Starbucks Reserve Princi Blend

ถุงนี้ที่เปิดชง

Starbucks Reserve Princi Blend 

ร็อกโก พรินชี (Rocco Princi) เป็นช่างทำขนมปังอิตาเลียนระดับตำนานที่สตาร์บัคส์ตัดสินใจร่วมงานด้วย กาแฟพรินชีเบลนด์นี้น่าสนใจตรงที่ มันไม่ใช่แค่กาแฟบรรจุถุงขายในร้านเท่านั้น แต่ผมพบว่าสตาร์บัคส์น่าจะกำลังเริ่มลองทำร้านเบเกอรีแนวคิดใหม่ นั่นคือเปิดเป็นร้านเบเกอรีแบบอบสดใหม่ และมีกาแฟพรินชีเบลนด์และกาแฟสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ จำหน่ายด้วย ผมไปเจอร้าน Starbucks Reserve Princi โดยบังเอิญในย่านกินซ่าของญี่ปุ่น เพราะอยู่ใกล้กับโรงแรมที่ผมพัก เป็นไปได้ว่าสตาร์บัคส์อาจเริ่มจริงจังกับการเปิดร้านเบเกอรีมากขึ้นก็เป็นได้ ส่วนถุงนี้เป็นกาแฟที่คั่วและเบลนด์มาให้เหมาะกับการดื่มกับเบเกอรี หอมช็อกโกแลต มีคาราเมลนิดๆ ดื่มกับครัวซองต์ตอนเช้านี้เข้ากั๊น เข้ากัน

เยี่ยมโรงคั่วสตาร์บัคส์ ริมแม่น้ำเมกุโระในโตเกียว

นอกเหนือจากร้านคาเฟ่เล็กๆ โรงคั่วแบบอินดี้ที่คั่วกันเองของผู้ประกอบการยุคใหม่ ความสำเร็จของร้านกาแฟ ที่เบียดตัวเองขึ้นมายืนหนึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศที่ว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดของชาเขียวและวัฒนธรรมการชงชาที่แสนจะยาวนานและเก่าแก่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ในใจคนญี่ปุ่นหนีไม่พ้นสตาร์บัคส์

หากไล่ย้อนไปดูร้านกาแฟเก่าแก่ในโตเกียว อย่างพรีเมียมคาเฟ่ (เปิดมาแล้ว 70 ปี) เราจะเห็นรสนิยมของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน ที่นิยมชมชอบความเป็นตะวันตกอยู่มาก อย่างร้านพรีเมียมที่มีสาขาในย่านชิบุยะ แหล่งชอปปิ้งที่ทันสมัยที่สุดของญี่ปุ่นและที่ดินมีราคาแพงลิบลิ่ว แต่ร้านพรีเมียมคาเฟ่ก็ยังอยู่ได้และเรียกว่าแทบไม่เคยเปลี่ยน 

ร้านยังคงตกแต่งเหมือนเดิมเมื่อ 70 ปีที่แล้ว เหมือนเราหลุดเข้าไปในคาเฟ่ยุค 70 ตกแต่งด้วยไม้ ผ้าม่านพับจีบ เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่เทอะทะสไตล์หลุยส์ พนักงานใส่เสื้อกั๊กผูกโบ เป็นภาพสะท้อนของคาเฟ่ในอดีตของโตเกียว เมนูที่ขายมีไม่กี่อย่างและบอกอย่างตรงไปตรงมาว่ากาแฟไม่อร่อยเมื่อเทียบกับสมัยก่อน คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกาแฟที่มีรสค่อนข้างอ่อนและออกไปทางแห้งๆ

กว่าที่ร้านกาแฟสมัยใหม่อย่างโดทอร์ (Doutor) และทัลลีส์ (Tully’s Coffee) จะเข้ามาตีตลาดอย่างจริงจังก็เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไปได้สักพักใหญ่ เมื่อวัฒนธรรมอเมริกันเริ่มเข้ามามีบทบาทในญี่ปุ่นมากขึ้น และเริ่มทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักกาแฟในมุมใหม่ๆ ธุรกิจกาแฟของญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อีกครั้งก็ตอนที่ร้านกาแฟสาขาอย่างสตาร์บัคส์เริ่มเข้ามาทำการตลาดในปี 1996 ถือว่าเป็นการเปิดยุคใหม่ของการทำร้านกาแฟสาขาก็ว่าได้

สตาร์บัคส์เป็นแบรนด์กาแฟที่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น พวกเขาเปิดสาขาแรกที่เขตกินซ่า โตเกียว เมื่อปี 1996 ปัจจุบันขยายสาขาและมีจํานวนร้านในญี่ปุ่น ณ เดือนมีนาคม 2021 อยู่ที่ 1,637 แห่ง ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกนอกอเมริกาเหนือที่สตาร์บัคส์ตัดสินใจออกมาลงทุน นอกเหนือจากการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ผมคิดว่าการเปิดตัวอย่างเร้าใจแบบนี้ ณ ตอนนั้นซื้อใจคนญี่ปุ่นได้ เหมือนกับที่ หลุยส์ วิตตอง และ ดิสนีย์ ทำสำเร็จมาแล้ว ก็คือให้เกียรติกับญี่ปุ่นในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ สิ่งแรก ไปด้วยกัน

แนวทางการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของสตาร์บัคส์ ณ เวลานั้น เป็นสิ่งที่ก็ดูเหมาะกับสังคมญี่ปุ่นด้วยนะครับ สตาร์บัคส์สนับสนุนกิจกรรมของชุมชนอย่างจริงจัง รวมถึงการออกแบบร้านให้กลมกลืนไปกับชุมชน การช่วยเหลือเรื่องอุบัติภัยต่างๆ ของญี่ปุ่นมาโดยตลอด ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2011 ซึ่งก็ซื้อใจคนญี่ปุ่นได้มาก ญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตของสตาร์บัคส์ที่น่าสนใจ

ปี 2019 สตาร์บัคส์ตัดสินใจเปิดสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่นี่ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี (Starbucks Reserve Roastery) ซึ่งทั้งโลกมีเพียง 6 สาขา ในสหรัฐอเมริกามี 3 สาขา (คือที่ซีแอทเทิล นิวยอร์ก และสาขาล่าสุดที่ชิคาโก) ส่วนอีก 3 สาขาตั้งอยู่ที่ เซี่ยงไฮ้ มิลาน และที่โตเกียว

สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี ร้านนี้สตาร์บัคส์ตั้งใจจะให้เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของโตเกียวในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และน่าจะเป็นตัวเก็งและตัวเต็งในฐานะร้านกาแฟที่นักท่องเที่ยวน่าจะไปเที่ยวมากที่สุดในช่วงนั้น เป็นแผนการประชาสัมพันธ์ที่คุ้มค่าและได้ทั้งเงินและกล่อง

แต่น่าเสียดายที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน การระบาดของโควิดทำให้เราได้ภาพที่น่าจดจำอีกแบบหนึ่ง แบบที่ไม่น่าจะได้เห็นง่ายๆ ในชั่วชีวิตของเรา

หลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศ ผมมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และล่าสุดก็ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา บรรยากาศโดยรวมมีอะไรที่เหมือนกับที่ผมเคยรู้สึกเมื่อตอนที่ไป สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี ที่เซี่ยงไฮ้มาก่อน (ซึ่งก็เคยครองตำแหน่งสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก) แต่ในรายละเอียดก็มีหลายอย่างที่สองร้านนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน 

ถ้าหากคุณเคยมีประสบการณ์กับร้าน สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ ที่เมืองไทยมาบ้าง ก็น่าจะพอเห็นตำแหน่งแห่งที่ของแบรนด์ที่จะแตกต่างจากร้านสตาร์บัคส์ทั่วไป สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นบาร์หรือร้าน จะเสิร์ฟเฉพาะเมล็ดกาแฟที่คัดมาแล้วว่าเป็นกาแฟที่มีแหล่งปลูกที่พิเศษกว่าร้านสตาร์บัคส์ทั่วไป และมีสินค้าบางประเภทที่ไม่มีจำหน่าย แต่ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี เหนือกว่านั้นก็คือไม่ใช่แค่มีกาแฟขายเท่านั้นแต่เป็นทั้งโรงคั่ว เป็นร้านกาแฟ บาร์ค็อกเทล ร้านอาหาร เบเกอรี เน้นเสิร์ฟเมล็ดกาแฟหายาก ฉะนั้นราคาเครื่องดื่มก็จะสูงกว่าร้านสตาร์บัคส์ปกติ

สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี ตั้งอยู่ในย่านเก๋ของโตเกียวคือ ย่านเมกุโระ (Meguro) ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำที่ไหลผ่าน เป็นย่านที่อยู่อาศัยราคาแพง ที่นี่มีชื่อเสียงขึ้นมาเพราะต้นซากุระสองฝั่งแม่น้ำเมกุโระที่คนชอบมาเดินดูดอกซากุระบานกันที่นี่ ต่อมาย่านนี้ก็กลายเป็นย่านสำหรับร้านคาเฟ่เก๋ๆ ของโตเกียว  

สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ โรสเตอรี มีทั้งหมด 5 ชั้น (หากรวมชั้นใต้ดินซึ่งเป็นออฟฟิศ) ชั้นหนึ่งเป็นส่วนของ บาร์กาแฟ ร้านเบเกอรี มุมขายสินค้าที่ระลึก ส่วนชั้นที่สองเป็น ‘ทีวานา ที บาร์’ (Teavana Tea Bar) ชั้นที่สามเป็น ‘อาริเวียโม’ (Arriviamo) เป็นที่ตั้งของร้านอาหารอิตาเลียนแบบบิสโทร เสิร์ฟอาหารอิตาเลียนแบบง่ายๆ และค็อกเทล ส่วนชั้นสี่เขาเรียกว่า ‘อะมุ อินสไปเรชัน เลานจ์’ (AMU Inspiration Lounge) ซึ่งเอาไว้ทำเวิร์กช็อปต่างๆ ของสตาร์บัคส์

ความพิเศษของสาขานี้ แน่นอนก็ต้องอยู่ที่เครื่องคั่วกาแฟขนาดใหญ่ โรงเก็บเมล็ดกาแฟที่ดูเหมือนเป็นเวทีมหรสพ มีการคั่วกาแฟกันจริงๆ กลิ่นหอมของกาแฟนั้นฟุ้งไปทั่วร้าน การวางผังร้านก็น่าสนใจเพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหน ก็สามารถมองเห็นการทำงานของเครื่องคั่วกาแฟและไลน์บรรจุได้

ที่แตกต่างจากสาขาอื่น ก็น่าจะเป็นความใหญ่โตและการให้ความสำคัญกับ ทีวานา ที บาร์ (Teavana Tea Bar) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่าเป็นร้านชาในร้านกาแฟก็ไม่น่าผิด มีชาที่เบลนด์เฉพาะของสาขานี้เท่านั้นจำหน่ายด้วย รวมถึงของที่ระลึกที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ เช่น กระเป๋าและผ้าพันคอที่สตาร์บัคส์ทำงานร่วมกับแฟชั่นดีไซเนอร์ อิซเซ มิยาเกะ วางจำหน่าย

สิ่งที่ต้องลองมีอะไรบ้าง

ผมแนะนำให้ลองกาแฟเมล็ดพิเศษที่ออกวางจำหน่ายตามฤดูกาลและเบเกอรีของ ร็อกโก พรินชี (Rocco Princi) แบรนด์เบเกอรีเก่าแก่ของมิลาน ซึ่งอร่อยจริง แต่ส่วนตัวผม ที่พลาดไม่ได้เลยก็คืออยากให้ลองกาแฟจากเครื่องชงโคลเวอร์ (Clover Brewed) เครื่องชงกาแฟแบบสุญญากาศซึ่งใช้หลักการคล้ายๆ กับการชงแบบ French Press แต่แรงบีบอัดนั้นแรงกว่ามือเรามาก สามารถเค้นเอารสชาติของกาแฟออกมาจากเมล็ดคั่วให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้เน้นการรีดน้ำมันออกมา เหมือนกับเครื่องชงเอสเพรสโซ เครื่องนี้ที่เมืองไทยมีอยู่ไม่กี่สาขา

มีเรื่องเล่ากันว่าเครื่องชงโคลเวอร์ถูกสตาร์บัคส์ซื้อกิจการไปเมื่อปี 2008 หลังจาก ฮาร์เวิร์ด ชูส ได้ชิมกาแฟที่ชงจากเครื่อง ‘Clover 1s’ เป็นครั้งแรก และตัดสินใจขอซื้อกิจการทันที ทุกวันนี้เครื่องก็ยังผลิตไม่พอใช้งาน เอาแค่สตาร์บัคส์ที่มีสาขาอยู่กว่าสามหมื่นสาขาทั่วโลก ก็ไม่ได้มีเครื่องนี้ทุกสาขา 

อาริเวียโมบาร์ ก็น่าสนใจครับ เป็นบาร์ค็อกเทลที่มีเบสชาและกาแฟเสิร์ฟรวมถึงแชมเปญ ไวน์ และวิสกี้ ซึ่งเปิดบริการจนถึงกลางคืน เรียกว่านั่งดื่มกันได้ยาวๆ

ความแตกต่างของที่นี่กับที่เซี่ยงไฮ้อย่างหนึ่งที่สัมผัสได้เลยก็คือ โตเกียวที่นี่ไม่ได้เน้นความตื่นตาตื่นใจไฮเทคเหมือนกับที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งสาขานั้นเขาจับมือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา มี AR หลายจุดให้สแกนเล่น สามารถสั่งเมนูจากที่ไหนก็ได้ในร้าน แล้วแอปฯ จะแจ้งเตือนให้มารับกาแฟ แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นยังคงเน้นที่การบริการแบบเดิม ตัวร้านออกแบบมาเพื่อให้ความรู้สึกถึงความกลมกลืนกับความเป็นญี่ปุ่น คือเรียบและสงบ สอดคล้องกับความเป็นชุมชนของเมกุโระ ตัวอาคารได้รับการออกแบบและตกแต่งโดย เคนโกะ คุมะ (Kenko Kuma) สถาปนิกที่ดูแลการออกแบบโอลิมปิกสเตเดียมใน Tokyo Oympic 2020 ด้วย เขาเลือกใช้ไม้สนญี่ปุ่นในงานตกแต่งเกือบทั้งหมด ดูกลมกลืนและสวยงามมาก และเมื่อคิดว่านี่คืออาคารที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่ถึงห้าปี มันดูเหมือนอยู่ที่นี่มานานแล้ว ผิดกับที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางถนนแฟชั่นเกิดใหม่ โดดเด่น และต้องการบอกให้ทุกคนรู้ว่าฉันอยู่ที่นี่ อยู่ตรงนี้

ใครได้ไปญี่ปุ่นมีแผนจะไปเดินดูซากุระ ลองเลือกไปย่านเมกุโระดูครับ แนะนำว่าขอให้ไปนั่งดูวิวซากูระจากชั้นบนของร้าน ข้อแม้อย่างเดียวคือขอให้หาโต๊ะได้ เพราะที่นี่คนแน่นทุกวัน ช่วงวันหยุดคุณอาจต้องต่อคิวเพื่อรอเข้าร้านกันเลยทีเดียว

เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.starbucks.co.jp/reserve/roastery/


เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง

AUTHOR