มะขาม-ธรรมาริน คูเปอร์ บาร์เทนเดอร์สาวจากซีรีส์สารคดี Midnight Asia ผู้ขอเลือกทางเดินชีวิตแบบ YOLO

เดิมที ชื่อเล่นจริงๆ ของมะขามคือ ‘มิน’ แต่ตอนมาอยู่ไทย เพื่อนๆ ที่ไทยตั้งชื่อ ‘มะขาม’ ให้เพราะเห็นว่ายังไม่มีชื่อเล่นภาษาไทย จากนั้นทุกคนก็เรียกมะขาม และชื่อเล่นของเธอก็เลยกลายเป็นมะขามไป

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 ชื่อของ มะขาม-ธรรมาริน คูเปอร์ (Tamaryn Cooper) หญิงสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ปรากฏขึ้นในวงการบาร์เทนเดอร์ของไทย ในฐานะผู้ชนะเลิศการแข่งขันบาร์เทนเดอร์ คัมพารี ประเทศไทย ประจำปีนั้น ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเธอเพิ่งเริ่มเข้าบาร์ทำค็อกเทลได้เพียงประมาณ 2 เดือน

ผ่านมาจนถึงปี 2022 ชื่อของมะขามเป็นที่รู้จักอีกครั้ง จากการเป็นหนึ่งในตัวแทนบอกเล่าซีนค็อกเทลบาร์ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ผ่านรายการสารคดี Midnight Asia: Eat Dance Dream ตอน Bangkok, Thailand ใน Netflix ในฐานะบาร์เทนเดอร์แห่งร้าน Asia Today Bar

มะขามเกิดที่ไทย โตที่อินโดนีเซีย เคยไปอยู่อังกฤษ ก่อนชีวิตจะพาวนกลับมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอนของแม่อีกครั้ง และค้นพบอาชีพบาร์เทนเดอร์

แม้ยังไม่รู้ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เธอก็ยังอยากจะพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางนี้ต่อไป และต่อไปนี้คือเรื่องราวของมะขามผู้บอกว่าอยากจะใช้ชีวิตของตัวเองให้เต็มที่ – I want to live life my way    

รอยสักรูปมังกรญี่ปุ่นที่บาหลี 

พ่อเราเป็นคนอังกฤษ มาทำงานเป็นเชฟที่กรุงเทพฯ เจอแม่ทำงานที่โรงแรมเดียวกันคือดุสิตธานี เราเกิดที่ภูเก็ตเพราะตอนนั้นพ่อกับแม่ทำงานที่กระบี่ เราอยู่ไทยแค่ประมาณ 1 ปี พ่อก็ได้งานที่บาหลี อินโดนีเซีย ครอบครัวเราก็เลยย้ายไปอยู่ที่บาหลี 

อยู่ที่บาหลีประมาณ 9 ปี หลังจากนั้นก็ย้ายไปซูราบายา กับจาการ์ตา สรุปแล้วเราโตมาที่อินโดนีเซียทั้งหมดประมาณ 17 ปี

ตอนแรกพ่อกับแม่ก็อยู่ด้วยกัน พอตอนน้องสาวเกิด เราอายุ 3 ขวบ พ่อกับแม่ก็ตัดสินใจแยกทางกัน แต่ยังอยู่ในบ้านเดียวกัน เพื่อจะให้ลูกโตมามีพ่อกับแม่ แต่สุดท้ายก็เป็นไปไม่ได้ แม่กลับไปอยู่ที่ไทย แล้วเราก็โตมากับพ่อและน้องสาว

แต่จริงๆ เราโตมาไม่ได้เจอพ่อเยอะเท่าไหร่ เพราะว่าพ่อทำงาน 6 วัน เราก็โตมากับน้องสาวมากกว่า ก็เข้าใจว่าพ่อต้องหาเงินสำหรับครอบครัวเรา เพิ่งมาเริ่มสนิทกับเขาตอนโต แต่ตอนเป็นเด็กไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อไม่ค่อยอยู่ที่บ้าน

ชีวิตวัยเด็กตอนอยู่ที่บาหลีไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะว่าที่บาหลีส่วนใหญ่จะมีแต่ต่างชาติ ยังรู้สึกว่าเข้ากับคัลเจอร์ของเขาได้ แต่ตอนที่ย้ายไปอยู่ที่ซูราบายากับจาการ์ตารู้สึกว่าเข้ากันยากพอสมควร เพราะว่าเป็นเมืองมุสลิม แล้วครอบครัวเราไม่ใช่มุสลิม ก็เลยรู้สึกว่าไม่ค่อย fit in เท่าไหร่ คัลเจอร์ก็ต่างกับคัลเจอร์ที่เราโตมา แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่เราได้อยู่กับคัลเจอร์และศาสนาที่แตกต่าง

เพื่อนที่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนต่างชาติที่โรงเรียนอินเตอร์ เป็นลูกครึ่งเหมือนกันบ้าง เช่นครึ่งอินโดฯ ครึ่งดัตช์ หรือเป็นคนเกาหลี คนเกาหลีจะเยอะ คนจีน คนอินเดีย แต่โรงเรียนที่เราไปเรียนส่วนใหญ่จะมีแต่เด็กเอเชีย ไม่ค่อยมีฝรั่ง

ความฝันตั้งแต่วัยเด็กของเราคือ อยากเป็นช่างสัก แต่เราต้องเก็บไว้ในใจ ไม่ได้บอกใคร ไม่ได้บอกพ่อแม่ เพราะรู้ว่าครอบครัวเรารับไม่ได้

มีเหตุการณ์ในวันหนึ่งตอนอยู่ที่บาหลี เราไปเดินที่หาดกับพ่อแม่และน้องสาว แล้วที่นั่นมีร้านสัก ข้างนอกเขาติดรูปไว้ว่ามีดีไซน์แบบไหนบ้าง มีอันหนึ่งเป็นรูปมังกรดีไซน์แบบญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าชอบมาก โคตรเท่เลย แล้วมีคนกำลังเดินออกจากร้าน สักเต็มตัว ตอนนั้นเรายังแค่ 7 ขวบเอง พ่อก็ดึงแขนเราบอกว่า don’t ever do this in your life promise me you’ll never get tattoo like this! 

ตั้งแต่นั้น เหมือนยิ่งห้ามไม่ให้ทำ ก็เลยยิ่งอยากจะทำ

ความโดดเดี่ยวที่ฮัดเดอส์ฟีลด์

ตอนอายุ 17 เราเรียนจบหลักสูตร IB ที่รวมไฮสคูลกับคอลเลจ ปกติต้องจบตอนอายุประมาณ 18 แต่เราเรียนเร็วเลยจบตอนอายุ 17 พอเรียนจบเราก็ย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ เพราะว่าจะไปเข้ามหาวิทยาลัย เรียนด้าน Fine Art, Illustration, Animation แต่ตอนไปถึงที่อังกฤษ เรารู้สึกว่าเราอยากจะไปเรียนเป็นช่างสักมากกว่า ก็เลยไม่ไปเรียนมหาวิทยาลัย

โทรบอกพ่อว่าจะไม่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ไม่เรียนต่อ แล้วก็โทรหาแม่ด้วย บอกเขาว่าเราเปลี่ยนใจ เราอยากจะเป็นช่างสัก ตอนนั้นครอบครัวเสียใจมาก เพราะว่าเราได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ได้ทุนด้วย หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้คุยกับเราเลยนานเป็นปี

ตอนยังเรียนอยู่ที่อินโดฯ เราก็ไม่ได้คิดแบบนี้ คิดว่าเรียนจบก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย จบมาก็หางานทำเกี่ยวกับอาร์ต แต่ตอนไปอยู่ที่อังกฤษ เราอยู่คนเดียว ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีใครที่จะมาว่าเรา ยอมรับว่าเราดื้อมากเลย และก็เสียใจเหมือนกันที่พ่อกับแม่ไม่ได้คุยกับเรานานมาก เป็นปี แต่เราก็เข้าใจเขาว่าทำไมถึงไม่คุย

จริงๆ เราทะเลาะกับครอบครัวตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้โตมาเป็นเด็กดี ถ้าภาษาอังกฤษก็เรียกว่า rebellious ตอนนั้นก็น่าจะชิน แต่หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมเราถึงทำแบบนั้น ก็เริ่มกลับมาคุยกัน กลับมาเป็นครอบครัวกัน

เราไปอยู่ที่โฮมทาวน์ของพ่อ คือที่ฮัดเดอส์ฟีลด์ อยู่ใกล้กับแมนเชสเตอร์ ตอนแรกไปอยู่กับย่า 2 เดือน พอเขาเริ่มเข้าใจว่าเราไม่อยากจะไปเรียนมหาวิทยาลัย ย่าเลยบอกว่าต้องไปหางานทำ แล้วก็ไปหาที่อยู่คนเดียว เพราะว่าคัลเจอร์ของฝรั่งเป็นแบบนี้ คือถ้าเราเรียนจบ เราเป็นผู้ใหญ่ ต้องหางานเอง ต้องไปอยู่เอง

เราไปหางาน ได้งานที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แล้วก็ไปเรียนที่ร้านสัก ทำงานทั้งเช้า กลางวัน และกลางคืน 7 วัน เพื่อที่จะให้อยู่ได้

การที่เราอยากเป็นช่างสัก มันไม่มีโรงเรียนที่จะสอน ถ้าอยากเรียนก็ต้องไปที่ร้านสัก แล้วก็ไปให้เขาสอน เป็น apprentice หรือเด็กฝึกงาน การเป็น apprentice มันไม่ใช่ว่าเราจะได้ไปนั่งเรียน แต่เราต้องทำงานให้เขาฟรี แล้วเขาถึงจะสอนเรา ตั้งแต่ทำความสะอาดร้าน เตรียมของให้เขา คุยกับลูกค้า

หลังจากนั้นเราก็จะนั่งดูเขาสักไป ถามโน่นนี่ แล้ววันหยุดหรือวันที่ลูกค้าเงียบๆ เราถึงจะฝึกได้ รู้สึกว่าทำอย่างนี้มันหนักมากเลย เราต้องทำความสะอาดห้องน้ำ กวาดถูพื้นหลายเดือนกว่าที่เขาจะอนุญาตให้นั่งสัก ก็ถือว่าได้เรียนรู้เบสิกเยอะ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะเปิดร้านสักเอง 

ถ้าพูดตรงๆ ตอนอยู่ที่อังกฤษเรามีปัญหาเยอะ เพราะว่าตั้งแต่เด็กเราเป็นโรคซึมเศร้า แล้วตอนอยู่ที่อังกฤษ การอยู่คนเดียว การที่ไม่มีครอบครัวซัพพอร์ต ไม่มีคนคุยด้วย เราไม่มีความสุข ทำงาน 7 วันไม่หยุด เป็นปี เราอดทนไม่ได้แล้ว รู้สึกว่าทำไมถึงต้องเหนื่อยขนาดนี้ ทำไมไม่มีคนมาซัพพอร์ตเรา อายุก็แค่ 17 ยังเด็กอยู่ ยังไม่เข้าใจการเป็นผู้ใหญ่ แล้วพอดีที่ทำงานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะว่าได้เงินน้อยมาก ที่อังกฤษเขาจะจ่ายเป็นอายุ ถ้าอายุ 17 เขาจะจ่ายเป็นชั่วโมง กว่าที่จะมีเงินพอจ่ายค่าห้องก็ต้องทำงานจนเหนื่อย แล้วคัลเจอร์ของฝรั่งก็ไม่เหมือนคัลเจอร์คนเอเชีย เราเป็นฝรั่งก็จริง แต่เราโตมาที่เอเชียมา 17 ปี ต้องไปอยู่กับฝรั่ง รู้สึกว่าเข้ากันยาก 

สุดท้ายตัดสินใจว่าอยากกลับไปอยู่ที่เอเชีย ตอนนั้นคือมีพาสปอร์ตไทย แล้วก็คิดว่าเราไม่เคยอยู่ที่ไทย อยากจะลองไปอยู่ที่ไทยบ้าง เผื่ออยู่ได้ อยากไปหาแม่ด้วย เพราะไม่ได้เจอแม่มานาน และเราก็ไม่ได้อยู่กับเขานาน ตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นไปดีกว่า อยากจะเริ่มใหม่ start fresh 

ก็เลยลาออกจากที่ทำงานวันนั้นเลย แล้วก็จองตั๋วไปที่ไทยอาทิตย์ถัดไปแบบ one way ticket ใช้เงินที่เหลือในบัญชี ซึ่งน้อยมาก พอใช้สำหรับบินไปไทยอย่างเดียว แล้วก็ไปเลย 

สรุปว่าอยู่ที่อังกฤษไม่นาน ประมาณ 1 ปี 2 เดือน 

ไร้จุดหมายที่เมืองไทย     

เราไม่มีแพลนเลย แค่คิดว่าอยากจะพักก่อนสัก 2 เดือน ไม่อยากจะทำอะไร ตอนนั้นไม่มีโมติเวชั่นที่จะไปต่อ เลยโทรหาแม่ บอกว่า เดี๋ยวอาทิตย์หน้าจะบินไปที่ไทยนะ ขอไปอยู่ด้วยสัก 2 เดือน แม่ก็ตกใจ เราก็เล่าให้ฟัง พูดตรงๆ กับเขาว่าทำไมถึงอยากจะไปอยู่ที่ไทย เรารู้สึกว่าที่เราเจอมามันไม่โอเค ขอไปอยู่ด้วยได้มั้ย เขาก็โอเค ซัพพอร์ตเรา แล้วตอนบินมาถึงไทย พอเจอแม่เราก็ร้องไห้ทันที หลังจากไม่ได้ร้องไห้มานานเป็นปี 

จากนั้นก็ไปอยู่บ้านแม่ที่นครสวรรค์ 2 เดือน ไม่ได้ทำอะไรเลย นั่งๆ นอนๆ ดูเน็ตฟลิกซ์ เล่นกับหมา ไม่ได้ทำงาน จนแม่รำคาญ แม่บอกว่าต้องไปทำงานแล้ว แม่ก็เข้าใจแหละ เขาก็เห็นว่าเราควรที่จะพักก่อน แต่สุดท้ายเขาบอกว่าเราต้องหาอะไรทำ อยู่บ้านเฉยๆ เป็นไปไม่ได้ เงินก็ไม่มี 

ตอนนั้นเรายังกลัวทุกอย่าง เพราะว่ายังพูดภาษาไทยไม่เป็น และไม่รู้จะทำงานเกี่ยวกับอะไร เป็นช่างสักที่ไทยก็ยากอีก เพราะว่าถ้าเราอยากจะทำเหมือนที่อังกฤษมันเป็นไปไม่ได้ เคยไปถามร้านสักว่ารับคนเรียนมั้ย เขาก็บอกว่าที่ไทยไม่ได้ทำแบบนั้น ต้องฝึกด้วยตัวเอง สุดท้ายเราก็ต้องไปหางานอย่างอื่นทำ

จริงๆ ครอบครัวเองก็อยากจะให้กลับไปเรียนต่อ แต่คือที่ไทย ถ้าอยากจะเรียนต่อก็ต้องสมัครใหม่ และก็ต้องใช้เงินไปเรียน แล้วครอบครัวเราเป็นครอบครัวฝรั่ง เขาจะไม่ได้เอาเงินให้ลูกไปเรียนต่อ ต้องหาเงินเอง เราเลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า ไม่อยากจะหาเงินเพื่อไปเรียน คิดว่าทำงานหาเงินเลยก็ได้

เราไม่รู้ว่าจะทำงานเกี่ยวกับอะไร เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่โชคดีที่พ่อทำงานในวงการโรงแรม เลยได้ไปสมัครงานที่โรงแรมแถวสุขุมวิท ตอนนั้นโรงแรมนี้เขากำลังจะเปิดร้านใหม่ เป็น roof top เขาต้องการคนที่เป็นลูกครึ่ง พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นคนที่มีเอกลักษณ์ เลยไปสมัครตำแหน่งนี้

ตอนนั้นเรายังกลัวมาก ไม่กล้าไปคนเดียว แม่ต้องขับรถไปส่งที่โรงแรม แล้วทำเป็นลูกค้านั่งอยู่ที่ล็อบบี้เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ๆ เราก็ไปสมัครงานกับ F&B ไดเรกเตอร์ เขาถามว่าทำไมถึงอยากจะมาทำงานที่นี่ เราก็ตอบตรงๆ ว่าช่วงนี้ต้องการเงิน ทำงานอะไรก็ได้ เขาต้องการหาคนที่คุยกับลูกค้าได้ เอนเตอร์เทนลูกค้า ตอนนั้นก็คือพูดภาษาอังกฤษได้ เริ่มพูดภาษาไทยแล้ว ฝรั่งเศสก็พอพูดได้ พอดีที่นั่นเป็นโรงแรมฝรั่งเศส เขาก็เลยโอเค ให้ลองทำก่อน

เรื่องรอยสักตอนนั้นเรามีแล้ว เต็มแขนเลย แต่ตอนไปสมัครก็คือใส่เสื้อแขนยาว เขาเลยไม่รู้ แต่ตอนรับเสร็จ เราไปที่ HR ถามเขาว่าที่นี่รับพนักงานที่มีรอยสักมั้ย เขาบอกได้ถ้ามีรอยสักเล็กๆ แอบๆ ไว้ เราก็เลย อ้าว! ทำยังไงดี เลยถามเขาว่า ยูนิฟอร์มเป็นเสื้อแขนยาวใช่มั้ยคะ เขาบอกว่าต้องดูก่อน พอดีร้านยังไม่ได้เปิด ตอนนั้นเราก็คือแอบๆ ไว้ก่อน ใส่เสื้อแขนยาวทุกวัน แต่พอตอนร้านเปิด คอนเซปต์ของร้านคือเป็น casual dining มีรอยสักได้ เจาะหน้าได้ โชคดีไป

เราเลยได้ไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านนั้น คิดแค่ว่าทำงานไปก่อน หาเงิน แค่นั้นเอง 

เสียงน้ำแข็งในเชกเกอร์ 

ตอนทำงานที่ roof top เขาจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งบาร์กับฝั่งร้านอาหาร เขาให้เราไปอยู่ร้านอาหาร ตอนอยู่ที่ร้านอาหารเราจะได้ยินเสียงในบาร์ ได้ยินเสียงเชกเกอร์ กับน้ำแข็งในเชกเกอร์ รู้สึกว่าเราชอบมากเลย อธิบายไม่ถูก ชอบเสียงน้ำแข็งในเชกเกอร์ แล้วทุกครั้งที่ได้ยินบาร์เทนเดอร์เชก เราจะหาข้ออ้างที่จะไปยืนในบาร์ เดี๋ยวไปรับเครื่องดื่มก่อนนะ เดี๋ยวไปช่วยฝั่งโน้นก่อน เพราะเราอยากจะไปอยู่ใกล้ๆ บาร์ รู้สึกว่ามันดูสนุกมากเลย รู้สึกว่ามันเป็นอาร์ตในวงการ F&B เพราะว่าเราเป็นคนที่ชอบอาร์ตอยู่แล้ว แล้วตอนนั้นเราทำงานใน F&B เป็นเด็กเสิร์ฟ รู้สึกว่าเราไม่ได้ใช้ความครีเอทีฟอะไรเท่าไหร่ แค่เสิร์ฟอาหาร คุยกับลูกค้า เสียดายที่ไม่ได้ใช้ความครีเอทีฟของเราในการทำงาน เลยเห็นว่าในบาร์ดูน่าสนใจ เราชอบเสียงน้ำแข็ง อยากจะไปฝึกทำบาร์ 

แต่ตอนนั้นเราอายุยังไม่ถึง 20 แค่ 19 เขาก็สัญญาว่า ถ้าอายุ 20 จะให้เริ่มเข้าบาร์ เราเลยรอไปก่อน พออายุ 20 ถามเขาว่า เข้าบาร์ได้มั้ย เขาก็ยังไม่ให้ เขาอยากจะให้เรายืนเซอร์วิส เพราะว่าเราได้ภาษาอังกฤษ ที่โรงแรมส่วนใหญ่จะมีแต่ลูกค้าฝรั่ง เราเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นต้องไปหางานบาร์ข้างนอก แล้วพอดีได้งานที่ทำอยู่ตอนนี้ คือที่ Asia Today ก็เลยบอกโรงแรมว่าจะลาออกแล้วนะ ได้งานใหม่ เขาเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวให้น้องเข้าบาร์เลยก็ได้

โรงแรมก็เลยให้เราเข้าบาร์อาทิตย์ละ 3 วัน แบ่งเป็นเด็กเสิร์ฟ กับเป็นบาร์ ก็คือให้เข้าเลย ทำไปฝึกไป ไม่มีการเทรน เขาบอกว่าให้กลับไปอ่านหนังสือที่บ้าน ไปเที่ยวบาร์ ไปดูว่าบาร์เทนเดอร์ทำงานยังไง ดูยูทูบ พอทำไปได้ประมาณ 2 เดือน ก็ถูกส่งไปแข่งรายการคัมพารี บาร์เทนเดอร์ แล้วได้รางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้นเราคิดว่า ถ้าอยากจะมีอนาคตในวงการนี้ เราต้องไปทำงานที่ independent bar ไม่ใช่ทำงานในโรงแรม

ก่อนหน้านั้น เราเคยไปเป็นลูกค้าที่ร้าน Asia Today ไปกับหัวหน้าเก่า เขาพาไปชิม ไปหาประสบการณ์ แล้วพี่ณิกษ์ (ณิกษ์ อนุมานราชธน) เจ้าของร้าน เขาชวนไปทำงาน ตอนนั้นเรายังไม่ได้เป็นบาร์เลยด้วยซ้ำ แต่พี่ณิกษ์เขาอยากจะให้โอกาสลองฝึกบาร์ เพราะเห็นว่าเราอยากเป็นบาร์เทนเดอร์ ก็เลยบอกเขาว่าตอนนี้เราติดสัญญากับโรงแรม เขาก็บอกว่ารอได้ เขาเลยรอเราอยู่ประมาณ 4-5 เดือน เพราะว่าโรงแรมยังไม่ให้ออก ขอลาออกประมาณ 3 รอบ เขาก็ยังไม่ให้ไป พอไปแข่งแล้วชนะตอนอยู่ที่โรงแรม เราบอกทางโรงแรมว่า เราอยากจะโตกว่านี้ รู้สึกว่าถ้าอยู่ในโรงแรมไม่มีทางที่จะโตกว่านี้ได้ เลยขอเขาไปอยู่ที่ค็อกเทลบาร์ แล้วเงินเดือนที่ใหม่ก็ดีกว่า สุดท้ายก็เลยได้ย้ายไปอยู่ที่ Asia Today 

กับอาชีพบาร์เทนเดอร์ เราคิดแค่ว่า ตอนนี้เราชอบทำบาร์ ก็ทำไปก่อน ไม่เคยคิดไกลขนาดว่า ทั้งชีวิตเราจะต้องอยู่ในวงการบาร์ 

ตอนแรกอาชีพนี้ก็มีคอนฟลิกซ์กับครอบครัวเหมือนกัน แม่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเลือกอาชีพแบบ ช่างสักบ้าง บาร์เทนเดอร์บ้าง เขาอยากจะให้เราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อะไรแบบนั้น แต่พ่อแฮปปี้ที่เราเข้าไปในโรงแรม เพราะว่าพ่อทำงานโรงแรมมาก่อน แต่การเป็นบาร์เขาก็เป็นห่วงเรื่องทำงานกลางคืน แต่ตอนเริ่มไปแข่ง เริ่มมีชื่อเสียง เขาก็เริ่มซัพพอร์ต เข้าใจแล้วว่ามันเป็นอาร์ต ไม่ใช่แค่เป็นอาชีพที่ไปดื่มไปเมากับลูกค้า

ตอนนี้เราทำงานที่ Asia Today มาได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก รู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานกับคนที่เก่งในวงการ

คาแรกเตอร์ที่สองในค็อกเทลบาร์  

คนอาจจะมองบาร์ว่า เป็นที่ไปเมากับลูกค้า ไปสนุก ไปดื่ม แต่ถ้าเป็นคอกเทลบาร์ ต้องเข้าใจว่ามันเหมือนร้านอาหาร แต่แค่เสิร์ฟเครื่องดื่มอย่างเดียว ไม่ได้เป็นที่ไปเมา ไปเต้น ไปปาร์ตี้กัน อันนั้นก็จะเป็นบาร์ผับ บาร์ดิสโก้ ค็อกเทลบาร์มันเป็นอาร์ตด้วย บางคนเขาก็ไปนั่งดื่มค็อกเทลเพื่อจะเข้าใจคัลเจอร์หรืออาร์ตของค็อกเทล คุยกับบาร์เทนเดอร์ มีน้อยมากเลยที่ต้องเจอลูกค้าเมาไม่ไหว แต่ถ้าเจอลูกค้าเมาไม่ไหวเราก็จะเลิกเสิร์ฟ มันก็มีเวย์ที่จะให้ลูกค้า sober up 

วงการบาร์เป็นวงการที่ทุกคนรู้จักกัน ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ทั้งหมดใน south east asia มีคัลเจอร์ของตัวเอง ซัพพอร์ตกัน เข้าใจกัน เพราะว่าเราทำงานในอาชีพเดียวกัน

ตอนเราเข้าไปในวงการ บาร์เทนเดอร์ผู้หญิงมีน้อยมาก ตอนไปแข่งก็มีเราคนเดียวที่เป็นผู้หญิง เลยรู้สึกกลัวนิดหนึ่งว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ ขนาดไปแข่งชนะ คนยังพูดลับหลังว่าชนะเพราะว่าเป็นผู้หญิง เพราะว่าหน้าตาดี เรารู้สึกเสียใจ เพราะคนไม่ได้คิดว่าเราชนะเพราะสกิลของเรา การเป็นบาร์เทนเดอร์ผู้หญิงจึงเป็นเรื่องยาก รู้สึกว่าต้องทำงานหนักมากกว่าผู้ชายสองเท่า ถึงจะมีคนมองว่าเก่งได้  

การทำหน้าที่บาร์เทนเดอร์ในแต่ละวัน รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้างาน ในไลน์เราจะมีหลายกรุ๊ป กรุ๊ปสั่งนำ้แข็ง กรุ๊ปสั่งของสด ต้องทำค็อกเทลเมนูใหม่ จับโทรศัพท์คุยแต่เรื่องงาน พอเข้างาน ต้องทำความสะอาดร้านก่อน คือบาร์เทนเดอร์ไม่ใช่ว่าทำเครื่องดื่มอย่างเดียว เราต้องถูพื้น กวาดพื้น ทำความสะอาดห้องน้ำ เตรียมของ คั้นมะนาว ทำทั้งหมด prep bar น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วก็เริ่มเข้าในบาร์ ทำค็อกเทล ต้องเสิร์ฟเครื่องดื่มด้วย เพราะว่าในค็อกเทลบาร์เราจะไม่มีตำแหน่งเด็กเสิร์ฟ คือทุกคนเป็นบาร์เทนเดอร์ ต้องทำได้ทั้งหมด ต้องเสิร์ฟเป็น ต้องทำบาร์เป็น

พอเลิกงาน ทำค็อกเทลเสร็จแล้ว ก็ต้องทำเอกสาร เรื่องสั่งของเข้ามา ทำ cost purchasing ในไฟล์ excel รู้สึกว่ามันไม่เหมือนที่เราคิด ตอนแรกเข้ามาในวงการเราคิดว่า บาร์ดูสนุกมากเลย ชงค็อกเทลอย่างเดียว แต่สุดท้ายส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในคอมฯ

สูตรใหม่ต้องคิดตลอดเวลา เพราะว่าในเมนูจะเปลี่ยนทุก 3-4 เดือน ก็จะเจอคนที่อยากจะสั่งนอกเมนูตลอด สั่งคลาสสิกค็อกเทล หรือเจอลูกค้าประจำที่อยากจะสั่งคัสตอมค็อกเทล เลยต้องคิดสูตรใหม่ตลอดเวลา ปกติเวลาคิดสูตรใหม่ เราจะนึกถึงว่าเราอยากได้เครื่องดื่มที่ฟีลรสชาติยังไง เราอยากจะได้สดชื่น เราอยากจะได้แบบ savory หลังจากนั้นก็คือเริ่มคิดว่าเราจะใช้เหล้าตัวไหน ใช้ ingredient อะไรบ้าง แล้วก็คิดสตอรี่ขึ้นมาว่า ทำไมถึงใช้เหล้าตัวนี้ ทำไมถึงใช้ ingredient ตัวนี้มา 

เวลาทำงานเราจะมีคาแรกเตอร์ที่ 2 ก็คือเราต้องเป็นคนที่คุยกับลูกค้าได้ อ่านว่าลูกค้าคนนี้เป็นคนที่จะเข้าไปคุยอย่างนี้ได้ แต่คนนี้ต้องคุยอีกแบบหนึ่ง เพราะว่าการเป็นบาร์เทนเดอร์มันเหมือนเป็น therapist คนที่เข้ามาในบาร์เขาอยากจะคุย ลูกค้าอยากจะมาคุยกับบาร์เทนเดอร์ คิดว่าส่ิงที่ยากที่สุดของการเป็นบาร์เทนเดอร์ก็คือการคุยกับลูกค้านี่แหละ ทำค็อกเทลง่ายมาก ใครก็ทำได้ แต่งาน 60 เปอร์เซ็นต์คือคุยกับลูกค้า เซอร์วิส เป็นบาร์เราต้องหาเวย์ที่จะคุยกับลูกค้าทุกคนให้ได้ เจอฝรั่งอายุ 40 กว่าจะคุยเวย์นี้ แต่ถ้าเจอคนไทยที่เป็นเด็กอายุ 21 ก็ต้องคุยอีกเวย์หนึ่ง บางทีก็รู้สึกเหมือนกับมันเป็น acting

บางทีคนไม่เข้าใจ เข้าไปในร้านแล้วเห็นว่าพนักงานคนนี้ so friendly เลยเข้าใจผิดคิดว่าเราจีบเขา ไม่ใช่ค่ะ มันเป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องคุยดี ทำตัวเหมือนสนใจคุณ แต่ก็เจอทุกที่แหละ ถ้าเป็นผู้หญิง

ตอนแรกที่ร้านไม่ค่อยมีลูกค้าคนไทยเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่ง แต่ตอนนี้คนไทยเริ่มไปเที่ยวค็อกเทลบาร์มากขึ้น เพราะว่าค็อกเทลบาร์เริ่มดังในบ้านเรา ดูเหมือนว่าคนไทยอยากเปลี่ยนบรรยากาศ เข้าไปดื่มค็อกเทลบาร์แทนร้านเหล้า รู้สึกว่าคนไทยโอเพ่นมากขึ้น กับการชิมค็อกเทล แต่ถ้าฝรั่งมาเขารู้ว่าเขาอยากจะสั่งตัวไหน เช่นรู้ว่าจะดื่มแค่ตัวนี้อย่างเดียว ไม่ลองตัวอื่น

ลูกค้าที่เห็นเราในเน็ตฟลิกซ์แล้วมาที่ร้าน ช่วงนี้เยอะมาก เกือบทุกคน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีสำหรับบิสสิเนสของร้าน คือเราก็ต้องการลูกค้าเพิ่ม แต่สำหรับเรา เราเป็นคน introvert เป็นคนที่ชอบฟังคนอื่นคุย อยู่เงียบๆ ไม่ค่อยมีคนคุยเยอะ ก็คุยได้ เวลาหน้าที่ของเรา บางทีรู้สึกว่าเวลาลูกค้าเข้ามา ยิ่งเป็นฝรั่ง เขาไม่ได้เขิน เขาจะเข้ามาแบบ oh my god i saw you on Netflix ขอถ่ายรูปหน่อย เรารู้สึกว่าไม่รู้จะทำตัวยังไง แต่ก็ดีใจที่มีคนเข้ามาหาเราจากรายการนี้ รู้สึกแฮปปี้ที่คนอื่นฟังสตอรี่ของเรามา แล้วอยากจะเข้ามาเซย์ไฮ ก็ขอบคุณเขาตลอดเวลาที่เข้ามาซัพพอร์ตเราและร้านของเรา

introvert ท่ามกลางผู้คน 

ตอนนี้เราทำงานอาทิตย์ละ 5 วัน หยุด 2 วัน หลังจากโควิดซาลง ที่ทำงานเริ่มดีขึ้น เพราะว่าต่างชาติเริ่มเข้ามา เริ่มขายดีขึ้น ไม่เหมือนตอนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ขายไม่ค่อยดี ทุกวันไปทำงานรู้สึกเหมือนเดิม เบื่อกับชีวิต เบื่อที่ทำงาน ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น

เราเป็นคนที่นอนดึกมากมาตั้งแต่เด็ก เลยชินกับการทำงานตอนกลางคืน ปกติตื่นประมาณ 8 โมงเช้า ไปถึงที่ทำงาน 4 โมงเย็น เลิกงานตอนประมาณเที่ยงคืนครึ่ง นอนตอนประมาณตี 3

ปกติวันหยุดจะไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่าทำงานทุกวัน เจอคนตลอดเวลา วันหยุดไม่อยากจะเจอใคร ส่วนใหญ่ก็จะอยู่บ้านอ่านหนังสือ เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว หรือดูยูทูบ หาความรู้เรื่องงานเพื่อพัฒนาตัวเองต่อ เพราะเรากำลังโต กำลังมีชื่อเสียง อยากให้คนเข้าใจว่า เราไม่ได้มีชื่อเสียงเพราะว่าเราไปแข่งมา รู้สึกว่าอยากจะเก่งขึ้น

มันแปลกมากเลยที่คน introvert จะมาทำงานบาร์ เรารู้สึกว่าการที่ต้องคุยกับลูกค้า การที่ต้องทำตัวเอนเตอร์เทน มันเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นบาร์เทนเดอร์ แต่คือวันที่ไม่ได้ทำงานหรือเลิกงาน เราก็จะอยู่เงียบๆ ของเรา เพื่อนเราก็มีน้อยมาก วันหยุดไม่อยากจะไปไหน ไม่อยากจะเจอใคร ชอบอยู่คนเดียว ชอบไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว เพราะรู้สึกว่าเราเจอคนทุกวัน ทั้งวันทั้งคืน คุยจนคอแห้ง ไม่อยากจะคุยกับใครอีก มันยาก บางทีเวลาทำงานเจอคนเยอะๆ เรารู้สึกเหมือน social battery ใกล้จะหมด ต้องขอไปล้างแก้วอยู่หลังร้าน แล้วให้คนอื่นมายืนบาร์แทน

โรคซึมเศร้าก็ยังเป็น ยังกินยาทุกวัน ก็ดีขึ้น แต่นานๆ ทีจะมีวันที่เจอลูกค้าไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เวลากลับบ้านก็จะคิดเยอะจนนอนไม่หลับ แต่ก็เป็นอะไรที่เราเริ่มชินแล้ว ชินกับการเป็นคนที่มีอาการโรคซึมเศร้า แต่ก็ยังสู้ชีวิตต่อได้ แต่ต้องบอกว่าลูกค้าไม่ดีน้อยมากเลย ส่วนใหญ่จะเจอลูกค้าที่น่ารักนิสัยดี

โดยรวมชีวิตตอนนี้แฮปปี้ ชอบทีมที่อยู่ด้วยตอนนี้ที่ Asia Today เข้ากับทีมได้ดี แล้วก็เราเริ่มหาบาลานซ์ระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น  

คนนอกของทุกที่ 

ตั้งแต่เด็ก ปัญหาของเราคือรู้สึกว่าไม่ fit in ตอนอยู่ที่อินโดฯ ก็รู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนอินโดฯ อยู่ที่อังกฤษก็รู้สึกเหมือนว่าไม่ได้เป็นคนอังกฤษ เพราะว่าตอนอยู่ที่โน่น ขนาดเป็นคนหน้าตาฝรั่ง คนอังกฤษยังเข้ามาถามว่า ทำไมพูดภาษาอังกฤษเก่งจัง เพราะเขาคิดว่าเราเป็นคนเอเชีย คนจีน ตอนอยู่ที่ไทยก็มีแต่คนทรีตเราเหมือนเราเป็นฝรั่ง เลยรู้สึกเหมือนไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหนเข้าได้มากสุด ตอนนี้ก็ยังมี identity crisis คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาของลูกครึ่ง เพราะว่าน้องสาวก็เป็นเหมือนกัน เพื่อนๆ ที่เป็นลูกครึ่งก็คิดเหมือนกันว่าไม่มีที่อยู่ที่เรารู้สึกว่า fit in เราจะรู้สึกเหมือนเป็น outsider ตลอดเวลา อยู่ที่อังกฤษก็รู้สึกเหมือนเป็นคนเอเชีย แต่เวลาอยู่ที่เอเชียก็รู้สึกเหมือนเป็นฝรั่ง เลยคิดว่า เราจะรู้สึกอย่างนี้ทั้งชีวิต ไม่มีทางที่จะหาที่ไหนที่เรารู้สึกว่า fit in ร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น คิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับความรู้สึกเราหรือชีวิตเรา เราจะต้องมี circle ที่ดี หมายถึงว่า ชีวิตของเราต้องมีเพื่อนที่ดี มีเพื่อนที่ดูแลเรา เข้าใจเรา แล้วก็มีที่ทำงานที่ทำงานแล้วแฮปปี้ ไม่ใช่ทำงานหาเงินอย่างเดียว ทำงานแล้วมีความสุขกับการเข้างาน แล้วเพื่อนของเราก็จะมีทั้งคนไทย เพื่อนต่างชาติ ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น หาคนที่มีประสบการณ์ที่คล้ายๆ กัน ก็เลยเข้าใจกันได้ จะได้แชร์ชีวิตกัน ไม่ใช่ว่าสู้คนเดียว

เราเป็นคนไม่ได้มองอนาคตไกล จะเป็นคนที่มองวันต่อวัน ในวงการบาร์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นบาร์เทนเดอร์ คนก็คงไม่อยากจะเป็นบาร์เทนเดอร์ทั้งชีวิต อาจจะไปเปิดบาร์ของตัวเอง หรือไปเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ทำงานกับบริษัทเหล้า แต่ตอบไม่ได้ เพราะซัคเซสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราก็ไม่ได้อยากจะคิดไกลขนาดนั้น

ความคิดของเราก็คือว่า เรามีแค่ชีวิตเดียว ควรจะทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกแฮปปี้ เราไม่อยากจะเสียชีวิตไปด้วยความรู้สึก regret ว่าทำไมเราไม่ได้ทำแบบนั้นมา ทำไมเราไม่ได้ทำสิ่งที่เราชอบ เรามีแค่ชีวิตเดียว YOLO – you only live once ถ้าอยากจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย