สุริยาหีบศพ 2499 จากธุรกิจขาย ‘โลงศพ’ สู่การออกแบบประสบการณ์ ‘งานสุดท้ายของชีวิต’

สุริยาหีบศพ 2499 จากธุรกิจขาย ‘โลงศพ’ สู่การออกแบบประสบการณ์ ‘งานสุดท้ายของชีวิต’

เรียนประธานพิธี และผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

ข้าพเจ้าขอเขียนคำไว้อาลัยของผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ และรำลึกถึงเป็นวาระสุดท้ายให้ผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอร่วมส่งสู่ภพภูมิที่ดีเป็นครั้งสุดท้าย……..

(หลังพิธีกรพูดจบ เพลงธรณีกรรแสงก็ดังขึ้น ตือ ตือ ตือ ตื่อ ตื๊อ ตือ ตือ~) 

แน่นอนว่าฉากคำพูดนี้เรามักจะเห็นใน ‘พิธีงานศพ’ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแสนเศร้า โลงศพล้อมรอบไปด้วยพุ่มดอกไม้เบญจมาศ ช่อพวงหรีดจากคนใกล้ชิด และผู้คนที่ร่วมงานต่างใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ รวมทั้งแสดงสีหน้าเสียใจหรือร้องไห้อย่างหนักในบรรยากาศชวนหดหู่

หากคิดกันเล่นๆ ถ้าเราสามารถดีไซน์งานสุดท้ายของตนเอง เราจะอยากให้มันออกมาเป็นแบบนี้ไหมนะ?

แน่นอนเมื่อพูดถึงคำว่า ‘การสูญเสีย’ มันเป็นเรื่องสุดสะเทือนใจสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกันฝั่งของคนที่มีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้น้อยเต็มที่ ก็อาจจะอยากให้งานอำลาของตนเองไม่ได้จบลงด้วยความหดหู่และความเศร้าใจเพียงอย่างเดียว มันอาจจะมีหลากหลายอารมณ์ ทั้งความอบอุ่น ความทรงจำดีๆ และความคิดถึงแก่กันเป็นประสบการณ์ร่วมกันครั้งสุดท้ายก่อนไม่ได้เจอกันก็เป็นไปได้

ธุรกิจความเศร้า

ในปัจจุบันงานศพอาจไม่จำเป็นต้องนำเสนอเพียงความเศร้าแค่ด้านเดียว เหมือนในสมัยก่อนที่คนทำกันมายาวนาน แต่มันอาจเป็นการส่งความรู้สึกที่หลากหลายดังกล่าว ซึ่งการออกแบบงานศพก็ไม่ต่างกับงานเลี้ยงทั่วไป โดยมีจุดร่วมเหมือนกันนั่นคือ ‘การออกแบบประสบการณ์’ ภายในงานที่ต้องคิดถึงรูปแบบสถานที่ ผู้คน อาหาร และอารมณ์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งแต่ละงานก็จะให้ความรู้สึกและประสบการณ์ที่ต่างกันออกไป เหล่านี้คือแนวคิดของ ฟีฟ่า-คณกฤษ สุริยเสนีย์ ทายาทรุ่นที่สามของ ‘สุริยาหีบศพ 2499’ 

ธุรกิจสุริยาหีบศพ 2499 เริ่มต้นทำตั้งแต่รุ่นอากงสู่รุ่นคุณพ่อ ผู้ให้บริการงานศพครบวงจรเป็นเวลายาวนานกว่า 67 ปี ตั้งแต่การนำส่งศพจากโรงพยาบาลไปวัด การฉีดฟอร์มาลีน การทำความสะอาดศพไปจนถึงการจัดงานศพจนเสร็จเรียบร้อย 

เมื่อถึงคราวของฟีฟ่าทายาทรุ่นที่ 3 ต้องสานต่อกิจการ ก็มีความตั้งใจอยากพัฒนาธุรกิจของครอบครัว ที่ไม่ใช่เน้นเรื่องการบริการงานศพเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับ ‘ประสบการณ์’ ในงานศพ ซึ่งหมายถึงการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งตัวเราก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว และคนที่เข้ามาร่วมงานไม่แพ้งานเลี้ยงอำลาทั่วไป

สาเหตุที่ฟีฟ่ามีความคิดดังกล่าว ต้องย้อนกลับไปที่เขาเองจบทางด้านการโรงแรม ซึ่งตอนแรกดูไม่น่าสอดคล้องกับธุรกิจโลงศพมากเท่าไหร่นัก 

“จริงๆ แล้วงานศพก็มีการบริการที่เหมือนกับงานแต่งงานนะครับ มีดอกไม้ มีเลี้ยงอาหาร จัดร้องเพลงเหมือนกัน แต่แค่ความรู้สึกภายในงานที่มันต่างกันออกไป” 

