยเหลือและบางทีเราอาจเป็นแซมที่ยื่นมือออกไปช่วยเหลือคนอื่นก็ได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ The Lord of the Rings เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและมอบแสงสว่างชี้ทางให้รู้ว่า หากคุณคิดว่าน้ำหนักของโลกทั้งใบกำลังถาโถมมาใส่คุณและรู้สึกว่ารอบตัวไม่เหลือใคร เหมือนที่โฟรโดกล่าวกับแซมหลังแยกจากคณะพันธมิตรแห่งแหวนว่า

“ข้าไม่คิดว่าเราจะได้เจอพวกเขาอีก” 

ลองเงยหน้าและมองรอบตัวดู เพราะบางทีคุณอาจพบแซมของตัวเองที่พร้อมเดินเคียงข้างท่ามกลางกาลอวสานของโลกนี้ไปสู่แสงสว่างและกระซิบคำปลอบประโลมกับคุณว่า

“ก็ไม่แน่หรอกท่านโฟรโด ก็ไม่แน่”


อ้างอิง

https://www.huffingtonpost.co.uk/maria-senise/how-the-lord-of-the-rings_b_5534013.html#:~:text=While%20watching%20The%20world%20of,ring%20acts%20as%20depression%20does.

AUTHOR