“ผมเจอมาหลายงานศพ
อยากให้งานศพไม่ได้มีแต่อารมณ์เศร้า
แต่มีหลากหลายอารมณ์ได้เหมือนกัน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เขาได้ทำงานร่วมกับ ดิว-นิธิศ บัญชากร นักออกแบบภายในมาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบประสบการณ์งานศพ แรกเริ่มพวกเขาได้ชวน รัสเซีย-ประภัสสร สุขเกษตร นักออกแบบลองจัดทำนิทรรศการในงาน ‘Bangkok Design Week 2023’ กับโปรเจกต์ชื่อว่า ‘การออกแบบงานศพของตนเอง’ หรือ ‘Myself Funeral’ เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้สึก และตัวตนของตัวเองออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ ผ่านงานศพก่อนที่ตัวเราเองจะจากไป

ภายในงานเล่าเรื่องงานศพ 5 แบบแบ่งตามช่วงอายุและพฤติกรรมของคนในวัยนั้นๆ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน เช่น ช่วงอายุ 0-12 ขวบ เป็นวัยเด็ก การออกแบบจึงตกแต่งด้วยผ้าลายดอกไม้ แสดงถึงความไร้เดียงสาของเด็กน้อย

ช่วงอายุ 13-25 ปีเป็นวัยรุ่นที่มีความคิดความอ่านเป็นของตนเองและชอบเล่นโซเชียลมีเดียมากกว่าวัยอื่น ซึ่งงานศพของพวกเขาอาจจะต้องการระบายความในใจมากกว่าการวางพวงหรีดข้างโลงที่ไม่มีใครรับรู้ความรู้สึกของเขา โดยงานศพของวัยนี้อาจจะอยากให้แขกในงานสามารถมาเขียนเรื่องราวและความต้องการของตนเองหรือคนเสียชีวิต

“ในมุมนักออกแบบ ตอนแรกผมเข้าใจว่า การออกแบบงานศพ เราต้องออกแบบโลงศพให้สวยๆ แต่จริงๆ แล้วโลงศพไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามภายนอก เพราะรูปร่างของมันเปลี่ยนแปลงตลอดอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญของงานศพกลับกลายเป็นว่า มันคือ ‘ประสบการณ์’ ภายในงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความทรงจำ” ดิวกล่าว

ออกแบบงานศพด้วยตนเอง

เราชวนคุยต่อ หากให้ทั้งสองดีไซน์งานศพของตัวเองหน้าตาจะเป็นอย่างไร ฟีฟ่านั่งนึกสักพักก่อนตอบคนแรกว่า “ผมเล่าผ่านเพลงครับ อยากให้คนที่มาร่วมงานรู้ว่า เราเป็นคนอย่างไร เลยอยากเล่าผ่านเพลง ผมว่า เพลงน่าจะสื่อความหมายได้ดีกว่า ซึ่งก็เป็นเพลงของเราเอง เพลงมีความเป็นตัวตนของเราอยู่ในนั้น แล้วมาเปิดในงานศพ” 

สำหรับดิวคิดว่า “ถ้าเราอายุ 30 ปี กับตอนที่เราอายุ 40 ปี ตอนนั้นมันอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว อย่างถ้าผมได้ออกแบบงานศพตัวเองในอายุ 30 ผมอาจจะมีลูกแล้ว เราคงอยากอัดวิดีโอไว้เยอะๆ ให้ลูกผมดูในงานศพ ซึ่งตอนอายุ 40 ปี ถ้าผมไม่มีลูกก็อาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้นะ”

พวกเขาต่างเห็นพ้องตรงกันว่า งานศพสมัยนี้สามารถเล่าเรื่องได้หลากหลาย ไม่ได้ยึดติดว่า ต้องเป็นการไว้อาลัยเสมอไป “ในปัจจุบันเกือบทุกครั้งที่เราไปงานศพ เรามักจะเจอสคริปต์กระดาษที่เล่าประวัติของผู้เสียชีวิต คนที่พูดก็จะร้องไห้ คนฟังก็น้ำตาคลอ ผมก็เลยมองว่า งานศพมันสามารถมีได้หลากหลายรูปแบบ มันสามารถเล่าอีกมุมหนึ่งได้นะ เล่าในสิ่งที่อยากเล่า ไม่ได้ยึดติดตามที่เราเห็นทั่วไป มันคือการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับคนที่มาร่วมงาน ผมมองว่านี่คือ innovation ของงานศพรูปแบบหนึ่ง” ดิวและฟีฟ่าขยายเสริม

ลบภาพจำงานเศร้า

ในระหว่างสัมภาษณ์ ฟีฟ่าและดิวชวนไปเดินดูโลงศพในโรงงาน เราค้นพบว่าโลงศพมีลักษณะแตกต่างกันออกไปในหลากหลายแบบ ทั้งโลงศพแบบจีนที่ทำมาจากไม้สัก โลงศพไทยมักประดับด้วยลายองค์เทพพนมมือ หรือลายดอกไม้ต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้เราสะดุดตาคือโลงศพขนาดเล็กจิ๋วคืออะไร ฟีฟ่าเล่าว่ามันคือโลงศพสำหรับสุนัข

“เมื่อก่อนอาจจะไม่ค่อยเห็นคนทำโลงศพให้สัตว์เลี้ยงแต่สมัยนี้คนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น และให้ความสำคัญกับมันมาก บางคนก็ต้องการจะจัดงานศพให้กับน้องเพื่อรำลึกถึงเขา ซึ่งทางเราก็มีทำโลงศพน้องหมา และสามารถใส่รายละเอียดในโลงได้ เช่น สี หรือข้อความฝากถึงเขา ไม่ใช่แค่การขุดหลุมฝังเพียงอย่างเดียว” ฟีฟ่าอธิบายเสริม

แล้วมีการออกแบบงานศพไหนเป็นที่น่าจดจำสำหรับพวกเขาบ้าง ฟีฟ่าพยักหน้าหนึ่งครั้งและบอกว่า มีงานหนึ่งที่เขาต้องการให้ธีมงานศพเป็น ‘บ่อน’ 

ฟีฟ่าเล่าบรรยากาศในงานว่า “งานนั้นเป็นรูปแบบของคนจีน เขาบอกผมว่า เขาไม่อยากได้เครื่องกระดาษแบบบ้านธรรมดา อยากมีเครื่องบิน มีเรือยอร์ช หรือบ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นกระดาษนะครับ ขนาดใหญ่เลยสูง 4-5 เมตร ภายในงานมีตกแต่ง ตู้สล็อต โต๊ะบาคาร่าจัดเต็ม แล้วคนที่มาร่วมงาน เขาก็ไม่ได้มานั่งเสียใจอย่างเดียว เขาก็จะแบบ เฮ้ย อะไรวะเนี่ย แปลกตาแปลกใจมากกว่านั่งเสียใจ”

“อีกอย่างเขาไม่อยากได้ดอกไม้เป็นพุ่ม เขาอยากได้ดอกไม้เป็นรูปไพ่โพธิ์ดำ รูปคิงเลย แล้วเอาไปไว้หน้าเมรุ เด่นมาก จนถึงขั้นมีคนมากมายมาถ่ายรูปคู่กับดอกไม้ในงานศพ ผมว่ามันคือการออกแบบประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ”

ดิวเล่าเสริมว่า “งานนี้เขามีรายละเอียดในงานศพเยอะมาก ตั้งแต่สถานที่จอดรถว่า ต้องให้รถเข้าทางไหน คนออกทางไหน ทางเดินหักมุมหรือโผล่แบบไหนจะเจอซุ้ม  ซึ่งก็ต้องดีไซน์ให้เกิดประสบการณ์แปลกใหม่ ให้ความรู้สึกเหมือนเราหลุดไปอีกโลกหนึ่งเลย แม้แต่เสียงดนตรีที่แขกคนสำคัญเดินเปิดเข้าในงานก็ไม่เหมือนกันด้วยนะครับ”

คนเป็นและความตาย

สำหรับคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับความตายแทบทุกวัน หรืออยู่ในสถานที่ที่มีศพเก็บไว้ บางคนมองว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ชวนขนหัวลุก สำหรับทั้งสองเคยกลัวบ้างไหม

ฟีฟ่าตอบ “ผมไม่กลัวนะ ผมชินแล้ว เพราะเราอยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นผมยังเล่นซ่อนแอบ วิ่งไล่จับ ปีนโลงศพกันอยู่เลย ในมุมมองผม มันไม่ใช่ความตายด้วยซ้ำ เพราะผมมองแค่ว่า มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานศพเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าเคยเจอผีไหม สำหรับผมไม่เคยเจอที่ทำงานเลยนะ แต่คนอื่นบอกเคยเจอ (หัวเราะ)” 

แตกต่างจากดิวที่เป็นเรื่องชวนหลอนสำหรับเขา “ผมกลัวอยู่แล้วครับ ช่วงแรกที่ทำงานที่นี่ผมห้อยพระเต็มคอเลย (หัวเราะ) พอใส่แล้วก็เลยไม่ค่อยกลัว แต่ถ้าไม่ห้อยก็กลัวเหมือนกัน จำได้เลยในวันแรกที่เข้ามาทำงาน ฟีฟ่าถามผมว่า จะไปดูห้องฝากร่างไหม มีเก็บศพไว้อยู่ (หัวเราะ) คือผมก็ขาสั่นอยู่เหมือนกัน แต่พอผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มชินไปเอง แต่ถ้าไปวัดก็ยังกลัวอยู่นะ”

เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับ ความตาย การจากลา และการสูญเสีย เชื่อว่าฟีฟ่ากับดิวคงเห็นเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อยครั้ง หลังจากทำงานนี้ด้วยกัน พวกเขามีความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับความตายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ฟีฟ่าตอบก่อนว่า “ตอนแรกผมกลัวนะเรื่องของความตาย แต่ผมเพิ่งซึมซับได้ตอนที่ต้องไปออกงาน เราก็จะเห็นคนที่เขาอยู่ในสภาวะเศร้า ซึ่งเราเจอเหตุการณ์แบบนี้ทุกวัน ช่วงแรกรู้สึกหดหู่มาก แต่พอไปบ่อยๆ เราก็เริ่มชินไปเอง การที่เรารู้สึกชิน ไม่ได้แปลว่าเราไม่รู้สึกอะไร แต่เราแค่เข้าใจและยอมรับความจริงได้มากกว่า”

“กลัวความตายไม่ผิดนะ แต่กลัวการคาใจ
ทำไมเราไม่วางแผนเตรียมเอาไว้ก่อน
แล้วคนข้างหลังจะเป็นอย่างไร
นั่นคือสิ่งที่ผมกลัวมากกว่า”

สำหรับดิวตอบว่า “ช่วงหลังๆ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าธุรกิจนี้มันเป็นเรื่องอ่อนไหวง่าย ถ้าเรารู้สึกไปกับเขา เราก็จะเอาความเศร้าของเขากลับมาด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้สึก เราแค่ต้องมีการจัดการความเศร้าในตอนนั้น แต่พอถึงในเวลาจริงทุกคนก็เศร้าตามอยู่ดี มันเศร้ามากเลย แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันคือเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง”

ตลอดบทสนทนาของเรื่องราวธุรกิจงานศพ ทำให้เราค้นพบว่างานศพไม่จำเป็นต้องมีเพียงแค่ความเศร้าที่อบอวนไปทั่วงาน แต่มีได้หลากหลายอารมณ์เหมือนกับงานอื่น จริงอยู่ที่การจากลาเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ถ้ามองมุมกลับกัน ในมุมของคนที่กำลังจะจากลาโลกนี้ก็คงไม่อยากให้ทุกคนเศร้าเสียใจจนเป็นทุกข์ แต่อยากสร้างความทรงจำที่ดีให้กับคนที่รักได้มีความสุขไปกับงานครั้งสุดท้ายของเขา

อีกหนึ่งบทเรียนที่ค้นพบระหว่างบทสนทนา นั่นคือความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากเสียจนน่าใจหาย  เพราะเราไม่สามารถรู้วัน เวลา สถานที่ หรือสาเหตุการจากไปของเราได้เลย จนทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า หากเราจากไปแล้ว คนรอบข้างจะเป็นอย่างไร ดังนั้นหากเรายังมีเวลาเหลืออยู่ เราจะวางแผนและใช้ชีวิตกับพวกเขาอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด ก่อนวันสุดท้ายจะมาถึง เพราะชีวิตมันสั้นเกินกว่าจะคาดเดา เหมือนกับคำที่ฟีฟ่าพูดไว้ว่า

“เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน 
แต่ความตายมันแน่นอน
หากมีเวลา ก็จะวางแผนใช้ชีวิต
เพื่อจะไม่ได้นึกเสียใจภายหลัง” 


ปัจจุบันสุริยาหีบศพ 2499 ได้สร้างอีกหนึ่งแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘บริ-บุญ’  มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับแบรนด์สุริยาหีบศพ 2499 มุ่งเน้นการบริจาค โดยทุกคนสามารถบริจาคพวงหรีด และโลงศพที่เป็นการบริจาคแบบ 1 แถม 1 เช่น เมื่อซื้อพวงหรีดแถมบริจาคโลงศพ หรือบริจาคโลงศพก็จะได้บริจาคพวงหรีดไปด้วย นอกจากนี้ยังมีโต๊ะและเก้าอี้ดีไซน์น่ารักที่เมื่อซื้อหนึ่งตัว อีกหนึ่งตัวก็จะถูกบริจาคให้กับเด็กๆ ที่ต้องการ

สามารถติดต่อขอบริจาคและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 092-508-1086 หรือ Line: @boriboonsuriya 


เรื่อง: ชุติมณฑน์ แก้วมี ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR